ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าตัวรับ Receptor-Binding Domain (RBD) บนสไปก์โปรตีน (spike protein) ของไวรัสชนิดนี้ วิวัฒนาการจนมีประสิทธิภาพในการจับเยื่อหุ้มเซลล์ของมนุษย์ในตำแหน่ง ACE2 ซึ่งเป็นตัวรับที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า เอนไซม์หนึ่งที่ชื่อว่า TMPRSS2 ช่วยกระตุ้นสไปก์โปรตีนของไวรัส เมื่อรวมทั้งสองอย่างนี้ด้วยกันก็ทำให้ไวรัสเข้าไปยังเซลล์ของมนุษย์ได้
ด้วยความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันต่างๆ ในหลายประเทศ ทำให้ตอนนี้นักวิจัยที่นำโดยทีมวิจัยจาก MIT และฮาร์วาร์ด สามารถรวบรวมชุดลำดับของ RNA ได้มากมาย รวมถึงความแตกต่างของเซลล์หลายพันชนิดของมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่มนุษย์ และหนู ข้อมูลที่รวบรวมได้ทำให้เริ่มต้นหาเซลล์ที่เป็นเป้าหมายของไวรัสได้
จากชุดข้อมูลมหาศาลที่นักวิจัยรวบรวมได้ พวกเขามุ่งไปศึกษาเซลล์ส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องก่อน โดยนักวิจัยหาแพตเทิร์นของยีนในเซลล์ปอด โพรงจมูก และลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นจุดที่ไวรัส SARS-CoV-2 อยู่ จนในที่สุดก็พบว่า มีจุดเล็กๆ ในเซลล์ทางเดินหายใจและลำไส้ของมนุษย์ที่มียีน ซึ่งแสดงทั้ง ACE2 และ TMPRSS2
ในโพรงจมูก นักวิจัยพบว่าเซลล์ที่เกี่ยวกับต่อมสร้างเมือก (goblet secretory cells) แสดง RNAs ต่อโปรตีนทั้งสองชนิดที่ไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้เซลล์ติดเชื้อ ส่วนในปอด พวกเขาพบ RNAs ในเซลล์ที่ชื่อว่า type II pneumocytes ซึ่งอยู่ในถุงลมและทำให้มันเปิดออก และในลำไส้เล็ก พบในเซลล์ enterocytes ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซับสารอาหาร
ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าทั้ง ACE2 และ TMPRSS2 จะต้องอยู่บนเซลล์เดียวกัน หรือ TMPRSS2 สามารถละลายแล้วลอยไปรอบๆ และทำงานแบบเดียวกันได้หรือไม่ โอดอวาส-มอนทาเนส อดีตนักวิจัยโพสต์ดอกเตอร์ของ MIT หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า แม้นี่จะยังไม่ครบถ้วน แต่ข้อมูลนี้ก็จะช่วยให้เราเห็นภาพที่ตรงจุดมากขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ ตอนนี้เราพูดได้ว่า ตัวรับเหล่านี้แสดงออกในเซลล์ชนิดใดบ้าง
ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Cell เมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมา นักวิจัยกล่าวว่า การพบว่าเซลล์ชนิดใดที่เป็นเป้าหมายชัดเจนของไวรัสน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าต่อไป รวมทั้งเพื่อนำไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพได้
ที่มา:
https://news.mit.edu/2020/researchers-cells-targeted-covid-19-0422
ภาพ: NIAID-RML
Tags: งานวิจัย, โคโรนาไวรัส, โควิด-19