เธอนัดผมที่ร้านกาแฟของเธอย่านอารีย์ ฝนโปรยเล็กน้อยเมื่อผมเดินเข้าไปในร้าน ถนอมขวัญกำลังวุ่นอยู่หลังเคาน์เตอร์ หลังจากชงกาแฟใส่แก้วกระดาษให้ผม ระหว่างที่เดินออกจากร้านกาแฟที่ลูกค้าหนุ่มสาวแน่นเต็มร้าน เธอแวะที่โต๊ะว่าง ทำความสะอาด จัดวางเมนูให้อยู่กลางโต๊ะ จัดเก้าอี้ให้เข้าที่เข้าทาง จากนั้นเราเดินไปคุยกันที่ร้านอาหารญี่ปุ่นซึ่งเธอเป็นหุ้นส่วนที่ทำหน้าที่ออกแบบ คิดคอนเซปต์ หาพ่อครัว
เรานั่งคุยกันบนเคาน์เตอร์ หันหลังให้โลกภายนอก จากประโยคแรกที่ผมถามเธอ จากนั้นเรื่องเล่าทั้งหมดก็พรั่งพรูออกมาราวกับเป็นหนังซีรีส์ที่ดำเนินเรื่องจนจบภายใน 70 นาที
“เมื่อกี้เห็นบอกว่าเป็นโรคแพนิค* (Panic Disorder) มันเป็นยังไง” นั่นคือคำถามของผม
“น้องชายคนเล็กเราเป็นก่อน เพราะเขาดูแลแม่มาตั้งแต่แรก จากนั้นพอป๊าเป็นอัลไซเมอร์ เราสองคนก็ช่วยกันดูแล มันเกิดจากความเครียด ความกังวล คืนหนึ่งเขาโทรมากลางดึก บอกเลขบัญชีและรหัสเอทีเอ็มเราไว้ เราก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา แต่ดูเหมือนเขาจะเก็บอาการดีกว่าเรา เพราะเราเพิ่งจะมาเป็นเมื่อไม่นานมานี้ เวลาเราได้ยินเสียงดัง เสียงพลุ เสียงฟ้าผ่า เสียงประตูโดนลมกระแทกปิดดังปัง ตัวสั่นไปหมด เหมือนจะตาย หายใจไม่ออก จุกในคอ ต้องลงไปคลานบนพื้น มีคืนหนึ่งฟ้าผ่าเสียงดังมาก แล้วเกิดอาการแบบนั้น เราโทรหาน้องบอกเลขบัญชี บอกประกันชีวิต แล้วฝืนขับรถไปโรงพยาบาล หัวใจเต้น 150 กว่า หมอให้ admit พอดีขึ้น หมอก็แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ พอมาคิดทีหลังก็รู้ว่าเราคงเป็นเหมือนน้องชายคืนที่เขาโทรมาบอกเลขเอทีเอ็ม
“เราเป็นเพอร์เฟ็คชั่นนิสท์เหมือนป๊า กระเป๋าเดินทางเขาเป็นระเบียบมาก เราก็เหมือนกัน แม้กระทั่งเวลาถอดรองเท้าแล้วต้องจัดให้มันตรง หมอบอกเราต้องเปลี่ยนตัวเอง ให้ปล่อยวาง มันมีวิธีดูแลตัวเองหลายวิธี แต่ธรรมะไม่ใช่ธรรมชาติของเรา เราเลยเลือกที่จะกินยาและพยายามเปลี่ยนนิสัยตัวเอง สำหรับเรามันไม่ได้เกิดจากความเครียด แต่เป็นความกังวลมากกว่า”
เมื่อถนอมขวัญเล่าถึงนิสัยของเธอ ผมนึกถึงตอนเดินออกมาจากร้านกาแฟ ที่เธอแวะจัดโต๊ะให้เป็นระเบียบ
“แล้วตอนนี้ดีขึ้นไหม”
“เหมือนว่าจะดีขึ้น แต่เมื่อต้นปีเราไปญี่ปุ่น อยู่ดีๆ ก็รู้สึกกลัวขึ้นมา ลงไปคลานบนพื้น ร้องไห้ ตัวสั่น เหงื่อออกเต็มตัวเลย” เธอยังพูดด้วยเสียงหัวเราะ เมื่อต้องย้อนเล่าถึงอาการที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว
โรคแพนิคของเธอเป็นผลลัพธ์ของการดูแลแม่ซึ่งป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก น้องชายเสียชีวิต และพ่อเป็นอัลไซเมอร์ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 10 ปี
*
หลังจากได้คุยกับถนอมขวัญ ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่องหนึ่งจนต้องกลับมาดูอีกรอบ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เธอพูด ผมจำชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แม่นยำจากครั้งแรกที่ได้ดูเมื่อปี 2001 แต่จำเรื่องราวของมันได้ไม่มากนัก และไม่ปะติดปะต่อ- -ความทรงจำเป็นเรื่องแปลก บางครั้งอยู่กับเราไม่นาน พยายามควานหาเท่าไรก็ไม่เจอ แต่บางครั้งฝังแน่นอยู่กับเราแบบที่ไม่เคยเลือนหายไปไหน
Se Souvenir des Belles Choses (2001, Zabou Breitman) คือภาพยนตร์ฝรั่งเศส เรื่องนั้น ในชื่อภาษาอังกฤษว่า Beautiful Memories ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของหญิงสาวซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ (ปกติโรคนี้มักเกิดกับคนสูงอายุ) กับชายหนุ่มผู้มีอาการสมองเสื่อมเพราะอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนใจ อาการของเธอทรุดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ความจำเริ่มหายไป จำคำศัพท์ไม่ได้ เมื่ออาการหนักขึ้น เธอเริ่มหลงทางในละแวกบ้านและกระทั่งหลงในบ้าน เกิดภาพหลอน จากนั้นเธอสูญเสียความสามารถในการพูด อีกทั้งไม่สามารถควบคุมอารมณ์ จนถึงที่สุดเธอจำคนรักของเธอไม่ได้ และเมื่อโรคดำเนินมาถึงอาการขั้นสุดท้าย หญิงสาวคล้ายหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมเรียนรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ซึ่งในทางการแพทย์ยังหาสาเหตุไม่พบว่าเกิดจากอะไร แต่โรคนี้แตกต่างจากความจำเสื่อมที่เกิดขึ้นในวัยชรา หรือจากการกะทบกระเทือนทางจิตใจ ภายในเวลา 110 นาที ผมติดตามอาการของโรคผ่านแคลร์ – ตัวละครของเรื่องซึ่งอยู่ในวัยสาวและรับพันธุกรรมที่มาจากแม่ ผมเฝ้าดูความรู้สึกของคนรักของแคลร์ที่ต้องดูแลเธอในช่วงที่เธอมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เขารู้แน่ว่าจะต้องสูญเสียเธอไปในที่สุด ไม่ช้าก็เร็ว
ถนอมขวัญเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเธอเรียนรู้โรคนี้จากการดูแลพ่ออย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 6 ปี
“อัลไซเมอร์ เป็นความเจ็บปวดของคนข้างๆ เพราะคนไข้จำอะไรไม่ได้ เขาเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง เขาน่าจะมีความสุข…หรือเปล่า เราไม่มีทางรู้ แล้วถ้าเราเป็นอัลไซเมอร์ เราจะรู้ไหมว่าเราเป็น” ถนอมขวัญปรารภเมื่อเธอเริ่มเล่าอาการของพ่อ
ผมพานไปนึกถึงความตายซึ่งมีเพียงคนตายเท่านั้นที่รู้ว่า โลกหลังความตายเป็นอย่างไร
*
ชีวิตของคนรุ่นผมนั้นเกี่ยวข้องกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ถนอมขวัญเริ่มเล่าชีวิตที่ผกผันเปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน หลังจากฟองสบู่ทางการเงินแตก ครอบครัวของเธอก็เหมือนจะแตกแยกไปพร้อมๆ กัน พ่อแม่ขาดทุนจากการเล่นหุ้นเป็นจำนวนมาก พวกเขาแยกทางกัน พ่อย้ายไปอยู่สมุย มีครอบครัวใหม่ เริ่มธุรกิจใหม่บนเกาะ โดยกลับมาเยี่ยมเธอและน้องปีละครั้งสองครั้ง เวลาผ่านไปไม่นาน แม่ป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองแตก เธอทำหน้าที่หาเงิน ส่วนน้องชายดูแลแม่อย่างใกล้ชิด เธอจึงทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน ตั้งแต่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ทำโปรดักต์ เป็นเจ้าของร้านกาแฟ เป็นหุ้นส่วนร้านอาหารญี่ปุ่น และเป็นหุ้นส่วนสปา สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอหลุดพ้นจากความกังวลเรื่องครอบครัวไปได้ชั่วขณะ
“8 ปีที่แล้ว เราพบว่าป๊าไม่ปกติ เริ่มจากการที่เขามาหาหมอผิวหนังที่กรุงเทพฯ เพราะเขารู้สึกคัน ผ่านมาไม่นานเขาก็บอกว่าจะมาหาหมออีก เราคิดว่าเขาลืมว่าเขาเพิ่งมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว จนหลังๆ ต้องบอกเจ้าหน้าที่สายการบินให้ช่วยดูเขา” เธอเล่า
ในระยะแรกของอาการอัลไซเมอร์ พ่อของเธอยังอยู่ที่สมุย อาการเริ่มปรากฏชัดขึ้นเมื่อเพื่อนบ้านบนเกาะบอกว่า พ่อของเธอชอบไปนั่งถอนหญ้าริมทางในหมู่บ้านทั้งวัน เจ้าอาวาสที่วัดเล่าว่าพ่อของเธอไปกวาดใบไม้แห้งที่ลานวัดตั้งแต่เช้าจนค่ำ เมื่อพบว่าอาการไม่ดี เธอหลอกให้พ่อกลับมาอยู่กรุงเทพฯ
“ป๊าบอกจะกลับสมุย เราก็บอกเขาว่าพรุ่งนี้จะไปส่งที่สนามบิน พูดกับเขาแบบนี้ทุกวันจนเขาลืมว่าจะกลับสมุย”
“ตลกดีนะ เวลาเขาเจอใคร เขาก็จะบอกว่า ‘จะไปหาลูกสาว’ ซึ่งก็คือเรา คือป๊ารักเรามาก มันคงเป็นความทรงจำที่อยู่กับเขานานที่สุด เขาตื่นนอนตอนเช้าทุกวัน มาส่งเราที่ลิฟท์ไปทำงาน เห็นหน้าเราก็ถามว่า ‘เป็นไงบ้างจ๊ะลูกจ๋า’ เมื่อก่อนป๊านี่นักเลงมากนะ แล้วเป็นคนมีระเบียบมาก มีพระเครื่องห้อยคอเป็นพวง ตอนเขาเริ่มเป็นอัลไซเมอร์ เราก็กลัวว่าสิ่งนี้จะทำให้เขาเป็นอันตราย เราคิดอยู่นานว่าจะถอดออกมายังไงโดยไม่ให้เขาโกรธ เพราะเขาใส่มาตั้งแต่เป็นหนุ่ม เขารักของเขามาก วันหนึ่งเราก็ถามเขาไปตรงๆ ‘ป๊า หนูขอสร้อยพระได้ไหม’ เขาก็บอกว่าชอบเหรอ ชอบก็เอาไป แล้วเขาก็ถอดมาให้ง่ายๆ เลย”
ท่ามกลางความกังวล ความพะวักพะวน ความไม่แน่ใจ ว่าจะมีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น-ทุกครั้งเมื่อมีโทรศัพท์จากพี่เลี้ยง แต่ถนอมขวัญก็ยอมรับว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเธอกับพ่อที่ได้ดูแลเขา หลังจากเขาหายไปสร้างครอบครัวใหม่และห่างเหินกันไปราว 15 ปี เธอหาข้อมูล ศึกษา หาวิธีการรับมือกับโรคนี้ แต่เหมือนว่ายังไม่มีองค์ความรู้ที่มากพอ แม้ว่าจะพยายามเตรียมตัวแล้ว แต่เมื่อโรคนี้เกิดกับคนใกล้ตัวเธอเข้าจริงๆ เธอกลับตั้งรับมันไม่ได้ เป็นตัวเธอเองที่ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ เพราะไม่เข้าใจว่าพ่อของเธอทำแบบนั้นได้อย่างไร
ถนอมขวัญเล่าอาการของพ่อให้ฟังตั้งแต่การทำอะไรโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งความสามารถในการใช้ชีวิตเริ่มหายไปทีละอย่าง ถ้าสมองเป็นฟองน้ำ ส่วนที่เป็นอัลไซเมอร์คือฟองน้ำที่ฟีบ แห้ง และตายไปในที่สุด แล้วเชื้อก็เริ่มลามไปกินทีละส่วนของสมอง อาการแปลกๆ ของพ่อจึงเริ่มขึ้นจากน้อยไปมากภายในเวลา 7 ปี ซึ่งเธอก็ตามแก้ไปทีละอย่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขโมยของในร้านสะดวกซื้อ โกนคิ้วเล่น สูญเสียความทรงจำ หายตัวไปจากบ้าน เริ่มพูดติดขัด พูดคำซ้ำ ฉี่หน้าบ้านคนอื่น กินหมูดิบในร้านสุกี้ กินกล้วยทั้งเปลือก อึในสระว่ายน้ำ อึในบ้านแล้วป้ายเต็มกำแพง ฯลฯ
“เราเสียสติเลย ดุด่าเขาอย่างแรง ‘ทำไมป๊าทำแบบนี้ ทำไมป๊าทำแบบนี้ รู้ไหมว่ามันทำไม่ได้’ เราพูดกับเขาแรงมาก แต่เขาก็บอกว่า ‘ไม่ได้ทำ ไม่ได้ทำ’ อายไหม อาย แต่ตอนนั้นมันโมโห กลับมาคิดทีหลังเรารู้สึกผิดที่ทำกับเขาแบบนั้น” เธอบอก
ถนอมขวัญรู้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ เธอจึงเลือกที่จะตระเตรียมที่ทางเอาไว้ดูแลพ่อ เธอหาทาวน์เฮาส์หลังหนึ่งในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยวางแผนว่าจะให้พ่อไปอยู่ที่นั่นมีคนดูแลใกล้ชิด มีอุปกรณ์ดูแลหากว่าพ่อของเธออยู่ในระยะผู้ป่วยติดเตียง พ่อของเธอจะมีความสุข แม้เขาจะรับรู้หรือไม่ก็ตาม นั่นเป็นสิ่งที่ลูกพอจะทำให้เขาได้
แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นจนได้ พี่เลี้ยงโทรมาบอกว่า ‘อากงล้มให้ห้องน้ำ’
“เราทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าเราต้องทำยังไง ออฟฟิศเราใกล้จุฬาฯ เรานั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปที่นั้น บอกให้เขาเอารถฉุกเฉินไปรับป๊า แต่เขาปฏิเสธ เขาบอกว่าไปไม่ได้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ เราร้องไห้อยู่ตรงนั้น แล้วถามเขาว่ารถฉุกเฉินที่จอดไว้ตรงนั้นเอาไว้ทำอะไร ที่สุดแล้วกติกาคือ เราต้องโทรหาศูนย์ฯ ฉุกเฉิน แล้วศูนย์นั้นจะประสานงานติดต่อให้โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สุดไปรับ เราทำอะไรไม่ได้ ต้องเรียกแท็กซี่ไปรับป๊าให้พามาส่งโรงพยาบาล
“ตอนนั้นหมอบอกว่าต้องผ่าตัดสมอง คนไข้มีโอกาสหาย เราก็คิดว่าถ้าป๊ามีโอกาสหายเราก็ยอมให้ผ่า แต่หมอไม่ได้บอกว่าหายแล้วเป็นยังไง”
ผมละสายตาจากคู่สนทนา หันไปมองรอบๆ ร้าน เชฟกำลังเตรียมอาหาร บริกรต้อนรับลูกค้าที่เข้ามาใหม่ หญิงสาวกำลังโพสต์ท่ากินอาหารให้ชายหนุ่มของเธอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก เสียงเพลงในร้านคลอเบาๆ ทุกอย่างในร้านดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แสงไฟนุ่มนวลไม่ต่างจากฟ้าที่อิ่มฝนอยู่ด้านนอก
“คิดยังไงกับเรื่องการุณยฆาต” ผมถาม หลังความเงียบงัน
“ป๊าไม่ได้บอกไว้ว่าถ้าเขาป่วยไม่รู้ตัวจะให้ทำกับเขายังไง แต่ตอนที่น้องชายเราเสีย (อุบัติเหตุทางรถยนต์) เรารู้ว่าป๊ารู้สึกยังไง ป๊าบอกว่าถ้าเขาเป็นอะไร อย่าทำกับเขาแบบนี้ ตอนเขาล้ม หมอบอกว่าควรผ่าสมอง เพราะเขามีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด เราคิดว่าถ้ามีโอกาสรอดเรายอม เเต่เขาไม่บอกว่ารอดแล้วจะเป็นแบบไหน เพราะขอให้มีโอกาสที่ป๊าจะรอด เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ปรากฏว่าเขารอดจริง แต่รอดแบบต้องนอนติดเตียง เจาะคอให้อาหาร ใส่ท่อช่วยหายใจ มีร่างกายแต่ไม่รู้สึกตัว ไร้วิญญาณ นอนอยู่ใน ICU 4 เดือน ป๊านอนกะพริบตาอยู่บนเตียงอีก 7 เดือนในบ้านที่เตรียมไว้สลับกับไปโรงพยาบาลสัปดาห์ละครั้ง ถ้ารู้ว่าป๊าจะเป็นแบบนี้ เราคงไม่ให้หมอผ่าตัดสมอง…
“วันหนึ่งป๊าอาการทรุด ความดันตก อาหารทางสายยางก็ไม่รับแล้ว อ้วกออกมา ‘ปั้มหัวใจได้นะ’ หมอถามว่าจะยื้อชีวิตไหม เราตัดสินใจที่จะไม่ยื้อ เพราะยื้อไปถ้ารอดก็คงเป็นเจ้าชายนิทรา เราคิดว่าเขาอยากอยู่แค่ไหนก็แค่นั้น อยากให้เขาไปแบบสบายที่สุด ถามว่าแบบไหน คือไม่กระตุ้นใดๆ ทั้งสิ้น ให้เขาหลับแบบสบาย แล้วเขาก็ไปคืนวันนั้นจริงๆ นางพยาบาลโทรมาตอนตี 3 ว่าอาการไม่ดี เราถามว่าไปทันไหม เขาบอกว่า ถ้าไม่ยื้อก็ไม่น่าทัน เราก็บอกไม่เป็นไร เราขับรถจากสาทรไปสามเสน 15 นาที- -Fast and Furious มีจริง เราอยากไปให้ทันนาทีสุดท้าย แต่เรารู้ว่าเขาไม่รอเราหรอก พ่อเป็นคนแบบนั้น แล้วมันก็ไม่ทันจริงๆ แต่เราก็คิดว่าเราคืนคำสัญญาให้เขาแล้ว…”
*
อัลไซเมอร์เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ในช่วงแรกเมื่อพบว่าพ่อเป็นโรคนี้ เธอเริ่มคุยกับญาติๆ และพบว่าอาม่าและอาแปะ (ลุง) ของเธอเป็นโรคอัลไซเมอร์เช่นเดียวกัน ดูเหมือนว่าเธอกับน้องชายก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้เหมือนกัน
“เธอเตรียมตัวไว้ไหม” ผมตั้งคำถาม
“เราคิดไม่ได้หรอกว่าเราจะไม่เป็น เราเริ่มเก็บเงิน ทำงานอย่างมีความสุข ลูกค้าแฮปปี้ ทำประกันชีวิตเยอะ เตรียมไว้ ที่เมืองไทยมีความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยน้อยมาก ตอนป๊าเป็นเราทำเสื้อยืดให้เขาใส่ 7 วัน 7 สี สีสดมาก (หัวเราะ) สกรีนว่า “ผู้ป่วยโรคสมอง ถ้าพลัดหลงโปรดติดต่อ…” บางคนก็บอกว่าอันตราย เพราะเขาอาจจะถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ แต่เราเป็นห่วงเรื่องชีวิตในทุกๆ วันมากกว่า เราทำเท่าที่ทำได้ แล้วเสื้อยืดตัวนี้ก็ช่วยเขากลับบ้าน มีคนโทรมาให้ไปรับป๊า 3-4 หน ครั้งหนึ่งหลงทางเป็นลมอยู่หน้าร้านขายธูป
“อีก 4-5 ปีข้างหน้าเราอาจจะรู้จักโรคนี้มากขึ้น และมีวิธีรักษา ใครจะไปรู้”
ถนอมขวัญ ชุติธนวงศ์ | นักออกแบบ
Medium Format 6 x 6
Black and White Negative Film
Fact Box
*โรคอัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1906 โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อว่า อาลอยส์ อัลซไฮเมอร์ (Alois Alzheimer) จัดเป็นโรคความเสื่อมที่รักษาไม่หายและจัดเป็นอาการป่วยระยะสุดท้าย โดยทั่วไปแล้วสามารถวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี แต่ก็พบโรคอัลไซเมอร์ชนิดหนึ่งคือ โรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (early-onset Alzheimer's) ซึ่งเกิดในคนอายุน้อยแต่มีความชุกของโรคน้อยกว่า ประมาณการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2549 มีประชากรราว 26.6 ล้านคนทั่วโลกที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ และจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าใน พ.ศ. 2593 (th.wikipedia.org)
**โรคแพนิคเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช จัดเป็นประเภทหนึ่งของโรควิตกกังวล ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงเมื่อผู้ป่วยมีอาการกลัวแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยว่าสิ่งไม่ดีกำลังจะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่อันตรายใดอยู่ตรงหน้า สำหรับผู้ที่เป็นโรคแพนิค การเกิดของ ‘อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง’ อาจเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และอาจนานถึงครึ่งชั่วโมงก็ได้ รวมทั้งสามารถกลับมาเป็นซ้ำ และเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และมักจะทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยความกังวลหรือความเศร้าโศกอยู่ตลอดเวลาว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีก (www.honestdocs.co)