แม้คนในกรุงเทพฯ จะเริ่มลืมเรื่องฝุ่นไปแล้ว แต่ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ยังคงเจอปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างหนักหน่วง เรื่องนี้ทำให้กลุ่มอิสระอย่างกลุ่ม ‘ไทยพร้อม’ (ThaiPrompt) จัด เวทีเสวนา “อากาศสะอาดเป็นของมนุษยชาติ” เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2562 เพื่อผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด หรือ Clean Air Act ในประเทศไทย โดยในวันที่ 8 มี.ค. 2562 ทางกลุ่มจะยื่นหนังสือถึงพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อผลักดันกฎหมายนี้ให้เป็นนโยบายเร่งด่วน รวมถึงการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org ด้วย

อิริก แอนเดอร์สัน เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมฯ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายอากาศสะอาดมาตั้งแต่ปี 1970 ให้อำนาจทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐต่างๆ ออกกฎเกณฑ์จำกัดการปล่อยก๊าซต่างๆ ทั้งกับโรงงานอุตสาหกรรมและยานพาหนะ นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ อีพีเอ (United States Environmental Protection Agency: EPA) ทำหน้าที่ออกระเบียบและให้ความช่วยเหลือรัฐต่างๆ ในการวางแผน ทบทวนแผน และตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และกำหนดมาตรฐานของสารพิษในอากาศ ซึ่งหากพบผู้ละเมิด อีพีเอจะออกคำเตือน ออกคำสั่งให้แก้ไข สั่งปรับก็ได้ หรือกระทั่งฟ้องผู้ละเมิดในศาลได้ด้วย

อิริกยังกล่าวถึงสถิติขององค์การอนามัยโลกว่า มีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศประมาณ 10% ของประชากรทั่วโลก มากกว่าเอดส์ 4 เท่า

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กฎหมายอากาศสะอาดของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เน้นการควบคุมอย่างเดียว แต่ส่งเสริมให้ลดมลพิษอย่างเป็นระบบ และยังมีการให้ทุนการวิจัย 20 ปีแก่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อติดตามผลกระทบทางสุขภาพของผู้คน ซึ่งการตีพิมพ์ผลวิจัยปี 1993 ทำให้คนรู้จักอันตรายของ PM2.5 จนต่อมาปี 1995 สมาคมโรงมะเร็งอเมริกันเผยแพร่ผลการศึกษาว่า PM2.5 ทำให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในปี 1997 หลักฐานทั้ง 2 ชิ้นนี้ทำให้สมาคมโรคปอดอเมริกันฟ้องอีพีเอ ส่งผลให้หน่วยงานนี้ต้องเพิ่มมาตรฐานอากาศและบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมากขึ้น  

ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย คือ 1.ยกร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่รอบด้านทั้งการควบคุมและลดมลพิษ 2.ตั้งหน่วยงานกลางอย่างอีพีเอของสหรัฐ 3.สร้างระบบติดตามตรวจสอบสภาพอากาศในทุกพื้นที่ 4.ผลิตองค์ความรู้ที่ทันสมัยรวมสหวิทยาการ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมีการทำ ‘บัญชีการปลดปล่อยมลพิษ’ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น และประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ ขณะที่ต่างประเทศล้วนมีกฎหมายนี้แล้ว สาระสำคัญคือ กำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษต้องส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษโดยระบุชนิดและปริมาณด้วย ในสหรัฐอเมริกามีการกำหนดตัวมลพิษที่ต้องรายงานไว้ 800 กว่าชนิด ญี่ปุ่นประมาณ 200 กว่าชนิด

“มูลนิธิฯ ยกร่างกฎหมายบัญชีการปล่อยมลพิษในปี 2558 สำรวจความเห็นภาคอุตสาหกรรมในมาบตาพุดแล้วด้วยว่า 79% เขาอยากให้มีและยินดีปฏิบัติตาม แต่เกิดรัฐประหารก่อนจึงยังไม่ได้ผลักดัน” เพ็ญโฉม กล่าว

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Jorge Silva

Tags: , , , ,