วันนี้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นำโดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกกระทรวง มีการประชุมราว 5 ชั่วโมงครึ่ง ก่อนได้ข้อสรุปออกดังนี้
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลประชุมของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีการประชุมกันราว 5 ชั่วโมง ในเบื้องต้นมีความเห็นตรงกันว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ยังอยู่ที่ระยะสอง ยังไม่ไประยะสาม ในเชิงวิชาการและในทางปฏิบัติ การแบ่งเฟส 1 2 3 ไม่มีใครที่ไหนในโลกเป็นตัวกำหนด ไม่มีเกณฑ์กำหนดว่าแต่ละประเทศจะแบ่งอย่างไร แต่ละประเทศจะกำหนดเกณฑ์ของตัวเองเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ
การจะเข้าสู่ระยะสามจะประกาศก็ต่อเมื่อประชาชนรับเชื้อหรือติดต่อกันเองในประเทศไทย โดยไม่พบว่าผู้แพร่เชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ และต้องมีการแพร่เชื้อจำนวนมาก ไม่ใช่รายสองราย และต้องมีการแพร่ระบาดของเชื้อไปในหลายพื้นที่
อย่างไรก็ตามวิษณุเปิดเผยอีกว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยยังไม่ไปถึงระยะสาม แต่ต้องเตรียมรับมือ และไม่ประมาท เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าทางภาครัฐเตรียมการรับมือไม่ดีพอ เราเลยมีมาตรการรับมือในหลายด้าน ดังนี้
ด้านสาธารณสุข จัดเตรียมให้โรงพยาบาลของภาครัฐและเอกชน สถานพยาบาลท้องถิ่น โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย ปรับสถานที่ให้มีเตียงคนไขัเพียงพอต่อสถานการณ์ที่กำลังจะมาถึง และระดมทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งจิตสาอาสาต่างๆ ที่มีความรู้ทางการแพทย์ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นกรณีพิเศษสำหรับสถานการณ์โควิด-19
ส่วนเรื่องเวชภัณฑ์ เช่น แอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย ทางกระทรวงพาณิชย์เริ่งกำลังการผลิตเกือบได้สองล้านชิ้นต่อวัน และจะผลิตให้มากขึ้น โดยขณะนี้มีบางประเทศก็พร้อมที่จะช่วยเหลือในส่วนของหน้ากากอนามัย และต้องเร่งผลิตเจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น พร้อมกับจะเอาหน้ากากอนามัยที่เป็นของกลาง ซึ่งได้จากการตรวจจับผู้ค้าออนไลน์ หรือคนขายเกินราคา มาใช้หมุนเวียนแจกจ่ายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ก่อนโดยไม่ให้เสียรูปคดี
ด้านต่างประเทศ หลายประเทศพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านยา เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม เราก็จะพึ่งตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง โดยเร่งผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งทีมไทยแลนด์โดยให้เอกอัครราชทูตในแต่ละประเทศเป็นหัวหน้าทีมในการรับเรื่องและช่วยเหลือ คนไทยที่อยู่ต่างประเทศ
ส่วนเรื่องวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ช่วง 13 14 และ 15 ที่ก่อนหน้านี้มีมติครม. ให้เป็นวันหยุดราชการก่อนจะมีโรคระบาด แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทางที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ และวันหยุดงานของภาคเอกชน และจะไปชดเชยวันหยุดในโอกาสถัดไป เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ส่วนมาตรการที่จะมีการยกระดับขึ้นก็คือ ข้อแรกสถานที่ใดที่มีคนไปชุมนุมคราวละมากๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน ซึ่งต้องมีกิจกรรมเป็นประจำ ให้ปิดหรือหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว
ส่วนเกณฑ์ข้อที่สอง คือ สถานที่ที่มีผู้คนมาชุมนุมคราวละมากๆ แต่เป็นการชุมนุมเพื่อทำกิจกรรมบางอย่างชั่วคราว มีการส่งเสียงเชียร์ กู่ร้อง สัมผัส แพร่เชื้อทางปาก มือ ไม้ สารคัดหลั่ง เหงื่อ จะเสนอให้ปิดกิจการเป็นการชั่วคราว เช่น สนามมวยทั่วประเทศ สนามกีฬา แม้แต่โรงภาพยนตร์ก็อาจจะเข้าเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ใดที่ไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวยังสามารถเปิดดำเนินการตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการป้องกัน เช่น ยิงเลเซอร์วัดไข้ หน้ากากอนามัยปิดปาก เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น
ด้านกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า วันนี้ จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 33 ราย ทำให้ไทยมีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 147 ราย
ใน 33 รายใหม่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ จำนวน 16 คน จาก กลุ่มสนามมวย 7 คน, กลุ่มสถานบันเทิง 3 คน, สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 6 คน และ สอง กลุ่มผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ จำนวน 17 คน โดยเป็นกลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ 6 คน, กลุ่มทำงานใกล้ชิดสัมผัสต่างชาติ 6 คน, การระบาดเป็นกลุ่มก้อน 3 คน และกลุ่มผู้ร่วมพิธีทางศาสนา ในมาเลเซีย 2 คน
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนโรค และ/หรือ รอผลทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 27 ราย
สำหรับกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลีที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 83 คน ในจำนวนนี้ มี 6 คน รับตัวไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล ทั้งหมดไม่มีไข้ ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลือ 77 คน (ผู้ชาย 24 คน ผู้หญิง 53 คน) ทุกคนไม่มีไข้ ยังต้องอยู่ในการเฝ้าระวังสังเกตอาการ จนครบ 14 วัน ที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ
ทั้งนี้ สธ. เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่มีการระบาดของโรคขอให้กักกันตัวเองที่บ้านให้ครบ 14 วัน แยกของใช้ส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อไม่แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว งดกิจกรรมทางสังคม
ส่วนประชาชนทั่วไปขอให้หมั่นล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปในที่ที่มีคนแออัด หากมีไข้ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง/ประวัติความเสี่ยง เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัย การรักษา และเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง
Tags: วิษณุ เครืองาม, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, ประเทศไทย