ทำไมลูกดื้อ ทำไมลูกไม่เชื่อฟัง ทำไมลูกเอาแต่เล่นมือถือ เล่นเกม บ่นจนปากเปียกปากแฉะก็ไม่ฟัง แถมยังเถียงคำไม่ตกฟาก นี่อาจจะเป็นมุมมองของแม่คนหนึ่ง ที่มีต่อลูกที่กำลังโต โดยเฉพาะลูกที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น วัยที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัยรุ่นกับพ่อแม่นั้น ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากันเลยทีเดียว หากไม่มีความเข้าใจกันเพียงพอก็อาจจะเกิดความขัดแย้งกันได้

แล้วในยุคนี้ พื้นที่ส่วนตัวของเด็กคนหนึ่ง นอกจากจะเป็นพื้นที่ทางกายภาพอย่างห้องนอนแล้ว โลกออนไลน์ก็เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเด็กและวัยรุ่นในยุคนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งโซเชียลมีเดีย หรือเกมออนไลน์ที่สามารถนัดกับเพื่อนๆ เข้าไปเล่นเกมกันอย่างลืมวันลืมคืน จนอาจจะเลยจุดที่พอดี และส่งผลเสียต่อการเรียน สุขภาพ รวมถึงอารมณ์ที่หงุดหงิดแปรปรวน

ปัญหาที่ว่ามานั้น ถูกนำเสนอในกลุ่มของผู้ปกครอง รวมถึงในแวดวงของจิตแพทย์เด็ก จนนำมาสู่กิจกรรมในวันแม่แห่งชาติที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กับโครงการ ‘คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน’ ระบบการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานติดมือถือ จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ทูลมอโร ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการเรียนรู้ออนไลน์ และ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว โดยผู้ปกครองสามารถเข้าร่วมในชั้นเรียนออนไลน์ เพื่อเรียนรู้ทักษะการสื่อสารภายในครอบครัว ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่บวก โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือ

ข้อมูลจากสถาบันจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุว่า เด็กและเยาวชนไทยใช้เวลากับหน้าจออยู่ที่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งปกติแล้วไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจากการสำรวจเด็กวัย 6-18 ปี จำนวนกว่า 15,000 คน พบว่า ร้อยละ 61 มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเกมออนไลน์ เพราะเล่นเกมมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะนำพาเด็กไปสู่ความเสี่ยง เช่น การพนัน หรือความรุนแรงอื่นๆ

โดยหลักสูตรออนไลน์นี้ สามารถรองรับการอบรมได้ถึง 600 คน ซึ่งข้อดีก็คือผู้ปกครองไม่ต้องเดินทางมาเพื่อเข้าห้องเรียน แต่ใช้เวลาเรียนเพียงวันละ 1 ชั่วโมง ช่วง 19.00 – 20.00 น. เป็นเวลา 9 วัน มีคอร์สที่เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย ได้แก่ คอร์สสำหรับผู้ปกครองเด็กปฐมวัย (แรกเกิด – 6 ปี) คอร์สสำหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กประถม (7-12 ปี) คอร์สสำหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กวัยรุ่น (13-18 ปี) ที่สำคัญ คือ ไม่เสียค่าใช้จ่ายและยังได้ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น รวมถึงได้แบ่งปันประสบการณ์จากผู้ปกครองท่านอื่นอีกด้วย

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ สิ่งสำคัญคือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง เพราะหัวใจสำคัญของโครงการก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่ดีของพ่อแม่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของลูก ซึ่ง แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ก็ได้ย้ำถึงบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองที่สำคัญว่า

“การเลี้ยงลูก หลักสำคัญจริงๆ มีสองคำ คำแรก คือ ความสัมพันธ์ที่ดี คำที่สองคือ มีวินัย ต้องมองลูกในแง่ดี อย่างเช่นถึงลูกจะเล่นมือถือ เล่นเกมเยอะ แต่เขาก็ไม่ได้ทำตัวเลวร้าย ไม่ได้ไปทำร้ายใคร เขาแค่เล่นอินเทอร์เน็ตเยอะ แต่เขาก็ยังเรียนหนังสือ สิ่งสำคัญมากคือ เราจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อลูก แล้วก็บ่นให้น้อยลง อยากจะพูดอะไรกับลูก ก็พูดสั้นๆ ง่ายๆ หยุดเล่นได้แล้ว เพราะแม่เป็นห่วง คือพูดถึงความเป็นห่วงของเราแทนที่จะบ่น การบ่นคือการตำหนิ เช่น ไม่รับผิดชอบ ไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักทำ ก็เปลี่ยน เช่น แม่เป็นห่วงนะ เล่นนานแล้ว เดี๋ยวทำการบ้านไม่ทัน แสดงความเป็นห่วง สร้างกฎระเบียบที่ดี เช่น มีการตั้งเวลา เพราะถ้าบอกว่าอย่าเล่นเยอะ เยอะของเรา 2 ชั่วโมง เยอะของลูก 8 ชั่วโมง ก็จะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน จริงๆ หลักมันมีแค่นี้ แต่ความสำคัญ ก็คือ ความสม่ำเสมอ เราทำได้สม่ำเสมอไหม ต้องคอยถามตัวเอง”

“พ่อแม่ชอบมาบอกหมอว่า หมอจัดการลูกให้หน่อย หมอบอกเลยว่า ใครจะไปจัดการที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ได้ล่ะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้แล้วไปจัดการที่บ้านตัวเอง ซึ่งทำได้ทุกวัน ทำไปเรื่อยๆ ค่ะ รับรองว่าลูกต้องดีขึ้น คุณอายุเท่าไหร่แล้ว 30 40 คุณยังเปลี่ยนไม่ได้เลย แล้วจะให้ลูกเรา อายุ 10 ขวบ เปลี่ยน มันเอาเปรียบเขาเกินไปนะ เพราะฉะนั้น ถ้าตัวคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้ใหญ่มาก่อน เปลี่ยนไม่ได้ แล้วไปเอาเปรียบให้ลูกเปลี่ยน มันยาก เราโตแล้ว เราเข้าใจทุกอย่าง เรายอมเปลี่ยน ให้มันโอเคขึ้น แล้วช่วยให้ลูกเปลี่ยน นี่ต่างหากคือหน้าที่ของพ่อแม่”

พ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจอยากเข้าร่วมอบรมหลักสูตรออนไลน์ เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน.com หรือที่เพจเฟซบุ๊ก Toolmorrow

 

Fact Box

  • ในปี 2562 สสส.ได้จับมือร่วมกับบริษัททูลมอโร มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว พัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการสื่อสารผ่านOnline Platform สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานวัยรุ่น จนเกิดรายการ ‘รอลูกเลิกเรียน’ มีการเก็บผลการศึกษาพบว่า ปัญหาลูก ‘ติดมือถือ’ เป็นประเด็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองกังวลและอยากแก้ไขมากที่สุด
  • ถัดมาในปี 2563 สสส. ยังได้ต่อยอดโครงการ  คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยนร่วมกับภาคีเครือข่ายได้แก่ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์, กรมสุขภาพจิต, กระทรวงสาธารณสุข, คณะจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น,  ศิริราชพยาบาล, คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ร่วมกันช่วยสร้างความเข้าใจและหาแนวทางในการแก้พฤติกรรมติดการใช้ผ่านวิธีการที่เหมาะสม
Tags: , ,