มาถึงตอนนี้ เครื่องดนตรีไทยไม่ได้มีไว้เล่นแค่ในสถานศึกษาหรือพิธีกรรมอย่างที่ใครหลายคนจดจำ ในแวดวงดนตรีร่วมสมัย เครื่องดนตรีไทยได้กลายเป็นส่วนประกอบทั้งในวงไทยหรือวงต่างชาติสายอินดี้ และยังกลายเป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างในระดับสากล เช่นกรณีของ เก่ง ธชย ประทุมวรรณ ที่ได้พาดนตรีไทยไปกวาดกว่า 14 เหรียญทอง จากเวทีศิลปะการแสดงระดับโลกอย่าง WCOPA
แม้เครื่องดนตรีไทยจะมีที่ทางทั้งในวัฒนธรรมป๊อปและในแวดวงนาฏศิลป์ไทย แต่ก็ไม่เคยมีนวัตกรรมเทียบหรือปรับค่าความถี่เสียงของเครื่องดนตรีไทยมาก่อน แต่ละวงดนตรีหรือแต่ละผู้ผลิตจะตั้งค่าความถี่เสียงตามความถนัดของตน ซึ่งอาจจะไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่เครื่องดนตรีสากลเช่นกีต้าร์หรือเปียโนมีเครื่องมือจูนเสียงกว่า 100 ค่าย ด้วยแนวคิดเริ่มต้นนี้ แอปฯ Thai Tuner จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างมาตรฐานค่าความถี่เสียงในเครื่องดนตรีไทย และไปไกลกว่านั้นด้วยฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
Thai Tuner คือ แอปพลิเคชันเทียบค่าความถี่เสียงบนโทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android สามารถใช้เทียบหรือตั้งค่าเสียงดนตรีไทยได้อย่างมีมาตรฐาน เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 โดยมี ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ริเริ่มโครงการ
แอปพลิเคชั่นนี้พัฒนาขึ้นมาจากโครงการวิจัยค่าความถี่เสียงดนตรีไทย ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีอาจารย์ปกรณ์ หนูยี่ คีตศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้วิจัยโครงการนี้ และร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันโดยคุณจุลดิษฐ์ สันติธรณี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดิจิโทโปลิส จำกัด แอปพลิเคชัน
ด้วยความตั้งใจเหล่านั้น Thai Tuner จึงได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อรักษามาตรฐานเสียงดนตรีไทยและสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยในแอปฯ ประกอบไปด้วยโปรแกรมเทียบเสียงเครื่องดนตรีทั้งหมด 89 ชนิด ทั้งดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน โดยแบ่งประเภทเป็น ดีด สี ตี เป่า ร้อง และเครื่องดนตรีไทย 4 ภาค นอกจากนี้โครงการยังพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์เครื่องดนตรีไทยต้นแบบได้แก่ ฉิ่งและขลุ่ย ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่จำเป็นต้องปรับจูนตั้งแต่กระบวนการผลิต รูปแบบของแอปฯ มีการออกแบบโดยใช้ความเป็นไทยผสมผสานกับสากลแล้วประยุกต์ให้ง่ายต่อการใช้งาน เช่นตัวไอคอน ที่เป็นการผสมระหว่างสระ ‘ไ’ กับโน้ตตัวเขบ็ด 1 ชั้น สีสันที่ใช้ในแอปฯ ก็เป็นสี ‘ไทยโทน’ จากงานวิจัยของอาจารย์ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์พิเศษคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
แอปพลิเคชัน Thai Tuner ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้เล่นดนตรีไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้อยากเล่นดนตรีไทยด้วยเพราะนอกจากจะบอกค่าความถี่เสียงแล้วยังบอกตำแหน่งนิ้วที่ใช้เล่น ซึ่งเป็นการสอนพื้นฐานดนตรีไทยให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจด้วย เนื่องจากในปัจจุบันทิศทางของดนตรีไทยยังเต็มไปด้วยความหวัง มีผู้อนุรักษ์และนำมาประยุกต์อย่างน่าสนใจ
ด้านครูทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ผู้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านดนตรีมาช้านาน เห็นสมควรอย่างยิ่งที่มีแอปพลิเคชันนี้เกิดขึ้น เพราะเมื่อก่อนค่อนข้างยากในการควบคุมเสียง ต้องใช้ความจำอย่างเดียว โดยหลังจากมีการทดลองใช้ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีตามความคาดหมายด้วย
ฝ่ายธชย ประทุมวรรณ นักร้องผู้มีใจรักในเสียงดนตรีไทย มองว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวมีประโยชน์กับเขาอย่างมากในการแสดงดนตรีแต่ละครั้ง และหวังว่าการมีแอปพลิเคชันนี้จึงช่วยสนับสนุนการสร้างสรรค์งานดนตรีไทยให้มีพื้นที่ในระดับสากล
เมื่ออุปกรณ์พร้อมสรรพขนาดนี้ขณะที่กลุ่มนักดนตรีไทยเต็มไปด้วยพลังกันอยู่แล้ว เราจึงหวังว่าจะได้เห็นเครื่องดนตรีไทยได้ถูกสืบสานต่อ หรือนำไปต่อยอดในมิติใหม่ๆ และไม่ถูกแช่แข็งไว้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลกอดีต
Tags: Thai Tuner, ดนตรีไทย