การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับความปกติเดิมของทั้งโลกที่เราเคยรู้จักกันมานานแสนนาน ทุกประเทศ ทุกองค์กรและคนทุกคนต่างต้องกลับมาคิดทบทวน ตั้งโจทย์ใหม่เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นซึ่งยังไม่มีทีท่าจะจบลงได้ง่ายๆ นี้ สำนักเศรษฐกิจต่างๆ มองตรงกันว่าโรคระบาดใหญ่นี้จะทำให้เศรษฐกิจของโลกทั้งปีหดตัวลงอย่างมากรวมทั้งประเทศไทยที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมาก่อนหน้าอยู่แล้ว รายได้สำคัญของประเทศหายไปทั้งการส่งออกซึ่งคาดว่าจะหดตัวมากกว่า 10% และภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสูญรายได้ไปนับล้านล้านบาทจากมาตรการปิดเมืองเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 นี่จึงเป็นเส้นทางที่ลำบากมากขึ้นอีกหลายเท่าสำหรับคนทำธุรกิจที่ต้องเจอกับความท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า

คนตัวเล็กก็ยิ่งจะเหนื่อยมากยิ่งขึ้น

กลุ่มสตาร์ตอัปคือนักรบเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แม้ช่วงที่ผ่านมาคำๆ นี้จะเสื่อมมนต์ขลังลงไปบ้างทั้งระดับโลกและในประเทศไทยเอง หลังจากที่สตาร์ตอัปหลายใหญ่หลายเจ้าล้มไม่เป็นท่าและโอกาสในการเกิดยูนิคอร์นหรือสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าธุรกิจ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3.2 หมื่นล้านบาทขึ้นไปของไทยเองก็ดูห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญก็ให้ความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทั้งระบบนิเวศดิจิทัลที่ยังไม่ครบพร้อม ข้อจำกัดด้านกฏระเบียบที่ยังไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจรวมทั้งแผนการดำเนินงานและวิสัยทัศน์ของตัวสตาร์ตอัปเองที่ยัง ‘ฝันใหญ่’ ไม่พอและคิดไม่ครบมุม

The Momentum จึงพูดคุยกับสตาร์ตอัปและผู้ที่เกี่ยวข้องบางส่วน เพื่อเป็นเสียงสะท้อนของมุมมองที่แตกต่าง ในวันที่ข้อจำกัดด้านธุรกิจเพิ่มมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราพูดกันเสมอว่าสตาร์ตอัปคืออนาคตของประเทศ แล้ววันนี้พวกเขามองอนาคตของตัวเองอย่างไรกันแน่?

โควิด-19 คือตัวเร่งโลกทั้งใบสู่วิถีดิจิทัลและสตาร์ตอัปเกิดมาเพื่อปรับตัวอยู่เสมอ

เริ่มต้นจากความเห็นของพี่ใหญ่คนหนึ่งของวงการสตาร์ตอัปอย่าง ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup, ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง  ZTRUS สตาร์ตอัปที่ทำระบบบัญชีอัจฉริยะด้วยปัญญาประดิษฐ์  โดยเขายอมรับว่าธุรกิจที่ทำอยู่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยลูกค้าหลายรายที่เจรจาธุรกิจกันอยู่ได้ตัดสินใจระงับหรือเลื่อนการพิจารณาโครงการออกไปก่อน หลายหน่วยงานรอดูความชัดเจนว่างบลงทุนที่มีอยู่จะถูกตัดหรือโยกไปด้านอื่นหรือไม่ ด้วยลักษณะธุรกิจของเขาเป็นการนำเสนอโซลูชั่นให้กับองค์กรเพื่อใช้งาน (Business to Business : B2B) ซึ่งจำเป็นต้องพบปะเพื่อพูดคุยและปิดการขาย เมื่อเกิดข้อจำกัดด้านการเดินทางและเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ทำให้การพบลูกค้าเป็นไปได้ยากมากขึ้น  ส่วนสมาชิกรายอื่นๆของสมาคมก็อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัปที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมหรืออีเวนท์ต่างๆ ที่รายได้หายไปกับตาและดูท่าสถานการณ์จะยังไม่คลี่คลายในเวลาอันใกล้ด้วย

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น เหล่าสตาร์ตอัปเองก็ต้องบริหารจัดการเงินสดที่มีเพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดในสถานการณ์แบบนี้ด้วย ดร.พณชิตชี้ว่ากระแสเงินสดของสตาร์ตอัปนั้นอาจจะสั้นกว่าของธุรกิจขนาดเล็กหรือว่า SMEs เสียอีกเนื่องจากโครงสร้างต้นทุนกับรายได้ของสตาร์ตอัปนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แตกต่างจากบริษัทผู้พัฒนาระบบไอทีที่มีซอฟต์แวร์สำเร็จรูปในมืออยู่แล้วและสามารถคำนวณต้นทุนได้โดยง่าย ขณะที่สตาร์ตอัปนั้นจะคิดไปทำไป แก้ไขและพัฒนาไปเรื่อยๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่กับช่วงการทดสอบ จึงมีความเสี่ยงมากกว่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ก็มีผลทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน ส่งผลให้สตาร์ตอัปเองไม่ลงทุนหรือพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมในช่วงนี้นัก

ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup, ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง  ZTRUS

“สตาร์ตอัปหลายรายเตรียมปลดคนออก ขอให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างหรือลดเงินเดือนครึ่งหนึ่งก็มี บางที่ประกาศเปิดทางให้องค์กรอื่นมาคัดเลือกพนักงานของตัวเองไปทำงานด้วย ทั้งหมดนี่เกิดขึ้นแล้ว โดยปกติจะตัดทีมเทคโนโลยีออกเป็นอย่างแรก ไม่น่าเชื่อเหมือนกัน เพราะตอนนี้ของที่ทำไม่สร้างรายได้ก็ต้องหยุดพัฒนาก่อน อาจจะเห็นสตาร์ตอัปหรือคนในบริษัทเหล่านี้นั้นไปอยู่กับองค์กรใหญ่ที่ยังมีฐานะทางการเงินแข็งแรงมากขึ้น”

แม้หลายอย่างรอบตัวจะชะงักงัน แต่ก็ใช่ว่าสตาร์ตอัปจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศชาติไม่ได้ ล่าสุด ดร.พณชิตร่วมมือกับพันธมิตรสตาร์ตอัปที่คุ้นเคยช่วยกันพัฒนา ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ แพลตฟอร์มการประเมินความเสี่ยงโรคโควิด-19 ด้วยตนเอง เพื่อช่วยคัดกรองและอำนวยความสะดวกให้กับทีมแพทย์ นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์และสุขภาพเข้ามาดูแลผู้ที่ต้องกักตัวเองเพื่อเฝ้าระวังติดตามอาการ เขามองว่าสิ่งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยระบบสาธารณสุขของประเทศได้แต่ยังปรับใช้เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจเพราะเป็นระบบเปิดที่หน่วยงานอื่นสามารถเข้าร่วมเพื่อใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังเตรียมรวมตัวกันกับสมาชิกสมาคมเพื่อจัดโปรโมชั่นลดราคาโซลูชั่นเพื่อให้กลุ่ม SMEs สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ได้ในต้นทุนที่จับต้องได้ในอนาคตด้วย

โจทย์สำคัญที่กลุ่มสตาร์ตอัปอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นลูกค้าของเหล่าสตาร์ตอัปเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยกัน ที่สำคัญคือการผลักดันให้องค์กรของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาใช้บริการของสตาร์ตอัปไทยมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มและการบริการของผู้พัฒนาเทคโนโลยีชาวไทยจำนวนมากในท้องตลาดที่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้ ซึ่งรัฐบาลสามารถเป็นตัวกลางสำคัญของเรื่องนี้ โดยปัจจุบันยังไม่มีเจ้าภาพชัดเจนเนื่องจากข้อจำกัดหลายประการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่หลากหลายของภาครัฐที่ยังต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน

“ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะผนึกกำลังกันสร้างอะไรใหม่ๆ ด้วยกันได้ แต่ต้องกล้า ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเรายังใช้วิธีคิดแบบเดิม การจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิม ก็อาจจะไม่รอดกันทั้งหมด”

มุมมองของดร.พณชิตเห็นว่าสตาร์ตอัปทั้งหลายต่างดิ้นรนเพื่อให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้ กลุ่มที่เพิ่งจะระดมทุนได้จะมีโอกาสรอดมากกว่า ส่วนใครที่ปรับเทคโนโลยีของตนเองนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นก็อาจสร้างโอกาสในธุรกิจอื่นต่อไปได้ สิ่งที่สำคัญคือการบริหารจัดการเงินสดในมือให้เพียงพอ หากในภายหน้าภาครัฐจะออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนให้กับกลุ่มสตาร์ตอัปก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ขณะเดียวกัน โรคโควิด-19นี้ถือเป็นตัวเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลให้เร็วยิ่งขึ้น ถือเป็นเรื่องท้าทาย แต่เชื่อว่าสตาร์ตอัปจะอยู่รอดเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่เห็นโอกาสทางธุรกิจได้เร็วกว่าคนอื่น เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาและการปรับตัวที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาบนเส้นทางนี้

เพราะผู้ที่เชี่ยวชาญกับความไม่ชัดเจนและปัญหามากที่สุดก็คือ สตาร์ตอัปนั่นเอง

Liluna ยังเชื่อยืนหยัดด้วยตนเอง ขอคนไทยให้โอกาสสตาร์ตอัปไทยเพื่อโตไปด้วยกัน

สำหรับนัฐพงษ์ จารวิจิต ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Liluna แพลตฟอร์มของการเดินทางร่วมกันหรือ Carpooling ซึ่งตอบโจทย์แนวคิดของเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Econom) เรื่อง ‘ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน’ โดยธุรกิจก่อนหน้านี้กำลังไปได้ดี แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการเดินทางและผลกระทบต่อการขยายตัวของผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นที่เป็นลูกค้าบุคคล (Business to Consumer : B2C)เกือบทั้งหมด ขณะที่รายได้ขององค์กรจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนักเนื่องจากส่วนใหญ่มาจากธุรกิจองค์กรหรือ B2B ซึ่ง Liluna เข้าไปช่วยบริหารจัดการการเดินทางของคนในองค์กรของลูกค้า เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 

นัฐพงษ์ จารวิจิต ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Liluna

สิ่งที่เขาตั้งใจจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในตอนนี้คือการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ใช้งาน จึงนำไปสู่ ‘ Liluna Food Hero ’ ที่เดิมทีจะใช้งานเพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงอาหารหรือ Gastro-tourism แต่ก็ปรับมาเป็นตลาดหรือ Market Place ให้กับผู้ใช้งานที่สูญเสียรายได้เพื่อขายอาหารของตนเองให้กับเพื่อนผู้ใช้งานคนอื่นๆ ในลักษณะ Home Chef สอดรับกับกระแสการจัดส่งอาหารที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผู้คนต้องทำงานที่บ้าน ซึ่งผลตอบรับจากฝั่งผู้ขายค่อนข้างดี เติบโต 20-30% ส่วนฝั่งคนซื้อนั้น นัฐพงษ์เห็นนว่ายังต้องทำเพิ่มอีกพอสมควรเพื่อให้แพลตฟอร์มนี้เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ผู้คนอุดหนุนและเอื้อเฟื้อต่อกันโดยที่ผ่านตัวกลางน้อยที่สุด มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด  ซึ่งขณะนี้ทาง Liluna ยังไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการใดๆ จากผู้ขายและอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมในอนาคต

“ สำหรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผมคิดว่าที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานที่ช่วยเหลือสตาร์ตอัปเยอะอยู่แล้วนะครับ สิ่งที่ต้องการคือการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเราทำ ผมเองก็ได้ยินคนถามว่าทำไมไม่มีแอปพลิเคชั่นส่งอาหารของคนไทยเลย คนขายเขาโดนเก็บเรียกเงินในระดับที่สูง ทั้งที่ในตลาดมันมีคนทำ เรายอมรับว่าถ้าเทียบกันจะยังสู้แพลตฟอร์มที่เขามีงบเป็นหมื่นล้านและทำมาหลายปีไม่ได้แน่นอน แต่มันใช้งานได้นะ พอมีคนใช้งานเราก็จะได้พัฒนาต่อ เรามาโตไปด้วยกันทั้งสตาร์ตอัปและคนไทยจะดีกว่าหรือเปล่า”

เขายังยืนยันที่จะฟันฝ่าสถานการณ์นี้ไปด้วยตนเองและเชื่อว่าจะทำได้ ขณะเดียวกันยังตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจที่แทบจะพังทลายเมื่อเจอกับวิกฤตระยะสั้นๆ นั้นถือเป็นธุรกิจที่แข็งแรงพอจริงหรือไม่ คนทำธุรกิจเองก็ต้องทบทวนว่าสิ่งที่ทำนั้นตอบโจทย์ผู้คนเพียงใด จากนี้ทั้งนักลงทุนและสตาร์ตอัปจะอยู่กับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้นและทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดไม่ใช่วิ่งตามเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตัวเขาเองกลับมองต่างออกไปว่าสตาร์ตอัปส่วนใหญ่ของประเทศไทยน่าจะอยู่รอดได้

“ เราเดือดร้อนกันไม่เท่ากับ SMEs ที่เขาได้รับผลกระทบเต็มๆ หรอกครับ สตาร์ตอัปเองก็ต้องคิดเสมอว่าเราไม่ได้พิเศษไปกว่า SMEs และไม่ควรจะได้สิทธิพิเศษหรืออะไรที่มากกว่า เราควรจะยืนด้วยตัวเอง สู้ด้วยหนทางที่มีอย่างเต็มที่ คือเราร้องได้นะ โวยวายได้ แต่ถ้าไม่มีคนช่วย เราก็ต้องลุกขึ้นมาและเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่นั่งงอแงอยู่ตรงนั้น เพราะเราโตๆ กันแล้ว” 

ฝันที่(ต้อง)ชัดเจนของสตาร์ตอัปและระบบนิเวศดิจิทัลในยุค New Normal

คำที่ถูกหยิบยกมาพูดบ่อยที่สุดในวงเสวนาของสตาร์ตอัปคือ Ecosystem หรือระบบนิเวศของโลกดิจิทัลที่มีความหมายซับซ้อนและยังยากที่จะกำหนดได้ว่าระบบนิเวศที่ดีที่สุดนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร The Momentum จึงคุยกับ ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไปของ True Digital Park ที่กลุ่มทรูลงทุนพัฒนาบนพื้นที่ 43 ไร่ของถนนสุขุมวิทเพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา รวมทั้งระบบนิเวศสำหรับสตาร์ตอัปที่ใหญ่ที่สุดระดับภูมิภาค ซึ่งก็เจอกับความท้าทายของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน 

ดร.ธาริตยอมรับว่าได้รับผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการดึงคนเข้ามาใช้บริการที่ไม่สามารถทำได้ หลายพื้นที่จึงไม่ได้เปิดให้บริการ ส่วนพนักงานของทรูก็จะให้ทำงานจากที่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงโดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนแต่อย่างใด มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าพื้นที่รายเล็กคือลดราคาค่าเช่าพื้นที่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม นอกจากนี้ยังยกเว้นค่าสมาชิกของ True Digital park ที่โดยปกติจะมาใช้งานพื้นที่โคเวิร์กกิ้งเสปซในช่วงนี้ แม้บางบริษัทจะเริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานแต่ก็ยังก็รักษามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มข้น

ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไปของ True Digital Park

“Ecosystem คือที่ที่คนกลุ่มก้อนเดียวกัน มีความสนใจเดียวกันมาลงเรือลำเดียวกัน แต่ตอนนี้เรือมันสั่นคลอนไปหมด เรือทุกลำเจอกับคลื่นที่แรงมาก มีไม่กี่ลำที่มีสายป่านที่ยาวจากเรือใหญ่นั่นคือองค์กรแม่ของตนเอง ทำให้อยู่รอดได้ ต้องดูว่าถ้าเรื่องนี้จบแล้วจะทำยังไงต่อ ตอนนี้ใครๆ ก็ต้องลดต้นทุน ทำองค์กรให้ลีน ใช้กำลังคนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผลที่สุด ต่อไปจะเห็นการรวมตัวกันมากขึ้น รายเล็กรายน้อยที่ไม่แข็งแรงจะหายไป ที่จริงการมีสังคมแบบนี้จะเป็นที่ที่ช่วยให้พวกเขาตามหาคู่ค้าหรือพันธมิตรที่ดีได้ ก่อนหน้านี้สตาร์ตอัปเริ่มคิดกันว่ามีงานอีเวนท์เยอะมากแต่มาแล้วไม่ได้อะไร ดังนั้นต่อไปเขาก็จะเลือกไปงานที่ดี มีโอกาสทางธุรกิจอยู่จริงๆ  ตัวชุมชนหรือระบบนิเวศเองก็ต้องมีจุดยืนและคุณค่าที่ชัดเจนมากโดยเฉพาะการตกลงเจรจาธุรกิจ การพบปะกันจะต้องมีความหมายจริงๆ เราจึงชวนภาครัฐและเอกชนมาอยู่ตึกเดียวกัน พาคนตัวใหญ่อย่าง VC กับตัวเล็กแบบสตาร์ตอัปมาอยู่ด้วยกัน จะได้เพิ่มโอกาสในการคิดมากขึ้น”

ดร.ธาริตแชร์เสียงสะท้อนของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อวงการสตาร์ตอัปไทยว่าตอนนี้บรรดากลุ่มทุนต่างระแวดระวังมากยิ่งขึ้นและเลือกองค์กรที่มีศักยภาพจริงๆ แนวโน้มการลงทุนจะน้อยลงอย่างชัดเจน โจทย์สำคัญของสตาร์ตอัปไทยคือการสร้างธุรกิจที่แข็งแรงขึ้นมาให้ได้ก่อนด้วยการพัฒนาสินค้าหรือโซลูชั่นของตนเองให้เกิดขึ้นจริง ขายได้จริงจากนั้นจึงไปนำเสนอเพื่อขอระดมทุน  ขณะที่สตาร์ตอัปที่เน้นขายฝันแต่ทำไม่ได้หรือไม่มีโมเดลธุรกิจที่ดีมารองรับก็อาจจะหายไป ความฝันของสตาร์ตอัปจะยังมีอยู่แต่ต้องเป็นความฝันที่ชัดเจนและทำให้ผู้คนนึกภาพตามไปด้วยได้ 

การประเมินระบบนิเวศที่ดีสำหรับสตาร์ตอัปนั้นมองได้ทั้งเรื่องความพร้อมด้านการเงิน การสรรหาคนที่มีสามารถหรือ Talent รวมทั้งการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและตลาด สำหรับประเทศไทยนั้นจำนวนประชากรไม่ได้มีมากพอที่จะทำให้เกิดยูนิคอร์นได้ นั่นคือตลาดยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับจีนหรือกระทั่งอินโดนีเซีย จึงต้องคิดถึงการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาคเสมอ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องการกระจุกตัวของความเจริญในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่เพียงไม่กี่จังหวัด ซึ่งมีความแตกต่างด้านการศึกษาและโอกาสเมื่อเทียบกับจังหวัดรอง เมื่อมองกลับมาที่กลุ่มสตาร์ตอัปเอง ก็ยังเป็นภาพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ การศึกษาดีจากครอบครัวที่มีฐานะ รวมตัวกันทำธุรกิจ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการเงินน้อยกว่าผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งเงื่อนไขทางสังคมในขณะนี้ยังไม่เอื้อให้คนตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนักเติบโตหรือหันมาทำสตาร์ตอัปจนประสบความสำเร็จได้

“ผมสนับสนุนให้ภาครัฐการส่งเสริมให้องค์กรและประชาชนใช้โซลูชั่นของสตาร์ตอัปให้มากขึ้น โดยเฉพาะแบบ B2C ถ้าผลักดันได้ การรับรู้จะเกิดในวงกว้างมากกว่า ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็เป็นของต่างประเทศทั้งนั้น นอกจากนี้ควรจะเพิ่มมาตรการช่วยเหลือสตาร์ตอัปด้านภาษี การจ้างงานและการจดทะเบียนบริษัทที่ง่ายขึ้นมากกว่านี้ สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คือ เมืองไทยเรามีคนเก่งเยอะ แต่คนที่มองไม่เห็นคนเก่งมีเยอะกว่า” ดร.ธาริตกล่าวทิ้งท้าย

เรือลำใหญ่ที่ชื่อ ‘ประเทศไทย’ ยังแล่นต่อไปข้างหน้า ท่ามกลางพายุลูกแล้วลูกเล่าที่โหมกระหน่ำต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีใครรู้ว่าพายุลูกล่าสุดนี้จะสงบลงเมื่อไร ผู้คนบนเรือทั้งคนตัวใหญ่และคนตัวเล็กต่างเหน็ดเหนื่อยกับสิ่งที่ต้องเผชิญด้วยใจที่ประหวั่นพรั่นพรึง ถ้าเราเชื่ออย่างที่พูดกันจริงๆ ว่าสตาร์ตอัปคืออนาคต คือนักรบดิจิทัลที่จะนำพาชาติไปสู่เศรษฐกิจ 4.0ได้ พวกเขาก็อาจจะเป็นกะลาสีหนุ่มที่ยังเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่วบนเรือที่โคลงเคลงนี้ กล้าพอที่จะปีนขึ้นไปและมองเห็นแสงแรกของเช้าวันใหม่ก็เป็นได้

อยู่ที่กัปตันว่าจะมองเห็นพวกเขาหรือเปล่าเท่านั้น

Tags: ,