“หนูจะเข้าครุศาสตร์ เอกดนตรี” ผัดไท – หทัยกาญจน์ กล้าหาญ หรือ ‘ผัดไท เดอะวอยซ์’ บอกกับเราด้วยแววตามุ่งมั่น
บนเวทีประกวด เธอเป็นสาวน้อยลูกทุ่งสายฮา พอก้าวลงมา เธอคือนักเรียนที่กำลังจะขึ้นชั้น ม.6 ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี
“หนูเริ่มร้องเพลงตั้งแต่ 3 ขวบ ประกวดตั้งแต่เวทีเล็กยันเวทีใหญ่”
พอ 6 ขวบ เธอก็เริ่มหัดตีระนาด ก่อนจะขยับไปหยิบจับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ
เครื่องดนตรีไทยทุกชนิด ยกเว้นเปิงมาง แซกโซโฟน เทรนเนอร์ อัลโตคลาริเนต แบริโทน กลอง เบสดรัม กีตาร์ เธอเล่นได้หมด
“ลองทุกอย่าง เป็นเด็กขี้เบื่อ พอเป่าอัลโตได้ ไม่มีอะไรจะท้าทายก็เป่าทรอมโบนเลย ตัวใหญ่ๆ แต่หนูแพ้เครื่องทองเหลือง ปากบวมเลย ก็เลยเลิกเล่น ไปเล่นพวกวู้ดวิน (เครื่องเป่าลมไม้) แทน พอได้ทุกเครื่อง เบื่ออีกแล้ว ไปหัดเล่นกีต้าร์ จนนิ้วห้อเลือด พอไม่ได้แล้วมันหงุดหงิด จะเอาให้ได้อยู่เรื่อย ฝึกอยู่อย่างนั้นจนสามวันเป็นเลย”
ถามว่าไปเอาเครื่องดนตรีมาจากไหน ผัดไทบอกว่า ถ้าอยากเล่นอะไร เธอก็จะไปทำงานพิเศษ เก็บเงินมาซื้อ อันไหนแพงไปอย่างเบส เธอก็จะไปหยิบยืมคนอื่นมาหัดเล่น
ด้วยความที่คลุกคลีกับดนตรีมาแต่เด็ก ประกอบกับประสบการณ์ในห้องเรียนที่เธอไม่ประทับใจนัก ทำให้ผัดไทอยากเป็นครูสอนดนตรี
“ครูที่หนูอยากเป็น คือแน่นไปเลย เฉพาะทาง สอนทฤษฎีบวกกับปฏิบัติ สอนให้เขาได้จริงๆ อย่างเป่าขลุ่ย หนูบอกเลยว่าจะไม่สอน จะถามเด็กเลยว่าคุณอยากเล่นอะไร การที่เด็กจะสนใจ มันต้องเกิดจากความอยากก่อน ถ้าเด็กไม่อยากเรียน มันไม่ได้จริงๆ อะ ดนตรีมันไม่จำเป็นต้องเครียด อยากให้เด็กผ่อนคลาย”
“เพื่อนบางคนยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ เขาก็เข้ามาถามหนู ผัดไททำไมชัดเจนจังวะ”
“ไม่รู้สิ… เหมือนเราเจอทางตั้งแต่เด็กๆ แล้ว คือพ่อแม่ไม่เคยบังคับหนูเลย อยากทำอะไรทำ อยากเล่นอะไรเล่น”
“วาดภาพ พ่อก็ส่งไปเรียน พอไปเรียน เอ๊ะ มันไม่ใช่ทาง มันอยู่เงียบไม่ได้”
ทำขนมเธอก็ลองมาแล้ว แต่ติดที่ใจร้อน พอขนมไหม้ ก็เลิกล้มความคิด พอลองเล่นกีฬา เธอก็ว่ายังไม่ใช่ทาง
“แต่ถ้าดนตรี มันไหลไปเรื่อยๆ จากคนใจร้อน ทำให้เราใจเย็นลง นิ่งขึ้น แล้วก็มีความสุขสนุกสนาน”
“เราเจอว่าชอบอะไรเพราะได้ลองอะไรหลายๆ อย่าง” ผัดไทสรุปกับตัวเอง
“เด็กไม่ได้เรียนรู้จากการอ่าน จำ หรือท่อง แต่เด็กเรียนรู้จากการได้ลงมือทำ แล้วถ้าเป็นเด็กวัยรุ่น การลงมือทำสิ่งที่ไม่เคยทำ จะกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากที่สุด พัฒนาศักยภาพเขาได้มากที่สุด” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าว
จากผลสำรวจ “ปิดเทอมนี้เด็ก เยาวชน อยากทำอะไร” กลุ่มประชากรตัวอย่าง 1,760 ตัวอย่าง บอกว่ากิจกรรมที่อยากทำในช่วงปิดเทอม 3 อันดับแรก คือ เล่นมือถือ อินเทอร์เน็ต 71% ไปเที่ยวต่างจังหวัด 53% และหางานพิเศษทำ 46%
สำหรับณัฐยา เธอมองว่าข้อมูลนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเด็กและเยาวชนโตมากับดิจิทัลแพลตฟอร์มอยู่แล้ว เมื่อมีเวลาว่างก็ย่อมท่องไปในโลกดิจิทัล เป็นเรื่องปกติ แต่ประเด็นอยู่ที่เมื่อสอบถามเพิ่มเติม พบว่า เด็กจำนวนไม่น้อยอยากทำกิจกรรมออฟไลน์ เช่น อยากเดินทางท่องเที่ยว ศึกษาโบราณสถานต่างๆ อยากทำกิจกรรมแบบที่ต้องลงมือทำ แต่อุปสรรค มีทั้งเรื่องการเดินทาง เด็กที่มีฐานะปานกลาง-ดี จะบอกว่ากิจกรรมไม่น่าสนใจ ขณะที่เด็กที่ฐานะทางบ้านไม่ดี ช่วงปิดเทอมต้องไปช่วยพ่อแม่หารายได้ ทำให้ไม่มีเวลา หรือไม่มีค่าเดินทางไปร่วมกิจกรรม หรือจ่ายค่าลงทะเบียน
“เมื่อเอามาประมวลแล้ว เราเห็นว่ามีช่องว่างหลายอย่างที่เราสามารถทำอะไรได้ เพื่อที่จะเติมเต็มช่องว่างนั้น” ณัฐยาชี้ให้เห็นถึงที่มาของโครงการพัฒนาเครือข่ายนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์และ
ขับเคลื่อนกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ที่รวบรวมเอาข้อมูลกิจกรรมจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม 30 กว่าองค์กร ที่จะจัดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ มาไว้บนเว็บไซต์ เพื่อให้สะดวกต่อการค้นหาของเด็กและเยาวชน โดยแบ่งหมวดหมู่ไว้ให้สืบค้นได้ง่าย แยกทั้งระดับการศึกษา จังหวัด และประเภทของกิจกรรม
“ถ้าเป็นเด็กประถม ก็จะอยากเรียนรู้อะไรที่สนุกสนาน ก็จะมีกิจกรรมที่สนุก เปิดโลก เรียนรู้ ได้ผจญภัย โตขึ้นหน่อย ก็จะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ขึ้นมานิดนึง ได้ลองตามหาฝัน เล่นดนตรี เล่นกีฬา หรือทักษะดิจิทัลใหม่ๆ โตขึ้นอีก ก็จะจริงจังขึ้น มีกิจกรรมในลักษณะเวิร์กช้อป ให้ลงมือ ให้ปฏิบัติการจริง ให้ได้รู้ว่าสิ่งที่เขาชอบ จริงๆ แล้วถนัดหรือเปล่า”
“จะรู้จักตัวเองได้ จินตนาการอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงมือทำ” ณัฐยาทิ้งท้าย
Fact Box
www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com หรือ https://happyschoolbreak.com/ เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมกิจกรรมต่างๆ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม กว่า 30 องค์กร จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ตั้งแต่วัยประถมต้นจนถึงอุดมศึกษาเลือกเข้าร่วมในช่วงปิดเทอม