วันที่ 4 ตุลาคม 2562 ของทุกปี ตรงกับวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย และในปีนี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ 15 เรื่องขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ เป็นหลักประกันว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะได้รับการอนุรักษ์อย่างดีเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง 

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคือการเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่า บันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย มีบูรณภาพ หรือมีอิทธิพลต่อสังคมในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 ภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือกมีทั้งภาพยนตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทางสังคมและประวัติศาสตร์ รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง (feature film) ที่มีความโดดเด่นทางศิลปะและมีอิทธิพลต่อผู้ชม ได้แก่ 15 เรื่องดังนี้

  1. พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวเสดจฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙ (2469)

ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงถ่ายขึ้น หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษ บันทึกเหตุการณ์เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469  โดยพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรี ที่เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือต่างๆ จนถึงนครเชียงใหม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีคุณค่าเปรียบดังนิราศส่วนพระองค์ที่พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชนิพนธ์ไว้ด้วยกล้องถ่ายหนัง และตกทอดมาให้พสกนิกรรุ่นหลังได้ศึกษา ในฐานะจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ศิลปวัฒนธรรม รัฐประศาสโนบาย ตลอดจนสรรพความรู้มากมายที่ไม่อาจหาได้จากสื่ออื่นใด

*การสะกดชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้อ้างอิงตามที่ปรากฏในไตเติลภาพยนตร์

  1. การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM (ส่วนที่ไม่ได้ใช้) (2470)

เศษที่เหลือจากการตัดต่อของภาพยนตร์เรื่อง การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ที่กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ศูนย์ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์อย่างเป็นทางการแห่งแรกของสยาม ถ่ายทำขึ้นจากเหตุการณ์ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2469 แม้เศษฟิล์มนี้จะเป็นส่วนที่ไม่ได้ใช้ในฉบับที่กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวนำไปจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2470  แต่ก็สามารถทำให้เห็นเค้าโครงและมุมมองของการนำเสนอเหตุการณ์ครั้งนั้น และเติมเต็มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่พระเจ้าแผ่นดินได้ถ่ายไว้ให้ผู้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ เป็นเครื่องยืนยันบทบาทของภาพยนตร์ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ยังคงคุณูปการ แม้จะเหลือเพียงเศษเสี้ยวที่กระจัดกระจาย

  1. ชมสยาม SEE SIAM (ไม่สมบูรณ์) (2473)

ภาพยนตร์ที่กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2473 โดยนำภาพบ้านเมืองที่เคยถ่ายไว้ในคราวต่างๆ มาเรียบเรียงใหม่ สันนิษฐานว่า พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้ทรงก่อตั้งกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว และทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้โปรดให้สร้างภาพยนตร์นี้ขึ้น เพื่อส่งไปฉายยังต่างประเทศเป็นการเชิญชวนชาวต่างชาติมาเที่ยวสยาม ภาพยนตร์ชุดนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ในการส่งเสริมภาพลักษณ์และพัฒนาประเทศ รวมทั้งทำให้ได้ประจักษ์กับฝีมือของการถ่ายทำของหลวงกลการเจนจิต (เภา วุสวัต) ทั้งยังมีคุณค่าในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุดแรกของสยาม 

  1. เลือดชาวนา (เศษที่เหลืออยู่) (2479)

เศษของภาพยนตร์ที่สร้างโดยโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง โรงถ่ายแห่งแรกของไทย ของพี่น้องตระกูลวสุวัต ผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งเคยได้รับฉายาว่าเป็น ‘ฮอลลีวูดแห่งสยาม’ และสามารถผลิตภาพยนตร์ออกมาได้เกือบ 20 เรื่อง  แต่ปัจจุบัน ผลงานเหล่านี้กลับเหลือรอดมาแค่ เศษภาพยนตร์ 

เรื่อง เลือดชาวนา ปี พ.ศ. 2479 ที่สามารถนำมาฉายให้คนรุ่นหลังดูได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น เศษภาพยนตร์นี้จึงมีคุณค่าในฐานะตัวแทนผลงานของทีมงานผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ไทยที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด และเป็นตัวอย่างของภาพยนตร์ไทยประเภทภาพยนตร์เรื่อง 35 มม. เสียงในฟิล์มตามแบบมาตรฐานสากลที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบ รวมทั้งเป็นหลักฐานอันหาได้ยากยิ่ง ต่อการศึกษาเรื่องราวที่ยังคงพร่าเลือน ในช่วงเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย 

  1. ปิดทองหลังพระ (เศษที่เหลืออยู่) (2482)

เศษภาพยนตร์ที่หลงเหลืออยู่เพียงเรื่องเดียวของโรงถ่ายไทยฟิล์ม โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลแห่งที่สองของประเทศ  ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญในการผลิตภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์ม ของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ในช่วงก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2  

แม้จะมีความยาวเพียง 10 นาที แต่เมื่อนำมาเทียบกับ เศษภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา ของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ที่เหลือรอดมาเพียงเรื่องเดียวเช่นกันนั้น ได้ทำให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของสองโรงถ่ายคู่แข่งสำคัญ รวมทั้งยังปรากฏให้เห็นฉากร้องเพลง อันเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของหนังเสียงไทยในยุคแรก เศษที่เหลืออยู่ของภาพยนตร์เรื่อง ปิดทองหลังพระ ปี พ.ศ. 2482 นี้ จึงมีคุณค่าทั้งในแง่การเป็นบทบันทึกของโรงถ่ายภาพยนตร์ที่เคยยิ่งใหญ่ และเป็นซากดึกดำบรรพ์ชิ้นสำคัญ ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สามารถปะติดปะต่อภาพรวมในช่วงยุคทองของหนังเสียงไทยจากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่แค่เศษเสี้ยว

  1. กะเทยเป็นเหตุ (2497)

ภาพยนตร์สมัครเล่นไทยที่นำเสนอเรื่องกะเทยและใช้กะเทยเป็นตัวละครหลักที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ สร้างโดย ชาลี ศิลปี นักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น และอดีตพนักงานธนาคารมณฑล สันนิษฐานว่า ถ่ายทำขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2497 

แม้จะทำออกมาให้ดูตลกขบขันอย่างที่พบกันได้ทั่วไปจากสื่อบันเทิงไทยที่นำเสนอเรื่องทำนองนี้ แต่เนื้อเรื่องของ กะเทยเป็นเหตุ ได้ทำให้เห็นว่า กะเทยได้รับการยอมรับในสังคมไทยว่า ‘สวยเหมือน’ หรือ ‘สวยกว่า’ ผู้หญิงมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 ปี และความสัมพันธ์ของชายหนุ่มกับกะเทยในเรื่องที่มีสถานะเป็นถึง ‘คู่หมั้น’ นั้น ยังเป็นการนำเสนอที่ “ก้าวหน้า” อย่างที่แม้แต่ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่สามารถไปถึง  ภาพยนตร์สมัครเล่นเรื่องนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่คนรุ่นหลังไม่อาจละเลย ในการสำรวจความเข้าใจและทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ 

  1. BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS (2501)

ภาพยนตร์สมัครเล่นของ สุพจน์ ธวัชชัยนันท์ นักธุรกิจผู้เคยประกอบกิจการรถเมล์ชื่อบริษัท ส.ธวัชชัยนันท์ ออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารช่วงตลาดพลู – พาหุรัด โดยสุพจน์ได้ตระเวนบันทึกภาพรถเมล์ของบริษัทต่างๆ มากมายหลากหลายสีสัน ที่โลดแล่นอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร เมื่อราว พ.ศ. 2501 ทั้งยังบันทึกให้เห็นสภาพของการจราจร และยานพาหนะอื่นๆ เช่น รถโดยสารขนส่งกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด รถลาก รถเข็น รถสามล้อถีบ รถจักรยาน รถราง รถแท็กซี่ และรถยนต์ส่วนบุคคลหลากหลายแบบ รวมไปถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองที่สัญจรในท้องถนนของยุคสมัยนั้น 

ภาพยนตรเรื่องนี้จึงทำให้ได้ย้อนรำลึกถึงการเจริญเติบโตของระบบขนส่งมวลชน และระบบการคมนาคมในยุคที่เมืองกำลังเริ่มขยายตัว และเป็นบทบันทึกสภาพบ้านเมือง ที่ช่วยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเปรียบเทียบถึงความเปลี่ยนแปลงในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา  

  1. มวยไทย (2506)

หนึ่งในผลงานชุด ‘มรดกของไทย’ ภาพยนตร์สารคดีทางโทรทัศน์ของบริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด อีสเทอร์น จำกัด ที่เคยออกอากาศทางสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม ในสารคดีเรื่องนี้ ผู้สร้างได้รวบรวมองค์ความรู้และบรรยากาศต่างๆ ของวงการกีฬามวยไทยเมื่อราว พ.ศ. 2506 เอาไว้ ทั้งการสอนมวยไทยของครูบัว วัดอิ่ม ครูมวยไทยสายโคราชคนสำคัญ การฝึกซ้อมของอภิเดช ศิษย์หิรัญ นักมวยไทยชื่อดังในยุคนั้น รวมถึงการแข่งขันชกมวยสนามมวยเวทีลุมพินี  

นี่จึงนับเป็น ‘ตำรามวยไทย’ ที่จัดทำขึ้นในรูปแบบภาพยนตร์เรื่องแรกเท่าที่มีการค้นพบ ในขณะเดียวกันยังทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องย้อนเวลากลับไปสู่ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของกีฬาอันเป็นเอกลักษณ์และมรดกของไทย ซึ่งเคยอยู่ในความฝันและลมหายใจของเด็กหนุ่มน้อยใหญ่ทั่วประเทศเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

  1. นางสาวโพระดก (2508)

ผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2508 ของ วิจิตร คุณาวุฒิ หรือ ‘คุณาวุฒิ’ ศิลปินแห่งชาติด้านภาพยนตร์คนแรกของไทย สร้างจากบทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ พิศมัย วิไลศักดิ์ เล่าเรื่องราวของ โพระดก สกุณา สาวน้อยผู้ต้องผจญกับกิเลสตัณหา 

แม้จะถ่ายทำเป็นภาพยนตร์พากย์ 16 มม. ตามขนบหนังไทยในยุคนั้น แต่ นางสาวโพระดก กลับแตกต่างจากหนัง 16 มม. เรื่องอื่นๆ ทั้งการไม่ใช้ดาราตลกเป็นตัวชูโรง งานสร้างที่ประณีตพิถีพิถัน และเทคนิคการถ่ายทำที่มุ่งเน้นการใช้ศิลปะภาพยนตร์ชั้นสูงเพื่อสื่อความหมาย จนทำให้นอกจากจะได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจำนวนมาก สมฉายา ‘เศรษฐีตุ๊กตาทอง’ ของคุณาวุฒิ  ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นผลงานเรื่องแรกที่เขาลงทุนสร้างเองและได้รายได้เป็นเงินล้าน นางสาวโพระดก จึงถือเป็นหลักหมายสำคัญในชีวิตการทำงานของ วิจิตร คุณาวุฒิ ผู้กำกับภาพยนตร์ผู้มีศักยภาพและอุดมการณ์สูงส่งที่สุดคนหนึ่งเท่าที่วงการภาพยนตร์ไทยเคยมีมา 

  1. “ฟ้าเมืองไทย” ฉลองขึ้นปีที่ 8 พุธ 7 เมษา 19 (2519)

หนังบ้านของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนและบรรณาธิการชั้นครู ถ่ายทำโดย ธาดา เกิดมงคล ช่างภาพ นักข่าว และนักเขียนสารคดีของนิตยสาร ซึ่งได้บันทึกเหตุการณ์ในงานฉลองขึ้นปีที่ 8 ของนิตยสารฟ้าเมืองไทยที่อาจินต์ก่อตั้งขึ้น และปรากฏให้เห็นนักเขียนชื่อดังรวมทั้งศิลปินแขนงต่างๆ ในช่วงนั้นที่เดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง หนังบ้านเรื่องนี้จึงมีคุณค่าเปรียบเสมือนมรดกความทรงจำสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นหนังบ้านที่เกี่ยวข้องกับการงานของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ หากแต่ยังเป็นสื่อที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวของนักเขียนทั่วฟ้าเมืองไทยในยุคที่วงการหนังสือเฟื่องฟูมากที่สุดยุคหนึ่งเอาไว้ได้อย่างมีชีวิตชีวา ราวกับภาพยนตร์นั้นเป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของบรรณาธิการ ผู้สร้างนักประพันธ์ขึ้นในฟ้าเมืองไทยและประสงค์จะบันทึกความมีชีวิตของนักประพันธ์นั้นไว้ให้เป็นอมตะ

  1. ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด CRAZY ME (2536)

ผลงานภาพยนตร์ขวัญใจนักวิจารณ์ที่กวาดรางวัลมากมาย และแจ้งเกิดให้แก่ผู้กำกับ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ นำแสดงโดยกลุ่มนักแสดงที่ฝึกฝนฝีมือกันมาจากละครเวทีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้เรื่องราวสมมติของชายหนุ่มที่รู้วันถึงฆาตของตนเอง  

ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ได้เป็นบทบันทึกอารมณ์และชีวิตพนักงานออฟฟิศชาวกรุงเทพ ในช่วงการเติบโตทางธุรกิจของประเทศ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าท่ามกลางความเจริญทางวัตถุ ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและกรรมยังคงอยู่ในสำนึกของคนไทยทุกยุค ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังวิพากษ์ระบบทุนนิยมทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองแต่คนกลับกลายเป็นเครื่องจักรไร้หัวใจ  ก่อนที่ประเทศไทยจะประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้งในอีก 4 ปีต่อมา 

  1. ฝัน บ้า คาราโอเกะ FUN BAR KARAOKE (2540)

ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่ฉีกกฎเกณฑ์การเล่าเรื่องและขนบหนังไทยโดยเฉพาะหนังแนววัยรุ่นที่กำลังได้รับความนิยมก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง มีคุณค่าในฐานะคลื่นลูกใหม่ที่ซัดเข้ามาอย่างถูกที่ถูกเวลาในยามที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกำลังตกอยู่ในความซ้ำซากซบเซาและสุ่มเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ 

ฝัน บ้า คาราโอเกะ พัดพาเอาสิ่งใหม่ๆ มาให้คนทำและคนดูหนังไทยได้มองเห็นความเป็นไปได้ในการก้าวเดินออกจากกรอบอันคุ้นเคย รวมถึงมีส่วนช่วยขยายพื้นที่ภาพยนตร์ไทยออกไปยังแผนที่โลก นอกจากนั้น ยังจดบันทึกให้เห็นถึงสภาพชีวิตคนกรุงที่แวดล้อมไปด้วยอาชญากรรม แหล่งอบายมุข และความเชื่องมงายที่ฝังแน่นในจิตสำนึก ซึ่งสวนทางกับความเจริญทางวัตถุ ในช่วงเวลาอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสังคมไทย

  1. พี่มาก..พระโขนง PEE MAK (2556)

ผลงานการกำกับของ บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่สร้างประวัติการณ์ทำรายได้ทั่วประเทศทะลุถึงหนึ่งพันล้าน จากการตีความตำนานผีแม่นาคแห่งท้องทุ่งพระโขนงออกมาในรูปแบบที่ไม่เคยมีหนังแม่นาคเรื่องใดนำเสนอมาก่อน โดยเฉพาะการยั่วล้อภาษาและบรรยากาศแบบย้อนยุคในลักษณะทีเล่นทีจริง รวมถึงจบเรื่องลงอย่างฉีกขนบของเนื้อหาและกฎเกณฑ์ธรรมชาติ จนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางกลายเป็นกระแสปากต่อปาก และปลุกชีพมหรสพโรงภาพยนตร์ของไทยให้ฟื้นตื่นขึ้นมามีชีวิตชีวาอย่างที่หนังไทยน้อยเรื่องจะเคยทำได้ในอดีต จนภาพยนตร์กลายเป็นความทรงจำร่วมของผู้คนในสมัยปัจจุบัน และอาจอยู่ยงคงกระพันเป็นตำนานของแฟนภาพยนตร์ในอนาคต อย่างเดียวกับที่ผีแม่นาคแห่งท้องทุ่งพระโขนงได้สิงสถิตในความรับรู้ของคนไทยและอยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์มานานนับร้อยๆ ปี 

  1. อาปัติ KARMA (2558)

ภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ ผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับหญิง ขนิษฐา ขวัญอยู่ ที่จุดประเด็นถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังถูกสั่งห้ามฉายในปี พ.ศ. 2558 จนทีมผู้สร้างต้องตัดสินใจตัดทอนเนื้อหาบางฉากออกไปเพื่อให้ภาพยนตร์ได้ออกฉาย ก่อนจะได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในเวลาต่อมา  

อาปัติ จึงเปรียบเสมือนปรอทวัดอุณหภูมิความอ่อนไหวของสังคมไทยที่มีต่องานศิลปะว่าด้วยพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันยังกล้าหาญที่จะถ่ายทอดให้เห็นถึงพระแท้และพระเทียมที่ปะปนกันอยู่ในสังคม รวมไปถึงประเด็นการตั้งคำถามของวัยรุ่นที่มีต่อความเชื่อและหลักปฏิบัติต่างๆ ของสงฆ์  นอกจากนั้น การหลอมรวมความเป็นหนัง ‘พระ’ และหนัง ‘ผี’ เข้าด้วยกันอย่างไม่อาจแยกขาด จึงทำให้ อาปัติ กลายเป็นภาพอุปมาที่ดีของศาสนาพุทธแบบไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเอกสารบันทึกความคิดและอารมณ์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีต่อศาสนาและความเชื่อในยุคสมัยของพวกเขา

  1. INSECTS IN THE BACKYARD แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2560)

ผลงานของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่ถือเป็นภาพยนตร์ไทยอิสระขนาดยาวเรื่องแรกๆ ที่กล้าเปิดประเด็นปะทะกับขนบธรรมเนียมของสังคมไทย ทั้งเรื่องเพศสภาพของพ่อแม่ผู้ปกครอง และการแสวงหาตัวตนของวัยรุ่นในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสถานะทางเพศอันมีทางเลือกได้หลากหลายกว่าชายหญิง 

ในปี 2553 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูก ‘แบน’ จากพระราชบัญญัติพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ก่อนที่ธัญญ์วารินจะตัดสินใจฟ้องศาลปกครอง จนภาพยนตร์ได้รับการออกฉายใน ปี พ.ศ. 2560 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่คนทำหนังใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ การต่อสู้ครั้งนี้จึงถือเป็นประวัติการณ์แห่งการไม่ยอมแพ้ต่อการถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ไทย และทำให้  INSECTS IN THE BACKYARD หรือ แมลงรักในสวนหลังบ้าน ซึ่งเคยตายไปแล้ว 7 ปี ได้กลายเป็นผีดิบที่ก่อผลสะเทือนสำคัญครั้งหนึ่งต่อการพิจารณาภาพยนตร์ในประเทศไทย 

  กิจกรรมขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ เป็นกิจกรรมสำคัญที่หอภาพยนตร์จัดขึ้นต่อเนื่องในมาทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยเมื่อรวมในปีนี้แล้วจะมีภาพยนตร์ทั้งหมด 200 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์ได้ทำการเผยแพร่ภาพยนตร์บางส่วนลงใน youtube ของหอภาพยนตร์ และนำมาจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา (รอติดตามโปรแกรมการจัดฉายได้ที่ www.fapot.org) นอกจากนี้ ตลอดเดือนตุลาคมนี้ ทุกท่านสามารถมารับสูจิบัตรงานขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2562 ซึ่งได้บรรจุข้อมูลรายละเอียดของภาพยนตร์แต่ละเรื่องไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่หอภาพยนตร์ 

Tags: , ,