นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงมาตรการผ่อนปรนต่างๆ หลังจากมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 

โดยมาตรการผ่อนปรนยังต้องสอดคล้องกับตัวเลขการติดเชื้อที่เหลือเพียงหลักหน่วยต่อวัน อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มีผลต่อเลขการติดเชื้อทั้งสิ้น ถ้าผ่อนมากไป โอกาสที่ตัวเลขการติดเชื้อจะกลับมาสูงมากขึ้นก็มีความเป็นไปได้ 

อย่างแรกการตรึงสถานการณ์ฉุนเฉินยังคงตรึงมาตรการไว้ก่อน ได้แก่ มาตรการเคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตีสี่ การเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรทั้งทางบก อากาศ และน้ำ ต้องให้อยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งที่ผ่านมามีคนเข้าไปอยู่ในที่ที่รัฐจัดให้หลายพันคน และเราตรวจพบเชื้อกว่า 80 คน ถ้าไม่ถูกกักตัว แน่นอนว่าจะกระจายไปอยู่ในสังคม และอาจมีคนติดเชื้อร่วมหมื่นแน่นอน

ส่วนสายการบินระหว่างประเทศ อนุญาตเฉพาะบางประเภท เช่น ส่งสินค้า รับคนที่ตกลงกันไว้แล้ว และยังคงงดเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น และให้ทำงานที่บ้านให้ได้ร้อยละ 50 และเข้มงวดกับประชาชนที่เข้าพื้นที่มีคนจำนวนมาก หรือพื้นที่เสี่ยง

ส่วนการผ่อนปรน ทาง ศบค. กำหนดให้มีมาตรฐานกลางในการผ่อนปรน 6 กลุ่มกิจการและกิจกรรม โดยยึดถือข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 1 ข้อ 11 เช่น การทำความสะอาดพื้นผิว การใส่หน้ากากผ้า การล้างมือ และการรักษาระยะห่าง 1 เมตร เป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดสามารถเพิ่มความเข้มงวดได้ แต่ห้ามน้อยกว่า 

โดย 6 กลุ่มกิจการและกิจกรรม ได้แก่ 

1.ตลาด ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย

2.ร้านอาหาร ได้แก่ ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนนหวาน ไอศกรีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็นและหาบเร่ 

3.กิจการค้าปลีก-ส่ง ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง/ยืนรับประทาน รถเร่ หรือ รถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อย/ร้านอาหารปลีกชุมชน ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

4. กีฬาสันทนาการ ได้แก่ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดินรำไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟและสนามซ้อม

5.ร้านตัดผม-เสริมสวย ได้แก่ ร้านตัดผมเฉพาะตัด สระ ไดร์ผม

6.ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์ 

มาตรการผ่อนปรนเริ่ม 3 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยจะมีการติดตามผลและประเมินสถานการณ์หลังจากนี้อีก 14 วัน ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อคงที่หรือน้อยลงเรื่อยๆ ก็จะมีการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมมากขึ้น แต่ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นสองหลัก ก็อาจจะกลับไปตรึงมาตรการแบบเดิม 

ทั้งนี้สำหรับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทาง ศบค. โดยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการ ศบค. ชี้แจงว่า จากมติห้ามขายถึง 30 เม.ย. ให้มีผลต่อไปถึง 30 พ.ค. หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง 

Tags: