เดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินข่าวน้ำท่วมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานีที่ทุบสถิติในรอบหลายปี ภาพที่เราเห็นจากข่าวคือเมืองทั้งเมืองจมน้ำ บ้านเรือนและไร่นาได้รับความเสียหายเข้าขั้นวิกฤต

นอกจากความทุกข์ยากของชาวบ้านในพื้นที่ที่ทุกคนน่าจะรับรู้กันดีอยู่แล้ว อีกมุมหนึ่ง เหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในครั้งนี้ทำให้เราเห็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสายธารความช่วยเหลือที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสายจากทั่วทุกทิศ

บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Tetra Pak Thailand เป็นส่วนหนึ่งในสายธารความช่วยเหลือระลอกล่าสุดที่เข้ามาในจังหวดอุบลราชธานี โดยเต็ดตรา แพ้ค ได้มอบแผ่นหลังคาให้ชุมชนที่มีความต้องการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากหลังคาบ้านในหลายพื้นที่นั้นชำรุดและเสียหายจากน้ำท่วมสูง

ที่สำคัญคือแผ่นหลังคาที่ว่านี้ ไม่ใช่แผ่นสังกะสีหรือแผ่นกระเบื้องทั่วไป แต่เป็นแผ่นหลังคาที่ผลิตมาจากกล่องเครื่องดื่มรีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ ผ่านโครงการ ‘หลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก’ ซึ่งเข้ามาช่วยฟื้นฟูขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยหลังน้ำลด ผ่านการมอบแผ่นหลังคาเขียวจำนวนกว่า 2,000 แผ่นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งส่วนหนึ่งได้กระจายไปยังบ้านเรือนของผู้ประสบภัยในอำเภอวารินชำราบและพิบูลมังสาหารเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้นำแผ่นหลังคาไปซ่อมแซมแทนหลังคาเก่าที่ชำรุด

ฐาปนี จันทร์หอม ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร และ เบิร์ท ยาน โพสท์ กรรมการผู้จัดการ เต็ดตรา แพ้ค ประเทศไทย 

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ เบิร์ท ยาน โพสท์ กรรมการผู้จัดการ เต็ดตรา แพ้ค ประเทศไทย และ ฐาปนี จันทร์หอม ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร ทั้งสองได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อมอบหลังคาเขียว และเยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจผู้ประสบภัยหลังน้ำลด ทั้งคู่จะมาเล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ ตั้งแต่แรกเริ่ม ว่ากว่าที่เจ้ากล่องยูเอชทีทั้งหลายจะฟื้นคืนชีพมาเป็นแผ่นหลังคาลอนคู่อย่างที่เราเห็นกันอยู่นี้ ต้องผ่านกระบวนการต่อลมหายใจเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อย่างไรบ้าง

เล่นแร่แปรขยะเป็นหลังคารีไซเคิลเพื่อผู้ประสบภัย

โครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เริ่มขึ้นเมื่อปี 2553 เพื่อรณรงค์และสนับสนุนให้เกิดการคัดแยกจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มและนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่อย่างยั่งยืน

อาจฟังดูเหลือเชื่อถ้าจะบอกว่าแผ่นหลังคาเขียวราว 2,000 แผ่นที่เต็ดตรา แพ้คนำมามอบให้จังหวัดอุบลราชธานีในวันนี้ ทำมาจากกล่องเครื่องดื่มจำนวนหลายล้านกล่อง ซึ่งกล่องเครื่องดื่มมากมายมหาศาลขนาดนี้ ได้มาจากผู้บริโภคทั่วประเทศที่ร่วมบริจาคผ่านทางเครือข่ายอาสาหลังคาเขียวฯ นั่นเอง โดยมีทั้งอาสาเก็บกล่องเครื่องดื่ม และอาสารับกล่องตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะห้างบิ๊กซีที่เป็นจุดรับกล่องหลัก และปลายทางจะนำกล่องเครื่องดื่มเหล่านี้กลับมารีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ฐาปนีท้าวความกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ที่เต็ดตรา แพ้ค ได้เริ่มโครงการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม ต่อยอดไปเป็นโครงการอื่นๆ เช่น โครงการ ‘เด็กไทยหัวใจรีไซเคิล’ (2550) ที่มีการรณรงค์ให้เด็กนักเรียนช่วยกันเก็บกล่องนมโรงเรียนเพื่อนำไปรีไซเคิล, โครงการแจ๋วรักษ์โลก (2551) และโครงการร่วมรักษ์โลกกับบิ๊กซีและเต็ดตรา แพ้ค (2552) เรื่อยมาจนเกิดเป็นโครงการหลังคาเขียวฯ ในปี 2553

“โครงการหลังคาเขียวฯ เริ่มมาจากในต่างประเทศที่เต็ดตรา แพ้คดำเนินกิจการอยู่ เทคโนโลยีการรีไซเคิลเริ่มก้าวหน้าขึ้น ก็เริ่มมีการทดสอบและทดลองนำกล่องเครื่องดื่มไปรีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคา เราก็คิดว่าน่าจะเอาโปรเจ็กต์นี้มาทำที่เมืองไทยได้

“เราจึงไปประสานงานกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เพื่อจะนำแผ่นหลังคาจากกล่องเครื่องดื่มรีไซเคิลไปบริจาคให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบภัยต่างๆ ตอนนั้นเราจึงไปชวนบิ๊กซีมาร่วมงานกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะตั้งจุดรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มจากผู้บริโภค” ฐาปนีอธิบาย

เบิร์ท ยาน เสริมว่า “ตั้งแต่เราเริ่มทำโครงการตั้งแต่ปี 2553 เราได้บริจาคแผ่นหลังคาไปแล้วกว่า 60,000 แผ่น ซึ่งมาจากกล่องเครื่องดื่มราว 200 ล้านกล่องที่มาจากคนไทยทั่วประเทศ”

ซึ่งหากคำนวณดูดีๆ นั่นไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลย และหมายความว่าผู้ประสบภัยจำนวนหลายร้อยหลายพันหลังคาเรือนจะได้รับความช่วยเหลือซึ่งเกิดจากการร่วมมือร่วมใจของอาสาหลังคาเขียวฯ ทั่วประเทศ

 

ตั้งแต่เริ่มต้น โครงการหลังคาเขียวฯ ได้ส่งมอบความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้วกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งพื้นที่ดินโคลนถล่ม วาตภัย และอุทกภัย

จนถึงวันนี้ที่มีข่าวน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่อุบลราชธานี โครงการหลังคาเขียวฯ ก็ได้เข้ามาฟื้นฟูกำลังใจหลังน้ำลดและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวบ้านด้วย

ฐาปนีย้ำว่า “จริงๆ เต็ดตรา แพ้คมาเป็นตัวแทนอาสาหลังคาเขียวทั่วประเทศที่ช่วยกันเก็บกล่องเครื่องดื่มมาให้ อาสาหลังคาเขียวก็คือผู้บริโภคทั่วไปนี่แหละ ที่ช่วยเป็นจิตอาสาเก็บกล่องมาให้เรา เพราะอยากจะเห็นแผ่นหลังคาถึงมือคนที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือจริงๆ

“เมื่อชาวบ้านที่ได้รับแผ่นหลังคาและรู้ว่าหลังคาเขียวทำมาจากกล่องเครื่องดื่มรีไซเคิลที่มาจากคนไทยทั่วประเทศ เขาก็ซาบซึ้งที่มีคนอยากช่วยเหลือเขา และดีใจที่คนไทยช่วยกันเก็บกล่องได้มากมายขนาดนี้เพื่อกลับมาใช้ใหม่ให้คนอื่นๆ ได้ประโยชน์ ประธานชุมชนก็บอกว่าเขาจะเล่าให้คนในชุมชนฟังถึงที่มาของหลังคาเขียว และบอกกับเราว่าต่อไปถ้าเขาดื่มเครื่องดื่มไม่ว่าจะเป็นกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ เขาก็จะเก็บกล่องไปส่งไว้ที่บิ๊กซี เพื่อที่ว่าต่อไปพื้นที่อื่นๆ ได้รับความเดือดร้อน จะได้ใช้ประโยชน์จากแผ่นหลังคาเหมือนกับที่พวกเขาได้รับด้วย”

หลังคาเขียวจึงไม่ต่างอะไรจากชายคาแห่งความหวังและกำลังใจที่คนไทยร่วมใจกันทำให้เกิดขึ้น โดยผ่านตัวกลางอย่างเต็ดตรา แพ้ค ที่เป็นองค์กรเชื่อมประสานทุกฝ่ายเข้าด้วยกันและเป็นตัวแทนส่งมอบหลังคาเขียวไปยังพื้นที่ต่างๆ

มีดีที่ฟังก์ชัน

เบิร์ท ยาน อธิบายกระบวนการรีไซเคิลคร่าวๆ ว่าขั้นแรกของการฟื้นคืนชีพกล่องเครื่องดื่มให้กลับมาใช้งานใหม่นั้น ต้องนำไปผ่านกระบวนการแยกเยื่อเสียก่อน

“เมื่อเราได้กล่องเครื่องดื่มมาแล้ว จะนำไปส่งที่โรงงานรีไซเคิลของไฟเบอร์พัฒน์ ซึ่งเขาก็จะนำกล่องทั้งหมดไปปั่นกับน้ำในถังแยกเยื่อเพื่อปั่นให้ทุกอย่างแยกตัวออกจากกัน สิ่งที่ออกมาจะมีส่วนที่เป็นเยื่อกระดาษซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตกระดาษรีไซเคิลต่อไปได้

“อีกส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้ทำเป็นแผ่นหลังคา คืออะลูมิเนียมฟอยล์และพลาสติกโพลีเอททิลีนที่เคลือบอยู่ด้านใน ขั้นต่อไปคือนำไปผึ่งให้แห้ง สับย่อย แล้วไปโรยบนแผ่นเหล็กขึ้นเพื่ออัดเป็นลอนหลังคา อัดด้วยความร้อนประมาณ 180 องศา แล้วนำตัดให้ได้ตามขนาด”

หลังคาเขียวไม่ได้มีดีแค่การรักษ์โลกหรือเท็กซ์เจอร์แปลกตาเท่านั้น เบิร์ท ยาน ยังบรรยายถึงคุณสมบัติของหลังคาเขียวที่เจ๋งกว่าหลังคาทั่วๆ ไป

“ข้อดีคือหลังคาเขียวจะไม่ร้อน ขอบไม่คม ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุฉนวนกันความร้อนเสริม ทั้งยังเป็นฉนวนกันความร้อนในตัว สะท้อนแสงแดด เพราะทำมาจากอะลูมิเนียมฟอยล์และพลาสติก เสียงดังน้อยกว่าเวลาฝนตก ทั้งยังง่ายต่อการใช้งานมากกว่า ที่เห็นได้ชัดเลยคือ สะดวกกับคนงานเวลาต้องขึ้นไปติดตั้งบนหลังคา เพราะน้ำหนักเบาและมีความยืดหยุ่น ไม่ต้องระวังว่าจะแตก

“และชาวบ้านก็บอกว่าชอบแผ่นหลังคาเขียว เพราะเป็นหลังคาคุณภาพดี เป็นอะไรที่ใช้ได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ว่าใช้ได้สักพักแล้วก็ทิ้ง และคนที่ทำงานติดตั้งหลังคาก็บอกว่าหลังคาเขียวดีกว่าแผ่นหลังคาทั่วไปที่เขาเคยใช้ด้วยซ้ำ” เบิร์ท ยาน เล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม

แผ่นหลังคาที่สะท้อนความเชื่อเรื่องการปกป้องผู้คนและสังคมโลก

เบิร์ท ยาน ขมวดให้เราฟังว่าสิ่งที่เต็ดตรา แพ้ค ทำสะท้อนถึงความเชื่อที่อยากปกป้องโลกใบนี้ผ่านการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งหลังคาเขียวก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของปลายทางการรีไซเคิลที่เกิดขึ้นจริง ไม่เพ้อฝัน และสามารถส่งต่อประโยชน์ให้แก่คนอื่นๆ ในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

เบิร์ท ยาน ชวนให้เราดูข้างกล่องเครื่องดื่มของเต็ดตรา แพ้คที่เขียนว่า ‘Protects What’s Good’ เขาบอกว่าคำพูดนี้ไม่ใช่คำที่เขียนไว้ลอยๆ แต่ประกอบด้วย 3 สิ่งที่เต็ดตรา แพ้คเชื่อมั่น

“ ‘Protects What’s Good’ ความหมายอย่างแรก คือปกป้องเครื่องดื่มหรืออาหารที่อยู่ในกล่องบรรจุภัณฑ์ และยังมีอีก 2 ส่วนที่เราเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ คือการปกป้องผู้คนและการปกป้องอนาคต

“การปกป้องผู้คนคือการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และทำให้เกิดความชอบธรรมแก่ผู้คนจำนวนมาก ทั้งคนที่ทำงานกับเรา หรือเกี่ยวพันกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในสังคมนี้

“และการปกป้องอนาคต หมายถึงความยั่งยืน ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำแค่ธุรกิจ แต่เราต้องทำสิ่งที่จะยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย คือเราตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืน”

แม้ประเด็นเรื่องความยั่งยืนจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเต็ดตรา แพ้ค แต่สิ่งสำคัญคือ เต็ดตรา แพ้คได้แสดงให้ผู้คนเห็นว่ากล่องเครื่องดื่มที่ดื่มเสร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปลงเอยที่กองขยะ และไม่ใช่จุดสิ้นสุดของอายุการใช้งาน แต่สามารถต่อลมหายใจที่สองของกล่องเหล่านั้นได้ด้วยกระบวนการรีไซเคิล

จุดหมายปลายทางที่เต็ดตรา แพ้คอยากไปให้ถึง คือการนำเอากล่องเครื่องดื่มทั้งหมดที่มีการบริโภคกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งถือเป็นการหมุนเวียนการใช้วัสดุที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

แม้วันนี้เต็ดตรา แพ้คจะยังก้าวไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่สิ่งสำคัญคือการได้สร้างความตระหนักเรื่องความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคม

“อย่างน้อยที่สุดคือโครงการหลังคาเขียวฯ ได้มีการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนและการคัดแยกขยะออกไปในวงกว้าง ทั้งในโซเชียลมีเดียและสื่อสิ่งพิมพ์ เราแสดงให้ทุกคนเห็นว่า คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกยั่งยืนได้ เพราะมันไม่ใช่แค่การรีไซเคิลแล้วไม่รู้ว่าจุดจบอยู่ที่ไหน แต่สามารถเห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจริง คือถ้าหากคุณทุกคนในฐานะผู้บริโภค ช่วยกันนำกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วไปบริจาคที่จุดรับกล่องที่ห้างบิ๊กซี ผู้คนที่เดือดร้อนก็จะได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้ ซึ่งก็คือหลังคารีไซเคิลจากกล่องที่คุณร่วมบริจาคนั่นเอง” เบิร์ท ยาน ขยายให้เห็นภาพ

เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยมีความตื่นตัวมากขึ้น เพราะกล่องที่เก็บกลับมาได้ทุกปี เป็นกราฟที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะจนถึงทุกวันนี้ ผู้บริโภคตระหนักแล้วว่าการที่ช่วยกันเก็บกล่องเครื่องดื่ม สามารถเอากลับไปรีไซเคิลเพื่อทำประโยชน์ให้คนอื่นๆ ได้จริง

เบิร์ท ยาน พูดถึงแผนการสานต่อโครงการนี้ว่า “ปีหน้าก็จะครบสิบปีของโครงการฯ เราเซ็นข้อตกลงขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่จะสานต่อโครงการนี้เพิ่มอีก 3 ปี คือหลังจากนี้ไปจนถึงปี 2565 แต่สำหรับเรา เราต้องการจะสานต่อไปโครงการนี้ไปสู่ผู้คนในวงกว้างให้มากกว่าที่เคย และอยากขยายเวลาในการทำโครงการหลังคาเขียวฯ ต่อไปอีก และก็จะพยายามชวนคนมาเป็นอาสาหลังคาเขียวเก็บกล่องกันให้มากขึ้นด้วย”

ฐาปนีสรุปปิดท้ายเป้าหมายของโครงการนี้ว่า “โครงการหลังคาเขียวฯ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ร่วมกับอีกหลายโครงการของหลายองค์กร แต่ก็เป็นส่วนเล็กๆ ที่มาช่วยกระตุ้นให้คนรู้สึกว่ากล่องเครื่องดื่มที่คุณบริโภคอยู่ทุกวันนี้ คุณสามารถคืนชีวิตใหม่ให้ขยะเหล่านั้นได้ และเรามองว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างไรให้สร้างผลกำไรในแง่ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม และคืนสิ่งดีๆ ให้แก่โลก ถ้าหลายหน่วยงานช่วยกันก็น่าจะเกิดสิ่งดีๆ ตามมาอีกเรื่อยๆ”

Fact Box

ผู้ที่สนใจอยากร่วมบริจาคกล่องยูเอชทีกับโครงการ สามารถดูวิธีพับและจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มได้ที่ เว็บไซต์โครงการ www.tetrapak.com/th/thaigreenroof, ศูนย์ข้อมูลโครงการ ติดต่อได้ที่ 02 -747 8881 อีเมล: [email protected] รวมทั้งช่องทางอื่นๆ Facebook.com/Thaigreenroof และ Youtube.com/Thaigreenroof

Tags: , , , , ,