เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ณ สี่แยกราชประสงค์ กลุ่มประชาชนและนักกิจกรรมร่วมกันจุดเทียนรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อ 19 พฤษภาคม 2553
กิจกรรมเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. มีการนำดอกไม้มาวางและจุดเทียนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นพื้นที่ไว้และมีพยาบาลทำหน้าที่วัดอุณหภูมิร่างกาย คัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม จนถึงเวลาประมาณ 19.00 น.จึงได้ยุติกิจกรรมและเดินทางกลับ
การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมปี 2552 ก่อนที่จะมีการประกาศชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 มีนาคม 2553 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนรัฐบาล สมชาย วงสวัสดิ์ จากพรรคพลังประชาชน ให้ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่
ต่อมา รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดฉุกเฉิน และมีการตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ ก่อนมีคำสั่งดำเนินปฎิบัติการ ‘ขอคืนพื้นที่’ สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 โดยจากรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือ ศปช. ระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 26 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย และพลเรือน 21 ราย
กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมอย่างต่อเนื่องและมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศอฉ. ยอบมอบตัวจากกรณีปฎิบัติการ ‘ขอคืนพื้นที่’ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คืนสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชแนล และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงนำไปสู่การปฏิบัติการ ‘กระชับวงล้อม’ ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 ในหลายพื้นที่ อาทิ สี่แยกราชประสงค์ สี่แยกคอกวัว หรือถนนราชปรารภ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทั้งหมดตามรายงานของ ศปช. อยู่ที่ 94 ราย
จากข้อมูลของ ศปช. ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2553 มีการเบิกกระสุนจริงเพื่อนำไปใช้กับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นจำนวน รวมทั้งสิ้น 597,500 นัด ก่อนนำกลับมาคืน 479,577 นัด หรือ มีการใช้กระสุนทั้งหมด 117,923 นัด ซึ่งเป็นกระสุนจริง 111,303 นัด และเป็นกระสุนซุ่มยิง 2,120 นัด
ทางด้านการดำเนินคดีความของศาล เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ศาลฏีกาได้ตัดสินยืนยันตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้อง อภิสิทธิ์ และสุเทพ โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่ความผิดอาญาโดยส่วนตัว แต่อาจกระทำผิดต่อตำแหน่งราชการจึงต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. ก็ได้มีมติไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ภายหลังศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้วว่า ไม่มีความผิดในการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. และถึงแม้ในเวลาต่อมาแกนนำ นปช. จะเข้ายื่นให้ทบทวนกรณีดังกล่าวก็ถูก ป.ป.ช. ปัดตก โดยให้เหตุผลว่าไม่มีหลักฐานเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีการให้เหตุผลว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ทำการชุมนุมโดยสงบ ตามรัฐธรรมนูญ
อ้างอิง:
https://thestandard.co/nacc-petition-crackdown-red-shirts-2553-protest/
https://www.khaosod.co.th/politics/news_2531119
https://themomentum.co/9-years-clashes-btw-government-troops-and-red-shirt-protesters-in-2010/
https://thematter.co/social/9-years-19-may-2010-military-crackdown/77325
ภาพ: ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์
Tags: อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นปช., ตามหาความจริง, สุเทพ เทือกสุบรรณ