ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊กได้มีโอกาสกลับไปเยือนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เขาลาออกกลางคันเมื่อ 12 ปีที่แล้ว คราวนี้มาร์กกลับไปเพื่อการกล่าวสุนทรพจน์แก่นักศึกษาจบใหม่เกี่ยวกับเรื่อง sense of purpose หรือการทำอย่างไรให้คนเรามีเป้าหมายที่จะทำให้สังคมดีขึ้น หนึ่งในแนวความคิดที่มาร์กกล่าวถึงคือ ‘universal basic income’ หรือนโยบายการให้รายได้ขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน (ประกันรายได้ถ้วนหน้า) มาร์กเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนเรามีความสามารถในการลองอะไรใหม่ๆ ได้ อีกทั้งผนวกกับกระแสของเทคโนโลยี เช่น AI, Robotics หรือ Automation ที่กำลังถาโถมเข้ามา และจ้องจะลดและทดแทนการทำงานที่มีอยู่ของมนุษย์ แนวคิดนี้จึงมีน้ำหนักมากขึ้นว่าอาจช่วยให้ใครหลายๆ คนอุ่นใจได้บ้าง ว่าอย่างน้อยตนน่าจะมีรายได้แม้ตกงาน

แต่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้สังคมแย่ลงจริงหรือ? ทำให้คนตกงานมากขึ้นใช่หรือไม่? ถ้าใช่ แล้วเรายังจะสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้อีกหรือ? ส่วนตัวผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์และคงไม่มีความรู้ เพียงพอที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่ผมเป็นคนหนึ่งในหลายๆ คนที่พยายามมองหาทางรอดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้!

หากมองย้อนไปในอดีต ในโลกนี้มีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเกิดขึ้นมามากมาย เช่น รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หรือเครื่องจักรกลต่างๆ สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ล้วนแต่มาช่วยทำให้ผลิตผลในการทำงานของคนเราเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ทดแทนแรงงานมนุษย์โดยสิ้นเชิง เจมส์ แบซง (James Bessen) นักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ได้ชี้ว่าการมีเครื่องจักรกลหรือสิ่งประดิษฐ์ในสมัยก่อนล้วนทำให้การทำงานสะดวกขึ้น เพราะว่านวัตกรรมเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในบางกระบวนการเท่านั้น (Partial Automation) สุดท้ายก็ยังต้องมีมนุษย์อยู่ในระบบ เพื่อควบคุมให้การผลิตหรือการดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น

ตัวอย่างที่เจมส์ชี้ให้เห็นคือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การทอผ้าใช้คนเป็นจำนวนมาก ในตอนนั้นเริ่มมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในกระบวนการ เพื่อลดงานที่คนต้องทำซ้ำๆ มีการประมาณการกันว่าร้อยละ 98 ของงานทอผ้าทั้งหมดสามารถทดแทนได้ด้วยการทำงานของเครื่องจักร เรียกได้ว่าแทบทั้งกระบวนการไม่จำเป็นต้องมีคนเข้าไปเกี่ยวข้องเลย สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น แทนที่อาชีพของคนทอผ้าจะหายไป อัตราจ้างงานเพื่อการทอผ้ากลับมีมากขึ้น! เพราะหากมองทั้งกระบวนการแล้ว ต้นทุนในการทอผ้าถูกลงด้วยการทำงานของเครื่องจักร พร้อมกับอุปสงค์หรือความต้องการใช้ผ้าในท้องตลาดที่มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้โรงงานต่างๆ ต้องขยายกำลังและสายการผลิต สุดท้ายจำนวนงานสุทธิของคนทอผ้าจึงกลับเพิ่มขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพของนวัตกรรมที่มาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานคือ ตู้เอทีเอ็ม ในปัจจุบันเมื่อต้องการใช้เงินสด เราอาจเดินไปสาขาธนาคารพร้อมกับสมุดบัญชี กรอกแบบฟอร์ม เซ็นชื่อ แล้วพนักงานสาขาก็ตรวจสอบข้อมูลพร้อมนับเงินสดให้เรา ทางที่สะดวกกว่านั้นคือไปที่ตู้เอทีเอ็ม เสียบบัตรพร้อมใส่รหัสผ่านและจำนวนเงิน เราก็ได้เงินสดออกมาเหมือนกัน หากมองย้อนกลับไป จำนวนพนักงานสาขาน่าจะมีน้อยลงเนื่องจากตู้เอทีเอ็มสามารถทำรายการธุรกรรมได้คล้ายคลึงกับสิ่งที่พนักงานสาขาทำได้

แต่ตอนที่ตู้เอทีเอ็มเพิ่งเริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงก่อนปี ค.ศ. 2000 จำนวนพนักงานสาขากลับมีเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับจำนวนตู้เอทีเอ็มที่มีมากขึ้นมากเช่นกัน สาเหตุมาจากตู้เอทีเอ็มทำให้การทำงานในสาขามีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการขยายสาขาใหม่ไม่ได้สูงอย่างที่คิด ธนาคารสามารถรองรับปริมาณลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงบริการด้านการเงินได้มากขึ้น จำนวนพนักงานสาขาสุทธิจึงเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจ นอกจากนี้พนักงานมีตู้เอทีเอ็มเป็นเครื่องแบ่งเบาภาระงานบางส่วน ทำให้พนักงานให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง และพร้อมช่วยเหลือหรือเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใหม่ๆ ได้

จำนวนพนักงานสาขาธนาคารเปรียบเทียบกับจำนวนตู้เอทีเอ็มที่ติดตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม หากตลาดไม่ได้มีความต้องการสินค้าหรือบริการหนึ่งๆ เพิ่มขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ลดภาระงานของคนก็อาจส่งผลให้จำนวนงานของอาชีพเดิมลดลง นอกจากนี้ ผลกระทบของเทคโนโลยียังทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ที่มาทดแทนอาชีพก่อนหน้านั้น เช่น ในกรณีของสื่อสิ่งพิมพ์ที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้จัดวางตัวอักษร ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีนักจัดเรียงตัวอักษรบนแท่นพิมพ์เหมือนแต่ก่อน อาชีพนักจัดเรียงตัวอักษรจึงค่อยๆ หายไป พร้อมกับการเกิดใหม่ของอาชีพนักออกแบบกราฟิกที่มีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือคู่ใจ

จากสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวถึง จะเห็นได้ว่าโดยภาพรวมแล้วเทคโนโลยีอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิด  อัตราการจ้างงานสุทธิจะเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง มีหลายองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึง แต่ถ้าซูมเข้ามามองภาพเล็กจะเห็นว่าการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มความรู้หรือทักษะใหม่ๆ ของตัวบุคลากร มีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถปรับตัวกับสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะเพิ่มทักษะด้านไหน ต้องใช้เวลามากเท่าไรในการฝึกฝน และจะเรียนรู้ได้อย่างไร แน่นอนว่าสถานศึกษาทั้งโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็เป็นที่พึ่งได้ แต่บางคนอาจไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าถึงหลักสูตรในสถาบันเหล่านั้น การเรียนรู้ทางออนไลน์จึงเข้ามาตอบโจทย์นี้ ในต่างประเทศ เว็บไซต์สำหรับหลักสูตรออนไลน์ เช่น Udemy, Coursera หรือเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างสแตนฟอร์ดและเอ็มไอที ต่างก็เป็นที่นิยม

เมื่อซูมออกจากตัวบุคคลมาที่ระดับบริษัท องค์กรต่างๆ ก็ต้องปรับตัวเรียนรู้ ‘ทักษะ’ ใหม่ๆ เช่นกัน ทักษะที่ว่าอาจหมายถึงวิธีคิดและทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ หรือปรับโครงสร้างต้นทุนแบบเดิมเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้องค์กรสามารถให้บริการที่ตอบโจทย์ใหม่ๆ ได้

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีนั้นมีอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในยุคนี้ดูเหมือนว่าอัตราการพัฒนาจะเป็นไปด้วย ‘ความเร่ง’ คือเร็วขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าสังเกตคืออาจจะเร็วกว่าความสามารถในการปรับตัวหรือเพิ่มทักษะใหม่ๆ ของมนุษย์ แนวความคิด universal basic income ที่คิดว่าจะช่วยเหลือได้ทุกคน พร้อมแจก ‘เงินเดือน’ ให้กับทุกคนแบบไม่มีเงื่อนไข อาจไม่เพียงพอในการมีชีวิตอยู่

ต่อไปอาจมีแพ็กเกจการแจกเงินพร้อมโปรแกรม AI ล่าสุด หรือแม้กระทั่งแจกหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่ทำให้มนุษย์ยุคเก่ามีความสามารถทัดเทียมกับมนุษย์ยุคใหม่ก็เป็นได้

Tags: , , ,