หลายครั้งหลายประเทศมักจะเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะต้องการรายได้เข้ารัฐ แต่ครั้งนี้ยูกันดาเก็บภาษี (ที่ถูกเรียกว่าภาษี) บาป เพื่อผู้ป่วย HIV
รัฐบาลยูกันดาผ่านกฎหมายเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลมเพิ่มขึ้น 2% เพื่อนำมาใช้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเอชไอวีและเอดส์ (เอทีเอฟ) คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 82 ล้านบาท หวังจะช่วยลดการพึ่งพิงผู้บริจาคจากนอกประเทศ โดยนโยบายนี้ถูกออกแบบมาเพื่อลดการพิงพึ่งต่างชาติที่เป็นเจ้าของเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการรักษาและป้องกัน HIV ในยูกันดา
Sarah Achieng Opendi รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของยูกันดา เปิดเผยว่า การผ่านกฎหมายดังกล่าวเป็นอีกก้าวสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มทรัพยากรของรัฐบาลยูกันดา
“แม้ยูกันดาจะได้รับการอุดหนุนเงินบริจาคจากนานาชาติและคู่ค้าเป็นจำนวนมาก แต่เงินบริจาคเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ยูกันดาจึงจำเป็นที่จะต้องมีรายได้จากในประเทศมากขึ้น เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านการป้องกันและรักษา HIV เพื่อให้ยูกันดาสามารถรักษาเสถียรภาพโดยปราศจากการแทรงแซงได้ เมื่อนานาชาติลดเงินบริจาคลง”
ปัจจุบัน เงินอุดหนุนสำหรับการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ป่วย HIV ในยูกันดา ร้อยละ 68 มาจากผู้บริจาค ร้อยละ 20 มาจากผู้ติดเชื้อ HIV และครอบครัว นอกจากนั้น ร้อยละ 11 มาจากรัฐบาล และร้อยละ 1 มาจากภาคเอกชน
ฟากนักเคลื่อนไหวในยูกันดาออกมาแสดงความยินดีกับข่าวนี้ แม้ว่ารายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปริมาณเงินที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย HIV ในยูกันดาก็ตาม
Karusa Kiragu ผู้อำนวยการ UNAIDS ของยูกันดา เปิดเผยว่า ยูกันดา จำเป็นจะต้องใช้เงินอย่างน้อย 700 ล้านเหรียญต่อปีในการรักษาและป้องกัน HIV แม้ว่ารายได้ที่เพิ่มเข้ามาในกองทุนจากการเก็บภาษีแอลกอฮอล์เพิ่มจะเป็นเงินเพียงน้อยนิด แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของการระดมทุนในประเทศเพื่อผู้ป่วย HIV
นอกจากนั้น Asia Russell ผู้อำนวยการบริหารโครงการ Health Global Access เสริมว่า เงินช่วยเหลือจากนอกประเทศไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับยูกันดาอย่างแท้จริง ทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมคือการเพิ่มรายได้ของรัฐยูกันดาให้มากขึ้น อาทิ การเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า การลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัท รวมถึงรัฐจะต้องเพิ่มและจัดลำดับการจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศสำหรับนโยบายด้านสุขภาพและการบำบัด ป้องกัน รักษา HIV มากขึ้น รวมทั้งคลายความกังวลเรื่องการทุจริตเงินในกองทุนด้วยการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ยูกันดามีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV สูงถึง 1.3 ล้านคน มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 50,000 คน โดยมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงด้านวัฒนธรรมทำให้ไม่สามารถรับการรักษา HIV เต็มรูปแบบ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ HIV ถึง 26,000 คน ด้วยเพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงยารักษาได้
ที่มา:
https://www.avert.org/professionals/hiv-around-world/sub-saharan-africa/uganda
Tags: แอลกอฮอล์, ยูกันดา, tax, ภาษี