ไต้หวันประกาศให้ที่พักพิงพร้อมเบี้ยยังชีพแก่นักกิจกรรมชาวฮ่องกงที่วิตกในความปลอดภัย หลังมีข่าวว่ากฎหมายความมั่นคงที่ปักกิ่งจะออกในเร็วๆ นี้เปิดทางให้ส่งตัวผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไปขึ้นศาลในจีน 

ร่างกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงกำลังสร้างความวิตกแก่นักกิจกรรมทางการเมืองในฮ่องกงเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากกำหนดโทษจำคุกในหลายข้อหาแล้ว ในบางข้อหาจะต้องส่งตัวจำเลยไปรับการไต่สวนที่แผ่นดินใหญ่  

จีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อนานาชาติที่แสดงความกังวล ยืนยันที่จะต้องออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว โดยอ้างเหตุผลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในฮ่องกงหลังเกิดการประท้วงรุนแรงตลอดปีที่แล้ว   

น่าจับตาว่า ถ้าจีนบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเข้มงวด ปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างกว้างขวาง โลกจะมีปฏิกิริยาอย่างไร รัฐบาลปักกิ่งจะตอบโต้อย่างไร และถ้าไต้หวันโอบอุ้มนักกิจกรรมที่ต่อต้านจีน ปักกิ่งจะเล่นงานไทเปแค่ไหน อย่างไร

แผนรองรับเพื่อมนุษยธรรม

คำประกาศเปิดบ้านรับนักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงมีขึ้นเมื่อวันพฤหัสฯ (18 มิ.ย.) ประธานคณะกรรมการกิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน เฉินหมิงตง บอกว่า ไต้หวันจะเปิดสำนักงานพิเศษในวันที่ 1 กรกฎาคม หน่วยงานแห่งใหม่นี้จะรับพิจารณาคำร้องขอของนักกิจกรรมชาวฮ่องกงที่ต้องการที่พำนักในไต้หวันด้วยเหตุผลทางการเมือง

เขาบอกว่า แต่ก่อน หน่วยงานเอ็นจีโอเป็นคนทำเรื่องนี้ แต่ต่อไปรัฐบาลไต้หวันจะเป็นผู้รองรับและออกค่าใช้จ่ายให้ นักกิจกรรมที่ผ่านการพิจารณาว่าถูกคุกคามเสรีภาพและความปลอดภัยจะมีสิทธิพำนักในไต้หวันโดยถูกต้องตามกฎหมาย 

ถ้อยแถลงนี้เป็นการสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีหญิง ไช่อิงเหวิน ที่ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ไต้หวันจะออกแผนปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม รองรับชาวฮ่องกงที่เรียกร้องประชาธิปไตย

เมื่อปีที่แล้ว ชาวฮ่องกงที่ย้ายมาอยู่ในไต้หวันมีจำนวนกว่า 5,000 คน เพิ่มขึ้น 41 เปอร์เซนต์จากปีก่อนหน้า นอกจากคนที่ไปเรียน ไปทำงาน หรือไปลงทุนทำธุรกิจแล้ว หลายคนในจำนวนนี้เป็นคนที่หนีการดำเนินคดีเพราะเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งขยายวงเป็นการต่อต้านจีน 

‘ร่วมมือต่างชาติ’ ต้องขึ้นศาลจีน

ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงบัญญัติห้ามการกระทำ 4 อย่าง คือ แบ่งแยกดินแดน ล้มล้างการปกครอง ก่อการร้าย และสมคบกับต่างชาติและกลุ่มพลังนอกประเทศ 

ผู้แทนของฮ่องกงในคณะกรรมการประจำของสภาประชาชนจีน ทัมหยิวชุง เปิดเผยเมื่อวันพุธ (17 มิ.ย.) ว่า จำเลยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงของต่างชาติ หรือมีความผิดพัวพันกับประเด็นทางการทูต อาจถูกส่งตัวไปรับการไต่สวนที่จีนแผ่นดินใหญ่ 

คณะกรรมการประจำที่ว่านี้ มีอำนาจหน้าที่เสนอร่างกฎหมายให้สภาประทับตราผ่าน สำหรับร่างกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงฉบับนี้ สภาจีนได้ให้ความเห็นชอบในหลักการเมื่อเดือนพฤษภาคม เมื่อวันพฤหัสฯ (17 มิ.ย.) สภาได้ส่งร่างไปให้คณะกรรมการประจำพิจารณาแปรญัติ นับว่าการผลักดันกฎหมายฉบับนี้คืบหน้าไปอีกขั้น

นักกิจกรรมหวั่นเกรงว่า จีนจะใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือปิดปากผู้เห็นต่างด้วยการตีความแบบครอบจักรวาล 

สมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกง เดนนิส กว็อก ซึ่งอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แสดงความกังขาว่า กรณีนักกิจกรรมพบปะกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศนั้น ถือว่าเข้าข่ายความผิดฐาน “สมคบกับต่างชาติ” หรือเปล่า ขณะที่ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยอีกคน แทนยา ชาน บอกว่า ข้อหาคบคิดนี้อาจถูกใช้แบบเหวี่ยงแห ไม่ว่าเคลื่อนไหวแบบไหนก็อาจเจอข้อหาความมั่นคงอย่างใดอย่างหนึ่ง 

จีนปราม ‘ต่างชาติจุ้น’

ปักกิ่งแสดงท่าทีหมายมั่นปั้นมืออย่างยิ่งที่จะออกกฎหมายความมั่นคงฮ่องกง ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนออกโรงตอบโต้ทั้งกลุ่มจี-7 และสหรัฐฯ ที่แสดงความวิตกต่อกฎหมายฉบับนี้

เมื่อวันพุธ (17 มิ.ย.) รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มจี-7 เรียกร้องให้จีนทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าว โดยบอกว่ารู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อสิทธิเสรีภาพของฮ่องกงจะถูกคุกคาม ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นพูดจากับฝ่ายจีนเช่นกัน

เจ้าหน้าที่จีนที่พบหารือกับปอมเปโอที่ฮาวาย  หยางเจียชือ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สมาชิกกรมการเมือง และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวตอบว่า “จีนคัดค้านอย่างแข็งขันต่อคำพูดและการกระทำของสหรัฐฯที่เป็นการแทรกแซงกิจการของฮ่องกง และคัดค้านอย่างแข็งขันต่อถ้อยแถลงของกลุ่มจี-7”

คอยดูกันต่อไป ปมกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงจะยิ่งตอกลิ่มรอยร้าวระหว่างจีนกับชาติตะวันตกหรือไม่ อย่างไร. 

อ้างอิง:

AP, 18 June 2020

AFP via Barron’s, 18 June 2020

AFP via NDTV, 18 June 2020 

Tags: , ,