ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้าน AI เข้ามาช่วยเราทำงานได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานที่ซับซ้อนเกินกว่าความสามารถของสมองคนจะวิเคราะห์เจาะลึกได้ในเวลาที่จำกัด หรือการย่นเวลาของงานที่ง่ายๆ แต่ต้องทำซ้ำๆ
ตัวอย่างงานที่ง่ายแต่ต้องทำซ้ำๆ เช่น การนั่งเฝ้าดูกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ หรือตรวจจับบุคคลต้องสงสัย ซึ่งการเฝ้าดูวิดีโอนานๆ โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเหตุน่าสนใจเกิดขึ้นก็ทำให้คนที่เฝ้าดูเกิดความเบื่อหน่ายเหนื่อยล้า จนสุดท้าย อาจพลาดนาทีสำคัญไปได้ การนำ AI เข้ามาช่วยงานด้าน Surveillance (การสอดส่องตรวจตรา) จึงมีประโยชน์อย่างมาก
เมื่อกล่าวถึงโปรแกรมจำพวกสอดส่องตรวจตรา คงทำให้หลายคนคิดถึงประเทศจีน เพราะขึ้นชื่อเรื่องการตรวจจับพฤติกรรมของประชาชนในประเทศตัวเองจนถูกมองว่าล้ำเส้นไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม บรรยากาศและกฎเกณฑ์การเมืองในจีนก็ไม่ได้เหมือนประเทศอื่น การติดตั้งอุปกรณ์เพื่อสอดส่องอย่างรอบด้านจึงเป็นไปได้ แถมยังเป็นไปแบบที่ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้ามากที่สุดที่หนึ่งในโลกเลยทีเดียว
แนวความคิดการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับตา ตรวจสอบพฤติกรรมของประชาชนในประเทศจีนไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งใหม่แต่อย่างใด รัฐบาลจีนมีนโยบายนี้มาตั้งแต่ปี 2015 เพื่อให้ดำเนินการอย่างจริงจังเต็มที่ในปี 2020 ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อตรวจจับและยับยั้งการก่ออาชญากรรมต่างๆ ในฐานะประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ที่หากเกิดเหตุการณ์โกลาหลทีหนึ่งย่อมเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในการควบคุมแก้ไข ทำให้รัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศพยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการอย่างทั่วถึง ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือการติดกล้องวงจรปิดเพื่อวิเคราะห์ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรในเมืองจีหนาน หลังจากติดตั้งระบบตรวจตรานี้แล้วทำให้การละเมิดกฎลดลงจาก 200 ครั้ง เหลือเพียง 20 ครั้งต่อวันเท่านั้น
นอกจากกล้องวงจรปิดที่มีระบบตรวจจับใบหน้า ระบบตรวจตราของประเทศจีนยังล้ำหน้าในอีกหลายด้าน Huang Yongzhen ซีอีโอของบริษัท Watrix ได้พัฒนาระบบที่สามารถตรวจจับแบบแผนการเดิน (Gait Analysis) ที่สามารถบ่งชี้ตัวบุคคลแทนที่จะตรวจจับแค่ใบหน้าได้ หากใครจำได้ถึงภาพยนตร์ Mission Impossible หลายปีก่อน ที่จินตนาการไปถึงการนำเทคนิคนี้มาใช้ ทำให้รู้สึกล้ำยุค แต่ใครจะไปเชื่อว่าในปัจจุบัน Gait Analysis จะใช้งานได้จริงในวงกว้างที่ประเทศจีน Yongzhen ยังกล่าวอีกว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่ผู้คนจะหันหน้าเข้าหากล้องให้ตรวจจับอัตลักษณ์โดยง่าย และการแกล้งเดินผิดปกติหรือกระเผลกก็ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ การตรวจจับวิธีนี้จึงสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้วิธีตรวจจับใบหน้า
ตอนนี้ระบบยังไม่สามารถวิเคราะห์แบบ real-time ได้ ต้องใช้เวลาประมวลผลอีกประมาณ 10 นาทีหลังจากป้อนข้อมูลเข้าระบบ อย่างไรก็ดี เชื่อได้ว่า Yongzhen คงไม่หยุดการพัฒนาเพียงเท่านี้
การใช้โปรแกรมสอดส่องในประเทศจีนอย่างรอบด้านทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยจะสู้ดีเกี่ยวกับตัวเทคโนโลยีเอง ซึ่งในความเป็นจริง โปรแกรมนี้ก็เหมือนกับเทคโนโลยีทั่วไปที่หากใช้ในทางสร้างสรรค์ก็สามารถก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลได้ เช่นกัน Eyal Golan และ Dr. Tamar Avraham นักประดิษฐ์ชาวอิสราเอลเห็นโอกาสในการประยุกต์เทคโนโลยีการตรวจตรามาใช้ในสระว่ายน้ำส่วนบุคคลซึ่งเป็นสถานที่ที่ปกติไม่ได้มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ดูแล ทำให้บางครั้งเกิดเหตุจมน้ำแบบไม่น่าเกิดขึ้นได้
Coral Manta คือชื่อบริษัทของนักประดิษฐ์ทั้งสองซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2014 เทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าแตกต่างจากระบบกล้องวงจรปิดทั่วไปคือความสามารถในการ ‘มองเห็น’ และ ‘ตรวจจับ’ การเคลื่อนไหวของผู้เล่นน้ำใต้น้ำเพื่อวิเคราะห์ว่ามีความน่าจะเป็นในการจมน้ำหรือไม่
AI ของ Coral Manta ใช้เทคนิค Deep Learning (เหมือนที่ AlphaGo ของกูเกิลใช้) เพื่อให้การตรวจจับมีความแม่นยำมากที่สุด ความท้าทายของงานนี้คือ การวิเคราะห์ภาพวิดีโอที่มีน้ำอยู่ ซึ่งปกติ การวิเคราะห์ภาพในกล้องวงจรปิดทั่วไป วัตถุส่วนใหญ่จะอยู่นิ่ง Golan และ Avraham เลยต้องประดิษฐ์คิดค้นวิธีที่จะตรวจจับภาพที่ซับซ้อนเหล่านี้ให้มีความแม่นยำ แถมยังต้องติดตั้งเซ็นเซอร์เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ระบบสามารถทำงานในตอนที่มีแสงน้อยได้ด้วย
Coral Manta มองว่าระบบสอดส่องตรวจตราสำหรับสระว่ายน้ำส่วนตัวจะต้องมีราคาที่ไม่สูงมาก สามารถทำงานได้ตลอดวัน 24 ชั่วโมง กันร้อนกันหนาว และสุดท้าย ต้องแม่นยำเพียงพอที่จะช่วยเหลือคนจมน้ำได้จริง
การใช้งานกล้องวงจรปิดตรวจจับเหตุการณ์ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือการควบคุมเขตแดนที่มีพื้นที่กว้างมากๆ ซึ่งการใช้คนตรวจตรานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ อย่างในเซเรนเกติ (Serengeti) ในประเทศแทนซาเนีย ที่เป็นพื้นที่ธรรรมชาติ มีความกว้างเทียบได้กับประเทศเบลเยียม หรือหากเทียบกับประเทศไทยก็เล็กกว่าภาคตะวันออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ดูแลพื้นที่ผืนใหญ่นี้มีเพียง150 คนเท่านั้น (!) เรียกได้ว่าต่อให้เพิ่มจำนวนคนดูแลอีก 3 เท่าก็ไม่น่าจะตรวจตราไล่ล่าพวกโจรที่ลักลอบของป่าไปขายได้ทัน โดยเฉพาะงาช้างซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมีค่าขายได้ราคา สถิติที่น่าตกใจคือโดยเฉลี่ยทุก 15 นาทีจะมีช้างถูกจับลักลอบออกไป 1 ตัว หากปัญหานี้ไม่ได้ดูแลแก้ไข อีกสิบปีช้างจะสูญพันธุ์ไปจากบริเวณนี้
องค์กรไม่แสวงกำไรที่ชื่อ RESOLVE เห็นถึงปัญหานี้ และร่วมมือกับบริษัทผลิตชิปคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Intel เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า TrailGuard A.I. อุปกรณ์นี้เป็นกล้องที่มีชิปและอัลกอริธึมฝังอยู่ เพื่อช่วยตรวจจับผู้ลักลอบเข้าไปในพื้นืที่ หรือรถยนต์ที่น่าสงสัยที่บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ธรรมชาติของเซเรนเกติ ระบบจะตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนไปยังเจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าที่อยู่ใกล้ที่สุด
TrailGuard A.I. ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก สามารถติดตั้งได้ง่ายโดยแอบซ่อนอยู่ตามกิ่งไม้ แบตเตอรีสามารถอยู่ได้นานเป็นปี ความตั้งใจของ RESOLVE และ Intel คือการมีส่วนร่วมในการปกป้องสัตว์ป่าตามธรรมชาติจำนวนถึง 25,000 ตัวต่อปี และจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์นี้ในพื้นที่อนุรักษ์จำนวน 100 แห่งในปี 2019 นี้
เรื่องราวการใช้เทคโนโลยีด้าน AI หรือ โปรแกรม surveillance มาใช้ให้เกิดประโยชน์ยังมีอีกมากมายนอกจากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ธีมหรือแนวคิดที่สำคัญเชิงนโยบายในการบังคับใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคยังคงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบต่อการใช้เทคโนโลยีนั้นๆ ความท้าทายจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องความล้ำหน้าของสิ่งประดิษฐ์แต่หลักใหญ่ใจความจริงๆ คือการหาปัญหาและปรับใช้ระบบเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับบริบทของโจทย์ต่างหาก
Tags: AI, Deep-Learning, การสอดส่องตรวจตรา, Surveillance