การที่เทศกาลอันดับหนึ่งอย่างคานส์ไม่ได้จัดในปีนี้นั้นสั่นสะเทือนวงการหนังเป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่า Youtube จะร่วมกับเทศกาลหนังใหญ่ๆ ทั่วโลกจัดเทศกาลหนังออนไลน์ภายใต้ชื่อ We Are One แต่เทศกาลหนังจริงๆ แล้วมีอะไรมากกว่านั้น วันนี้เราจะมาเล่าประสบการณ์การไปเทศกาลหนังซันแดนซ์ (Sundance Film Festival) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเผื่อจะช่วยแก้เบื่อไปได้บ้าง

ซันแดนซ์คือหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่คนให้ความสำคัญกันมากในสหรัฐอเมริกา คอดูหนังบ้านเราก็คงจะเคยได้ยินชื่อกันบ้างเพราะเหล่าหนังอินดี้ของอเมริกาที่ดังๆ ก็ต่างไปเปิดตัวที่เทศกาลนี้มานักต่อนัก อย่างเมื่อปีที่แล้วก็มี Honey Boy หนังอัตชีวประวัติที่ Shia LaBeouf นักแสดงที่โด่งดังจาก Transformer เขียนบทและนำแสดงเองไปฉายรอบ World Premiere และโกยคำชมจากนักวิจารณ์ซึ่งต่อมา Amazon Studios ก็ซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายไป

เวลาเราพูดถึงเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศไทยเราก็มักจะนึกถึงเทศกาลที่สถานทูตประเทศต่างๆ จัดเพื่อฉายหนังจากประเทศตัวเอง บางที่ก็มีเสวนาหรือกิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วยบ้าง แต่ก็ไม่ได้จัดกันในสเกลที่ใหญ่เหมือนกับสมัยที่มี Bangkok International Film Festival ซึ่งถูกระงับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเนื่องจากปัญหาคอรัปชั่น

สำหรับเทศกาลหนังซันแดนซ์ปีนี้จัดเมื่อวันที่ 23 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ เราได้มีโอกาสเข้าร่วมเนื่องจากเป็นหนึ่งในคนตัดต่อหนังเรื่อง The Mountains Are a Dream That Call to Me หรือเรียกย่อๆ ว่า TMAD (คนตัดต่ออีกคนคือลี ชาตะเมธีกุล) หนังอเมริกันเรื่องนี้ถ่ายทำที่เนปาล เป็นเรื่องของผู้หญิงผิวขาววัยกลางคนที่ไปเดินเขาที่นั่นแต่ระหว่างทางก็ได้พบกับชายหนุ่มชาวเนปาลที่ตัดสินใจเดินขึ้นเขาไปกับเธอด้วย TMAD ได้เข้าฉายในสาย NEXT ซึ่งเน้นฉายหนังที่มีความแปลกใหม่และมีความออรินัลสูง

เตรียมตัว

ก่อนไปเราได้ลองถามเพื่อนๆ ที่เคยไปมาเมื่อปีก่อนๆ ว่าเทศกาลเป็นยังไง ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนาวมาก เราเลยจัดแจงเอาเครื่องกันหนาวไปเยอะมากแต่โชคดีที่ปีนี้ไม่หนาวเท่าปีก่อนๆ เลยรอดตัวไป

นอกจากความหนาวแล้วซันแดนซ์ก็ขึ้นชื่อเรื่องปาร์ตี้ที่จัดกันทุกวันทั้งวัน อีกคำแนะนำจากเพื่อนๆ คือไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดด้วย เราก็ไปฉีดที่ CVS เลยราคาประมาณพันกว่าบาท ตอนนั้นยังโชคดีที่โควิด-19 ยังไปไม่ถึงอเมริกา ไม่อย่างนั้นคงระบาดหนักมากๆ ในเทศกาล

เนื่องจากกิจกรรมส่วนใหญ่ของเทศกาลจัดที่ Park City รัฐยูทาห์ซึ่งความสูงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 2,134 เมตร ทำให้เกิดอาการแพ้ความสูง (altitude sickness) ระหว่างอยู่ที่เทศกาลก็ต้องดื่มน้ำให้มากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ

เทศกาลนานาชาติที่เราเคยไปเช่น ร็อตเทอดาม, โตเกียว, สิงคโปร์ จะเตรียมที่พักและตั๋วเครื่องบินให้กับผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ ส่วนทีมงานคนอื่นๆ อย่างน้อยที่สุดก็คือจะได้สายคล้องคอที่สามารถใช้เข้าชมหนังเรื่องไหนในเทศกาลก็ได้ไม่ต้องเสียเงิน แต่ซันแดนซ์ไม่ทำแบบนั้น ทุกอย่างต้องเสียเงินเองหมด จะมีตั๋วฟรีและเงินช่วยค่าเดินทางกับที่พักให้ผู้กำกับกับโปรดิวเซอร์เพียงเล็กน้อย ส่วนทีมงานคนอื่นๆ ก็มีแค่สายคล้องคอที่เอาไว้ใช้เข้างานเสวนาบางงานได้แค่นั้น ถ้าจะดูหนังก็จ่ายเท่าคนทั่วไปคือ $25 หรือเกือบแปดร้อยบาทซึ่งแพงกว่าการไปดูหนังตามโรงปกติเท่าตัวได้

ตอนแรกเราก็กังวลมากเรื่องที่พักเพราะราคาโหดสุดๆ ถ้าเป็นที่พักที่ใกล้กับ Main Street ซึ่งเป็นถนนเส้นเล็กๆ ใจกลางเมืองที่เป็นศูนย์รวมของเหล่าสปอนเซอร์งานที่ไปเช่าตึกทั้งตึกทำเป็นเลาจ์จัดกิจกรรมหรือให้คนเข้าไปนั่งพัก แต่เราโชคดีที่โปรดิวเซอร์ TMAD ได้จัดการเช่าบ้านจากแอร์บีเอ็นบีไว้ทั้งหลังแล้วให้ทีมงานเข้าพักด้วยกันทั้งหมด

คนที่มาเทศกาลซันแดนซ์ที่เราเจอมีจุดประสงค์หลักๆ คือดูหนังกับสร้างคอนเนคชั่น บางคนแทบจะไม่ได้ดูหนังด้วยซ้ำเพราะเทศกาลนี้มี networking event มากมายที่จัดขึ้นในวันและเวลาเดียวกัน แต่ไม่ใช่ว่าใครก็จะไปงานเหล่านี้ได้ ต้องเป็นคนที่ถูกเชิญเท่านั้น ตอนนี้เราก็ยังไม่แน่ใจว่าทำไมบางงานที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงอย่างงานเสวนาผู้หญิงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ถึงไม่เชิญเรา คือการจะถูกเชิญได้ก็ต้องมีคอนเนคชั่น

นอกจากงานที่ทางซันแดนซ์และสปอนเซอร์ร่วมกันจัดแล้วก็มีงานที่องค์กรต่างๆ มาเช่าสถานที่ใกล้ๆ เทศกาลแล้วจัดเอง งานพวกนี้บางงานก็ต้องเสียเงินเข้า บางงานก็ฟรี เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำการบ้านก่อนไปให้มากๆ ต้องคอยลงชื่อจัดตารางของตัวเองให้เรียบร้อย

Day 1 – พบเพื่อนใหม่

พอถึงที่ Salt Lake City International Airport แล้วเราก็ต่อ shuttle bus ที่โปรดิวเซอร์บอกให้จองไว้ล่วงหน้าเพื่อเข้า Park City ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณหนึ่งชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นวันแรกของเทศกาลคนที่สนามบินมีจำนวนมากทั้งที่มาเทศกาลและที่มาพักผ่อนเล่นสกี เราเลยต้องรอรถนานแล้วสุดท้ายต้องเปลี่ยนรถเพราะคนขับรถขับเลยจุดรับส่ง

ระหว่างทางคนขับรถคนใหม่ก็เล่าประวัติของเมืองให้ฟัง เราก็ฟังไปเคลิ้มไปเพราะวิวสวยมากๆ ทั้งเมืองถูกล้อมรอบไปด้วยภูเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ สมกับสโลแกนของรัฐยูทาห์ที่ว่า Life elevated หรือชีวิตเหนือระดับ

ด้วยความที่ต้องวนไปส่งผู้โดยสารหลายคน ทำให้เราต้องอยู่ในรถเกือบสองชั่วโมง เราก็เลยเริ่มฝึก networking ด้วยการชวนผู้โดยสารคนอื่นๆ คุย ก็เลยได้รู้จักกับคนทำหนังเรื่อง This Is Not a Burial, It’s a Resurrection ซึ่งเป็นหนังจากประเทศ Lesotho ที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศแอฟริกาใต้

หลังจากลงจากรถเราก็ได้เจอกับพวกเขาอีกครั้งที่งาน Filmmakers Welcome Party ที่เทศกาลจัดและ Dropbox เป็นสปอนเซอร์ เราได้คุยกับพวกเขาและเพื่อนของพวกเขา ที่น่าสนใจคือมีศิลปินคู่หนึ่งทำหนัง VR (virtual reality) ซึ่งเทศกาลก็มีรอบฉายอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเต็มเพราะฉายทีได้ไม่ถึงห้าสิบคนเพราะทุกคนต้องใส่ headset

สิ่งที่เราพลาดมากๆ เลยก็คือไม่ได้ขอติดตามอินสตาแกรมหรือแอดเฟซบุ๊กไว้ เราได้แต่ให้นามบัตรไป แต่ส่วนใหญ่ไม่มีนามบัตรกันตอนนี้ก็เลยขาดการติดต่อไป หลังจากวันนั้นเราเลยเน้นแอดไว้ในโซเชียลมีเดียมากกว่าการให้นามบัตร

Day 2 – ดูหนังที่เทศกาลครั้งแรก ไป networking event ครั้งแรก

ตอนแรกเราก็ตั้งใจว่าจะไปดูหนังหลายๆ เรื่องแต่นอกจากตั๋วเรื่องละเกือบแปดร้อยบาทแล้วการซื้อตั๋วล่วงหน้าก็ไม่ง่าย ซันแดนซ์เป็นเทศกาลที่มีระดับชนชั้นอยู่สูง มีกฎยิบย่อยมากมาย เช่น คนที่เป็นสมาชิก Sundance Institute ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดเทศกาลก็จะได้สิทธิ์ซื้อตั๋วก่อน ใครรวยก็ซื้อ Express Pass ราคา $4,000 หรือประมาณ 125,000 บาทสำหรับสิทธิพิเศษต่างๆ ในครึ่งแรกของเทศกาล (ราคานี้คือยังไม่ได้ทั้งเทศกาลเลย) ส่วนคนที่อยู่ยูทาห์ก็จะมีรอบพิเศษและรอบฉายฟรีให้

สำหรับคนทำหนังอย่างเราก็โชคดีหน่อยที่เขาจะกันตั๋วของทุกๆ เรื่องไว้ให้จำนวนหนึ่ง และเราสามารถไปต่อแถวซื้อได้ช่วงวันแรกๆ ของเทศกาล แต่บางเรื่องที่ฮิตจริงๆ ก็จะซื้อไม่ได้ต้องไปใช้ระบบเดียวกับคนดูหนังทั่วไปคือระบบ eWaitlist ซึ่งต้องโหลดแอปฯ ของเทศกาลมา พอก่อนหน้ารอบฉายสองชั่วโมงเราก็กดรับบัตรคิวในแอปได้ ถ้าเรื่องนั้นฉายโรงใหญ่ คิวที่ร้อยก็อาจจะยังได้เข้าอยู่

เช้าวันนั้นเราตื่นไม่ทันไปซื้อตั๋วเราเลยตั้งใจรอกดบัตรคิว พอก่อน This Is Not a Burial, It’s a Resurrection ฉายสองชั่วโมงตรงเราก็กด พอได้คิวที่ 13 ก็ใจชื้น เอ้อระเหยจนเกือบไปไม่ทันเวลาเข้าแถว

การซื้อบัตรด้วยวิธีนี้เราต้องไปเข้าแถวก่อนหนังฉาย 30 นาที, เตรียมเงินสดค่าตั๋วไป $25 และเตรียมมือถือที่กดบัตรคิวได้พร้อมกับบัตรที่ยืนยันว่าเราคือคนที่กดตั๋วจริง

สิ่งที่น่ารักของเทศกาลนี้ก็คือทุกคนจะเป็นมิตรมาก เราจะสามารถคุยกับใครก็ได้ตลอดเวลา เทศกาลอื่นก็จะคล้ายๆ กันแต่ไม่เป็นมิตรมากเท่านี้

ก่อนหนังฉายผู้กำกับก็จะขึ้นไปกล่าวอะไรเล็กน้อย พอปิดไฟก็จะมีโฆษณาของเทศกาลเองฉายอีกนิดหน่อย เช่น คลิปที่สรุปว่าเมื่อวานเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วก็จะฉายหนังเลย หลังจากฉายจบทีมงานทุกคนก็จะขึ้นไปบนเวทีให้เราถามคำถามได้

คืนวันนั้นเราไปงาน Women Media Welcome Dinner ซึ่งเป็นงานที่เราไปลงชื่อไว้ ไม่ใช่งานของเทศกาลโดยตรง พอเราไปถึงก็พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีหนังมาฉายที่เทศกาลแต่มาเพื่อ networking ซึ่งเป็นอะไรที่เราแปลกใจมากๆ เพราะคนที่เราเจอที่เทศกาลอื่นคือถ้าไม่ได้มีหนังฉายก็คือเป็นคนดูไปเลย

สิ่งที่น่าประทับใจในงานนี้นอกจากจะได้เห็นความตั้งใจที่จะ make it happen ของคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว การจัดการงาน networking ก็ดีมากๆ คือหลังจากทุกคนกินอาหารกันเริ่มอิ่มแล้วแม่งานก็เรียกให้ทุกคนไปรวมกันที่ห้องนั่งเล่นและให้แต่ละคนแนะนำตัวสั้นๆ ว่าทำอะไร และมี wants/needs/offers อะไรบ้าง ทุกคนจะได้รู้ว่าควรคุยกับใครหรือจะคุยกับใครเรื่องอะไร

Day 3 – รอบพรีเมียร์ของ The Mountains Are a Dream That Call to Me

วันนี้เป็นวันที่ทีมงานทุกคนรอคอย ผู้กำกับกับโปรดิวเซอร์ต้องไปที่โรงก่อนคนอื่นเพราะต้องไปถ่ายรูปและให้สัมภาษณ์ ส่วนเราก็ไปกับทีมงานคนอื่นๆ ก่อนหนังฉายไม่นานเพื่อไปถ่ายรูป พอถ่ายเสร็จก็ไปดูหนัง พอจบทีมงานทุกคนก็ไปยืนบนเวที ปกติจะไม่ค่อยมีใครถามคนตัดต่ออยู่แล้วเราก็เลยไม่ค่อยตื่นเต้น 

พอหัวค่ำเราก็ไปปาร์ตี้ของหนังกันซึ่งสำหรับหนังอเมริกันแล้วการจัดปาร์ตี้หลังการฉายรอบแรกที่ซันแดนซ์เป็นเรื่องปกติ แต่ TMAD เป็นหนังทุนต่ำ ปาร์ตี้เลยไม่ใหญ่นักแต่ก็มีคนมาหลากหลายอยู่ ข้อดีของซันแดนซ์ก็คือเราแทบไม่ต้องซื้ออาหารกินเลยเพราะทุกปาร์ตี้ ทุกงานเสวนามีให้กินตลอด

หลังจาก official party เราก็ไป house party ต่อ ที่บ้านเช่าของ executive producer ซึ่งบรรยากาศจะเหมือนในหนังที่มีซีนปาร์ตี้ที่บ้านคือพอดึกๆ ก็จะมีใครไม่รู้เข้ามาเนียนๆ มากินเบียร์ฟรี สุดท้ายก็โดนเจ้าของบ้านไล่ไป แต่พวกเขาก็ดูเฉยๆ กันและเหมือนจะไปหาที่ปาร์ตี้ต่อ

Day 4 – แฮงค์เอาท์กับคนทำหนังสารคดีและกลุ่มเอเชี่ยนอเมริกัน

เราโชคดีที่มีเพื่อนเป็นผู้กำกับสารคดีที่องค์กร Asian American Documentary Network หรือ A-DOC ส่งมาเทศกาล เขาก็เลยช่วยให้เราเข้างานเสวนาของสายสารคดีได้ด้วยซึ่งจริงๆ ซันแดนซ์มีสารคดีน่าดูเยอะมาก ปีก่อนๆ ที่มาเปิดตัวที่นี่ก็มี Man on Wire, American Factory, One Child Nation

หลังจากกินข้าวเช้าและทำความรู้จักกับกลุ่ม A-DOC ที่งานเสวนาของ Center for Asian American Media แล้ว เราก็ไปงานสังสรรค์ของกลุ่ม The Alliance of Documentary Editors ต่อ จริงๆ แล้วงานนี้จัดพร้อมกับอีกงานแต่เลิกช้ากว่า เราเลยเลือกไปงานนั้นก่อน

งานของ ADE นั้นเน้นให้เราทำความรู้จักกับคนตัดต่อสารคดีคนอื่นๆ จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เราก็ได้พบคนหลากหลาย เช่น หนึ่งในทีมตัด Icarus ที่ชนะออสการ์ไปเมื่อปี 2018 ปีนี้เขาตัด The Dissident สารคดีเกี่ยวกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของจามาล คาช็อกกิ นักข่าวของ วอชิงตัน โพสต์ ที่ชอบวิจารณ์ซาอุดิอาระเบียและนโยบายของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

นอกจากคนตัดต่อแล้ว ผู้ช่วยตัดต่อก็มาด้วย เราได้คุยกับหนึ่งในทีมผู้ช่วยตัดต่อของ Welcome To Chechnya สารคดีเกี่ยวกับกลุ่มแอคทิวิสต์ที่เสี่ยงตายเพื่อต่อสู้กับความรุนแรงที่ผู้นำเผด็จการของเชชเนียในรัสเซียได้กระทำต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ตั้งแต่ปี 2016 อีกอย่างที่น่าสนใจมากๆ ของสารคดีนี้คือมีการใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนหน้าขอผู้ที่ต้องปกปิดใบหน้า แต่แทนที่จะเบลอหน้าคือเปลี่ยนให้กลายเป็นหน้าอื่นไปเลย

สารคดีอีกเรื่องที่มีคนพูดถึงมากคือ Crip Camp (ที่ตอนนี้ดูได้แล้วในเน็ตฟลิกซ์) เป็นเรื่องของแคมป์ เจนด์ (Janed) ที่อยู่ไม่ไกลจากเทศกาลดนตรีวู้ดสต๊อกเท่าไรนัก แคมป์นี้ต้อนรับวัยรุ่นผู้พิการซึ่งหนึ่งในนั้นคือผู้กำกับเอง เราได้คุยกับหนึ่งในทีมผู้ช่วยตัดต่อซึ่งก็เป็นผู้พิการ เขามีอาการของ cerebral palsy แต่ก็ชิลล์มาก คุยกันปกติ เรารู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้เห็นคนพิการทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ แบบนี้ ส่วนโรงหนังที่นี่ก็มีทางลาด มีที่จอดวีลแชร์เป็นเรื่องปกติ

ต่อจากงาน ADE เราก็ไปนั่งคุยต่อกับเพื่อนใหม่อีกสองคนที่หนึ่งในเลาจ์ของเทศกาลซึ่งมีกาแฟ ที่นั่งให้เราไปพักได้ ในนั้นมีของแจก มีบริการนวดฟรีด้วยแต่เราลงทะเบียนไม่ทัน คุยกันไปเรื่อยๆ เพื่อนเกาหลีอเมริกันเราก็มาร่วมด้วย เขาเป็นหนึ่งในทีมงานของ Minari ที่แสดงนำโดยสตีเฟน ยอน จาก The Walking Dead 

หลังจากกดดันเพื่อนให้พาไปเจอสตีเฟนไม่สำเร็จ เราทั้ง 4 คนก็เดินไปต่อแถวเข้างานเสวนาของ Asian Pacific Filmmakers Experience ซึ่งแถวยาวมากๆ แต่ระหว่างต่อแถวคนตัดต่อของ Minari และภรรยาก็เดินผ่านมาพอดีเลยได้ต่อแถวด้วยกันเราก็ได้เพื่อนใหม่เพิ่ม

พอเข้าไปในงานนอกจากเสวนาจะน่าสนใจแล้ว อาหารยังอร่อยมากๆ เรามีโอกาสได้คุยกับคนตัดต่อ Minari เพิ่มซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ รู้สึกเหมือนได้ใกล้วงการฮอลลีวูดขึ้นอีกนิด

Day 5 – มีตติ้งของกลุ่มในเฟซบุ๊คและการดูหนังเรื่องเดียวกับอีธาน ฮอว์ค

วันนี้เราไปเจอกับคนในกลุ่มเฟสบุ๊คชื่อ Blue Collar Post Collective ซึ่งเป็นกลุ่มรวมเหล่าคนทำโพสต์-โปรดักชั่นทั้งหลายจากทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ลอสแอนเจลิสกับนิวยอร์ก กลุ่มนี้ดีมากๆ ถ้าใครสนใจเรื่องการทำโพสต์ฯ จริงๆ เราเล็งที่จะไปมีตติ้งกลุ่มนี้นานแล้วแต่พลาดตลอด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกซึ่งเป็นมีตติ้งเล็กๆ ก็สร้างเพื่อนใหม่กันไป ทุกคนใจดีพร้อมให้คำแนะนำรุ่นเล็กอย่างเรา

นอกจากสร้างเพื่อนใหม่แล้ว เราได้เจอกับคนตัดต่อที่เราคุยด้วยคืนแรกของเทศกาลซึ่งวันนี้เราจะไปดู The Evening Hour ที่เขาตัดพอดีแต่ยังไม่มีตั๋ว เขาเลยให้เบอร์มาถ้าเราหาตั๋วไม่ได้เขาจะช่วย แต่โชคดีที่เรากด eWaitlist แล้วได้คิวไม่ไกลเลยไม่ได้รบกวนเขา

ขณะที่ต่อแถว eWaitlist เราก็ชวนคนข้างหลังคุยปรากฎว่าเขาทำแผนกคอสตูมให้ Little Women หลังจากเอามือทาบอก เราก็บอกเขาว่ายังไม่ได้ดูแต่เพื่อนหลายคนชอบคอสตูมเรื่องนี้มากๆ หลังจากคุยกันสักพักเราก็เข้าไปนั่งด้วยกันในโรง (ตั๋วไม่ระบุที่นั่ง)

ก่อนหนังจะฉายเราก็หันไปเห็นอีธาน ฮอว์ค (Ethan Hawk) กำลังจะนั่งถัดไปจากเราประมาณยี่สิบเก้าอี้!? เราตกใจมากเพราะกรี๊ดอีธานมากและเขาดูอวบกว่าที่คิด ยกมือถือขึ้นถ่ายรูปแต่ก็ไม่ชัด รู้สึกเฟลและเสียดายที่หลังจากหนังเรื่องนี้จบเราต้องรีบวิ่งไป Q&A ให้ TMAD เลยไม่สามารถไปยืนดักอีธานได้

Day 6 – วันแห่งการร้องไห้

ตอนเช้าเราตั้งใจว่าจะเดินเก็บของฟรีตามเลาจ์ต่างๆ เพื่อเอาไปเป็นของฝาก แล้วก็ไปเจอเพื่อนสิงคโปร์ที่เพิ่งมาเทศกาล แต่เดินไปเดินมาเราก็เจอผู้กำกับ/คนตัดต่อที่เพิ่งทำความรู้จักกันในปาร์ตี้วันก่อน เราเลยเดินคุยกับเขาไปเรื่อยๆ แวะไปกินของฟรีในงานอะไรสักอย่างเสร็จแล้วก็พาเขาไปรู้จักเพื่อนของเรา เทศกาลหนังเป็นที่แห่งการพบปะผู้คนใหม่ๆ จริงๆ

หลังจากนั้นเราสองคนก็ไป Art of Editing Reception ซึ่งเป็นงานที่เทศกาลจัดขึ้นร่วมกับ Adobe เพื่อให้ความสำคัญกับศิลปะการตัดต่อทั้งสารคดีและ fiction นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ร่วมงานทำนองนี้ในเทศกาลหนังเพราะปกติแล้วเทศกาลจะให้ความสำคัญกับผู้กำกับและโปรดิวเซอร์เป็นส่วนใหญ่

หนึ่งในไฮไลต์ของงานคือรางวัล Mentorship Award ซึ่งเราถึงกับน้ำตาซึมเพราะก่อนที่คนรับรางวัลจะขึ้นพูด เขาให้คนที่เป็น mentee หรือผู้ได้รับการฝึกของคนที่ได้รับรางวัลมากล่างถึงความรู้สึกที่มีต่อ mentor หรือพี่เลี้ยง/ผู้ให้คำปรึกษาในการทำงาน เราฟังแล้วก็คิดถึงพี่ลี (ลี ชาตะเมธีกุล) ที่เมื่อสิบปีก่อนเขาคอยสอนเราจนได้ทำงานตัดต่อมาถึงตอนนี้ เรารู้สึกโชคดีมากๆ ที่มีคนคอยสอน เหล่า mentee ที่ขึ้นไปพูดก็พูดไปน้ำตาคลอไป

พอจบงานแล้วเราก็วิ่งไปดู Minari ซึ่งเรารู้เรื่องย่อแค่ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับการต่อสู้ของคนเกาหลีที่ย้ายมาอเมริกาและเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องของตัวผู้กำกับเอง เราก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากแต่ระหว่างดูคือทั้งหัวเราะและร้องไห้หนักมาก ร้องระดับที่เครดิตตอนจบขึ้นเรายังไม่หยุดร้อง เป็นหนังที่เราชอบมากๆ ผู้กำกับลี ไอแซค จุง (Lee Isaac Chung) และทีมงานทำได้ดีมากจริงๆ

ต่อมา Minari ก็คว้ารางวัลจากซันแดนซ์ไป 2 รางวัลคือ Grand Jury Prize และ The Audience Award ในสาย U.S. Dramatic Competition

Day 7 – ขึ้นรถ VIP ไปสนามบิน

ตอนแรกเราว่าจะจอง shuttle bus ให้มารับแต่ไปๆ มาๆ เพื่อนเกาหลีอเมริกันหารถให้เราได้ เราก็เลยไปเจอเขาที่โรงแรม แล้วก็ตกใจมากคือได้นั่งรถไปสนามบินกับนักแสดง Minari -เอามือทาบอกรัวๆ ถึงจะไม่ใช่ สตีเฟน ยอน ก็เถอะ แล้วทุกคนคือใจดีมากๆ ไฟลต์หลังเรากันหมดเลยแต่ยอมมาสนามบินก่อน รู้สึกขอบคุณพวกเขาจริงๆ

เทศกาลซันแดนซ์ยังจัดต่อไปอีก 4 วัน แต่ส่วนใหญ่คนที่อยู่ต่อคือคนที่อยากดูหนังจริงๆ เพราะอีเวนท์ใหญ่ๆ จะจัดช่วงสุดสัปดาห์แรก งานเปิดตัวหนังเรื่องต่างๆ ก็จัดกันไปหมดแล้ว ตั๋วหนังก็หาซื้อง่ายขึ้น ส่วนผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่มีหนังฉายก็จะอยู่รอลุ้นรางวัลในปาร์ตี้ปิดเทศกาล

โดยรวมแล้วซันแดนซ์ก็เป็นอีกเทศกาลที่น่าสนใจ ถ้าใครมีโอกาสก็อยากให้ลองมากัน มีทั้งหนังยาว หนังสั้น หนังสารคดี หนัง VR ที่ต้องสวม headset ดู งานเสวนาต่างๆ งานปาร์ตี้ งาน networking ของกินฟรี เครื่องดื่มฟรีก็หลายงานอยู่ ที่จะแพงก็คือค่าเดินทางอย่างไฟลต์และ Uber/Lyft (รถบัสที่วิ่งในเทศกาลคือฟรีหมด) ค่าที่พัก และค่าตั๋วหนัง

นอกจากซันแดนซ์แล้วยังมีเทศกาลหนังอีกเทศกาลหนึ่งที่จัดที่เดียวกัน ช่วงเดียวกันอย่าง Slamdance Film Festival ผู้ก่อตั้ง Slamdance คือเหล่าผู้กำกับที่ซันแดนซ์ไม่เลือกหนังเข้าฉายเมื่อปี 1995 ก็เลยจัดฉายเองเลย มีความขบถอยู่สูง ผ่านมา 26 ปีแล้ว Slamdance ก็ยังอยู่ รวมทั้งเคยฉายหนังของเหล่าผู้กำกับชื่อดังก่อนที่จะดังอย่าง Ari Aster (Midsommar), Bong Joon Ho (Parasite), Christopher Nolan (Dunkirk) อีกด้วย

Tags: , ,