ในปี 2006 บริษัทฟรานซ์ เทเลคอม ที่ตอนนี้เป็นบริษัทออเรนจ์แล้ว ต้องปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อแก้ปัญหาหนี้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดีดีเออร์ ลอมบาร์ด ซีอีโอ และหลุยส์-ปิแอร์ เวนส์ มือขวาของลอมบาร์ด และโอลิวิเยร์ บาร์บีโรต ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลออกนโยบายกดดันและไล่พนักงานกว่า 20,000 คนออก ไม่กี่ปีต่อมามีพนักงานหลายสิบคนฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตาย

คลื่นแห่งการฆ่าตัวตายและการไต่สวนผู้บริหารเกิดขึ้น หลังจากนั้นอีกราวสิบกว่าปีให้หลัง รายงานของผู้ตรวจแรงงานเมื่อปี 2010 เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารใช้วิธีปรับโครงสร้างแบบ ’การทำงานของเชื้อโรค’ เช่น บังคับให้พนักงานทำงานใหม่ที่ไกลเมืองมากๆ กำหนดเป้าที่พนักงานทำไม่ได้

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ศาลอาญาในกรุงปารีสตัดสินว่า อดีตผู้บริหารทั้งสามคน ล่วงละเมิดทางศีลธรรม (moral harassment) และต้องรับผิดชอบจากการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ระหว่างการปรับโครงสร้างของบริษัท จนทำให้พนักงานจำนวนมากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย

พนักงานจำนวนมากฆ่าตัวตายระหว่างการปรับโครงสร้างบริษัท การพิจารณาของศาลกว่า 3 เดือนเน้นไปที่  39 กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2006-2009 มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ 19 กรณี พยายามฆ่าตัวตาย 12 กรณี และ 8 กรณีที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรง ยังมีพนักงานอื่นๆ ที่ฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจไม่สามารถโยงโดยตรงว่าเกี่ยวกับงานอย่างเดียว

ศาลรับฟังคำให้การของพนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานเกี่ยวกับความวิตกกังวลร้ายแรง ขณะที่ผู้บริหารแก้ปัญหาหนี้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการไล่พนักงาน 22,000 คนออก จากทั้งหมด 120,000 คน พนักงานส่วนใหญ่ที่อยู่ต่อเป็นข้าราชการ ซึ่งไล่ออกไม่ได้

ศาลระบุว่า วิธีการที่ผู้บริหารใช้จนทำให้พนักงาน 22,000 คนต้องออกจากงาน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้บริหารทำให้สภาพการทำงานของพนักงานย่ำแย่ลง เพื่อเร่งให้พวกเขาต้องออกจากงาน นโยบายนี้สร้างบรรยากาศแห่งความวิตกกังวล ซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตาย 

การพิจารณาคดีแสดงให้เห็นถึงสภาพการจ้างงาน การทำให้เป็นคนชายขอบ การคาดการณ์ที่ผิดพลาด และการละเมิดพนักงานอย่างเป็นระบบของฟรานซ์ เทเลคอม พนักงานพูดถึงความหดหู่ของเพื่อนร่วมงานที่แขวนคอ เผาตัว กระโดดออกจากหน้าต่างบ้าน รถไฟ และสะพาน ขณะที่บริษัทกดดันพวกเขาให้ทำงานที่ไม่เหมาะกับตัวเอง เช่น ให้ช่างเทคนิคทำงานเซลล์ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดแรงงาน

แม้ผู้บริหารให้การว่า พนักงานออกจากบริษัทด้วยความสมัครใจ แต่ก็ขัดกับคำประกาศในเวลานั้นของเขาเอง เพราะเมื่อปี 2006 ลอมบาร์ดประกาศอย่างเป็นทางการว่า พนักงานจะต้องออกจากบริษัททาง “หน้าต่างหรือประตู”

ส่วนอดีตผู้บริหารทั้งสามคนปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาไม่รู้เรื่องนี้เป็นการส่วนตัว 

ศาลตัดสินจำคุกลอมบาร์ด 1 ปี แต่ลดเหลือ 4 เดือน และปรับเป็นเงิน 16,000 ดอลลาร์สหรัฐ และตัดสินให้บริษัทออเรนจ์มีความผิดเดียวกันด้วย และปรับเงิน 83,000 ดอลลาร์สหรัฐ ออเรนจ์ไม่ยื่นอุทธรณ์ และส่วนลอมบาร์ดจะยื่นอุทธรณ์  

สหภาพแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานยินดีกับคำตัดสินของศาลทวีตข้อความว่า “ให้คำตัดสินนี้เป็นตัวอย่าง เพื่อที่นโยบายของความรุนแรงทางสังคมเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง

การพิจารณาคดียังเน้นให้เห็นถึงตลาดแรงงานฝรั่งเศสที่ไม่เคลื่อนไหว พนักงานส่วนใหญ่คาดหวังว่าจะอยู่ในบริษัทเดิมตลอดชีวิตการทำงาน น้อยคนที่จะเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนสถานที่

ที่มา:

 https://www.nytimes.com/2019/12/20/world/europe/france-telecom-suicides.html

https://www.france24.com/en/20191220-france-telecom-and-its-former-ceo-didier-lombard-found-guilty-of-moral-harassment

https://www.thelocal.fr/20191220/ex-france-telecom-bosses-jailed-over-worker-suicides

Charles Platiau/Reuters

Tags: , , , ,