แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

เพราะความสำเร็จทางธุรกิจของอัมรินทร์พลาซ่า ทำให้รังสรรค์ ต่อสุวรรณ และอิสระ ว่องกุศลกิจ เจ้าของกลุ่มอัมรินทร์ ดีเวลลอปเมนต์ มีความคิดที่จะขอเช่าที่ดินแปลงติดกัน ที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมเอราวัณซึ่งมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่เดิมโรงแรมเอราวัณมีความสูงเพียงแค่ 4 ชั้น เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2499 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

รังสรรค์และอิสระเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม อยู่หลายครั้ง จนมาได้ข้อสรุปที่ว่าจะเป็นการยื่นเสนอร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีการแถลงข่าวร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและอัมรินทร์ ดีเวลลอปเมนต์ในชื่อ บริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด (มหาชน)

แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

ไอเดียของรัฐบาลในสมัยนั้นที่โยนมาให้กับผู้ร่วมทุนก็คือ อยากให้เสนออาคารที่มีรูปแบบความเป็นไทยเข้าไปด้วย ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้นถือว่าน่าสนใจไม่น้อย สำหรับใครติดตามผลงานการออกแบบของรังสรรค์มาตลอดก็คงคิดไม่ออกว่าหลังจากออกแบบตึกที่ใช้สไตล์นีโอคลาสสิกอย่างที่อัมรินทร์พลาซ่า งานต่อไปจะต้องออกแบบให้เป็นไทยจ๋าขนาดที่ว่าต้องใส่พวกเครื่องเคราที่เป็นองค์ประกอบชั้นสูงของสถาปัตยกรรมไทยอย่างช่อฟ้าและใบระกาลงไปในงานของเขาด้วย แบบแรกที่รังสรรค์นำเสนอรัฐบาลก็คืออาคารที่หน้าตาเหมือนกับเอาสถาปัตยกรรมแบบวัดและวังผสมผสานเข้าไปในรูปแบบอาคารสมัยใหม่ และสุดท้ายก็ไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสถาปนิกชื่อดังร่วมสมัยรายอื่น โดยเฉพาะข้อหาที่ว่าไม่เหมาะสมที่จะเอาสถาปัตยกรรมที่เป็นของสูงอย่างนั้นมาใช้กับการออกแบบโรงแรม และนั่นคือครั้งเดียวที่รังสรรค์ยอมเปลี่ยนแบบที่เขาออกแบบ จนกลายมาเป็นโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ความสูง 22 ชั้น อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

ภาพ Perspective โครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เป็นอีกโปรเจกต์ที่รังสรรค์จัดการเองแทบทุกอย่าง ไล่ไปตั้งแต่ ร่างโครงการ ออกแบบ ทำกระแสเงินสด (cashflow) และการตลาด และจากโครงการนี้เองที่น่าจะเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาคิดเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากสถาปนิกเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

Mix-Used Project แห่งแรกของไทย
“โครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์” ที่แยกราชประสงค์

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของการผันตัวเองจากการเป็นสถาปนิกที่รับผิดชอบออกแบบโครงการอย่างเดียวมาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัวก็คือ ความขัดแย้งกันกับเจ้าของโครงการหลังจากที่รังสรรค์ออกแบบและร่วมพัฒนาพื้นที่ที่เรียกได้ว่าเป็น Mix-Used Project แห่งแรกของไทย นั่นก็คือ โครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่แยกราชประสงค์ (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิลด์)

ในยุคสมัยสามสิบกว่าปีที่แล้ว ในประเทศเรานั้นแทบจะไม่มีคนที่เป็นดีเวลลอปเปอร์หรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จริงๆ ผู้ที่ถือเอกสิทธิ์ในการพัฒนาและลงทุนในอสังหาฯ ส่วนมากก็คือ กลุ่มนายธนาคารเท่านั้น โครงการนี้เริ่มจากที่รังสรรค์ร่างโครงการและเสนอไปที่เจ้าของที่ผืนนั้น นั่นก็คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทางสำนักงานฯ ต้องการให้มีการเปิดประมูล เขาจึงร่วมงานกับธนาคารกลุ่มหนึ่ง แข่งกันออกแบบและเสนอราคากับธนาคารอีกกลุ่มหนึ่ง จนในที่สุดกลุ่มของเขาก็เป็นฝ่ายชนะได้สิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินผืนนี้ แต่กลายเป็นว่ารังสรรค์กลับโดนกันออกจากโครงการนี้หลังจากที่ชนะประมูลแล้ว นั่นเลยเป็นที่มาของการฟ้องร้องกันระหว่างเขากับธนาคารกลุ่มนั้น เรียกได้ว่าเป็นคดีแรกที่สถาปนิกยื่นฟ้องบริษัทที่ทำการว่าจ้างให้ออกแบบด้วยจำนวนเงินมหาศาลถึง 200 ล้านบาท (ลองคิดดูว่าค่าเงินในสมัยตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วจะมหาศาลขนาดไหนในสมัยนี้) และนี่ก็ถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดในชีวิตสถาปนิกของเขาให้ลุกขึ้นมาทำอสังหาฯ เสียเอง เพราะถ้ายังคงเป็นสถาปนิกอย่างเดียวต่อไปทั้งที่ตัวเองทำได้แทบทุกอย่าง ในอนาคตก็คงต้องเจอเหตุการณ์ทำนองนี้อีกแน่ๆ

ซิลเวอร์ บีช คอนโดมิเนียม และพาร์คบีช คอนโดมิเนียม

หลังจากมีการฟ้องร้องและเป็นคดีความ ทำให้ช่วงนั้นลูกค้าที่คิดจะมาจ้างเขาออกแบบหายไปเยอะ สำนักงานออกแบบของเขาเข้าสู่ภาวะลำบากกว่าที่เคย จนวันหนึ่งรังสรรค์เกิดไปสนใจที่ดินแปลงสวยที่หาดวงศ์อมาตย์ พัทยา และทำให้โปรเจกต์แรกของการเป็นนักพัฒนาอสังหาฯ ของเขา ไม่ได้เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ แต่เป็นที่พัทยา

ซิลเวอร์ บีช คอนโดมิเนียม เป็นโครงการที่เขาร่วมลงทุนกับ ไพฑูรย์ แสงสว่าง และ นรเศรษฐ ปัทมานันท์ ทำคอนโดมิเนียมหรูขนาด 22 ชั้น 84 ยูนิต ตั้งอยู่ที่หาดวงศ์อมาตย์ โดยออกแบบด้วยการหยิบยืมองค์ประกอบสถาปัตยกรรมคลาสสิกมาใช้อีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้เขาใช้องค์ประกอบคลาสสิกนี้กับอาคารทั้งหลัง

พาร์คบีช คอนโดมิเนียม

พาร์คบีช คอนโดมิเนียม

ทั้งที่สมัยก่อนคนไทยยังไม่คุ้นเคยกับการซื้อคอนโดมิเนียม ถนนของซอยที่เข้าถึงโครงการนี้ก็ยังเป็นลูกรัง แต่กลับเป็นว่าขายดี เปิดขายไม่กี่เดือนก็หมด หลังจากนั้นรังสรรค์ก็รีบหาซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำโครงการที่สองของเขาในชื่อ พาร์คบีช คอนโดมิเนียม และก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ปิดการขายได้ในเวลาไม่ถึงเดือน

สกายบีช คอนโดมิเนียม

ส่วนโครงการสุดท้ายบนหาดวงศ์อมาตย์ของรังสรรค์ก็คือ สกายบีช คอนโดมิเนียม เป็นอาคารสูง 45 ชั้น มีทั้งหมด 483 ยูนิต มีเอเทรียมขนาดใหญ่ ทำให้ห้องชุดทุกยูนิตเป็นแบบซิงเกิลโหลดคอร์ริดอร์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างสระน้ำขนาดใหญ่ ฟิตเนส คอร์ตเทนนิส สควอช และมีสกายเลาจน์ รวมทั้งลิฟต์แก้วสูง 45 ชั้น

รังสรรค์เคยกล่าวไว้ว่า ข้อดีของการเป็นสถาปนิกและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตัวคนเดียวกันก็คือ สามารถตัดสินใจเลือกที่ดินและผลิตโครงการได้เร็ว โครงการคอนโดมิเนียมที่พัทยาของเขาทั้ง 3 โครงการนั้นออกแบบ ก่อสร้างและขายเสร็จในช่วงเวลาสั้นๆ แค่ปี 2530-2532 เท่านั้น

หลังจากประสบความสำเร็จจากทั้ง 3 โครงการแล้ว โครงการต่อๆ มาที่เขาออกแบบและลงทุนเองก็คือโครงการที่เราน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ทั้งโครงการสเตท ทาวเวอร์ ย่านบางรัก และที่ดังสุดๆ ก็คือ สาธรยูนีค ตึกร้างที่สูงที่สุดของไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยา

สเตท ทาวเวอร์ หรือ สีลม พรีเชียส ทาวเวอร์

สเตท ทาวเวอร์ หรือชื่อเดิมคือ สีลม พรีเชียส ทาวเวอร์ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2536 และกว่าจะสร้างเสร็จจริงๆ ต้องใช้เวลายาวไปถึงปี 2543 เป็นอาคารขนาดยักษ์ ที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันกว่า 300,000 ตารางเมตร ด้วยความสูง 63 ชั้นและใต้ดินอีก 6 ชั้น มีระเบียงแบบนีโอคลาสสิกที่เรียงเต็มพืดไปทั้งตึก ส่วนด้านบนสุดของอาคารที่เป็นโดมสีทองมีความสูงกว่า 30 เมตร

สเตท ทาวเวอร์ หรือ สีลม พรีเชียส ทาวเวอร์

สเตท ทาวเวอร์ หรือ สีลม พรีเชียส ทาวเวอร์

นอกจากความมโหฬารของตัวโครงการและหน้าตาสไตล์นีโอคลาสสิกแล้ว สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือไอเดียเบื้องหลังการออกแบบตึกหลังนี้ เพราะรังสรรค์เกิดไอเดียว่าเป้าหมายหลักๆ ของคนที่จะเป็นลูกค้าของสีลม พรีเชียส ก็คือพ่อค้าขายเพชรพลอยละแวกบางรัก มเหสักข์ แทนที่จะให้เช่าตึกแถวรอบๆ แถวนั้น ก็ให้ย้ายกันมาอยู่ที่ตึกนี้เลยดีกว่า เพราะที่นี่เขาตั้งใจให้เป็นศูนย์รวมการค้าและตลาดอัญมณีครบวงจร ถ้าจำไม่ผิดจะมีโครงการใกล้ๆ กันนั้นที่จะทำลักษณะคล้ายๆ ไม่ต่างจากที่นี่ก็คือ โครงการจิวเวอร์รี่ เทรด เซ็นเตอร์ แต่ที่ต่างกันก็คือ จิวเวอร์รี่ เทรด เซ็นเตอร์ จะมีลักษณะแบบอาคารสำนักงานมากกว่าจะเป็นรูปแบบอาคารพักอาศัย เขาตั้งใจออกแบบให้ยูนิตพักอาศัยมีขนาดใหญ่โตมาก อย่างเช่นขนาดพื้นที่ 130 ตารางเมตร แต่กลับมีห้องน้ำแค่ห้องเดียวเท่านั้น พูดง่ายๆ คือสิ่งที่เขาคิดไว้ตอนนั้นก็คือ ต้องการสร้างให้เป็นที่อยู่อาศัยและโรงงานผลิตเพชรพลอยไว้ในยูนิตเดียวกันไปเลย

ตอนที่สีลม พรีเชียส เริ่มสร้างไปได้สักพัก รังสรรค์ตัดสินใจขายหุ้นบางส่วนของสีลม พรีเชียส ให้กับนักลงทุนรายหนึ่งเพื่อต้องการลดภาระของธุรกิจอสังหาฯ ของเขา โดยมีสัญญาว่ารังสรรค์จะต้องเป็นสถาปนิกที่ดูแลโครงการนี้จนกว่าตึกจะสร้างเสร็จ สุดท้ายสีลม พรีเชียส ก็สร้างเสร็จจนได้ โดยใช้ชื่อว่า รอยัล เจริญกรุง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อ สเตท ทาวเวอร์ อย่างที่เรารู้จักกันดีในสมัยนี้

สาธรยูนีค

และก่อนหน้าที่จะเปิดตัว สีลม พรีเชียส ไม่นาน รังสรรค์เพิ่งเปิดตัวโครงการที่ชื่อ สาธรยูนีค ในปี 2534 โครงการคอนโดมิเนียมความสูง 49 ชั้น ทั้งหมด 600 กว่ายูนิต บนถนนเจริญกรุง ใกล้ๆ กับวัดยานนาวา และไม่ไกลจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา รูปแบบสถาปัตยกรรมของสาธรยูนีคก็คือ สไตล์งานออกแบบที่รังสรรค์ใช้มาตั้งแต่โครงการอสังหาริมทรัพย์โครงการแรกของเขา นั่นคืออาคารสูงที่ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิกสีขาวทั้งหลัง ปัจจุบันก็อย่างที่เราทราบกันดีว่า นี่คือตึกร้างริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงที่สุด และผมคิดว่าเป็นตึกร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย

สมัยนั้นคอนโดมิเนียมยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนในสมัยนี้ เมื่อเมืองค่อยๆ โตขึ้น ความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่นิยมอยู่กันตามทาวน์เฮาส์หรือตึกแถว เราก็ค่อยๆ ยอมรับการอยู่อาศัยในแนวตั้งอย่างคอนโดมิเนียมมากขึ้น หลังปี 2530 น่าจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่คอนโดมิเนียมอาคารสูงเริ่มบูมขึ้นมา สาธรยูนีคเป็นหนึ่งในโครงการที่เป็นที่รู้จักในยุคนั้นจากคนไทยชั้นกลางระดับบนจำนวนมาก ถือเป็นตึกพี่ตึกน้องกับสีลม พรีเชียส เพราะหน้าตาที่คล้ายและวิวที่สามารถมองเห็นกันเองได้อย่างชัดเจน

สาธรยูนีคเริ่มสร้างเมื่อปี 2535 ด้วยเงินลงทุนในโครงการทั้งหมดจำนวน 1,800 ล้านบาท ตึกนี้หยุดสร้างครั้งแรกเมื่อปี 2536 เพราะสถาบันการเงินหยุดปล่อยเงินกู้ไประยะหนึ่ง เพราะจุดพลิกผันสำคัญที่สุดในชีวิตของรังสรรค์ ต่อสุวรรณ นั่นคือเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการจ้างวานฆ่าอดีตประธานศาลฎีกา เขาถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 6 เดือน ก่อนจะได้ประกันตัวออกมาเพื่อสู้คดี และคดีความได้จบลงเมื่อปี 2553 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

ภายใน โครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

หลังจากรังสรรค์ได้รับการประกันตัว สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ก็กลับมาปล่อยให้กู้ต่อ รวมทั้งลูกค้าที่ผ่อนจ่ายซื้อห้องก็จ่ายเงินมาแล้วกว่า 50% ทำให้โครงการนี้สามารถเดินหน้าสร้างต่อไปได้ เรียกได้ว่าสร้างเสร็จไปแล้วกว่า 90% มีการติดตั้งบันไดเลื่อน และมีการนำลิฟต์พร้อมสมองกลเข้าไปติดตั้งแล้ว จนกระทั่งวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลสมัยนั้นประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และสั่งปิดสถาบันการเงินจำนวน 56 แห่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ปล่อยกู้มาเพื่อก่อสร้างอาคารสาธรยูนีคก็ถูกสั่งปิดด้วย การก่อสร้างตึกนี้ก็เลยต้องหยุดทันทีทั้งที่จวนจะเสร็จอยู่แล้ว และสุดท้ายก็ถูกรัฐบาลในสมัยนั้นจัดให้เป็นทรัพย์สินด้อยคุณภาพรวมกับทรัพย์สินด้อยคุณภาพอื่นๆ ว่ากันว่าถ้าตอนนั้นสาธรยูนีคได้สร้างต่อละก็ อีกแค่ 6 เดือนเท่านั้นตึกก็จะเสร็จสมบูรณ์ และสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อไปแล้วกว่า 500 รายได้

บางกอกริเวอร์พาร์ค

นอกจากโครงการอสังหาฯ ของตัวเองแล้ว รังสรรค์ก็ยังมีผลงานออกแบบอาคารอื่นๆ ที่รับออกแบบให้ลูกค้าหลายแห่งที่คิดว่าเราน่าจะรู้จักอาคารเหล่านี้กันเป็นอย่างดี เช่น คอนโดบางกอกริเวอร์พาร์ค ที่อยู่ถนนทรงวาด ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา, สมาคมธรรมศาสตร์ ในสาทรซอย 1, หมู่บ้านสวนพลูการ์เด้น ในซอยสวนพลู ย่านสาทร, หลักสี่ พลาซ่า (ปัจจุบันเรียก ไอที สแควร์) ตรงแยกหลักสี่แจ้งวัฒนะ, สนามราชมังคลากีฬาสถาน และศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทยที่เป็นตึกกระจกทรงสี่เหลี่ยมคางหมู

พูดถึงอาชีพสถาปนิกและนักพัฒนาอสังหาฯ ของรังสรรค์แล้ว อีกอาชีพหนึ่งที่ถึงอย่างไรก็ต้องพูดถึงคือ การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของเขา ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่เรียนจบจาก MIT ทำงานที่อเมริกาได้สักพักจนกลับมาเมืองไทย ความตั้งใจของเขาคือการกลับมาเป็นสถาปนิก เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือคุยกับสถาปนิกต้นแบบ ของสำนักพิมพ์ลายเส้นว่า สมัยนั้นการเป็นสถาปนิกสำหรับเขาเป็นเรื่องยากมาก เพราะตัวเขาเองเป็นคนมีอุดมคติ และไม่ยอมใครง่ายๆ ช่วงที่กลับมาใหม่ๆ ก็มาทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา และได้มีโอกาสออกแบบบ้านให้กับรองอธิการบดีคนหนึ่งของจุฬาฯ และเจ้าของบ้านเกิดถูกใจงานของเขามากจนได้เซ็นอนุมัติให้เขาเข้ามาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2510

ภาพผลงานการออกแบบของรังสรรค์ ต่อสุวรรณ

รังสรรค์เล่าให้ฟังว่า ตลอดช่วงเวลา 25 ปีของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่มีประโยชน์กับชีวิตของเขามาก การเป็นทั้งอาจารย์และสถาปนิกไปพร้อมๆ กัน นอกจากวิชา Project Design แล้ว เขายังต้องสอนวิชา Professional Practice ไปด้วย เมื่อต้องสอนนักเรียนว่าการเป็นสถาปนิกต้องมีคุณธรรมอย่างไร ก็เหมือนเป็นการบังคับตัวเองกลายๆ ว่าต้องประกอบอาชีพสถาปนิกอย่างมีคุณธรรมไปด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะสอนนักเรียนไม่ได้

เขามีโอกาสได้ร่างหลักสูตรใหม่ที่เน้นให้นิสิตสถาปัตย์รู้จักใช้จินตนาการให้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะออกแบบมากกว่าการเขียนแบบ ช่วงหนึ่งที่เขาตั้งใจจะเปลี่ยนหลักสูตร เพราะเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จากที่นิสิตเคยออกแบบตึกแค่ 10 ชั้น กลายเป็นต้องออกแบบตึกกว่า 80 ชั้น อาจารย์สมัยนั้นก็ไม่รู้วิธีการสอนออกแบบตึกที่มีสเคณบดีกลใหญ่ขนาดนั้น

ทางแก้ของเขาก็คือ ให้อาจารย์แต่ละคนไปทำวิจัยและเขียนตำราขึ้นมาใหม่คนละเล่ม เป็นวิชาที่สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมกับประเทศไทยจริงๆ เขาคิดว่าจะหาเงินสำหรับโครงการนี้โดยให้อาจารย์ที่จะทำวิจัยคนละ 1 ล้านบาท สำหรับการวิจัยและทำหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่ม ถ้ามีอาจารย์ 40 คน ทำคนละเรื่อง เราก็จะมีตำราภาษาไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อยก็ปีละ 40 เล่ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อนิสิตและห้องสมุดของคณะมากมาย แต่โครงการนี้ก็ไม่เกิดขึ้นอย่างที่คิด เพราะว่าเขาไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในครั้งนั้น

รังสรรค์ตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2535 เขาบอกว่าเพราะไม่สามารถจะสอนนักเรียนได้ เพราะสมัยนั้นนอกจากนิสิตที่เขาดูแลวิทยานิพนธ์กว่า 20 คน จะมาขอคำปรึกษาแล้ว นิสิตคนอื่นๆ ในชั้นปีนอกเหนือจาก 20 คนนั้นก็มักจะมาปรึกษาเขาถึงออฟฟิศที่สยามสแควร์เป็นประจำ เขาไม่สามารถดูแลนิสิตทุกคนได้หมด รวมทั้งภาระหน้าที่ในวิชาชีพ และการเป็นนักพัฒนาอสังหาฯ ยิ่งทำให้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดูแลเด็กทุกคนได้ดีพอ เขาจึงตัดสินใจลาออก

ผมเคยสัมภาษณ์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ครั้งหนึ่งเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว คำถามหนึ่งที่ผมถามเขาและจำได้ถึงทุกวันนี้ก็คือ สถาปนิก อาจารย์มหาวิทยาลัย นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาชีพทั้งสามอย่างที่เขาเคยเป็นมาทั้งหมดนี้ เขาชอบและรักอาชีพไหนที่สุด รังสรรค์ตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า การเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ คือสิ่งที่เขารักมากที่สุด

ทุกวันนี้ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ รีไทร์จากอาชีพสถาปนิกและดีเวลลอปเปอร์แล้ว เขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับครอบครัว และยังคงสนใจงานอดิเรกที่ชื่นชอบอยู่อย่างหนึ่งเสมอมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว นั่นก็คือ การสะสมพระเครื่อง รังสรรค์มีเพจเฟซบุ๊กของตัวเองที่โฟกัสเฉพาะเรื่องพระเครื่องที่มีคนติดตามอยู่เกือบ 30,000 คน และเพิ่งตีพิมพ์หนังสือว่าด้วยการดูพระเครื่องเล่มล่าสุดในวัย 79 ปีออกมาที่ชื่อว่า PRECIOUS  

ติดตามเรื่องราวของสถาปัตยกรรมของรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ตอนที่ 1 ได้ที่ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ: อาจารย์ สถาปนิก นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย (1)

Photo: Pansit Torsuwan, Facebook/Profile

Tags: , ,