Photo: Danielle Futselaar, artsource.nl

ราว 10 ปีก่อนนักดาราศาสตร์สามารถตรวจจับการปะทุของคลื่นวิทยุขึ้นอย่างรุนแรงเพียงชั่วเสี้ยววินาทีได้เป็นครั้งแรกในปี 2007 โดยกล้องโทรทรรศน์แห่งหอดูดาว Parkes Observatory ประเทศออสเตรเลีย

ไม่มีใครรู้ว่ามันเกิดจากอะไรและเกิดขึ้นที่ไหนกันแน่

ต่อมามีการตรวจจับการปะทุของคลื่นวิทยุชั่วพริบตา (Fast Radio Burst) ได้อีกหลายครั้ง โดยการปะทุแต่ละครั้งจะปรากฏขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 มิลลิวินาทีในห้วงอวกาศภายนอกทางช้างเผือก

หลายคนตั้งสมมติฐานว่าคลื่นวิทยุนี้อาจเป็นสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกกาแล็กซีของเรา เนื่องจากการกระจายของคลื่นความถี่นั้นดูไม่เหมือนกับแหล่งกำเนิดในธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์เคยรู้จัก

อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์ส่วนมากยังไม่เชื่อถือสมมติฐานเรื่องสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา

ล่าสุดในเดือนมกราคม ปี 2017 ปริศนานี้ดูเหมือนจะคลี่คลายลงบ้าง เพราะนักดาราศาสตร์วิเคราะห์การปะทุคลื่นวิทยุในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2012 มีชื่อสัญญาณว่า FRB 121102 แล้วพบตำแหน่งการปะทุอย่างชัดเจน!

FRB 121102 เป็นคลื่นวิทยุความเข้มสูง แต่การปะทุนี้แตกต่างจากการปะทุครั้งอื่นๆ เพราะการปะทุก่อนหน้านี้จะเกิดขึ้นแล้วจางหายไปอย่างรวดเร็ว แต่ FRB 121102 เป็นการปะทุที่สว่างวาบเกิดขึ้นมาหลายครั้ง

การศึกษาอย่างต่อเนื่องทำให้ล่าสุดนักดาราศาสตร์สามารถระบุได้อย่างแม่นยำครั้งแรกว่า FRB 121102 ถูกส่งออกมาจากกาแล็กซีแคระที่อยู่ห่างจากโลกเราถึง 2,500 ล้านปีแสง

ภาพจากกล้องโทรทรรศน์ Gemini North Telescope ที่ฮาวาย แสดงภาพกาแล็กซีแคระที่เกิดการปะทุคลื่นวิทยุในวงกลมสีแดง

แหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุพลังงานสูงขนาดนี้นับเป็นสิ่งที่นักฟิสิกส์ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ชั่วขณะที่คลื่นวิทยุปะทุขึ้นมานั้นสว่างจนกลบพลังงานจากดาวฤกษ์ของทั้งกาแล็กซี การศึกษามันอย่างละเอียดจะช่วยขยับขยายขอบเขตการศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ให้กว้างขึ้นอย่างมาก

แม้นักดาราศาสตร์ยังไม่รู้ว่า FRB 121102 นั้นเกิดจากอะไร แต่โอกาสที่มันจะเปล่งออกมาจากดาวนิวตรอนนั้นต่ำมาก เพราะกาแล็กซีแคระที่อยู่ไกลขนาดนี้เป็นกาแล็กซีที่มีดาวฤกษ์อายุไม่มากนัก ดาวนิวตรอนซึ่งเป็นบั้นปลายชีวิตของดาวฤกษ์มวลมากไม่น่าจะมีมากพอจะเป็นแหล่งกำเนิดสัญญาณได้

นักดาราศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าหลุมดำมวลมหาศาลที่อยู่ใจกลางกาแล็กซีทำให้กลุ่มแก๊สร้อนจัดที่ไหลวนอยู่รอบๆ เกิดการปั่นป่วนอย่างรุนแรงจนพองออกแล้วระเบิดขึ้นมากลายเป็นการปะทุของคลื่นวิทยุก็ได้ แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น

ไม่น่าเชื่อว่าจนถึงทุกวันนี้ นักดาราศาสตร์ยังค้นพบปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่ยังรอคอยคำอธิบายและเต็มไปด้วยปริศนาในห้วงอวกาศอันแสนกว้างใหญ่ที่เราอาศัยอยู่

Cover: Mike Hutchings, Reuters/profile

อ้างอิง:

Tags: , , , ,