สเปซเอ็กซ์ บริษัทธุรกิจเอกชนด้านการขนส่งอวกาศของสหรัฐอเมริกา ปล่อยจรวดฟอลคอนไนน์ (Falcon 9) ขึ้นสู่วงโคจรจากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้สำเร็จ เมื่อวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2560 เวลา 09:54 น. ตามเวลาท้องถิ่น
ในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ จรวดฟอลคอนไนน์ได้ขนส่งดาวเทียม 10 ดวงแรกของอิริเดียม (Iridium) บริษัทโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ขึ้นสู่วงโคจรระยะต่ำ โดยคาดว่าจะมีทั้งหมดอย่างน้อย 70 ดวง
สเปซเอ็กซ์ได้ถ่ายทอดสดการปล่อยจรวดฟอลคอนไนน์ทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ www.spacex.com/webcastให้คนทั่วโลกร่วมเป็นพยานต่อเหตุการณ์ครั้งสำคัญ และติด Trending Topic บนเฟซบุ๊กอย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้นทางสเปซเอ็กซ์ได้รายงานความคืบหน้าบนเพจเฟซบุ๊กว่าได้รับสัญญาณจากดาวเทียมทั้ง 10 ดวงชัดเจน
“นับเป็นความสำเร็จครั้งที่ 28 ของการปล่อยจรวดฟอลคอนไนน์ และเป็นครั้งแรกที่จรวดลงจอดบนฐานเรือโดรนบริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศได้สำเร็จ”
นับเป็นการกลับมาปฏิบัติภารกิจครั้งแรก หลังจากเกิดเหตุระเบิดระหว่างการทดสอบจรวดฟอลคอนไนน์ในเดือนกันยายนปี 2559 ที่ส่งผลให้จรวดมูลค่า 62 ล้านเหรียญ และดาวเทียมสื่อสารของอิสราเอลมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ถูกทำลายเสียหาย
มากกว่ามูลค่าที่สูญไป คือความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เคยประกาศว่าจะเป็นผู้บุกเบิกการเดินทางท่องเที่ยวไปยังดาวอังคาร ขณะที่ อีลอน มัสก์ ต้องเผชิญกับการโจมตีจากสื่อหลายสำนักว่าเขาล้มเหลวและกลายเป็นเจ้าของบริษัทที่น่าเบื่อ หาใช่มันสมองผู้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมพลิกโลกเหมือนอย่างที่ผ่านมา
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า หลังจากปล่อยจรวดได้ 10 นาที ส่วนฐานของจรวดที่แยกตัวออกมานั้นได้กลับมาลงจอดที่ฐานอย่างปลอดภัย พิสูจน์ให้เห็นว่าสเปซเอ็กซ์ใกล้บรรลุเป้าหมายของการนำเทคโนโลยีจรวดกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ขณะที่เจ้าหน้าที่สอบสวนชี้แจงว่าเหตุระเบิดดังกล่าวเกิดจากถังบรรจุฮีเลียมได้ระเบิดภายในแท็งก์ออกซิเจนเหลวในจรวดส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดการระเบิด อย่างไรก็ตามทางบริษัทสเปซเอ็กซ์ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยดัดแปลงขั้นตอนการส่งเชื้อเพลิงใหม่
ไม่ว่าความสำเร็จครั้งนี้จะกอบกู้ชื่อเสียงของสเปซเอ็กซ์ได้ 100% หรือไม่ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นการกลับมาผงาดอย่างสวยงามและสร้างสีสันให้กับวงการเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง
สเปซเอ็กซ์ตั้งใจที่จะปล่อยจรวดไปปฏิบัติภารกิจอีก 27 ภารกิจภายในปี 2560
Photo: Gene Blevins, Reuters/profile
อ้างอิง:
- http://www.reuters.com/article/us-space-spacex-idUSKBN14Y0H3
- https://www.nytimes.com/2017/01/14/science/spacex-falcon-9-iridium-elon-musk.html?_r=0
- http://www.theverge.com/2016/12/17/13993754/elon-musk-tunnel-boring-tesla-spacex