นับเป็นความล้ำหน้าของประเทศแห่งเทคโนโลยีอวกาศอย่างอินเดียอีกครั้ง
ที่ล่าสุดจรวดอินเดียสามารถปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศถึง 104 ดวงได้ภายในครั้งเดียว เป็นการทุบสถิติโลกที่จรวดสามารถยิงดาวเทียมได้มากที่สุด
โดยผู้ทำสถิติก่อนหน้านี้คือ รัสเซียที่สามารถยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้ 39 ดวงในเดือนมิถุนายน 2014
ความสำเร็จขององค์การวิจัยด้านอวกาศของอินเดีย (ISRO)
จรวดถูกยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าในช่วงเช้าของอินเดียที่ความเร็ว 27,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถยิงดาวเทียม 104 ดวงขึ้นสู่วงโคจรอวกาศได้ประมาณ 30 นาที
ดาวเทียมหลักที่ถูกยิงขึ้นอวกาศในครั้งนี้ คือดาวเทียมที่จะถูกใช้เพื่อสำรวจโลก ซึ่งมีน้ำหนัก 714 กิโลกรัม ขณะที่ดาวเทียมอีก 103 ดวงนั้นมีขนาดเล็กกว่า หรือเรียกว่า ‘ดาวเทียมนาโน’ ซึ่งมีน้ำหนัก 664 กิโลกรัม
ดาวเทียม 101 ดวงจากทั้งหมด 104 ดวง เป็นดาวเทียมของต่างชาติ โดย 96 ดวงเป็นของสหรัฐอเมริกา ที่เหลือเป็นของอิสราเอล คาซัคสถาน เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศละหนึ่งดวง
ปัจจุบันบริษัทเอกชนหันมาสนใจยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านเครือข่ายโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต รวมถึงรัฐบาลของหลายประเทศ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร
เดือนมิถุนายน 2016 จรวดของอินเดียสามารถยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้ 20 ดวง และในปี 2013 อินเดียส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรดาวอังคาร โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกกว่าองค์กรนาซาของสหรัฐอเมริกาถึงประมาณ 9 เท่า องค์กรนาซาใช้งบประมาณ 671 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการยิงจรวดขึ้นสู่ดาวอังคาร
อินเดียกับการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศในราคาถูกกว่าประเทศอื่น
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียเคยระบุต้นทุนการยิงจรวดเมื่อครั้งที่อินเดียยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2016 ว่า
“ผมได้ยินเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Gravity ผมทราบมาว่าต้นทุนในการยิงจรวดของเรานั้นถูกกว่าการลงทุนสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วยซ้ำ
“โครงการอวกาศของอินเดียนั้นเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบในทุกด้าน ทั้งความเร็ว ทักษะ และความล้ำหน้าของเทคโนโลยี นักวิทยาศาสตร์ของเราทำให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยี”
องค์การวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศของอินเดีย (Indian Space Research Organisation – ISRO) และ PSLV (Polar Satellite Launch Vehicle) ของอินเดียนั้นมีเป้าหมายต้องการครองตลาดเทคโนโลยีอวกาศ โดยใช้จุดเด่นด้านราคาที่ถูกกว่าเทคโนโลนีอวกาศของประเทศอื่น ซึ่งในปี 2016 มีบริษัทต่างชาติมาใช้บริการ ISRO เพื่อยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ 35 ดวง และล่าสุด ISRO เพิ่งยิงดาวเทียมของต่างชาติอีก 101 ดวง
ด้าน PSLV นั้นสามารถครองตลาดเทคโนโลยีอวกาศได้ 3 แสน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
เหตุผลที่เทคโนโลยีด้านอวกาศของอินเดียถูกกว่าประเทศอื่น
อินเดียสามารถใช้ต้นทุนการผลิตเทคโนโลยีด้านอวกาศได้ถูกกว่าประเทศอื่น เพราะอินเดียพยายามใช้บริษัทภายในประเทศ และแรงงานของอินเดียนั้นถูกกว่าแรงงานของประเทศอื่น นอกจากนี้อินเดียให้ความสำคัญกับการพัฒนานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ และเงินเดือนของพวกเขายังถือว่าน้อยกว่าเงินเดือนของนักวิทยาศาสตร์ประเทศอื่นๆ ทำให้ต้นทุนนั้นลดลงเช่นกัน
เทคโนโลยี และนักวิทยาศาสตร์ภายในประเทศได้รับความสำคัญจากรัฐบาลมากกว่าเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างชาติ
นอกจากนี้อินเดียพยายามพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุด อย่างเช่นน้ำหนักที่ยานอวกาศ Mangalyaan ของอินเดียที่ถูกส่งขึ้นไปดาวอังคารสามารถบรรทุกได้เพียง 15 กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าน้ำหนักที่ยานอวกาศ Maven ขององค์กรนาซาสามารถบรรทุกได้
อีกปัจจัยที่กระตุ้นให้อินเดียหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอวกาศคือ การถูกต่างชาติคว่ำบาตรหลังจากทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เมื่อปี 1974 อินเดียจึงต้องการเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านนี้
อย่างไรก็ตามการทุ่มทุนด้านเทคโนโลยีอวกาศของอินเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลควรจะนำเงินไปพัฒนาระบบสุขอนามัยของประชาชนมากกว่า เพราะมองว่าเทคโนโลยีด้านนี้เหมาะกับประเทศพัฒนาแล้วที่มีกำลังทางเศรษฐกิจสูง ขณะที่บางฝ่ายมองว่า การลงทุนด้านนี้ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียก้าวไกล และประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้เช่นกัน
อ้างอิง:
- www.aljazeera.com/news/2017/02/india-puts-record-104-satellites-orbit-170215045330358.html
- timesofindia.indiatimes.com/india/isro-sets-history-launches-104-satellites-in-one-go/articleshow/57159734.cms
- www.bbc.com/news/science-environment-29341850