ปัญญาประดิษฐ์กับการสร้างงานศิลปะ โดย ไคล์ แมคโดนัลด์ (Kyle McDonald) ศิลปินชาวอเมริกัน ผู้โด่งดังในเรื่อง ‘code’ และสร้างโปรแกรมทางศิลปะ

ก่อนที่ไคล์จะพูดถึงการสร้างศิลปะโดย ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI เขาเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ว่า หากงานศิลปะเกิดจากสติปัญญาของมนุษย์ ถ้าอย่างนั้น ‘ปัญญา’ คืออะไร?

ไคล์บอกว่า เวลาพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ เรามักจะโยงกับปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีคำจำกัดความมากมายที่พยายามอธิบายเกี่ยวกับปัญญาของเรา และคำจำกัดความที่คนเห็นพ้องต้องกัน ก็อาจไม่จำเป็นต้องเป็นคำจำกัดความที่แท้จริง

ภาพบนสไลด์ฉายวิดีโอการทดลองสร้างงานศิลปะของไคล์ในปี 2009 ด้วยเครื่อง 3D Scanner ที่เขาเขียนโค้ด เพื่อเปลี่ยนใบหน้าของตัวเองให้เหมือน ‘แบรด พิตต์’ เพื่อแสดงให้เห็นว่า นี่คือตัวอย่างงานศิลปะที่ AI สร้างขึ้น

และ “สมองกลจะเป็นตัวกำหนดโลกอนาคตใกล้ๆ นี้” ไคล์พูดกลางเวที

Photo: Creativities Unfold 2016, TCDC

1. เมื่อเครื่องจักร ‘เรียนรู้’ ที่จะแยกแยะและสร้าง ‘ภาพ’

เวลาพูดถึง AI หลายคนมักคิดว่า เครื่องจักรสามารถคิดได้เอง แต่ความจริงคือ AI ทุกวันนี้มีกลุ่มคนอยู่เบื้องหลัง ที่คอยเขียนโปรแกรม ป้อนข้อมูล เพื่อให้มันเกิดกระบวนการเรียนรู้

ไคล์ยกตัวอย่างภาพ Puppy Slug หรือลูกหมากับทาก ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากว่าเกิดจากเทคนิคอะไร จนกระทั่งมีคนโพสต์ข้อมูลตัวอย่างภาพที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ในเว็บไซต์ Google Resesrch Blog ที่ยืนยันว่า ภาพอาจจะมาจากกูเกิล

หรือเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีนักวิจัยสร้างอัลกอริทึม เพื่อให้เครื่องจักรเปลี่ยน ‘ภาพถ่าย’ ให้กลายเป็น ‘ภาพวาด’ ของศิลปินชื่อดัง เช่น แวนโก๊ะ หรือปิกัสโซ ด้วยการป้อนข้อมูลภาพเขียนในประวัติศาสตร์ของศิลปินเหล่านั้นเพื่อฝึกให้เครื่องจักรได้เรียนรู้ เพื่อสร้างงานศิลปะ

คำถามคือ ศิลปะแบบนี้ ซึ่งไคล์ใช้คำว่า ‘Inceptionism Art’ ที่เกิดจาก AI จะเป็นภาษาใหม่ทางศิลปะหรือไม่?

ไคล์ไม่ได้ตอบ เพียงแค่ตั้งคำถามเท่านั้น

2. ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งหลังทดลองให้เครื่องจักรเขียนข่าวจากเว็บไซต์ ‘เดลินิวส์’

การเรียนรู้ของ AI หรือ Machine Learning ไคล์บอกว่า เราอาจเขียนเป็นแผนภาพได้ง่ายๆ คือ มีการ input ข้อมูล และมีข้อมูลที่เกิดจากการ output ออกมา ส่วนจะให้เกิดผลลัพธ์ข้อมูลแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่า ขั้นตอนระหว่าง input และ output นั้น เราจะเชื่อมต่อข้อมูลหรือเขียนโปรแกรมอย่างไร

“เราสามารถฝึกให้เครื่องจักรเรียนรู้ได้” ไคล์กล่าว และในช่วงหนึ่งของการบรรยายก็ได้เปิดสไลด์ข้อความซึ่งเป็นข่าวที่เขาให้เครื่องจักรทดลองเขียนเมื่อเร็วๆ นี้ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก dailynews.co.th

หากสังเกตจะเห็นว่า ผลลัพธ์ครั้งแรกๆ เครื่องจักรเขียนข่าวไม่เป็นภาษาและอ่านไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อป้อนข้อมูลให้เครื่องจักรเรียนรู้มากขึ้น ก็จะเห็นพัฒนาการทางภาษาที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ จนเขียนเป็นภาษาที่สามารถอ่านเข้าใจได้

“เพื่อนคนไทยที่อ่านบางคน บอกว่าสิ่งที่เครื่องจักรเขียนมันตลกมาก”

“พอใส่ข้อมูลเข้าไป เครื่องจักรก็จะเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างประโยค แต่บางครั้งอาจถึงขั้นหาความหมายให้กับเรื่องที่มันสร้างขึ้นมา” ไคล์กล่าว

3. Bot or Not? เมื่อเครื่องจักรแต่งเพลงได้ใกล้เคียงกับมนุษย์

นอกจากการสร้างภาพ การแต่งเรื่อง (ซึ่งไคล์มองว่า ความสามารถด้านภาษาของ AI ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ) การสร้างเสียงเพลงคือสิ่งหนึ่งที่ AI ในปัจจุบันทำได้ใกล้เคียงกับความสามารถของมนุษย์

ไคล์เปิดเพลงทีละเพลง แล้วให้ผู้คนในห้องทายว่า Bot or Not? หรือเป็นเพลงที่แต่งโดยหุ่นยนต์หรือมนุษย์กันแน่

เพลงแรก ไคล์เปิดเพลงที่มีท่วงทำนองไม่คุ้นหู ผู้ฟังในห้องหลายคนยกมือตอบว่า นี่คือเพลงที่หุ่นยนต์แต่ง ก่อนเขาจะเฉลยว่าเป็นเพลงพื้นบ้านของไอริชชื่อ ‘The Butterfly’

จากนั้นไคล์ก็เปิดให้ฟังอีกหลายเพลง สังเกตได้ว่าผู้ฟังมีความเห็นแตกต่างกัน และบางครั้งก็ทายผิดเกือบทั้งหมด เมื่อเขาเปิดเพลงที่บรรเลงด้วยเปียโน พร้อมกับเฉลยว่า เพลงนี้เกิดจากการเปิดเพลงคลาสสิกของโชแปงให้เครื่องจักรฟัง เพื่อให้มันสร้างเพลงใหม่ขึ้นมา

ไคล์ตั้งคำถามว่า ถ้าหาก Debussy (นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวฝรั่งเศส) ไม่เคยแต่งเพลง ‘Clair De Lune’ แต่เครื่องจักรเป็นคนแต่งมันขึ้นมา มันจะมีท่วงทำนองเหมือนกันไหม

คนจะซึ้งเหมือนกับงานที่มนุษย์สร้างหรือไม่?

และงานสร้างสรรค์ศิลปะจะยังคงสวยงามเหมือนเดิมหรือเปล่า?

4. สุนทรียะใหม่และอนาคตของ AI

หลังจบการบรรยาย ผู้ฟังคนหนึ่งถามไคล์ว่า ถ้างานศิลปะที่สร้างสุนทรียะเกิดจากประสบการณ์ของมนุษย์ คุณว่า AI ที่สร้างงานศิลปะ จะเรียนรู้เรื่องสุนทรียภาพพวกนี้ได้ไหม?

ไคล์ตอบว่า ทุกวันนี้ AI เรียนรู้จากตัวอย่าง ดังนั้นสุนทรียะที่เกิดขึ้นจึงมาจากตัวอย่างหรือข้อมูลก่อนหน้านั้น และมันไม่ได้สร้างงานสไตล์ใหม่ขึ้นมา แต่ถ้าในอนาคต เครื่องจักรที่เป็นปัญญาประดิษฐ์สามารถเห็น ได้ยิน หรือมีการรับรู้แบบมนุษย์ ไม่แน่วันหนึ่งมันอาจมีสุนทรียะเป็นของตัวเอง ซึ่งเราต้องรอดูกันต่อไป

ผู้ฟังอีกคนถามเขาว่า คุณคิดว่าจุดสูงสุดของ AI อยู่ตรงไหน?

“ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อน หากคุณบอกกับคนที่ทำงานว่า AI จะแปลภาษาจีนได้ หรือแยกแยะรูปภาพแต่ละรูปได้ คงไม่มีใครเชื่อ แต่วันนี้เราก็เห็นว่า เทคโนโลยีทำอะไรได้มากมาย เช่น เปลี่ยนหน้า แปลภาษา สร้างภาพ หรือแต่งเพลง และผมคิดว่าในอนาคตเราจะแปลงเสียงได้ เช่น ผมอาจจะพูดโดยมีเสียงเป็นเสียงของคุณ” ไคล์เชื่อมั่นในคำตอบของเขาไม่น้อย ก่อนทิ้งท้ายว่า

“ในทางทฤษฎีทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น และผมก็คงไม่แปลกใจ ถ้าในอนาคตเครื่องจักรจะฉลาดเท่ากับมนุษย์”