ถ้าปี 2016 เป็นปีที่คำว่า ‘สตาร์ทอัพ’ มาแรงจนรัฐบาลไทยออกโรงสนับสนุนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพและจัดแคมเปญ Startup Thailand ปี 2017 ก็คงเป็นปีแห่งการตั้งคำถามและจับตาดูว่ากระแสนี้จะพาไปสู่ทิศทางไหน ธุรกิจเกิดใหม่เหล่านี้จะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางตามนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ของรัฐบาลหรือไม่
แต่ใช่ว่าสตาร์ทอัพทุกรายจะอยู่รอดและเติบโตเป็นธุรกิจได้ หากปราศจากระบบนิเวศที่เหมาะสม รายงานจากสภาเศรษฐกิจโลก (ปี 2011) ระบุว่าเสาหลักสำคัญในระบบนิเวศของการปั้นธุรกิจให้เติบโตประกอบด้วยตลาด การสร้างบุคลากร และเงินทุน
แม้ว่านิยามของ ‘สตาร์ทอัพ’ กับ ‘เอสเอ็มอี’ จะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ดร. ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE Center (Innovation-Driven Entrepreneurship) กลับมองว่าจะเริ่มต้นจากธุรกิจเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพนั้นไม่สำคัญเท่ากับธุรกิจจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ขยายสเกลได้ และมีความยั่งยืน ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของนวัตกรรม
และนี่คือบทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกับการสร้างผู้ประกอบการสายพันธุ์ใหม่ให้ขับเคลื่อนธุรกิจและสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
มันควรเป็นเทรนด์หนึ่งที่ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่เข้าใจว่า
คุณจะสร้างธุรกิจหรือเป็นผู้ประกอบการได้
แต่คุณต้องรู้ว่าการสร้างธุรกิจที่สเกลและเติบโตได้อย่างรวดเร็วต้องใช้นวัตกรรมเป็นหลัก
ผู้ประกอบการไทยมีจำนวนมาก แต่ยังขาดทักษะด้านนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 2.7 ล้านราย แต่มีเอสเอ็มอีที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพียง 54 รายเท่านั้น จากผลการประเมินความสามารถด้านนวัตกรรม (Innovation Capacity) ของผู้ประกอบการไทย พบว่าผู้ประกอบการไทยได้คะแนนรวม 3.34 จากเต็ม 7 คะแนน
แม้ว่าการผลักดันให้เกิดธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมเพิ่ม 100 ราย จะช่วยกระตุ้นจีดีพีเพิ่มถึง 0.1-0.2% แต่การเริ่มต้นธุรกิจด้วยนวัตกรรมต้องมีทุนตั้งต้นสูงรายละเกือบ 60 ล้านบาท!
แล้ว IDE Center เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไร?
ดร.ศักดิพลอธิบายว่า ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยมีโครงการสนับสนุนภาคธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น ฝึกอบรมเขียนแผนธุรกิจ จัดกิจกรรมเทรนนิงเกี่ยวกับธุรกิจ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนก็ต้องปรับตามให้ทัน แทนที่จะยึดติดอยู่กับการสอนแบบเดิม
จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์ IDE เพื่อเป็นศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการใหม่ โดยยึดโมเดลของสถาบันเทคโนโลยี MIT เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม
“ธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบันไม่สามารถทำซ้ำ (repeatable) หรือสเกลได้ (scalable) ในแง่ของการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทำให้รายได้ของเอสเอ็มอีเป็นเส้นตรง
“มันควรเป็นเทรนด์หนึ่งที่ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่เข้าใจว่าคุณจะสร้างธุรกิจหรือเป็นผู้ประกอบการได้ แต่คุณต้องรู้ว่าการสร้างธุรกิจที่สเกลและเติบโตได้อย่างรวดเร็วต้องใช้นวัตกรรมเป็นหลัก”
ประเทศเราติดอยู่กับ OEM มานาน เขาสั่งอะไรเราก็ผลิต เราอยู่ในคอมฟอร์ตโซน
คนชอบทำอะไรเร็วๆ ง่ายๆ มากกว่าการทำ R&D (Research & Development)
ซึ่งใช้เวลานานกว่าและไม่รู้ผลแน่ชัด
กับดักของการรับจ้างผลิตแบบ OEM
ที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มมีอัตราการเจริญเติบโตหรือจีดีพีเฉลี่ยลดลง ในช่วงปี 2537 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับเพียง 3-4% เท่านั้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการติดกับดักรายได้ปานกลาง และไม่อาจพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาที่มีรายได้สูงได้
ความท้าทายอีกประการหนึ่งที่เราต้องรับมือคือ ประเทศกำลังพัฒนาใหม่ที่มีค่าแรงถูกกว่าและสามารถพัฒนาศักยภาพการแข่งขันอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากไทยไม่ปรับตัว ก็อาจต้องพ่ายแพ้ให้กับการแข่งขันนี้
ดร.ศักดิพลอธิบายว่านอกเหนือจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ส่งผลให้คนมีโอกาสการเข้าถึงไม่เท่ากันแล้ว ประเทศไทยยังติดอยู่กับระบบการรับจ้างผลิตสินค้าแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) มานาน จึงขาดความคิดเชิงนวัตกรรม
“ประเทศเราติดอยู่กับ OEM มานาน เขาสั่งอะไรเราก็ผลิต เราอยู่ในคอมฟอร์ตโซน คนชอบทำอะไรเร็วๆ ง่ายๆ มากกว่าการทำ R&D (Research & Development) ซึ่งใช้เวลานานกว่าและไม่รู้ผลแน่ชัด ประกอบกับในช่วงที่ประเทศเรากำลังพัฒนา ต่างชาติเข้ามาลงทุนเยอะ ทำให้เกิดโรงงานในลักษณะของอุตสาหกรรมเบาไปถึงอุตสาหกรรมหนัก เขาใช้ทรัพยากรของเราไปเยอะ แต่เราไม่ได้เรียนรู้จากเขา เพราะฉะนั้นเราได้คุณค่า (value) จากสิ่งที่เราผลิตน้อยมาก เรามีหน้าที่ประกอบอย่างเดียว ไม่ได้คิดว่ากระบวนการหรือวัสดุคืออะไร แต่ถ้าเราคิดสิ่งใหม่ เพิ่มมูลค่า และทำให้ขายได้ด้วย
“ผมว่าคนไทยเป็นคนเก่งและครีเอทีฟมาก แต่ติดตรงเวลาที่เอามาขาย และงานวิจัยส่วนใหญ่ในบ้านเรายังเป็นงานวิจัยเพื่อตอบสนอง KPI แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่าจะวิจัยไปทำไม
“เราอยากจะสร้างความตระหนักให้คนรู้ว่า ทำไมเวลาทำธุรกิจคุณต้องเริ่มธุรกิจด้วยนวัตกรรม ซึ่งเราได้นำสมการทางนวัตกรรมของ MIT มาใช้ คือ ‘Innovation = Invention x Commercialization’ หมายความว่าการสร้างนวัตกรรมไม่ใช่คุณคิดสิ่งใหม่เท่านั้น แต่ต้องขายได้ด้วย ที่สำคัญสาเหตุที่ใช้เครื่องหมายคูณ เพราะว่ามันขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้
ในมุมมองผม เงินไม่ใช่ตัวปัญหา ไอเดียกับคนที่ทำไอเดียให้เป็นจริง
สองส่วนนี้แหละที่เรากำลังมีปัญหา
ผมคิดว่าในไทยคนอยากลงทุนหมด VC อยากลงทุนกับผู้ประกอบการที่เจ๋งๆ ทุกคนต่างหาอะไรที่เจ๋งๆ
กลายเป็นว่าซัพพลายด้านเงินทุนของสตาร์ทอัพมีเยอะมาก
แต่ผู้ประกอบการที่ไอเดียดีกลับมีน้อย
ภารกิจ 3S สู่การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
แต่การสร้างผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแค่เรียนรู้ได้สั้นๆ วันเดียว ดร.ศักดิพล อธิบายว่า IDE จึงวางภารกิจการทำงานภายใต้ 3S นั่นคือ
Stakeholders การรวมกลุ่มของ 5 ภาคส่วน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ประกอบด้วยผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ภาคเอกชน (Corporate) ภาคธุรกิจกลุ่มทุนทางการเงิน (Risk)
“อีกบทบาทหนึ่งก็คือ เราเป็นตัวชี้วัดว่าระบบของประเทศไทยหรือ System เป็นยังไง โดยทำแบบสอบถามเพื่อวัดผลทั้ง 2 ด้าน คือ ขีดความสามารถด้านนวัตกรรม (Innovation Capability) กับขีดความสามารถด้านการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur Capability) และทำยังไงให้สองส่วนนี้เดินไปด้วยกัน
“นอกจากนั้นเราก็ทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง เพื่อผลักดันกลยุทธ์หรือ Strategy เข้าไปในระบบ เพราะการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมต้องอาศัยแรงกระตุ้น มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เช่น จัดบูสต์แคมป์ที่เป็น Acceleration Program และ Business Plan Competition หรือโฟกัสกับการสร้างโค้ชผ่านหลักสูตร MIT ที่เรียกว่า IDE Coach ไม่ได้เน้นบ่มเพาะ (incubate)
“เราอยากจะสร้างเด็กตั้งแต่ต้น เราไม่อยากจะสร้างแล้วก็ให้มันจบไป สิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนมายด์เซตในการทำธุรกิจหรือมองโอกาส และอยากจะออกไปสนับสนุนผู้ประกอบการข้างนอก นั่นคือบทบาทของศูนย์ รากฐานสำคัญสุดก็คือสร้างคนและสร้างโอกาส เราอยากจะสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้ออกไปทดลอง
“ในมุมมองผม เงินไม่ใช่ตัวปัญหา ไอเดียกับคนที่ทำไอเดียให้เป็นจริง สองส่วนนี้แหละที่เรากำลังมีปัญหา ผมคิดว่าในไทยคนอยากลงทุนหมด VC อยากลงทุนกับผู้ประกอบการที่เจ๋งๆ ทุกคนต่างหาอะไรที่เจ๋งๆ กลายเป็นว่าซัพพลายด้านเงินทุนของสตาร์ทอัพมีเยอะมาก แต่ผู้ประกอบการที่ไอเดียดีกลับมีน้อย”
ทักษะที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ขาดไม่ได้
โจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องกำไร แต่ยังหมายรวมถึงการรับมือกับธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาแย่งชิงชิ้นเค้กในตลาด
ดร.ศักดิพลแนะนำว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องทำและรับมือกับความท้าทาย แม้ว่าจะคาดเดาไม่ได้ก็ตาม
“คุณต้องเปลี่ยนมายด์เซต ในที่นี้คือต้องมีทัศนคติที่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และทำจริง ไม่ใช่แค่ฝันอย่างเดียว ผู้ประกอบการจะต้องเป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่คนช่างฝัน (Not a dreamer, entrepreneur is a doer) และต้องทนกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ รู้จักผจญภัย สร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และพยายามสำรวจค้นหาตลอดเวลา ทดลอง แล้วทำจริง
“เราจะช่วยให้เด็กคิดใหม่บนพื้นฐานความต้องการของลูกค้า รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วเราเอาสิ่งนี้ไปให้ ผ่านโซลูชัน ผ่านสินค้าและบริการ หรือผ่านอะไรก็ตาม เพราะเขาจะจ่ายก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าได้รับมากกว่าที่จ่าย และผู้ประกอบการต้องสร้างคุณค่าและมูลค่าของสิ่งนั้น”
พยายามหาปัญหาให้เจอ ทุกที่ที่มีปัญหา
ก็คือโอกาสที่คุณสามารถที่จะนำเสนอทางการแก้ไขปัญหาได้
เมื่อไรที่คุณหาปัญหาเจอและมีทางแก้ นั่นคือการสร้างมูลค่า (value)
หลังจากนั้นค่อยมาคิดต่อว่าจะทำยังไง พัฒนาโมเดลธุรกิจต่อได้ไหม
สร้าง S-Curve จากข้อได้เปรียบของเราเอง
เมื่อ The Momentum ถามว่าแล้วอุตสาหกรรมใดของไทยมีโอกาสพัฒนาศักยภาพการผลิตด้วยนวัตกรรมมากที่สุด
ดร.ศักดิพลตอบว่า เราควรจะมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมที่เราเก่ง และสร้าง New S-Curve ผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจในแบบฉบับของตัวเอง
“นวัตกรรมจะเป็น process, service หรือ product ก็ได้ รัฐบาลชอบพูดคำว่า New S-Curve มันจะ ‘new’ ได้ยังไง ในเมื่อเขาตั้งชื่อก่อนแล้ว แสดงว่าเขาทำมานานแล้ว เราจะตามเขาทันได้ยังไง ทำไมเราไม่คิดอะไรที่มันเป็น S-Curve ใหม่ๆ โดยใช้สิ่งที่เรามีและเข้มแข็งอยู่แล้ว
“ผมเชื่อว่าเราเก่งในเรื่องธุรกิจการบริการ โลจิสติกส์ และอาหาร เราเก่งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและโฆษณา เราเก่งเรื่องละครไทย ทำไมเราไม่ดูว่าเราถนัดด้านไหนแล้วเราก็มุ่งไปด้านนั้น แล้วสร้าง New S-Curve ของตัวเอง อย่างเกาหลีเขาก็คิด S-Curve ของเขาเองโดยเอาวัฒนธรรมมาขาย เช่น ซีรีส์เกาหลีที่เราติดกัน หรือเพลงเค-ป็อป ที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศมหาศาลขนาดไหน
“แทนที่จะมองว่าเกษตรกรเป็นปัญหา ทำไมเราไม่มองเป็นโอกาสที่เราจะสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ผมยังเชื่อว่าประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่น่าอิจฉามาก ทำไมเราไม่สร้างคุณค่าเพิ่มมูลค่าให้เป็น High Service เรามีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งเราสามารถสร้างรายได้จากตรงนี้และดึงคุณค่าของมันออกมา”
ดร.ศักดิพลกล่าวว่าเป้าหมายของ IDE ในระยะยาวคือ ปั้นยูนิคอร์นให้ได้ โดยอาศัยศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน “ในระยะยาว เราก็อยากจะสร้างยูนิคอร์นในประเทศไทยนะ แต่ผมไม่อยากจะเปรียบเทียบกับซิลิคอนวัลเลย์ว่าจะสร้าง สตีฟ จ็อบส์ อีกคน เราอยากสร้างคนไทยที่คิดเชิงนวัตกรรม อย่างเช่น คนไทยที่ประดิษฐ์แซกโซโฟน Vibrato จากพลาสติก เขาเป็นคนที่กล้าคิดกล้าทำ พัฒนา 7-8 ปี จนกลายเป็นแซกโซโฟนที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
“ประเด็นหลักของซิลิคอนวัลเลย์คือ เขาแก้ปัญหาให้คนรวยซึ่งไม่มีเวลา แก้ปัญหาให้คนที่ไม่อยากขับรถเองเพื่อจะได้ทำอย่างอื่น เขาแก้ปัญหาให้คนขี้เกียจได้ช้อปปิ้ง ทุกอย่างมันต้องง่าย เร็ว สะดวก นั่นคือสิ่งที่เขาพยายามแก้ไขปัญหาผ่านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใดๆ ก็ตาม นั่นคือธรรมชาติของซิลิคอนวัลเลย์ แต่เราก็ยังเป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้นทำไมคุณไม่ทำทุเรียนที่ปลอกได้แบบไม่ต้องเฉาะ นี่คือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความสะดวกสบายที่เป็นมูลค่าเพิ่ม
“พยายามหาปัญหาให้เจอ ทุกที่ที่มีปัญหา ก็คือโอกาสที่คุณสามารถที่จะนำเสนอทางการแก้ไขปัญหาได้ เมื่อไรที่คุณหาปัญหาเจอและมีทางแก้ นั่นคือการสร้างมูลค่า (value) หลังจากนั้นค่อยมาคิดต่อว่าจะทำยังไง พัฒนาโมเดลธุรกิจต่อได้ไหม”
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงาน IDE 2017 Thailand การรวมตัวกันของผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อาทิ Christopher Janney, Edward Rubesch, Jimmy Jia, Randy Komisar และ William Malecki ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ IDE Center โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กับน้ำดื่มสิงห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) และกลุ่มบริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ ในวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2560 ระหว่างเวลา 9.00-17.00 น. ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2560 ระหว่างเวลา 9.00-17.30 น. โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมและฟังฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนร่วมงานนี้ได้ที่ IDE 2017 Thailand
ถ่ายภาพโดย กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์