ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง CP ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยกับการเปิดให้บริการเครื่องขายอาหารหยอดเหรียญอัตโนมัติ ที่ขายอาหารประเภทข้าวกล่องแช่แข็งพร้อมบริการไมโครเวฟติดตั้งในตัว ซึ่งผู้บริโภคสามารถหยอดเงินซื้ออาหารและพร้อมรับประทานได้ทันที
โดยธุรกิจดังกล่าวใช้ชื่อว่า Foodie:D เป็นธุรกิจของ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานแช่เยือกแข็งและแช่เย็นภายในร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น และเป็นบริษัทหนึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์
แม้ขณะนี้จะยังเปิดให้บริการเพียง 2 จุด คือภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาคารสำนักงานของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แต่ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์ระบุว่า บริษัท ซีพีแรม วางเป้าหมายไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนจุดให้บริการมากถึง 10,000 จุด ทั้งในมหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงอาคารสำนักงานต่างๆ ทำให้เกิดคำถามเป็นจำนวนมากว่านี่คือการรุกคืบของธุรกิจยักษ์ใหญ่เพื่อกลืนกินธุรกิจร้านอาหารรายย่อยหรือไม่? พฤติกรรมผู้บริโภคไทยพร้อมสำหรับบริการตู้อาหารหยอดเหรียญอัตโนมัติมากน้อยแค่ไหน? และร้านอาหารรายย่อยควรต้องปรับตัวอย่างไร?
The Momentum จะพาคุณไปค้นหาคำตอบเหล่านี้เอง
ไม่ใช่การรุกคืบ แค่เพิ่มความสะดวก
เมื่อถามถึงความคิดเห็นจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ CP สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนอิสระ เจ้าของนามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’ เจ้าของหนังสือชุด ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เปิดเผยกับ The Momentum ว่า
“โลกนี้มี 2 ด้านเสมอ ในกรณีนี้ก็คล้ายกับตอนที่เราพูดถึงเซเว่น-อีเลฟเว่นกับร้านโชว์ห่วย หรือตอนที่เซเว่นฯ ขายข้าวกะเพราแข่งกับร้านอาหารตามสั่ง ประเด็นสำคัญคือเรามองเรื่องนี้ในมุมไหน ถ้ามองในมุมผู้บริโภค บริการนี้ก็คือการให้ความสะดวกมากขึ้นกับผู้บริโภค เพราะเวลาอยู่ออฟฟิศทำงานดึกๆ หรือช่วงเวลาเร่งรีบเรามักจะหาร้านอาหารไม่ได้ เช่นเดียวกับหอพัก ซึ่งบริการนี้เป็นสิ่งที่จะมาอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค แต่ถ้ามองอีกมุมบางคนอาจมองว่าเป็นการรุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ ของธุรกิจยักษ์ใหญ่หรือเปล่า แต่ผมกลับมองว่ากลยุทธ์ของเขาคือขายความสะดวก ไม่ได้แข่งขันในมุมที่จะมาทำอาหารสดใหม่เพื่อสู้กับอาหารตามสั่งโดยตรง”
แม้จุดแข็งของตู้อาหารหยอดเหรียญอัตโนมัติของ CP จะอยู่ที่การใช้ต้นทุนน้อย ประหยัดพื้นที่ และสามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศโดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง แต่สรกลกลับมองว่าตู้อาหารอัตโนมัติลักษณะนี้จะยังไม่สามารถแทนที่ร้านอาหารตามสั่งได้อยู่ดี
“คิดง่ายๆ ว่าถ้าตู้นี้วางอยู่ติดกับร้านขายข้าวกะเพราไข่ดาว ผมว่าผู้บริโภคจะเลือกง่ายเลยนะ เพราะเราคงไม่เลือกอาหารแช่แข็งใส่ไมโครเวฟ แต่เราคงเลือกกินข้าวกะเพราะสดๆ ไข่ดาวสดๆ มากกว่า เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่านี่เป็นการรุกคืบที่ไม่น่ากลัวนัก ยกเว้นว่าวันหนึ่งเขาไล่ร้านอาหารที่อยู่หน้าเซเว่นออกหมด แล้วเอาสินค้าของตัวเองมาลงแทน ซึ่งแบบนี้จะเป็นการรุกคืบที่ไปแย่งพื้นที่ร้านอาหารรายย่อยที่มีอยู่เดิมเยอะเกินไป แต่กับกรณีนี้ถือเป็นเพียงแค่การเติมเต็มช่องทางที่ขาดอยู่จริงๆ”
ร้านอาหารรายย่อยควรปรับตัวให้สอดรับกับความเร่งรีบของผู้บริโภคยุคใหม่
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2559 นี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านของคนไทย ที่มุ่งให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการเลือกใช้บริการร้านอาหารมากขึ้น และคาดว่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2559 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 382,000-385,000 ล้านบาท โดยเติบโตอยู่ที่กรอบร้อยละ 1.9-2.7 จากปี 2558 ที่มีมูลค่าประมาณ 375,000 ล้านบาท
แต่ถึงมูลค่าการตลาดโดยรวมของธุรกิจร้านอาหารจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ร้านอาหารทั่วไป เช่น ข้าวร้านแกง อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ต่างต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงจากผู้ประกอบการจำนวนมากที่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่าย เพราะใช้เงินลงทุนที่ไม่สูงนัก รวมถึงการแข่งขันจากอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็ง และการปรุงอาหารเอง
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะนำว่าเจ้าของธุรกิจร้านอาหารรายย่อยควรนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นที่ความคุ้มค่า และความรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์การรับประทานอาหารในชีวิตประจำวันของผู้คนที่ใช้ชีวิตเร่งรีบและมีข้อจำกัดด้านเวลา
เช่นเดียวกับสรกลที่มองว่าผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสใหม่ๆ โดยเรียนรู้จากยักษ์ใหญ่อย่าง CP โดยมองกรณีตู้กดอาหารหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นตัวอย่าง
“ผมว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุกธุรกิจ ทุกที่ยังมีโอกาสอยู่ เพียงแต่เราจะมองเห็นหรือเปล่าเท่านั้นเอง ไม่ใช่เพียงแค่ยักษ์ใหญ่อย่างเขาเท่านั้น แต่โอกาสตรงนี้เปิดกว้างสำหรับทุกคน ถ้ามีใครคิดทำตู้แช่อาหารลักษณะนี้ วางคู่กับไมโครเวฟ อายุของอาหารอาจจะสั้นกว่าอาหารแช่แข็ง ซึ่งใช้เทคโนโลยีสูง มองดูแล้วก็ไม่น่าจะใช่เรื่องยากอะไร นักประดิษฐ์ไทยทำได้สบายอยู่แล้ว เพียงแต่เราอาจจะมองไม่เห็นโอกาสเท่านั้นเอง
“เอาง่ายๆ ถ้าผมมีร้านอาหารอยู่ใกล้ออฟฟิศแบบนี้ ผมก็จะทำอาหารใส่แพ็กเกจจิ้งที่เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า นอกเหนือจากอาหารสดใหม่ที่ทำอยู่แล้ว แต่แทนที่จะขายแบบใส่ถุงธรรมดา ก็ใส่กล่อง มีช้อนพร้อมรับประทาน คือแข่งกันที่ความสดใหม่ เพราะผัดกะเพราะสดๆ ที่แม้จะผัดทิ้งไว้จนเย็นแล้ว แต่ถ้ามีไมโครเวฟพร้อมให้บริการอีกที ก็น่าจะอร่อยกว่าอาหารแช่แข็ง ที่เหลือก็อยู่ที่ฝีมือการทำอาหารของคุณแล้วล่ะ
“คนทำธุรกิจจะเรียนรู้จากตำราไม่ได้ ต้องเรียนรู้จากคนอื่นตลอด แล้วเราต้องยอมรับความจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน ไม่ใช่ธุรกิจเล็กๆ เท่านั้นที่จะโดน แต่ธุรกิจใหญ่ๆ ก็โดนเหมือนกัน อย่างตอนนี้ธนาคารยักษ์ใหญ่ก็เจอฟินเทคที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ หรือธุรกิจใหญ่ๆ ก็เจอสตาร์ทอัพ ใครก็โดนหมด ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นต้องมองมันอย่างเข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องควบคุมให้การแข่งขันมีความเหมาะสม ไม่ให้รายใหญ่รุกคืบจนเกินไป แต่กรณีนี้ผมยังไม่รู้สึกขนาดนั้น เป็นเพียงแค่การเจาะช่องว่างในตลาดที่มีอยู่เท่านั้นเอง”
แม้แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่นิยมตู้กดอาหารอัตโนมัติ
เมื่อนึกถึงตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ ประเทศแรกที่เราจะนึกถึงคงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น ที่มีจำนวนตู้หยอดเหรียญมากกว่า 3.8 ล้านเครื่อง ทั้งตู้หยอดเครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป บุหรี่ และตั๋วโดยสาร แต่สำหรับตู้หยอดอาหารพร้อมรับประทานกลับมีให้เห็นน้อยมาก ซึ่ง เกตุวดี Marumura อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย เจ้าของแฟนเพจ Japan Gossip และผู้เขียนหนังสือ Japan Gossip เมาท์ญี่ปุ่นให้คุณยิ้ม และ สุโก้ย! Marketing ทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น วิเคราะห์ว่า
“สาเหตุที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีตู้กดอาหารอัตโนมัติอาจเป็นเพราะร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นมีจำนวนมากกว่าของไทยประมาณ 3 เท่า เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหน เราก็จะมีโอกาสหาซื้ออาหารได้ง่ายกว่า สิ่งที่ขายในตู้อัตโนมัติส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นน้ำ เครื่องดื่มต่างๆ หรือบุหรี่มากกว่า หรืออย่างในมหาวิทยาลัยก็มักจะมีตู้กดขนมปัง หรือช็อกโกแลตกล่อง หรือขนมรองท้องที่เก็บไว้ได้นานๆ มากกว่า เพราะการนำอาหารสดมาขายในตู้อัตโนมัติต้องใช้แรงงานคนมาคอยเปลี่ยนอาหารบ่อยๆ แล้วที่ญี่ปุ่นค่าแรงแพงมาก จึงอาจไม่คุ้มที่จะต้องทำตู้กดอาหารอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่มีร้านสะดวกซื้อเยอะอยู่แล้ว”
นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นกับคนไทยก็แตกต่างกัน เพราะคนญี่ปุ่นนิยมโดยสารรถประจำทาง และระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งมีโอกาสพบเจอและใช้บริการตู้หยอดเหรียญได้สะดวกกว่า ขณะที่คนไทยนิยมใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือแม้แต่คนเมืองที่โดยสารรถไฟฟ้าก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทานในรถไฟฟ้าโดยเด็ดขาด
ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจตู้หยอดอาหารอัตโนมัติของประเทศไทยในอนาคต
CP กับบทเรียนเรื่องภาพลักษณ์ที่ควรแก้ไข
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง CP เริ่มขยับตัวทำอะไรบางอย่าง สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมาก็คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบ และหวาดระแวง ซึ่งสรกลระบุว่านี่คือบทเรียนเรื่องสร้างแบรนด์ที่ดีมาก
“ผมคิดว่าแบรนด์เซเว่น และ CP มีปัญหาในใจคน แค่ขยับตัวนิดเดียวคนก็อาจจะมองว่าเป็นผู้ร้ายได้ง่ายๆ แปลว่ามันต้องมีปัญหาบางอย่างแน่นอน และนี่คือโจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข
“ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าวิธีคิดในการทำธุรกิจของ CP เป็นการทำแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่เลี้ยงไก่เองจนถึงการผลิตข้าวกล่อง ซึ่งพอทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมันก็เลยต้องผ่านผู้คนจำนวนมาก และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับคนจำนวนมากเช่นเดียวกัน บางครั้งก็บี้ต้นทุนสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นๆ แรงจนเกินไป หรือบางทีก็หาโอกาสทางธุรกิจจนต้องใช้วิธีผลิตสินค้าที่ใกล้เคียงกับสินค้าที่มีอยู่แล้วหรือเลียนแบบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็มีเส้นบางๆ ที่จริงๆ แล้วเขาไม่ควรทำ บางอย่างเอากำไรน้อยหน่อยก็ได้ แต่ได้ใจคนมากขึ้น”
สุดท้ายคงต้องรอดูกันต่อไปว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจครั้งนี้ของ CP จะไปได้ไกลแค่ไหน แต่สิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะได้แน่ๆ คือทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ประกอบการก็จะได้โอกาสในการกลับมาทบทวนจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองอีกครั้ง รวมทั้งอาจจะได้มองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่รอการเติมเต็มเพื่อต่อยอดธุรกิจของตัวเองในอนาคตอีกด้วย
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
– http://www.kasikornbank.com/TH/SME/KSMEKnowledge/KSMEAnalysis/Documents/SMELocalRestaurant.pdf
– http://www.thairath.co.th/content/708725