ธรรมดาซะที่ไหน เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon สวนกระแสการปิดตัวของธุรกิจร้านค้าที่ย้ายมาทำออนไลน์ วางแผนจะเปิดร้านค้าสะดวกซื้อของตัวเองในชื่อ Amazon Go ที่ไม่ต้องต่อคิวจ่ายเงิน และไม่ต้องพกเงินสดมาก็ซื้อได้เลยด้วยซ้ำ
แค่เดินเข้าไปในร้าน เปิดแอปพลิเคชัน Amazon Go หยิบสินค้า แล้วเดินออกมาโดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะแอปพลิเคชันจะตัดเงินออกจากบัญชี Amazon ของลูกค้าให้เอง
ง่ายขนาดนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าเวิร์กจริงไหม?
หรือนี่จะเป็นอนาคตใหม่ของธุรกิจค้าปลีก?
ถอดโมเดลของร้าน Amazon Go: Online-to-Offline ต้องง่าย ไม่สะดุด
แม้จะมีข่าวลือออกมาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อ Amazon ประกาศเปิดตัวร้านค้าสะดวกซื้อ Amazon Go อย่างเป็นทางการ และจะเปิดบริการสาขาแรกที่ซีแอตเทิลในปีหน้า ทำให้หลายฝ่ายจับตามองการขยับตัวของยักษ์ใหญ่รายนี้
ดูเผินๆ Amazon Go ไม่ต่างจากร้านขายของชำหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ขนมปัง นม และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ไหนจะมีขนาดพื้นที่แค่ 1,800 ตร.ม. ซึ่งค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ แต่จุดเด่นของ Amazon Go อยู่ตรงที่การนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาจัดวางระบบและออกแบบประสบการณ์ของลูกค้าให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น สะดวกสบาย
ปราศจากขั้นตอนยุ่งยาก ตามคอนเซปต์ ‘Just Walk Out’ ของร้าน ด้วยเหตุนี้ทาง Amazon จึงตัดการจ่ายเงินที่แคชเชียร์ออกไปและแทนที่ด้วยการตัดเงินผ่านบัญชีทางออนไลน์นั่นเอง
Amazon เผยว่าเบื้องหลังการทำงานของร้านค้าสะดวกซื้ออัจฉริยะแห่งนี้ คือ
ระบบการเรียนรู้เชิงลึกของเครื่อง (Deep-Learning) ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลจากภาพ (Computer Vision) และเซนเซอร์ซึ่งติดตั้งตามจุดต่างๆ (Sensor Fusion) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับที่ใช้ในรถยนต์ไร้คนขับ
ส่วนเรื่องคิดคำนวณราคาสินค้า ‘ขาด/เกิน’ หรือ ‘ผิด/ถูก’ ก็ไม่น่าห่วง เพราะระบบ Machine-Learning มีความแม่นยำและสามารถระบุได้ว่ามีสินค้าอะไรถูกหยิบออกจากชั้นวางของ และบันทึกข้อมูลสินค้าที่ถูกหยิบลงในตะกร้าออนไลน์ ถ้าหากลูกค้าเกิดเปลี่ยนใจและวางสินค้าคืนไว้ที่เดิม ระบบก็จะอัพเดตข้อมูลใหม่ตามอัตโนมัติ และไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการขโมย เพราะลูกค้าที่เข้ามาซื้อของใน Amazon Go ได้ จะต้องมีแอปพลิเคชันและมีบัญชีของ Amazon เท่านั้น ซึ่งแทร็กข้อมูลของผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว
หรือนี่คืออนาคตใหม่ของร้านชำ ธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า?
อันที่จริง หากย้อนกลับไปมองทิศทางการปรับตัวของภาคธุรกิจ จะเห็นได้ว่าร้านค้าและธุรกิจค้าปลีกเชนใหญ่ (Chain Store) ในสหรัฐฯ อาทิ J.C. Penney และ Nordstrom ปิดตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเฟื่องฟู ขณะที่ Walmart ทุ่มเงินซื้อสตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซเพื่อรุกคืบตลาดออนไลน์ ด้วยมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
แต่ Amazon กลับเดินหน้าบุกตลาดรีเทลเต็มที่ และจะประเดิมสาขาแรกที่ซีแอตเทิลในปี 2017 ทั้งยังตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปี จะขยายสาขามากถึง 2,000 กว่าแห่งใน 35 รัฐทั่วประเทศ
แล้ว Amazon เห็นโอกาสอะไรแฝงอยู่ในช่องว่างเหล่านี้?
ทีมงานของ Amazon ได้ระบุไว้ในเว็บไซต์ว่า “เมื่อ 4 ปีก่อน เราถามตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากเราสามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ไม่ต้องต่อคิว ไม่ต้องจ่ายเงินที่แคชเชียร์ เราจะขยายขอบเขตของเทคโนโลยี Computer Vision และ Machine Learning ในการสร้างร้านที่ลูกค้าแค่เข้ามาหยิบของที่ต้องการแล้วออกไปเลยได้หรือเปล่า ซึ่ง Amazon Go และประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบ ‘Just Walk Out’ ก็ตอบโจทย์เหล่านั้น”
มองในอีกแง่หนึ่ง มันคือการเชื่อมโยงของตลาดออนไลน์กับออฟไลน์ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกช่องทาง แต่ด้วยวิธีการและแนวคิดที่ ‘สดใหม่’ กว่า
ข่าวการเปิดตัว Amazon Go ครั้งนี้ อาจส่งสัญญาณว่ารูปแบบของธุรกิจค้าปลีกจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอน และธุรกิจหมวดของชำและอาหารก็ยังเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภคอยู่ เพียงแต่ต้องจับทางให้ถูกว่าจะเข้าถึงลูกค้าหรือนำสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างไร จึงจะสะดวกที่สุดและเหมาะสมที่สุด
เป็นไปได้ว่าทางออกของการทำธุรกิจยุคดิจิทัลให้รอดไม่ใช่การปิดกิจการแบบ Physical Store หรือทำตลาดออนไลน์อย่างเดียว แต่คือการฉวยคว้า ‘ช่องว่าง’ ที่คนอื่นยังมองไม่เห็นและเปลี่ยนให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยไม่ลืมค้นหาความต้องการของผู้บริโภคและทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่พร้อมจะเปลี่ยนไปทุกเมื่อ
ถ้าหากใครหาเจอ และเป็นฝ่ายลงมือเดินหมากก่อน ก็น่าจะอยู่ในเกมนี้ได้อีกนาน
อ้างอิง:
– https://www.amazon.com/b?ie=UTF8&node=16008589011
– http://www.businessinsider.com/amazon-big-expansion-retail-pop-up-stores-2016-9/#heres-what-the-pop-up-store-in-san-franciscos-westfield-mall-looks-like-1
– http://www.wsj.com/articles/amazon-grocery-store-concept-to-open-in-seattle-in-early-2017-1480959119?mod=e2fb