หากเราลองสังเกตภาษาที่ชาวต่างชาติใช้ในชีวิตประจำวัน เราอาจเห็นว่ามีสำนวนบางสำนวนที่แลดูไม่เป็นไปตามกฎไวยากรณ์ที่เคยเรียนๆ มา ตัวอย่างเช่น เวลาที่มีคนจาม ฝรั่งหลายคนก็จะอวยพรขึ้นมาว่า God bless you! ชวนให้นึกสงสัยว่า ทำไม bless ถึงไม่เติม -es ข้างท้ายทั้งที่ God ที่เป็นประธานเป็นเอกพจน์ หรือเวลาที่จะพูดความคิดเห็นตรงๆ ก็อาจพูดว่า truth be told โดยใช้กริยา be แบบไม่ผันใดๆ

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะสำนวนเหล่านี้เป็นซากอารยธรรมสิ่งที่เรียกว่า subjunctive mood หรือที่มีชื่อไทยสวยหรูว่า ปริกัลปมาลา

สัปดาห์นี้ เราจะไปทำความรู้จัก subjunctive mood ให้ดีขึ้นและดูว่ามีสำนวนอะไรบ้างในภาษาอังกฤษที่เราอาจได้ยินบ่อยๆ แต่ไม่เคยสังเกตว่ามี subjunctive ซ่อนอยู่

Subjunctive mood คืออะไร

Subjunctive mood หรือปริกัลปมาลา คือ รูปกริยาพิเศษที่ใช้พูดถึงความปรารถนา คำสั่ง การร้องขอ สถานการณ์สมมติ รูปกริยาแบบนี้ปรากฏใช้เป็นปกติไวยากรณ์ภาษาอังกฤษเก่าและอังกฤษกลาง แต่ภายหลังเริ่มเสื่อมความนิยม จนในปัจจุบันหลงเหลืออยู่ในโครงสร้างเพียงไม่กี่ประเภท

ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน เราจะพบ subjunctive mood ได้สองแบบหลักๆ แบบแรกคือ present subjunctive หรือการใช้รูปกริยา infinitive เปลือยๆ ไม่ผันหรือแต่งองค์ทรงเครื่องใดๆ พบได้ใน clause ที่เกี่ยวกับคำสั่ง การแนะนำ การขอร้อง เช่น It was recommended that the building be demolished. (ใช้ be แทนที่จะใช้ was)

ส่วนแบบที่สองคือ past subjunctive หรือการใช้กริยารูปอดีตแต่อาจไม่ได้ใช้พูดถึงอดีต มักใช้เพื่อพูดถึงกรณีสมมติหรือสิ่งที่เราคาดหวังอยากให้เกิด พบได้ในประโยคเงื่อนไขสมมติหรือ clause ที่ตามหลัง wish บางประเภท เช่น If I were you, I’d just quit. (ใช้ were แทน am)

แต่นอกจากในโครงสร้างเหล่านี้ ซึ่งเราอาจเคยได้เรียนหรือใช้ในชีวิตจริงมาบ้าง ยังมีสำนวนที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันจำนวนหนึ่งที่มีรูปกริยาพิเศษแบบนี้ อันเป็นร่องรอยของ subjunctive mood จากในอดีตนั่นเอง

So be it.

เราจะสังเกตว่าในสำนวนนี้ นอกจากประธานกับกริยาจะสลับตำแหน่งกันแล้ว กริยายังเป็นรูป be ไม่ผันเป็น is หรือรูปอื่นๆ ตามประธาน it อีกต่างหาก นั่นก็เพราะ be ตรงนี้เป็นกริยาแบบ subjunctive และพูดกันมาแบบนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรนั่นเอง สำนวนนี้ใช้แสดงความปลดปลง ทำนองว่า ถ้าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ก็ให้เป็นไปตามนั้นแหละ ตัวอย่างเช่น If I’m going to get fired for doing the right thing, then so be it. หมายถึง ถ้าจะต้องถูกไล่ออกเพราะทำสิ่งที่ถูกต้อง งั้นก็ให้มันรู้ไป

Be it/be they

โครงสร้างนี้คล้ายกับ so be it ตรงนี้ใช้กริยา be รูป infinitive ที่ไม่ผันตาม it หรือ they ถ้าเทียบกับภาษาไทยก็น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับ “ไม่ว่าจะเป็น” ส่วนมากใช้เพื่อไล่เรียงตัวอย่าง โดยเฉพาะเมื่อตัวอย่างมีความหลากหลายมาก หรือต้องการบอกว่าไม่เกี่ยงว่าเป็นอันไหน คล้ายๆ กับ whether it is หรือ whether they are ตัวอย่างเช่น We should remind ourselves to be nice to all, be they your friends or enemies. หมายถึง เราพึงระลึกว่าควรปฏิบัติต่อผู้อื่นให้ดี ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นเพื่อนหรือศัตรูของเรา

Long live the King.

สำนวนนี้แม้เราจะเห็นจนชินตา แต่หลายคนอาจลืมสังเกตไปว่าเป็นประโยคที่มีไวยากรณ์แปลกมาก นั่นคือมีประธาน the King ย้ายไปอยู่ข้างท้ายประโยค แถมกริยา live ก็ไม่ได้ผันตามประธานอีกต่างหาก นี่ก็เป็นเพราะประโยคนี้เป็น subjunctive mood นั่นเอง

หากแปลงเป็นรูปประโยคปัจจุบัน จะได้ทำนองว่า May the King live long. เพียงแต่ไม่มีคนพูดแบบนี้เพราะพูด Long live the King. (ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา) จนชินเป็นธรรมเนียมกันไปแล้วนั่นเอง

ทั้งนี้ อันที่จริงแล้วโครงสร้างนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กับการอวยพรเชื้อพระวงศ์เสมอไป แต่ใช้ในการแสดงความจงรักภักดีของเราต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ เช่น หากเราปวารณาตนเป็นแฟนตัวยงของชานมไข่มุก ก็อาจจะบอกว่า Long live bubble tea. ก็ได้เช่นกัน

Truth be told

สำนวนนี้มี subjunctive mood ตรงที่กริยา be เป็นรูป infinitive และไม่ผันตาม truth ที่เป็นประธาน ปกติแล้วมักพูดเกริ่นก่อนที่จะบอกเล่าความรู้สึกตรงๆ ว่าคิดเห็นหรือรู้สึกกับสิ่งๆ หนึ่งอย่างไร ทำนองว่า เอาตรงๆ เลยนะ คล้ายๆ กับ to be honest หรือ to be frank ตัวอย่างเช่น Truth be told, the food here is horrible and I don’t know why you keep coming back. หมายความว่า เอาตรงๆ เลยนะ อาหารร้านนี้หมาไม่รับประทานเลย ไม่เข้าใจว่าทำไมแกถึงกลับมากินบ่อยๆ

God bless you!

สำนวนนี้เรามักได้ยินเวลามีคนจาม บางครั้งก็จะพูดย่นย่อเหลือแค่ Bless you! โครงสร้างก็มีลักษณะเป็น subjunctive เพราะ bless ไม่เติม -es ตามประธาน God ที่เป็นเอกพจน์ (ต่างจาก God blesses us every day. ซึ่งใช้รูปกริยาปกติ เพราะเป็นข้อความบอกเล่าทั่วไป ไม่ใช่การร้องขออย่างในสำนวน God bless you!)

God damn it

แม้แต่คำสบถยอดฮิตนี้แท้จริงแล้วก็มี subjunctive mood ซ่อนอยู่ นั่นก็คือกริยา damn ที่ใช้รูป infinitive แบบไม่ผันนั่นเอง แต่เดิมประโยคนี้คือการร้องขอให้พระเจ้าสาปแช่งหรือไล่ไปลงนรกเสีย จึงใช้ subjunctive mood (เขียนแบบปัจจุบันได้ทำนองว่า May God damn it.) แต่ในปัจจุบันใช้เป็นคำสบถแสดงอารมณ์โกรธหรือโมโหมากกว่าวอนขอให้พระเจ้าสาปใคร และเขียนติดกันเป็น goddamnit ได้ด้วย เช่น Goddamnit, will you stop complaining already? ก็คือ โอ๊ย ไอ้ห่า เลิกบ่นได้ยัง นอกจากนั้นยังใช้กันมากจนกลายเป็นคุณศัพท์ goddamn ด้วย เช่น Where’s the goddamn key when I need it? ก็คือ ไอ้กุญแจเวรหายไปไหนตอนต้องใช้วะ

สำนวนนี้ยังพูดย่นย่อเหลือ Damn it! ด้วย ใช้เป็นความสบถแสดงความหงุดหงิดโมโหคล้าย goddamnit เช่น Damn it! I left my keys in the car again! ก็คือ เวรเอ๊ย ลืมกุญแจไว้ในรถอีกแล้ว

แต่ด้วยสำนวน god damn it และ damn it ถือเป็นการอ้างถึงพระเจ้าโดยไม่จำเป็นในสายตาชาวคริสต์และถือเป็นคำหยาบ จึงมีการใช้คำอื่นที่เสียงคล้ายกันขึ้นมาทดแทนเพื่อให้ดูซอฟต์ลง พอที่จะพูดต่อหน้าเด็กหรือธารกำนัลได้ เช่น dang it และ darn it

Suffice it to say

กริยา suffice หมายถึง เพียงพอ (เป็นญาติกับคุณศัพท์ sufficient ที่แปลว่า เพียงพอ) ในสำนวนนี้เป็นกริยาของประธาน it ที่ถูกสลับไปไว้ด้านหลัง หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า suffice ในที่นี้ไม่ได้ผันตาม it เนื่องจากใช้ subjunctive mood นั่นเอง ปกติแล้วเราจะใช้สำนวนนี้ขึ้นต้นประโยคก่อนที่เราจะพูดถึงสิ่งที่เราคิดว่าประจักษ์ชัดในตัวเองหรือเป็นแก่นสำคัญ พูดแค่นี้ก็น่าจะเข้าใจแล้ว ไม่ต้องพูดเยอะให้เจ็บคอ คล้ายๆ I shall just say … (ขอพูดแค่นี้ว่า …) ตัวอย่างเช่น Suffice it to say that after that embarrassing episode, there won’t be a second date. หมายความว่า พูดสั้นๆ เลยนะ หลังจากเจอเรื่องน่าขายขี้หน้าขนาดนั้น คงไม่มีเดทรอบสองแล้วล่ะจ้ะ

Till death do us part

สำนวนนี้มี do ที่อยู่ในรูป infinitive ไม่ผันเป็น does ตาม death นั่นก็เพราะในอดีตภาษาอังกฤษเคยใช้ subjunctive mood ใน clause ที่ขึ้นต้นด้วย until (แต่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว) ปกติมักได้ยินในพิธีแต่งงานของชาวคริสต์ เป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าจะครองชีวิตสมรสร่วมกันจนกว่าความตายจะมาพรากให้จากกันนั่นเอง

Come what may

สำนวนนี้สลับเอากริยา come ไปไว้ด้านหน้าประโยค อันที่จริงแล้วหากเขียนเป็นภาษาปัจจุบันก็น่าจะได้ทำนองว่า Whatever may come หรือ Whatever happens แต่ด้วยความที่แต่ก่อนใช้กันมาแบบนี้ เลยใช้ว่า Come what may มาเรื่อยๆ สำนวนนี้ หมายถึง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ปกติแล้วใช้แสดงความอาจหาญ ทำนองว่าพร้อมสู้ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือความยากลำบากใดๆ รออยู่ ตัวอย่างเช่น หากอยากจะสัญญากับคนรักให้ดูเว่อร์วังว่าเราจะอยู่กับเขาไปชั่วนิจนิรันดร์ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ก็อาจพูดว่า I will always be with you, come what may.

Far be it from me to

สำนวนนี้หากจับคำมาเรียงลำดับใหม่ตามที่ควรจะเป็น จะได้ข้อความว่า It be far from me เมื่อเรียงแบบนี้แล้วก็จะเห็นว่ามีการใช้ subjunctive mood คือไม่ผัน be ให้สอดคล้องกับ it นั่นเอง

สำนวนนี้แปลเป็นภาษาไทยได้ทำนองว่า ก็คงไม่ใช่เรื่องของฉันที่จะไปบอกให้เธอให้ทำ … ส่วนใหญ่แล้วจะตามมาด้วย but เสียเป็นส่วนใหญ่ ใช้เพื่อเกริ่นก่อนที่จะบอกว่าอีกฝ่ายทำอะไรพลาดไปหรือควรทำอะไรเพื่อจะได้ดูซอฟต์ลง เช่น หากเราเห็นเพื่อน (ที่เราอาจแอบเหม็นขี้หน้าเล็กน้อย) กำลังจะลากรองเท้าแตะไปสัมภาษณ์งาน แล้วเกิดอาการคันปาก อยากจะพูดสักหน่อยว่ามันไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่อยากให้รู้สึกว่าตั้งใจจับผิดหรือโจมตีจนเกินไป ก็อาจพูดว่า Far be it from me to tell you how to dress, but don’t you think that the shoes are a little too informal for a job interview? ทำนองว่า จะให้เราบอกแกว่าต้องแต่งตัวยังไงก็คงใช่ที่อะเนอะ แต่ใส่รองเท้าแบบนี้ไปสัมภาษณ์งานมันไม่ชิลล์ไปหน่อยเหรอแก

 

บรรณานุกรม

  • Aarts, Bas, et al. The Oxford Dictionary of English Grammar. 2ed.  OUP: Oxford, 2014.
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Crystal, David. The Stories of English. Penguin Books: London, 2005.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Merriam-Webster Dictionary
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • Swan, Michael. Practical English Usage. 3ed. OUP: Oxford, 2005.
Tags: , ,