การชุมนุมประท้วงของนิสิตนักศึกษาหลากหลายสถาบันที่จัดขึ้นแบบคู่ขนานเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่ ม.เกษตรฯ จุฬาฯ มหาสารคาม เชียงใหม่ บูรพา นเรศวร ฯลฯ ซึ่งมาพร้อมแฮชแท็กที่บ่งบอกถึงจุดยืนของนิสิตนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัย ทั้ง #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่อื่นๆ อีกมากมาย จนกลายเป็นเทรนด์ฮอตในทวิตเตอร์ที่ครองพื้นที่ในโซเชียลมีเดียตลอดทั้งในช่วงเย็นวันนั้น
ตามมาด้วยปรากฏการณ์ไฟลามทุ่งที่อีกหลากหลายสถาบันการศึกษา ต่างเริ่มรวมตัวกัน นัดวันกันประท้วงพร้อมแฮชแท็กของแต่ละสถาบัน มหาวิทยาลัยมหิดล นัดชุมนุมผ่านกิจกรรม #MUneedsDemocracy ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นัดจัดกิจกรรม #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่นัดรวมตัวกันที่ลานพญานาค พร้อมแฮชแท็ก #ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหาลัยกูทั้งนั้น
ปรากฏการณ์เหล่านี้ ในแง่หนึ่งมีหลายคนมองว่ามันจะเคลื่อนไปสู่การชุมนุมใหญ่ หรือการรวมตัวของพลังนิสิตนักษาทั้งหมดเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือนดังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือไม่ (ดังเช่นการนำรูปทั้งสองเหตุการณ์มาเปรียบเทียบกัน) ในอีกแง่หนึ่งก็มองว่า มันอาจเป็นกระแสที่เหมือนการจุดพลุหรือไม้ขีดไฟ ที่อีกไม่นานก็คงดับลง ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น
และทั้งหมดนั่นคือความน่าสนใจของปรากฏการณ์ในครั้งนี้
ไม่ใช่แค่เรื่องอนาคตใหม่
สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นวาทกรรมต่อเนื่องมาอย่างไม่หยุดหย่อนก็คือ เหล่านิสิตนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาจัดการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ คือเด็ก ‘ชังชาติ’ เด็กที่ถูกล้างสมองโดยพรรคอนาคตใหม่ และยิ่งการชุมนุมในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และในการชุมนุมหลายสถาบันการศึกษาก็ส่งสำเนียงถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจน เช่น #ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหาลัยกูทั้งนั้น ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ #ฝุ่น6ล้านหรือจะสู้ท่าน9เสียง ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือแม้แต่ป้ายคำขวัญ ป้ายผ้า ป้ายกระดาษที่ถูกนำมาชูในการชุมนุมในสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็ยิ่งทำให้คิดได้ว่า เด็กเหล่านี้ออกมาเพราะพรรคอนาคตใหม่
แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะเห็นว่าประเด็นการยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงความเอนเอียงของระบบในสังคมนี้ ที่ไล่เลื้อยมาตั้งแต่การรัฐประหาร ซึ่งมีหลายสถาบันกล่าวถึงประเด็นนี้โดยตรง เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหงกับแฮชแท็ก #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ หรือมหาวิทยาลัยพะเยากับแฮชแท็ก #ฟ้ามุ่ยไม่คุยกับเผด็จการ หรือแม้แต่บรรดาป้ายผ้า ป้ายกระดาษต่างๆ ที่ปรากฏในการชุมนุมทุกสถาบัน ที่บ่งบอกชัดเจนว่ามันคือความต่อเนื่องของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร ไม่ใช่เพราะแค่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบเท่านั้น
แต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนของอำนาจที่เอียงกระเท่เร่ในประเทศนี้ จากการรัฐประหารสู่การเลือกตั้ง การทำงานของกกต. การแต่งตั้ง ส.ว. การให้ ส.ว. ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี การทำงานขององค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งและยืดอายุการทำงานโดยคณะ คสช. และอีกมากมายที่ทำให้เห็นว่าการใช้อำนาจที่ทำให้เกิดความอยุติธรรมนี้จะยังคงดำเนินต่อไป และแน่นอนว่ามันจะส่งผลไปยังอนาคตของประเทศในภายภาคหน้าที่เยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญในอนาคตที่นับวันจะยิ่งมืดมนลงเรื่อยๆ
แฮชแท็กนี้บอกอะไรเรา
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการชุมนุมประท้วงของนิสิตนักศึกษาหลากหลายสถาบันทั่วประเทศในครั้งนี้ ซึ่งแต่ละสถาบันต่างสร้างสรรค์แฮชแท็กของสถาบันตนเองขึ้นมาเพื่อส่งเสียงแสดงจุดยืนทางการเมือง แม้หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นพียง ‘เทรนด์’ ที่เล่นตามๆ กันในโซเชียลมีเดีย แต่การออกมาชุมนุมกันจริง และเริ่มกระจายไปเกือบทุกสถาบันการศึกษา ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนมัธยมอย่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็เริ่มจัดการชุมนุมกันบ้างแล้ว กับแฮชแท็ก #เกียมอุดมศึกษาไม่ก้มหัวให้เผด็จการ และที่สำคัญ แฮชแท็กเหล่านี้บอกอะไรเราได้มากทีเดียว
นอกจากประเด็นที่บอกอย่างตรงไปตรงมาในการเลือกใช้คำหรือรูปประโยคนั้นๆ ในแฮชแท็กแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ แฮชแท็กของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วงระยะเวลาความผันผวนทางการเมืองตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย อันเปรียบเสมือนเสาหลักในการผลิตปัญญาชนที่มีอุดมการณ์รับใช้ประชาชน ดังคำว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน’ นั้นห่างหายไปจากการรับใช้ประชาชนในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองมากทีเดียว
และหากมองย้อนไปยังเหตุการณ์การชุมนุมกปปส. ซึ่งถูกวิจารณ์ว่ามันถือเป็น ‘บัตรเชิญ’ ให้ทหารทำการรัฐประหารนำประเทศเข้าสู่ภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบันนี้ที่ยังคงสืบทอดอำนาจสู่การเลือกตั้งและรัฐสภา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เคยเดินขบวนต้อนรับกลุ่มกปปส.อย่างสง่าผ่าเผยในครั้งนั้น กลับมาปักธงทางการเมืองใหม่ โดยใช้คำว่า ‘เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป’ หลังจากที่เคยหักมาแล้วในครั้งนั้น
ไม่เพียงแค่นั้น มหาวิทยาลัยรามคำแหงมหาวิทยาลัยที่เคยเป็นฐานเสียงให้กับกลุ่มกปปส. กับแฮชแท็ก #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อปี 2556 เคยเกิดเหตุการณ์ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อเหตุทำร้ายกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาชุมนุม ณ สนามราชมังคลากีฬาสถานหัวหมาก ก็แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึนผ่านแฮชแท็กครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
เมื่อ ‘สลิ่ม’ ถูกพูดถึงอีกครั้งในขอบเขตของความหมายที่กว้างกว่าเดิม
คำว่า ‘สลิ่ม’ ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ‘ซาหริ่ม’ อันเป็นขนมไทยสีสันหลากสีสวยงาม เกิดขึ้นในช่วงปี 2553 ท่ามกลางการเมืองหลากสี ที่ใช้เรียกกลุ่มคน ‘เสื้อหลากสี’ ที่พยายามโจมตีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งกลุ่มคนเสื้อหลากสีเหล่านี้ก็มีพื้นฐานอุดมการณ์ไม่แตกต่างจากกลุ่มเสื้อเหลืองเดิม เกลียดทักษิณ เกลียดกลุ่มคนเสื้อแดง ไม่ค่อยเชื่อประชาธิปไตยในระบบ และเห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร จนถูกนิยามด้วยความเย้นหยันว่า ‘สลิ่ม’
คำว่าสลิ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงในทางการเมืองอย่างชัดเจนอีกครั้งในช่วงการชุมนุมประท้วงของนิสิตนักศึกษาหลากหลายสถาบันทั้งประเทศในครั้งนี้ เห็นได้จากแฮชแท็ก #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่แม้ไม่ได้ใช้คำว่าสลิ่มโดยตรงแต่ก็มีความหมายสื่อไปถึงคำว่าสลิ่ม #KKUขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น #ศาลายางดกินของหวานหลายสี ของมหาวิทยาลัยมหิดล #พระจอมเกล้าชอบกินเหล้าไม่ชอบกินสลิ่ม ของมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง #BUกูไม่ใช่สลิ่ม ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
คำว่า ‘สลิ่ม’ กลายเป็นคำที่สื่อถึงกลุ่มบุคคลที่น่ารังเกียจไปแล้วในการชุมนุมการประท้วงครั้งนี้ ไม่ใช่น่ารังเกียจเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่น่ารังเกียจเพราะการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้คือการสนับสนุนให้ระบบทหารและความอยุติธรรมยังปกคลุมการเมืองการปกครองของประเทศไทยอยู่ และคนกลุ่มนี้นี่เองที่เชื้อเชิญให้ทหารตบรองเท้าบู๊ตเข้ารัฐประหารและนำประเทศไทยเดินทางมายังจุดนี้ หรือจะเรียกว่าสลิ่มคืออีกหนึ่งต้นตอของปัญหาที่เป็นอยู่ในตอนนี้ก็ว่าได้
มากไปกว่านั้นความหมายของคำว่าสลิ่มในปัจจุบันยังกินความมีขอบเขตกว้างขวางไปมากกว่าเดิม ไม่ใช่แค่คนที่เชียร์ทหาร เชื้อเชิญรัฐประหาร หรือไม่เชื่อในการปกครองระบอประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มคนที่พยายามจะกันตัวเองออกจากวาทกรรมการเป็น ‘สลิ่ม’ พยายามจะบอกว่าเป็นกลางทางการเมือง ไม่เลือกข้าง ไม่ยุ่งกับการเมืองเพราะการเมืองสกปรก พยายามจะตำหนิกลุ่มคนที่ออกมาประท้วงนั่นประท้วงนี่ว่าไม่รักประเทศชาติ ใช้วาทกรรมชาติมาบดบังเพื่อไม่ให้ตนเองถูกมองว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้มีความเฉยเมย (Ignorance) ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
เพราะการไม่เห็นถึงปัญหา ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องพรรคอนาคตใหม่ แต่เป็นทุกเรื่องที่ไล่มาตั้งแต่การรัฐประหาร ไม่ว่าจะด้วยการปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือสองข้าง หรือทำเป็นมองไม่เห็นเสีย ก็ไม่ต่างอะไรกับสลิ่มที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความอยุติธรรมนั้นยังคงอยู่ในสังคม
ทำไมต้องนักศึกษา และต้องประท้วงในสถานศึกษา
การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล คงจะเป็นคำตอบที่ดีว่าทำไมนิสิต นักศึกษาหลายสถาบันทั่วประเทศถึงลุกขึ้นมาจัดการชุมนุมประท้วงเป็นไฟลามทุ่งในตอนนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตและต้องใช้ชีวิตไปอีกนานในประเทศแห่งนี้ต่างมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของพวกเขาภายใต้การเมืองการปกครอง ระบบระบอบที่เอียงกระเท่เร่เช่นนี้ และมันทำให้พวกเขาตระหนักว่าหากไม่ลุกขึ้นมาทวงอนาคตของตนเองในตอนนี้ ก็จะไม่มีอนาคตให้พวกเชาอีกต่อไป
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การจัดประท้วงในสถาบันการศึกษานั้น ทำให้การประท้วงไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับของพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 มาตรา 3
มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะดังต่อไปนี้
(1) การชุมนมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
(2) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
(3) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพกีฬาส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
(4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา
(5) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
(6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
เมื่อไม่อยู่ภายใต้การบังคับของพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 จึงสามารถหลีกเลี่ยงการแทรกแซงทางการเมืองอื่นๆ ได้ ดังเช่นที่การชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาต้องประสบพบเจอ แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะเกิดการแทรกแซงจากสถาบันการศึกษาได้ในอนาคต เหมือนดังเช่นหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
จุดติด-ไม่ติด ใครเป็นคนนิยาม
ประเด็นที่น่าคิดต่อมาคือ หลังการชุมนุมประท้วงติดต่อกันหลายวันจากหลากหลายสถาบันการศึกษาแล้ว ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงเช่นไร
ในช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมประท้วง ในโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ก็มีคนนำภาพการชุมนุมประท้วงของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่การชุมนุมรวมกันขนาดใหญ่ แต่ก็ถือเป็นการรวมพลังของนิสิตนักศึกษาครั้งใหญ่ที่กระจายไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ
ขณะที่ส่วนหนึ่งมองว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลา อีกส่วนหนึ่งก็มองว่า นี่คงเป็นเพียงแค่พลุหรือไม้ขีดไฟที่สว่างวาบเดี๋ยวก็ดับลง และไม่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
กรอบแห่งการมองประเด็นนี้ คงไม่อาจนำเอาเหตุการณ์ใดมาเทียบเคียงกับอีกหนึ่งเหตุการณ์ได้ ต่างกรรมต่างวาระ และแต่ละยุคสมัยก็เติบโตมาด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน ในโมเดลของ 14 ตุลา อาจจะเชื่อว่าการรวมตัวกันแล้วลงถนนคือหนทางแห่งการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง มากกว่าการสร้างแฮชแท็กในทวิตเตอร์หรือการประท้วงแบบไฟลามทุ่งเป็นหย่อมๆ เช่นนี้
แต่ภายใต้ประสบการณ์ การเติบโตของคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตมาพร้อมเครื่องมือในการแสดงออกจุดยืนทางการเมืองมากมายหลายแบบ เห็นถึงประวัติศาสตร์การล้อมปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19, การชุมนุมพฤษภา 35 หรือแม้แต่การสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 หรือแม้แต่การชุมนุมประท้วงในต่างประเทศในปีที่ผ่านมาก็ตาม ย่อมทำให้มุมมอง การกระทำ การตัดสินใจใดๆ นั้นแตกต่างกัน และประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้การันตีได้ว่าการกระทำแบบใดจะส่งผลออกมาแบบใดได้เสมอไป
การชุมนุมประท้วงของนิสิต นักศึกษา หลากหลายสถาบันในครั้งนี้ อาจเป็นเพียงแสงไฟจากไม้ขีด ที่ไม่รู้ว่าจะจุดไปยังสิ่งใดต่อหรือจะมอดไหม้ลง หากมันจะมอดไหม้ลงก็เป็นสิ่งที่เยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้จักต้องเรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตของพวกเขาเอง หรือหากแต่มันจะลุกโชติช่วงแล้วผันแปรไปสู่สิ่งใด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่เปลี่ยนแปลง มันก็คือการที่คนในยุคสมัยหนึ่งๆ จะต้องตัดสินใจ เรียนรู้ และยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น
เพราะเพียงแค่นี้ การที่พวกเขามองเห็นถึงโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคมการเมืองในประเทศแล้วลุกขึ้นมาเปล่งเสียงเรียกร้องเพื่ออนาคตของตัวเอง ไม่ว่าจะในทวิตเตอร์ การชุมนุมในสถานศึกษา หรือที่แห่งใด ก็ถือว่าไฟนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นไม้ขีดหนึ่งก้านที่เดี๋ยวก็มอดไหม้ หรือเป็นคบเพลิงที่จะนำไปจุดต่อให้โชติชวง ก็ถือได้ว่า ไฟนั้นได้จุดติดแล้ว
Tags: ยุบพรรคอนาคตใหม่, พรรคอนาคตใหม่, ประท้วง