ไม่ใช่แค่ Branded Entertainment อีกต่อไป แต่ต้องเอาดาต้ามาใช้ด้วย โดย Spore Bangkok ดิจิทัล มีเดีย เอเจนซีในเครือ CJ Worx เปิดตัวมีเดียโซลูชันใหม่ Branded Entertainment Data หรือ BED ครั้งแรกในเมืองไทย จับมือกับค่ายเพลง What The Duck ในฐานะเอ็กคลูซีฟ พาร์ทเนอร์ นำดาต้าของผู้บริโภคหรือแฟนเพลงมาต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมสื่อสารกับผู้บริโภคโดยไม่รู้สึกถูกยัดเยียด และศิลปินได้ประโยชน์นำไปขยายฐานแฟนเพลงได้มากขึ้น
ชวนา กีรติยุตอมรกุล General Manager / Strategic Planning Director บริษัท CJ Worx ผู้ริเริ่มโปรเจกต์ BED กล่าวว่า Branded Entertainment Data หรือเรียกย่อๆ ว่า BED คือการนำเอา Entertainment Data ที่ได้รับจากผู้ชมที่ชื่นชอบความบันเทิงต่างๆ ที่ถือเป็น passive มาวิเคราะห์และหาข้อมูลเชิงลึก และ active ด้วยการนำ entertainment data ที่ได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ สร้างโอกาสให้แบรนด์ได้เข้าไปสื่อสารกับผู้บริโภคได้จริงๆ โดยที่ผู้บริโภคเองไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดโฆษณา
“ถ้าเป็นแบบเดิมคือ Branded Entertainment เอาโปรดักส์เข้าไปอยู่ในหนัง เพลง เอ็มวีบ้าง มันอาจได้แค่การรับรู้ แต่อาจจำไม่ได้ และไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปซื้อ เพราะมันไม่มีเรื่องราวของโปรดักส์ที่เข้าไปไทด์อินเลย”
“ปีนี้เป็นปีของดาต้า เราเห็นยอดวิวและคอมเมนต์ในยูทูบ ไลก์ในเฟซบุ๊กและไอจี มันเป็นดาต้าที่มีศักยภาพบางอย่างที่น่าจะเอาไปต่อยอดในเชิงการตลาด ทำให้รู้พฤติกรรมผู้บริโภค และวางแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น จากเดิมแค่ลูกค้าภูมิใจกับเอนเกจเมนต์ที่ได้ แต่ไม่ได้นำไปทำอะไรต่อ”
ชวนาอธิบายต่อว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Branded Entertainment (ค่ายเพลง) ผู้บริโภค โดยมี Spore Bangkok เป็นตัวกลาง เธอยกตัวอย่างว่า เมื่อมีการใช้ Data มาประกอบจะเป็นมากกว่าแค่การยิงโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เคยดูมิวสิกวิดีโอของนักร้องคนนี้ แต่จะมีข้อมูลมากพอว่า ผู้บริโภคคนหนึ่งที่ชอบในตัวศิลปินดารา ยังใช้เครื่องสำอางยี่ห้อนี้ ยังชอบไปเที่ยวที่นี่ ติดตามข่าวสารจากเพจนี้ และยังใช้สินค้าอื่นๆ
“เราจะเห็น Consumer Journey ไปพร้อมกับเห็นโอกาสทางธุรกิจที่แบรนด์จะสามารถเข้ามาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างไม่รู้สึกต่อต้าน เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครายนั้นชอบอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงเป็น Media Solution ในการหา Touch Point จากการนำดาต้าของผู้บริโภควกกลับมาทำให้เกิดประโยชน์อะไรบางอย่างกับแบรนด์”
ส่วนค่ายเพลง What The Duck ก็เป็นรายแรกในฐานะเอ็กคลูซีฟ พาร์ทเนอร์ ซึ่งสาเหตุที่เป็นค่ายเพลงนี้เพราะมองเห็นศักยภาพของค่ายและดาต้าที่มีอยู่จากช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊กที่มีคนกดไลก์อยู่ 6 ล้านคน อินสตาแกรมมีคนตามอยู่ 3.6 ล้านคน ทวิตเตอร์ 2.5 คน และยูทูบมีคนติดตามประมาณ 2 ล้านคน
“อย่างแฟนคลับเดอะทอยส์ อาจชอบการดื่มนมยี่ห้อนี้ หรือชอบอ่านเพจนี้ด้วย มันเป็นการจับพฤติกรรมที่สอดคล้องกัน ให้เกิดเป็นช่องทางธุรกิจใหม่ โดยอาศัยดาต้าที่เป็นประโยชน์ 3 ด้าน คือข้อมูลที่มีมูลค่าทางดิจิทัลที่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ สองคือเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการสร้างรายได้จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่ยังไม่ได้นำมาวิเคราะห์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และนำดาต้าเหล่านี้ไปพัฒนาธุรกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น”
Spore Bangkok มีระบบการรวบรวมข้อมูล หรือ DMP (Data Management Platform) เป็นระบบที่รวบรวม จัดเรียงและส่งต่อข้อมูลต่างๆ ตามที่ต้องการ เพราะในแต่ละวันมีข้อมูลมากมายและหลากหลายรูปแบบ ทำให้สามารถแยกแยะกลุ่ม และนำข้อมูลเหล่านั้น มาเลือกซื้อโฆษณาได้อย่างถูกต้องและแม่นยำตรงกลุ่มเป้าหมายได้ยิ่งขึ้น ซึ่งโปรเจกต์ BED ก็จะนำระบบดังกล่าวมาใช้ เพื่อให้ได้ Entertainment Data มาวิเคราะห์ตาม Consumer Journey และ BED ไม่ใช่แค่ BIG Data แต่เป็น Entertainment Data ที่จับต้องได้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจและผู้บริโภค
“ส่วนตัวศิลปินจะได้รู้ข้อมูลเชิงลึกของแฟนคลับว่าเขาชอบแบบไหน สนใจอะไร ไม่แน่ว่าการแต่งเพลงในอนาคตอาจมาจากข้อมูลเหล่านี้ และช่วยในการตามหาซูเปอร์แฟนอาจให้เขาฟังเพลงใหม่ก่อนใคร พร้อมกับช่วยขยายฐานแฟนเพลงให้ไปยังกลุ่มใหม่ด้วย” ชวนา กล่าวทิ้งท้าย
Tags: Spore Bangkok, Branded Entertainment Data, data, ดาต้า