ประมาณ 200 ปีที่แล้ว ทอมัส มัลทัส (Thomas Malthus) นักวิชาการชาวอังกฤษผู้ทรงอิทธิพลในศาสตร์ด้านประชากร ทำนายไว้ในหนังสือ ความเรียงว่าด้วยประชากรศาสตร์ (An Essay on the Principle of Population) ว่าไม่ช้าก็เร็ว ประชากรโลกจะต้องเผชิญกับความอดอยากแร้นแค้น เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นไม่ทันอัตราการเติบโตของประชากรโลก นำไปสู่ภัยพิบัติมัลทัส (Malthusian catastrophe) คือสงครามแก่งแย่งอาหาร และโรคระบาดครั้งมโหฬารที่จะกวาดล้างมนุษยชาติให้กลับไปสู่ระดับประชากรที่เหมาะสม
แนวคิดนี้ดูเป็นเรื่องน่าหัวเราะ เพราะแม้แต่ในปัจจุบัน มนุษยชาติก็ยังมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่เห็นจะมีใครต้องจับปืนผาหน้าไม้ไปทำสงครามกับใครเพื่อแย่งชิงอาหาร เพราะการปฏิวัติการเกษตรหรือการปฏิวัติเขียวได้พาเราสู่การเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรกรรมสู่การผลิตสมัยใหม่ที่เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีเข้มข้น เรารอดพ้นภัยพิบัติมัลทัสมาได้อย่างสบายหายห่วง แต่ความกังวลก็กลับมาอีกครั้ง หลังจากตัวเลขประชากรเพิ่มสูงขึ้นจนคาดว่าจะเหยียบ 9,000 ล้านคนภายในปี 2593 จากปัจจุบัน 7,400 ล้านคน
นับวัน เกษตรสมัยใหม่ที่ไม่ยั่งยืนนั้นทิ้งผลลัพธ์อันเลวร้ายต่อธรรมชาติ เช่น การปล่อยแก๊สเรือนกระจกจนพื้นที่ที่เคยเพาะปลูกพืชอาหารได้ อาจทำเกษตรไม่ได้อีกต่อไป หรือการประมงในระดับทำลายล้าง จนหลายคนเริ่มห่วงลูกหลานว่าจะกินอะไรในอนาคต
ประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 70 เพื่อป้อนคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในเมืองและร่ำรวยขึ้น เรื่องคงไม่ยากถ้าเราเป็นสัตว์มังสวิรัติ เพราะวิถีชีวิตแบบนี้ใช้พื้นที่น้อยกว่าการกินทั้งพืชทั้งสัตว์ประมาณ 20 เท่าตัว (ตามมาตรฐานอเมริกันชน) อย่างไรก็ดี เงินที่กระจายไปสู่หมู่คนเคยจนอย่างประชากรจีน ก็ทำให้ความต้องการเนื้อสัตว์พุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (แม้ว่ารัฐบาลจีนจะออกแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อสนับสนุนให้คนจีนกินผักก็ตาม) หลายคนอาจไม่ทราบว่าปริมาณแคลอรีจากการเพาะปลูกพืชทั่วโลกราวร้อยละ 36 ถูกนำไปใช้ป้อนใส่ปากเจ้าหมู ไก่ วัว และแกะ แต่ปริมาณแคลอรีที่มนุษย์ได้รับจากการบริโภคเนื้อสัตว์ จะเหลือเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น
เราจะเอาตัวรอดในอนาคตได้อย่างไร ให้ทุกคนเปลี่ยนไปกินมังสวิรัติคงเป็นเรื่องฝันกลางวัน อาหารเทียมที่ผลิตจากการปลูกเนื้อเยื่อก็แสนแพง แถมรสชาติห่วยแตก ส่วนจะให้เพิ่มพื้นที่ปศุสัตว์มากกว่านี้ ก็คงต้องไล่คนจนให้ไปอยู่ในสลัม แล้วสร้างโรงงานเลี้ยงหมู ไก่ วัว และแกะ ขึ้นมาแทน
คำตอบอยู่ไม่ไกล แค่ลองเดินถนนกรุงเทพฯ ยามย่ำค่ำ ซึมซับ Sense of Siam ริมทางเท้า เราก็จะพบว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในผู้นำเทรนด์ ‘โปรตีนแห่งอนาคต’
ครับ, คำตอบคือแมลง!
การกินแมลงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะประเทศร้อยละ 80 ของโลกและคนกว่า 2,000 ล้านคน เขาก็กินกันเป็นเรื่องปกติ และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ก็ได้เผยแพร่รายงานว่ามีแมลงกว่า 1,000 สปีชีส์ที่รับประทานได้ แม้ว่าปัจจุบันแมลงอาจไม่ใช่อาหารฮอตฮิต แต่ก็มีบันทึกศาสตร์และศิลป์ของการกินแมลง ชื่อเรียกเก๋ไก๋ว่า Entomophagy ซึ่งสืบย้อนกลับไปได้ถึงคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเก่า แถมเจ้าแมลงก็ยังเป็นอาหารค่ำแสนธรรมดาของชาวกรีกและโรมัน แม้แต่ปราชญ์ชาวกรีกอย่างอริสโตเติลก็ยังบันทึกว่าเคยเอร็ดอร่อยกับการกินจักจั่น
FAO และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ภูมิภาคอเมริกาและยุโรปต่างก็โปรโมตการกินแมลงเต็มที่ เพราะมีข้อดีทั้งปล่อยแก๊สเรือนกระจกและใช้ที่ดินน้อยแสนน้อยเมื่อเทียบกับการทำปศุสัตว์รูปแบบเก่า แถมเจ้าแมลงยังเป็นอาหารที่แปลงเป็นโปรตีนได้ดีกว่าวัวถึง 12 เท่า ส่วนเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ แมลงก็มีโปรตีนเทียบเท่าเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ ในขณะที่ให้แคลอรีต่ำกว่า นอกจากนี้ เหล่าผู้บริโภคแมลงยังไม่ต้องกังวลเรื่องโรควัวบ้า ไข้หวัดหมู หรือไข้หวัดนก เพราะปัจจุบัน เชื้อโรคดังกล่าวยังไม่มีการแพร่ระบาดในแหล่งโปรตีน 6 ขาหรือมากกว่านั้น
การกินแมลงเริ่มเคลื่อนสู่ความสนใจตั้งแต่ปี 2553 หลังจากคลิป TED Talks ของ มาร์เซล ดิกเกอ (Marcel Dicke) นักกีฏวิทยาที่สนับสนุนให้คนกินแมลง มีการคลิกเข้าไปชมถึง 1.3 ล้านครั้งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา สตาร์ตอัพในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบริโภคแมลงจึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยได้รับทุนสนับสนุนทั้งจากสาธารณชนผ่านแพลตฟอร์ม Kickstarter มูลนิธิของสามีภรรยาเกตส์ และสหประชาชาติ แต่โจทย์ใหญ่ที่เหล่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องเผชิญคือความ ‘ยี้’ ของแมลง ซึ่งทำให้มีน้อยคนอยากจะหยิบใส่ปาก
ทางออกของเหล่าสตาร์ตอัพคือการ ‘เนียน’ โดยการบดเจ้าจิ้งหรีดให้เป็นผงก่อนนำไปผสมเป็นสินค้าหลากชนิด เช่น โปรตีนบาร์แบรนด์ EXO และ Hopper ขนมขบเคี้ยวแบรนด์ Six Foods คราฟต์ค็อกเทลแบรนด์ Critter Bitters เส้นพาสต้าแบรนด์ Bugsolutely รวมถึงสินค้าที่โชว์ส่วนผสมแบบโต้งๆ อย่างเหล้าจินแบรนด์ Anty Gin ที่ผสมสมุนไพรหลากชนิดและมดแดงประมาณขวดละ 62 ตัว
ส่วนในไทย นอกจากที่ขายกันตามท้องถนน เราก็ได้เห็นขนมถุงแมลงทอดกรอบหลากรสหลายประเภทที่กำลังตีตลาดชนชั้นกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยน้อยคนจะทราบว่าประเทศไทยนั้นมีกิจการฟาร์มเลี้ยงแมลงมากกว่า 20,000 แห่ง และหลายบริษัทก็ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแมลงเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
กระแสการกินแมลงยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยคาดว่าภายใน 7 ปีข้างหน้า ตลาดแมลงกินได้จะมีมูลค่าถึง 722 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ราวปีละกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ แถมเทรนด์นี้ยังถูกจัดว่าเป็นเทรนด์รักโลก เรียกได้ว่าทั้งราคาถูก ได้สารอาหารครบถ้วน แถมยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
เย็นนี้ อย่าลืมลองหา ‘อาหารแห่งอนาคต’ มารับประทานกันนะครับ
หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงจากบทความชื่อเดียวกันที่ได้รับรางวัลจากรายการพอดแคสต์ Omnivore
อ่านและชมวิดีโอเพิ่มเติม
A Five-Step Plan to Feed the World
10 ways vegetarianism can help save the planet
Redefining Agricultural Yields: from Tonnes to People Nourished per Hectare
TED Talks – Why not eat insects?
Insects: Food of the future?
Why these startups want you to eat bugs
Global Market Study on Edible Insects: Owing To Increasing Cost of Animal Protein and Increasing Consumption of Sustainable Food to Drive Market Growth By 2024