การคุกคามแรงงานในที่ทำงานเกิดขึ้นแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมเกาหลีใต้ รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้ระบุว่า มีลูกจ้าง 70% ที่เคยถูกบุลลี่จากพนักงานในระดับที่สูงกว่า หรือจากเพื่อนร่วมงาน โดย 60% ของเหยื่อไม่ดำเนินการใดๆ ขณะที่มี 12% เจอกับการคุกคามทุกวัน มีภาษาเกาหลีที่ใช้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า gapjil ซึ่งหมายถึงการคุกคามผู้อื่นของคนที่มีอำนาจเหนือกว่า
นักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานของ Workplace Gabjil 119 และองค์กรไม่แสวงหากำไรอื่นๆ ให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างของการคุกคามพนักงาน เช่น สั่งให้เขียนเรียงความให้ลูกของผู้จัดการ เต้นท่าเซ็กซีให้ผู้บริหารดู หรือกระทั่งถอนผมหงอกของหัวหน้า
เมื่อที่ 16 กรกฎาคม เกาหลีใต้เริ่มใช้กฎหมายต่อต้านการกลั่นแกล้งหรือบุลลี่ในที่ทำงานแล้ว และถือเป็นครั้งแรกที่บังคับให้นายจ้างต้องแก้ปัญหาเมื่อเกิดการคุกคามในที่ทำงาน ถ้าเพิกเฉยต่อการที่พนักงานถูกคุกคามในที่ทำงานนายจ้างอาจถูกลงโทษหนักถึงขั้นจำคุกได้
แรงงานสามารถรายงานพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง เช่น นินทาหรือถูกบังคับให้ทำงานได้ ขณะที่นายจ้างจะมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 25,000 เหรียญสหรัฐ หากเพิกเฉย ส่วนเหยื่อสามารถยื่นขอค่าชดเชย ถ้ามีปัญหาทางสุขภาพหลังจากถูกคุกคามในที่ทำงาน
หากมีรายงานการคุกคามในที่ทำงาน นายจ้างต้องสอบสวนทันที และดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ กฎหมายนี้ยังห้ามไม่ให้นายจ้างดำเนินการใดๆ ที่กระทบต่อเหยื่อหรือลูกจ้างที่รายงานว่าถูกบุลลี่
ที่ผ่านมา การคุกคามในที่ทำงานถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่เกิดขึ้นได้ปกติ ไม่ใช่ปัญหาสังคม แต่กฎหมายใหม่ยืนยันว่า ต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย ชอึนฮยี อัยการสำนักกฎหมายแรงงานกล่าว
นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกคู่มือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่จัดว่าเป็นการคุกคาม เพื่อช่วยให้บริษัทเข้าใจการบุลลี่ เช่น การนินทาเพื่อนร่วมงานหรือกระจายข้อมูลส่วนตัว บังคับให้ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารเย็นของบริษัท นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้คำพูดคุกคามหรือทำให้อับอายต่อหน้าผู้อื่นด้วย
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/business-49000046
ภาพ: Jung Yeon-je / AFP
Tags: เกาหลีใต้, บุลลี่