ช่วยอธิบายสถานการณ์โควิด-19 ของเมืองพัทยาว่าตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
พัทยาเป็นเมืองเก่าแก่ด้านการท่องเที่ยว เป็นเมืองท่องเที่ยวของทหารอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อ 60 ปีก่อน พัทยามีภูมิประเทศที่เหมาะสำหรับการเป็นเมืองท่องเที่ยว มีความสวยงาม มีทะเล รัฐบาลจึงเลือกพัทยาให้เป็นจุดยุทธศาสตร์เมืองท่องเที่ยว
ก่อนเหตุการณ์โควิด-19 เรามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จนในปี 2561-2562 เรามีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึงปีละ 16 ล้านคน แบ่งเป็นชาวไทยแค่ 1 ใน 3 ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด พัทยาสร้างรายได้ถึง 2.5 แสนล้านบาท ในช่วงก่อนโควิด-19 แต่การแพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้ว มีคำสั่งปิดเมืองมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม พัทยาเราเริ่มปิดในช่วงต้นเดือนเมษายน ปิดนานถึง 1 เดือนเต็ม
ช่วงนั้นใครจะเข้าออกเมืองพัทยา หรืออำเภอบางละมุง จำเป็นต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มีที่อยู่ หรือทำงานในเขตเมืองพัทยาเท่านั้น หรือเป็นกลุ่มขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ก็ต้องได้รับใบอนุญาต ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจุดวิกฤตของเมืองพัทยาเช่นกัน เพราะในช่วงต้นปีซึ่งตรงกับช่วงไฮซีซัน พัทยายังคงมีอัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวสูงมากเป็นปกติ แต่พอมีการล็อกดาวน์ จำนวนนักท่องเที่ยวก็กลายเป็น ‘ศูนย์’ ทันทีจากการปิดน่านฟ้าและการงดเดินทางของสายการบินทั่วโลก ส่งผลให้สภาวะทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของเมืองพัทยา ในช่วงที่ผ่านมาได้หยุดชะงักลง รายได้หายไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เห็นได้จากอัตราการเข้าพักที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นศูนย์
ต่อมาช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย จึงเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างลำบาก เริ่มมีการปิดกิจการหลายประเภทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง ฟิตเนส หรือสปา ทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของพัทยาหยุดชะงักไป
ปี 2563 ที่ผ่านมา สถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเผยว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกระดับ เพราะประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี
เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว บรรยากาศความเป็นเมืองท่องเที่ยวก็หายไปด้วย ชาวพัทยามีความเป็นอยู่อย่างไร
เรายังไม่มีโอกาสพบกับผู้ประกอบการของเมืองพัทยาในทุกระดับ แต่ถ้าเรามองกลุ่มโรงแรม สถานบริการ หรือธุรกิจอื่นๆ ณ ปัจจุบัน ที่อยู่ในห่วงโซ่การท่องเที่ยวและมีผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับคนระดับรากหญ้า นั่นก็คือกลุ่มคนพัทยาดั้งเดิมที่มีที่ดินอยู่และทำธุรกิจบ้านเช่า หรือห้องเช่าสำหรับพนักงาน ซึ่งเราเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็น ‘กลุ่มผู้ให้ที่พักอาศัย’ เรามองว่ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบหมด
ตอนที่ธุรกิจท่องเที่ยวเปิด โรงแรมเปิด สถานบริการเปิด ตอนนั้นมีพนักงานอยู่ในระบบห่วงโซ่ของการท่องเที่ยวมากถึง 8 หมื่นคน หลังจากที่คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าจ้าง ลดวันทำงาน ทำให้ในส่วนของผู้ให้เช่าห้องพัก และอพาร์ตเมนต์ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เพราะเมื่อพนักงานได้รับผลกระทบมากเข้า รายได้ก็ลดน้อยลง ทำให้เขาเลือกที่จะย้ายออกจากพัทยา กลับไปยังถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิมไป
ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มพนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ จึงได้รับผลกระทบก่อน ด้านกลุ่มธุรกิจค้าส่งที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการหรือ Street Vendors ร้านปิ้งย่าง จิ้มจุ่มอะไรพวกนี้ จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับที่สอง ต้องปิดกิจการไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่มี ผลกระทบในระดับรากหญ้าแรงงานจึงตามมาเป็นทอดๆ
หรืออย่างห่วงโซ่ในเรื่องของซัพพลายเออร์ ต่างๆ เช่น คนขายของสด-ของแห้ง หรือวัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นหายไปหมดเลย ทุกคนจึงได้รับผลกระทบ จากการหยุดดำเนินกิจการ ทำให้มีปัญหาต่อมาในด้านรายได้จากการจัดเก็บภาษี ในปี 2563 เราสามารถจัดเก็บได้น้อยลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในภาพรวม
สาเหตุแรกมาจากการท่องเที่ยวที่หายไป สาเหตุที่สองมาจากการที่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลในการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งพอธุรกิจได้รับผลกระทบจากตรงนี้ไป ทุกระดับจึงได้รับผลกระทบตามกันไปทั้งหมดในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปี ซึ่งควรจะเป็นไฮซีซันของเมืองพัทยา ก็ทำให้รายได้ตกไปถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์
คนในพื้นที่ที่เคยอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว ตอนนี้เขาหันไปทำอะไรกัน
เขาก็พยายามที่จะปรับตัว จากการที่เราได้พูดคุยกับชาวบ้านบางกลุ่ม เขามีการนำเงินเก็บมาใช้บ้างแล้วส่วนหนึ่ง และก็มีบางกลุ่มที่พยายามจะปรับธุรกิจของตัวเอง
หากเป็นร้านอาหารหรือสถานบริการก็จะปรับเข้าหาลูกค้ามากขึ้น โดยปรับให้เข้าถึงคนไทยง่ายขึ้น อย่างปัจจุบันก็มีการปรับเมนู ปรับราคาให้เข้ากับกลุ่มคนไทยมากขึ้น ในส่วนของโรงแรมก็จะมีโปรโมชันลดราคาห้องพัก หรือแพ็กเกจอาหารต่างๆ อยู่เยอะมาก จะเห็นว่าโรงแรมห้าดาวที่ลูกค้าคนไทยอาจจะแตะต้องได้ยากในช่วงปกติ ทุกวันนี้ก็มีการปรับลดราคาลงมา
ตอนนี้ทุกคนก็พยายามที่จะปรับตัวเพื่อที่จะพยายามประคองให้พ้นช่วงนี้ไปก่อน จากเคยรับแต่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ ก็ต้องปรับเข้าหาลูกค้าคนไทยมากขึ้น แต่ก็ยังยึดในแนวทางปฏิบัติของ ศบค. ในการดำเนินธุรกิจอยู่เช่นกัน เพื่อความปลอดภัย และป้องกันการแพร่ระบาด
เมืองพัทยามีมาตรการป้องกันโควิด และการเยียวยาคนที่ขาดรายได้อย่างไร
ช่วงก่อนหน้านี้ เราได้ดำเนินการออกข้อบัญญัติในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเรื่องนี้เราน่าจะต้องเยียวยาผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพัทยาก่อน ตามทะเบียนบ้านเรามีอยู่ทั้งหมด 1.2 แสนคน เราพยายามเยียวยาแก้ไขผู้ที่ได้รับผลกระทบไปแล้วประมาณ 9,000 กว่าครัวเรือน โดยได้ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ภายใต้กฎบัญญัติของเมืองพัทยา ที่สามารถที่จะดำเนินการได้โดยช่วงนั้น ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายโดยตรง
อีกส่วนเราก็ดำเนินการร่วมมือกับทางภาคธุรกิจและภาคเอกชน ออกแบบโครงการที่สามารถทำร่วมกันให้กับเมืองพัทยาได้ โดยเรามอบอาหารเครื่องดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค และเงินสดบางส่วนให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตอนนี้เรายังช่วยเหลือเขาอยู่
สำหรับการร่วมกันของภาคธุรกิจเอกชน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการสร้างโครงการพัทยา Hot Deal หรือพัทยา Grand Sale เพื่อส่งเสริมการขายในเมืองพัทยา โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโควิดระลอกแรกได้บ้าง
เมื่อมีการผ่อนคลายมากขึ้น เราก็ได้จัดโครงการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น งานแสดงพลุพัทยา เทศกาลดนตรีพัทยา ช่วงปลายปีเราก็จัดงานพัทยาเคานต์ดาวน์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมา แต่บังเอิญว่าโควิด-19 กลับมาพอดี จึงต้องยกเลิกการจัดพัทยาเคานต์ดาวน์และเกาะล้านเคานต์ดาวน์ ไป
ทั้งหมดนี้มีทั้งกิจกรรมที่เราจัดและร่วมจัดกับเอกชน แล้วเอกชนมาขอใช้สถานที่ในเมืองพัทยาจัดกิจกรรมในช่วงที่เริ่มผ่อนคลายแล้ว ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง จุดสำคัญคือเราพยายามเปิดตลาดคนไทยให้เพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาตลาดคนไทยต่อปีมีประมาณ 5 ล้านคน เป็นเพียง 1 ใน 3 ของทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวเลขที่ทำให้พัทยาคึกคักเหมือนเดิม ดังนั้นจึงมีมาตรการยุทธศาสตร์ในการดำเนินการเพิ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยให้มากขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ หรือนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มเฉพาะด้าน
เราจึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดแผนการดำเนินการต่างๆ ขึ้นมา เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และกระจายความเสี่ยงออกไป หากเป็นเมื่อก่อน เรามีสัดส่วนรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยวอย่างเดียว 70 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรที่จะกระจายออกไปอยู่ในสาขาอื่นด้วย เพื่อที่จะเป็นการเพิ่มรายได้ หรือทำให้เมืองพัทยามีเศรษฐกิจที่เดินหน้าได้
การกระจายรายได้ไปอยู่ในสาขาอื่นนั้น มองว่ามีภาคส่วนไหนบ้างที่เหมาะกับเมืองพัทยา
ในพัทยา 70 เปอร์เซ็นต์ คือการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่หากมองเมืองชลบุรีทั้งจังหวัดเรามีทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เกษตร ขนส่ง ประมง จึงทำให้ถึงแม้การท่องเที่ยวจะกระทบ แต่ยังมีภาคอื่นที่จะมาช่วยพยุงไปได้บ้าง
จริงๆ แล้ว ผมมองไว้ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวช่วงปี 2546 แล้ว ที่จะทำยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวในช่วงนั้น เพราะประเทศไทยเรามีห้องพักมาก ยิ่งพัทยามีมากกว่าจำนวนประชากรเสียอีก ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Over Supply’ ช่วงนั้นเราตกอยู่ในกับดักของการท่องเที่ยวในราคาถูก พอมีห้องพักมากๆ จึงเป็นตลาดของผู้ซื้อในกลุ่มทัวร์ ที่เอาจำนวนปริมาณการซื้อขายมาต่อรองราคาค่าห้องพักพร้อมอาหารเช้า และทำให้อำนาจในการต่อรองของผู้ขายต่ำลง
ดังนั้น พอเราได้เข้ามาบริหารเมืองพัทยา เราจึงเน้นในเรื่องของยุทธศาสตร์ ‘นีโอ พัทยา’ หรือพัทยาโฉมใหม่ขึ้น โดยเอาภาพรวมของ EEC เข้ามาเป็นตัวตั้ง เพราะว่าคำสั่งที่ผมได้มาเป็นนายกเมืองพัทยา ก็เพราะว่า EEC ด้วย การเตรียมความพร้อมของพัทยาในการเป็นเมืองท่องเที่ยวของ EEC ไม่ใช่แค่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพราะจะมีนักธุรกิจ และนักลงทุนที่เข้ามาอยู่ใน EEC เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นเราจึงต้องขยายตลาดของเมืองพัทยาออกไป แทนที่จะเป็นตลาดของคนท่องเที่ยวอย่างเดียว ต่อไปพัทยาจะกลายเป็นเมืองที่พักอาศัย เป็นออฟฟิศ เป็นที่ทำงานของภาคธุรกิจ เพราะในปัจจุบันตรงนี้ยังมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวของพัทยา
ช่วงก่อนที่จะมีโควิด-19 มีกลุ่มนักธุรกิจเข้ามาลงทุนเยอะมากในการที่จะสร้างตึกออฟฟิศ ซึ่งมันดันตรงกับเป้าหมายของเรา และเราก็ยกรูปแบบของเมืองไมอามี ดูไบ และสิงคโปร์มาประยุกต์ใช้ เนื่องจากเมืองเหล่านี้มีสถานะเป็นทั้งเมืองท่องเที่ยว และเป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจ อย่างไมอามีก็เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน และที่พักอาศัย หรืออย่างสิงคโปร์ ดูไบก็เช่นกัน
เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการบูรณาการร่วมกันของภาครัฐและเอกชน จึงเป็นสิ่งที่เราจะผลักดันนีโอ พัทยา ภายใต้ยุทธศาสตร์ของ EEC หลังจากเราผ่านโควิดช่วงนี้ไปแล้ว เราต้องปรับปรุงปรับตัวพัทยาให้เป็นเมืองพร้อมที่จะเติบโตในอนาคต พัทยาจะกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ แต่จะต้องกลับมาดีกว่าเดิม ในการที่จะอยู่ภายใต้ร่มเงาของ EEC เชื่อไหมว่าช่วงโควิดที่ผ่านมา ยังมีการขออนุญาติก่อสร้าง โครงการถึง 360 โครงการ ในจำนวนนั้นมีการก่อตั้งโรงแรมใหม่ถึง 17 แห่งมีที่พักอาศัย 36 โครงการ และมีการขอปรับปรุงที่พักเดิมมากกว่า 50 แห่ง ผมจึงมองว่าพัทยายังคงมีอนาคต และมีคุณค่าในสายตาของนักลงทุน
ณ ปัจจุบันการระบาดระลอกสอง มีการตรวจสกัด ด่านตรวจต่างๆ รวมถึงมาตรการป้องกันอย่างไรบ้าง
เรามองสองด้าน จากประสบการณ์ของเราจากการระบาดครั้งที่แล้ว เราปิดเมืองพัทยาโดยการที่เปิดแค่ 8 ประตู ในการเข้าสู่เมืองพัทยาเพียงเท่านั้น ประตูทั้งหลายจะอยู่ในสายสุขุมวิททั้งหมด เพราะการระบาดรอบที่แล้วจะอยู่ในไข่แดงของเมืองพัทยาทั้งนั้น (ใจกลางเมือง) ซึ่งเป็นเหตุมาจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่มีความใกล้ชิดกัน เราจึงใช้ถนนสุขุมวิทในการปิดพัทยาทั้งหมด การเข้าออกจะต้องเป็นคนพักอาศัย คนทำงานในพัทยาเท่านั้น หรือมีเป้าหมายในการเข้าพัทยาอย่างชัดเจน
ครั้งก่อนเราสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อลงไปเท่ากับศูนย์ได้ โดยใช้การตรวจเชิงรุก ทำให้เมืองพัทยาไม่มีผู้ติดเชื้อมานานถึง 200 กว่าวัน จนกระทั่งเกิดสถานการณ์ครั้งล่าสุด ที่ต้องบอกแบบนี้เพราะว่าสถานการณ์มันต่างกัน กลุ่มของผู้ติดเชื้อคราวที่แล้วมาจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ แต่ครั้งนี้มาจากบ่อนการพนัน แรงงาน และธุรกิจผิดกฎหมายเป็นหลัก ทำให้เรารู้ว่าเป้าหมายในการที่เราจะปิดกั้นคัดกรองเป็นคนกลุ่มไหน เราจึงมีจุดปิดกั้นคัดกรองไม่มากนัก เพียงแค่ 2 จุด โดยใช้การตรวจอย่างละเอียด และการสุ่มตรวจสลับกัน จนถึงวันนี้ที่เราคุยกัน ชลบุรีไม่มีผู้ป่วยมา 2 วันแล้ว บางละมุง พัทยา ไม่มีผู้ป่วยมาหลายวันแล้ว
ผมจึงต้องบอกว่าบริบทของครั้งนี้ และครั้งก่อนนั้นแตกต่างกัน และสามารถพูดได้แล้วว่าในครั้งนี้เรา ‘เคลียร์’ แล้ว ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ภายในสิ้นเดือนนี้ ก็น่าจะมีการผ่อนคลายเกิดขึ้นได้แล้ว
แล้วที่บอกว่าเมืองพัทยามีงบประมาณท้องถิ่นเพียงพอในการซื้อวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ รายละเอียดเป็นอย่างไร
ดังที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศแล้วว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้คนไทยทุกคน ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด และมีแผนในการฉีดแบบไหน เรามองว่าครั้งนี้มีท้องถิ่นหลายแห่ง ที่มีความพร้อมในการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ด้วยการซื้อวัคซีนมาฉีดเองได้ ซึ่งต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการรับรองจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) และมีการทดสอบทั้งหมดแล้ว
ที่บอกว่าพร้อม หมายความว่าทางด้านการเงินการคลัง เราพร้อมที่จะนำเงินไปซื้อมาฉีดได้ อีกอย่างมันคือการสร้างความเชื่อมั่นให้คนในพัทยา และคนนอกอย่างนักท่องเที่ยว รวมถึงคนที่จะเดินทางเข้ามาในพัทยา เนื่องจากพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงต้องทำให้เขามั่นใจได้ว่าพัทยาเป็นพื้นที่สีเขียว ปลอดเชื้อ
จากมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก หากมีการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้คนในประเทศนั้นมากกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้พื้นที่นั้นกลายเป็นพื้นที่ควบคุมโรคได้ แต่เป้าหมายของเมืองพัทยาคือการฉีดให้คนในเมืองพัทยาทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ คงต้องดูหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขด้วยว่าจะต้องฉีดอย่างไร มีมาตรการแบบไหน และมีการใช้เงินในท้องถิ่นอย่างไร ซึ่งปกติการควบคุมโรคติดต่อเป็นภารกิจของท้องถิ่นอยู่แล้วตามกฎหมาย แต่เราต้องมีการดำเนินการภายใต้แนวทางของรัฐบาลว่าเขาจะมีแนวทางอย่างไร
ในฐานะที่เป็นคนชลบุรีรู้สึกอย่างไรที่เห็นพัทยาเป็นแบบนี้
ต้องบอกว่าครั้งนี้หนักที่สุดในประสบการณ์ชีวิตของผมเลย ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นภาวะฟองสบู่แตก ปี 2540 หรือการระบาดของโรคซาร์ส ไข้หวัดนก ก็ไม่มีอะไรที่หนักเท่ากับครั้งนี้ เพราะครั้งก่อนๆ เช่นฟองสบู่แตก ก็มีผลกระทบแค่กับกลุ่มนักลงทุนในระดับสูง หรือการแพร่ระบาดครั้งอื่นๆ เราก็สามารถฟื้นฟูกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ด้วยโควิด-19 ครั้งนี้เป็นโรคใหม่ ประชาชนทุกคนได้รับผลกระทบกันเต็มๆ ในทุกระดับ ในภาพรวมของทั้งโลก
การเดินทาง การบิน การลงทุน การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหมดทั้งโลก ยังไงมันก็ต้องกระทบมาถึงเมืองไทย มีการปิดกิจการในห่วงโซ่ท่องเที่ยวหรือห่วงโซ่อื่นๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าทุกคนต้องมีการปรับตัว เพื่อให้เราสามารถที่จะอยู่ได้ การที่เรามาอยู่พัทยาก่อนโควิด ทำให้เห็นว่าเมืองใดที่ผูกตัวเองไว้กับการท่องเที่ยวเพียงขาเดียวมันจะอยู่ไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้เราต้องเพิ่มขาอื่นเพิ่มขึ้นมา
วันนี้เรามองไว้ในสองส่วน หนึ่งคือคุณภาพชีวิตคน สองคือเศรษฐกิจ ทั้งคุณภาพชีวิตกับเศรษฐกิจมันต้องเกื้อกูลกันและไปต่อด้วยกันได้ ผมเห็นโควิด-19 ครั้งนี้ ผมเศร้าใจมากนะ ไม่เคยมีใครคิดว่าเราจะต้องมาอยู่กันในรูปแบบนี้มาก่อน
ในฐานะที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น เราก็ยังมีข้อจำกัดในการทำงานของเราอยู่ อย่างทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า 8 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในห่วงโซ่อุปทานท่องเที่ยวของพัทยาที่ออกมาเรียกร้องกันในหลายๆ เรื่อง การที่ขอให้ปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ผู้ประกอบการลดภาระ และสามารถที่จะใช้สิทธิทางด้านประกันสังคมได้ หรือเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเราสามารถทำได้ ก็ต้องดูว่าขอบเขตอำนาจของเรา สามารถทำได้ในระดับใดได้บ้าง
สำหรับผม อะไรที่สามารถเว้นได้ งดได้ ลดได้ ในการที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ภาษี หรือการเก็บเงินได้ของพัทยา ผมทำหมด อีกทั้งเรายังเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลควรจะทำอะไร และเราทำอะไรไปแล้วบ้าง ณ วันนี้ เขาก็ค่อยๆ ทยอยออกนโยบายใหม่ๆ มา
ประเมินจุดสิ้นสุดของวิกฤตโควิด-19 เมืองพัทยาไว้อย่างไร และมีแผนจะทำอะไรต่อ
คาดว่ากว่าโควิดจะหมด และสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ คงต้องใช้เวลาถึง 3-4 ปี จึงจะกลับมาเป็นแบบเดิม เพราะถ้าต้องมีผู้ได้รับวัคซีนถึง 65 เปอร์เซ็นต์ จึงจะเรียกว่าควบคุมโรคได้ ดังนั้นประเทศไทยน่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีในการฉีดวัคซีนจนครบทุกคน ผมหวังว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ปี ในช่วงนี้เราก็เตรียมตัวที่เพิ่มรายได้ขาอื่นของเมืองพัทยาตามรูปแบบของ EEC ที่ผมได้พูดไปแล้ว และต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนในจังหวัดชลบุรีของเรา
มีแผนสำหรับเมืองชลบุรีและพัทยาเยอะมาก หลังจากนี้จะสมัครเป็นนายกเมืองพัทยาต่อ หรือจะกลับไปเล่นการเมืองระดับชาติ
ณ วันนี้ การทำงานการเมือง ไม่ว่าจะระดับไหนก็คือการทำงานให้ประชาชนเหมือนกันหมด การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาครั้งหน้า เราก็ตั้งเป้าหมายว่าจะลงสมัครเป็นนายกฯ อีกสมัย เพื่อดำเนินการต่อตามเป้าหมาย เพราะที่ผมเข้ามารับตำแหน่งนี้ก็เพื่อดำเนินการเรื่องพัทยาภายใต้ EEC นี่แหละ ซึ่งตอนนี้ก็เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เซ็นสัญญาไปแล้ว หรือการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
ครอบครัวของคุณเคยเล่นการเมืองระดับชาติมาก่อน แสดงว่าหลังจากนี้ตระกูลคุณปลื้ม จะมาลุยท้องถิ่นเต็มตัวหรือเปล่า
การเมืองระดับชาติก็ต้องเดินหน้าต่อ จะเห็นว่าเรามีน้องชายของผม คุณอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว ในส่วนของครอบครัวและทีมงาน เรามองว่าการจะดำเนินแผนการเมืองของเราให้เดินหน้าได้อย่างชัดเจน ต้องมีความร่วมมือระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นอย่างเดียวอาจจะบริหารได้ภายในบริบทของท้องถิ่นเท่านั้น อย่างการซ่อมชายหาดพัทยาและหาดจอมเทียนก็เป็นการที่เราร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า เรายังคงต้องทำงานร่วมกันอยู่ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น เพราะเรามีเรื่องอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ
Fact Box
- สนธยา คุณปลื้ม เป็นบุตรชายคนโตของ ‘กำนันเป๊าะ’ - สมชาย คุณปลื้ม อดีตกำนันตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี ผู้กว้างขวางแห่งภาคตะวันออก
- เคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนแรก ปัจจุบันสังกัดพรรคพลังประชารัฐ