‘อัยนูร์’ อาจจะเหมือนเด็กสาวเยอรมันทั่วไปที่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน ฟังเพลงอาร์แอนด์บีที่เธอชอบ หากว่าเธอไม่ได้เกิดมาในครอบครัวชาวเคิร์ด พ่อแม่ของเธออพยพมาอยู่ในเยอรมนีในช่วงที่เปิดประเทศรับแรงงานต่างชาติ อัยนูร์เกิดและเติบโตที่เบอร์ลิน ถือสัญชาติเยอรมัน-เติร์ก

อัยนูร์ปฏิบัติตามหลักศาสนาและขนบธรรมเนียมที่พ่อแม่ยึดถือ เธอต้องหยุดเรียนและออกจากชั้นมัธยมฯ แล้วเดินทางไปเข้าพิธีแต่งงานที่ตุรกี ประเทศที่แปลกปลอมสำหรับเธอ ไปใช้ชีวิตคู่กับชายผู้เป็นญาติที่พ่อแม่จัดหาให้ แม้ไม่ใช่วิถีชีวิตที่เธอคิดจะเลือก แต่เธอก็ปฏิบัติตามความต้องการของพ่อแม่โดยไม่ขัดขืน

และแล้ววันหนึ่งเธอเดินทางกลับบ้านเกิดที่เบอร์ลิน พร้อมท้องแก่และบาดแผลจากการถูกทำร้ายร่างกาย เธอผละจากสามี แบบที่คนในครอบครัวของเธอเองเรียกว่าเป็น ‘ความอัปยศ’ และเมื่อคลอดลูกชาย เธอคิดจะย้ายออกจากบ้านไปใช้ชีวิตตามลำพัง ปราศจากแรงกดดัน แม้ต้องแลกกับความเคียดแค้นและเกลียดชังจากคนในครอบครัวก็ตาม

อัยนูร์ได้ที่พักพิงจากสถานสงเคราะห์แม่และเด็กอ่อน เธอทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ตหาเลี้ยงชีพ ต่อมาก็ไปเรียนวิชาชีพเป็นช่างไฟฟ้า เธอเริ่มถอดผ้าคลุมศีรษะออก ใช้ชีวิตของตนเองและเลี้ยงดูลูกชายตามวิถีตะวันตก เธอมีคนรักใหม่ มีความหวังใหม่

แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่เธอคาดหวัง เมื่อพี่ชายคนโตของเธอโทรศัพท์มาก่นด่าและข่มขู่ให้เธอหยุดก่อความอัปยศให้กับครอบครัว จากพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจาก ‘เส้นทางที่แท้จริง’ ตามคำสอนของศาสนาอิสลาม อัยนูร์ไม่สนใจและไม่เชื่อว่ามันจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่คนรักใหม่ของเธอกลับไม่คิดอย่างนั้น เขารู้สึกคล้ายเป็นอาชญากรรมในครอบครัว กระทั่งเขาทนเห็นสภาพที่เป็นไปไม่ได้ จึงแยกทางจากไป

สุดท้ายอัยนูร์ต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือของน้องชาย ที่ถูกพี่ชายคนโต ‘กล่อมเกลา’ ด้วยคำสอนจากมัสยิด

นั่นคือเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งจากหนังเยอรมันเรื่อง Nur eine Frau (A Regular Woman) ปี 2019 ที่ดัดแปลงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงเมื่อปี 2005 ที่เคยเป็นข่าวใหญ่ในเยอรมนี กระทั่งมีการถกเถียงกันถึงเรื่อง ‘การฆาตกรรมเพื่อปกป้องเกียรติยศ’ ของสังคมมุสลิมที่มีเชื้อสายเติร์กในประเทศ

เรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมีปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการเจรจาหารือกันระหว่างประเทศโดยสภายุโรปเพื่อการป้องกันและต่อสู้กับความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว จนก่อเกิดเป็นร่างอนุสัญญา ‘Istanbul Convention’ ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในปี 2011 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2014 ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมลงนามทั้งสิ้น 45 ประเทศ ผนวกกับกลุ่มประชาคมร่วมยุโรป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ตุรกีเป็นประเทศแรกที่ประกาศถอนตัวออกจากอนุสัญญาอิสตันบูล ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) ลงนามถอนตัวโดยที่ไม่ได้ระบุเหตุผล เรื่องนี้องค์กรเพื่อสิทธิสตรีอย่าง ‘We will stop femicide’ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า รัฐบาลตุรกีไม่เคยออกกฎหมายเพื่อยับยั้งความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัวเลยตลอดเวลาที่มีชื่ออยู่ในอนุสัญญาฉบับดังกล่าว

เป็นเหตุให้มีการประท้วงเกิดขึ้นหลายครั้งในตุรกี นำกลุ่มโดยพรรคฝ่ายค้าน CHP (Cumhuriyet Halk Partisi หรือพรรคสาธารณรัฐประชาชน) ที่กล่าวหารัฐบาลว่ายังมองผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง และต้องถูกฆาตกรรมต่อไป

ความรุนแรงในครอบครัวกลายเป็นปัญหาใหญ่ในตุรกี จากรายงานขององค์กร We will stop femicide ระบุว่า เมื่อปี 2020 มีผู้หญิงถึง 300 คน ถูกฆ่า จำนวนครึ่งหนึ่งเสียชีวิตด้วยน้ำมือสมาชิกในครอบครัวหรือสามีของตนเอง ที่เหลือเป็นกรณีฆ่าตัวตาย แต่สาเหตุหลักมาจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ปฏิกิริยาตอบรับการตัดสินใจของประธานาธิบดีแอร์โดอันไม่เพียงแต่มีการประท้วง หากองค์กรเพื่อสิทธิสตรียังยื่นฟ้องศาลอีกด้วย เพื่อทำให้การถอนตัวจากอนุสัญญาอิสตันบูล ‘ไม่เป็นผล’ เหตุเพราะอนุสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างตุรกีกับนานาชาติ ดังนั้นการถอนตัวจะใช้เกณฑ์การตัดสินใจของประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียวย่อมกระทำไม่ได้

ภายหลังคำประกาศถอนตัวจากอนุสัญญาอิสตันบูลโดยปราศจากเหตุผลของประธานาธิบดีแอร์โดอัน ไม่กี่วันถัดมาก็มีเหตุผลปรากฏในข่าวว่า อนุสัญญาฉบับดังกล่าวถูกบุคคลกลุ่มหนึ่งใช้ประโยชน์ ‘เพื่อทำให้กลุ่มคนรักร่วมเพศกลายเป็นเรื่องปกติ’ ในสังคมที่เชื่อว่ารักร่วมเพศเป็นสิ่งผิดตามคำสอนของศาสนา

เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เคยให้คำสัญญาระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาลเมื่อปี 2002 ว่าจะหยิบยื่นสิทธิให้แก่เกย์และเลสเบี้ยน อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะปกป้องพวกเขาจากการถูกรังแกในสังคม

ปี 2003 เกิดขบวนพาเหรดเกย์ขึ้นครั้งแรกในเมืองอิสตันบูล หลังจากนั้นจำนวนผู้เข้าร่วมงานได้เพิ่มมากขึ้นจนถึงปี 2015 แต่แล้วอยู่ๆ ขบวนพาเหรดสีรุ้งก็ถูกสั่งระงับ ด้วยเหตุผลอย่างเป็นทางการว่าเพราะเป็นเดือนถือศีลอด (รอมฎอน) นับแต่นั้นมาก็ไม่มีงานเกย์ไพรด์ในตุรกีอีกเลย

แม้รักร่วมเพศในตุรกีจะไม่ความผิดทางกฎหมายเหมือนในประเทศมุสลิมอื่นๆ แต่การยอมรับมีเพียงผิวเผินตามเมืองใหญ่ๆ นอกเหนือจากนั้นแล้วผู้คนยังยึดติดกับความเชื่อแบบเดิม นั่นคือ ‘อิสลามสาปแช่งรักร่วมเพศ’

มหาวิทยาลัย BAU ที่มีชื่อเสียงในอิสตันบูลเคยสำรวจความเห็นผู้คน หนึ่งในคำถามต่างๆ ถามว่า บุคคลประเภทไหนที่คุณไม่อยากให้เป็นเพื่อนบ้าน ผู้ตอบคำถามร้อยละ 87 ให้คำตอบว่า บุคคลที่เป็นรักร่วมเพศ อันดับสองได้แก่นักดื่มสุรา ตามมาด้วยคนไม่มีศาสนา

ก่อนที่อัยนูร์จะถูกน้องชายร่วมสายเลือดยิงเสียชีวิต น้องของเธอคนนั้นติดสอยพี่ชายคนโตเข้าไปในมัสยิด นั่งฟังผู้รู้ศาสนาอิสลามพร่ำสอนเรื่องวิธีอยู่ร่วมและจัดการกับผู้หญิงที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนออกจาก ‘เส้นทางที่แท้จริง’ หลังจากนั้น พี่ชายคนโตก็ยัดเยียดความเคียดแค้นส่วนตัวเพิ่มเติมให้น้องชาย จนนำไปสู่ ‘การฆาตกรรมเพื่อปกป้องเกียรติยศ’

หนังเรื่อง Nur eine Frau ได้รับรางวัลหลายสาขาในประเทศเยอรมนี และมีชื่อเข้าชิงรางวัลในเทศกาลหนังที่ทริเบคาด้วย อีกทั้งยังถูกเสนอให้ใช้เป็นสื่อการสอนในหลายวิชาตามโรงเรียนต่างๆ ในเยอรมนีอีกด้วย

            

อ้างอิง

Sherry Hormann, Nur eine Frau (A Regular Woman), 2019   

https://www.nzz.ch/international/tuerkei-verlaesst-istanbul-konvention-gegen-gewalt-an-frauen-ld.1607689

https://www.dw.com/de/istanbul-konvention-ankaras-homophobe-begr%C3%BCndung/a-56955759

https://www.sueddeutsche.de/politik/tuerkei-islam-homosexualitaet-1.4893182

Tags: , , , ,