11 พฤศจิกายน 1918 แม้จะเป็นวันที่สุ้มเสียงของการสู้รบจะยุติลงก็จริง แต่สงครามโลกยังไม่จบสิ้น ผู้คนนับล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังต้องต่อสู้กับชีวิตที่เหลือรอดต่อไป
อัลแบรต์ ฌูกอง (Albert Jugon) นายทหารหน่วยลาดตระเวนของฝรั่งเศส ผู้สูญเสียดวงตาข้างขวา ลิ้น และแก้มบริเวณฟันกราม พร้อมกับเพื่อนร่วมกองรบที่สูญเสียจมูก ริมฝีปากล่าง หน้าผาก และคาง ทั้งหมดห้าคนสวมชุดเครื่องแบบทหาร ยืนเรียงแถวกันในห้องกระจกของแวร์ซายส์ ในวันที่ 28 มิถุนายน 1919 ระหว่างการเซ็นสัญญาสงบศึกกับฝ่ายเยอรมนี
“ดูสิ พวกคุณทำกับฝรั่งเศสอย่างไรบ้าง” ฌูกอง-ตัวแทนของทหารผ่านศึกผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งห้าคน บอกกับผู้สื่อข่าว “การที่รัฐบาลฝรั่งเศสเชิญตัวพวกเรามาก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผลจากสงครามที่เยอรมนีก่อขึ้นนั้นได้สร้างความเจ็บปวดอย่างไร และสันติภาพที่ทุกคนปรารถนามีราคาแพงแค่ไหน”
Gueules Cassées (ใบหน้าเสียโฉม) เป็นศัพท์บัญญัติใบหน้าของผู้ได้รับบาดเจ็บจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในฝรั่งเศส ที่ถูกนำมาแสดงและขยายความในกรุงปารีส เพื่อซัดทอดความผิดให้กับเยอรมนี
ไม่เคยมีเหตุการณ์ครั้งไหนที่มวลมนุษย์จะต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างทารุณเท่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักรบชายฉกรรจ์ราว 60 ล้านคนมีอาวุธพร้อมมือต้องเสียชีวิตในสงครามถึง 10 ล้านคน ใครก็ตามที่รอดชีวิตจากสนามรบอย่างแวร์ดัง ในแคว้นกร็องเดส์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือซอมม์ เมืองริมฝั่งน้ำในแคว้นโอดฟร็องส์ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส มักจะบอบช้ำชำรุดทั้งร่างกายและจิตใจ
จากการคาดเดาของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณใบหน้ามีอาการป่วยทางจิตราว 11-14 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะในฝรั่งเศส มีผู้ป่วยชายระหว่าง 10,000-15,000 คน ส่วนทหารเยอรมันเป็นตัวเลขสูงกว่าที่ 50,000-100,000 คน
นายกรัฐมนตรีจอร์จส์ เคลม็องโช (Georges Clemenceau) เป็นคนนำเสนอ Gueules Cassées ในแวร์ซายส์ เพราะพวกเขาดูโดดเด่นจากบรรดาทหารผ่านศึกนับล้านคน มีทั้งคนพิการแขนขา ตาบอด หูหนวก และอัมพาต เป็น ‘เหยื่อสงคราม’ ที่ต้องต่อสู้กับฝันร้ายไปตลอดชีวิต
“ใบหน้าของเราบ่งบอกอัตลักษณ์ของสังคมที่เราอยู่” แดเนียล แม็คนีลล์ (Daniel McNeill) นักวิชาการของอเมริกาเคยกล่าวในครั้งนั้น เมื่อคนเราต้องเสียโฉมก็เท่ากับสูญเสียอัตลักษณ์ของตัวตน คนแขนด้วนอาจดูน่าสงสาร แต่คนที่ไม่มีใบหน้านั้นดูน่าหวาดกลัว
“ปกปิดใบหน้าที่น่าเกลียดน่ากลัวนั้นเสีย!” บุรุษพยาบาลตะโกนบอกเมื่อเห็นนายทหารใบหน้าเสียโฉมคนหนึ่งระหว่างปฏิบัติงานที่สนามรบเมืองแวร์ดัง นักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่า ใบหน้าเสียโฉมเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่สุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ใครก็ตามที่ได้พบเห็น จะพากันตกตะลึงจนพูดไม่ออก
การที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้คนใบหน้าเสียโฉมมากกว่าความขัดแย้งหรือสงครามครั้งไหนๆ มีสาเหตุจากเทคนิคการสู้รบแบบใหม่ของกองทัพ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการโจมตี การพุ่งเป้า และขอบเขต ให้เร็วและกว้างขึ้น อาวุธปืนหรือระเบิดไม่ได้ถูกใช้เพื่อสกัดหรือไล่ให้ถอยร่น หากถูกใช้เพื่อสังหาร และแบบประชิดตัว
ในสงครามครั้งก่อนๆ ทหารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสส่วนใหญ่มักเสียชีวิตในสนามรบ แต่ในสงครามโลกครั้งที่สองมีการเตรียมการปฐมพยาบาล รวมถึงวิวัฒนาการทางการแพทย์ไว้พร้อม เพื่อช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าสภาพบาดแผลจะเหวอะหวะสาหัสแค่ไหนก็ตาม
ผู้รอดชีวิตจากสงครามหลายคนจึงมีใบหน้าอัปลักษณ์เหมือนอย่างอัลแบรต์ ฌูกอง-ลูกชายช่างทอผ้าจากแคว้นบริตตานี เกิดเมื่อปี 1890 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสตั้งแต่เข้าร่วมรบสองสัปดาห์แรก วันที่ 16 กันยายน 1914 เขาถูกทหารเยอรมันนายหนึ่งยิงในระยะประชิด กระสุนพุ่งเจาะเข้าที่ใบหน้า
หน่วยปฐมพยาบาลนำร่างของฌูกองที่ยังมีชีวิตอยู่ออกจากสนามรบในตอนค่ำ แม้ยังมีลมหายใจ แต่เขาก็ไม่สามารถพูดหรือขยับปากได้อีก “จากฟันกรามบนฉันยังเหลือฟันล่างอีกแค่สามซี่เท่านั้น” ฌูกองเขียนจดหมายเล่าให้อ็องรี-น้องชายของเขารับรู้ หลังจากนั้นชีวิตของนายทหารผู้บาดเจ็บก็เริ่มเข้าสู่ช่วงทรมาน ตลอดระยะเวลาห้าเดือนต่อมา ไม่มีหมอคนไหนกล้าที่ผ่าตัดฌูกอง เนื่องจากบาดแผลที่ใบหน้าของเขาอยู่ในขั้นสาหัสเกินไป
เพื่อฟื้นฟูใบหน้าที่เสียโฉมให้กลับมามีสภาพคล้ายเดิม หมอต้องประกอบจมูกจำลองขึ้นจากเจลาติน จากนั้นเสริมด้วยงาช้างและชิ้นส่วนกระดูกจากแขนและซี่โครง สงครามโลกครั้งที่หนึ่งกลายเป็นสนามทดลองของแท้สำหรับการทำศัลยกรรมใบหน้า ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง กรณีของอัลแบรต์ ฌูกอง เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 38 ครั้ง และบ่อยครั้งหมอไม่ได้ใช้ยาสลบ
ระหว่างที่หมอทั้งหลายใช้ความพยายามอย่างหนักกับการทดลอง ศิลปินแขนงประติมากรรมอย่างฟรานซิส เดอร์เวนต์ (Francis Derwent) ชาวอังกฤษ หรือแอนนา โคลแมน แลดด์ (Anna Coleman Ladd) ชาวอเมริกัน ก็ให้ความสนใจกับการทำเปลี่ยนใบหน้าด้วยกลไกทางศิลปะ
ปี 1917 โคลแมน แลดด์ลงทุนเปิดสตูดิโอขึ้นในกรุงปารีส เพื่อประกอบหน้ากากให้กับผู้มีใบหน้าเสียโฉม หน้ากากของเธอทำจากใยทองแดงบางๆ สวมแนบกับศีรษะด้วยแว่นตาหรือสายรัด แม้จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่การยอมรับของคนในสังคมยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อได้รับการเยียวยารักษาแล้วทหารใบหน้าเสียโฉมยังต้องถูกส่งตัวกลับไปแนวหน้า หรือกลับไปรับราชการสงคราม ใครที่พ้นภาระทหารแล้วก็จะเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เลี่ยงจากการถูกพบเห็นของคนในสังคม ชีวิตแบบเดิมที่เคยมี-สำหรับใครหลายคน-ไม่หวนกลับมาอีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากการปรากฏตัวที่แวร์ซายส์ในปี 1919 นายทหารผู้มีใบหน้าเสียโฉมทั้งห้าก็กลายเป็นวีรบุรุษสงคราม ในปี 1921 มีการก่อตั้งองค์กร Union des Gueules Cassées ขึ้นโดยมีอัลแบรต์ ฌูกองเป็นผู้ร่วม ในขณะที่ทหารที่ใบหน้าเสียโฉมในเยอรมนีหลังสงครามกลายเป็นประเด็นต้องห้าม เหตุเพราะเหยื่อสงครามรังแต่จะชวนให้รำลึกถึงความอัปยศและความพ่ายแพ้
“ทำไมต้องปิดซ่อนอนุสรณ์แห่งความสยดสยอง” นักข่าวชื่อ เอริค คุตต์เนอร์ (Erich Kuttner) ตั้งคำถามในสื่อเมื่อปี 1920 “เราควรเปิดเผยหรือชี้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่าสงครามคืออะไร”
แอร์นสต์ ฟรีดริช (Ernst Friedrich) นักต่อต้านความรุนแรงเห็นพ้องกับคำกล่าวของคุตต์เนอร์ สิบปีหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาได้นำภาพพอร์เทร็ตของนายทหารใบหน้าเสียโฉมมาตีพิมพ์ในหนังสือ Krieg dem Kriege (War against War) ของเขา ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดี และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 30 ภาษา
ภาพบางส่วนฟรีดริชยังนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่อต้านสงครามที่กรุงเบอร์ลิน เพื่อว่าผู้คนจะได้รับรู้ถึงความน่ากลัวของสงคราม แต่ผลลัพธ์กลับตรงข้าม เมื่อพรรคนาซีก้าวขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนี ปี 1933 ฟรีดริชถูกจับกุมและต้องโทษจำคุก
พิพิธภัณฑ์ต่อต้านสงครามของเขาถูกดัดแปลงเป็นสำนักงานของพรรค ที่ร่ำลือกันว่าเป็นห้องทรมานของนาซีในกรุงเบอร์ลิน
อ้างอิง:
- Gerd Krumeich / Antoine Prost, Verdun 1916: Die Schlacht und ihr Mythos aus deutsch-französischer Sicht, Klartext Verlag (2016)
- Eberhard Kolb, Der Frieden von Versailles, Verlag C.H. Beck (2005)
- http://www.ccdiscovery.com/the-trauma-of-the-first-world-war-we-young-men-looked-suddenly-like-monster
Fact Box
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปิดฉากขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 1914 เมื่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเคลื่อนพลเข้ารุกรานเซอร์เบีย ตามด้วยการรุกรานเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศสของเยอรมนี ทางฟากตะวันออกกองทัพรัสเซียก็บุกเข้าโจมตีเยอรมนี
สาเหตุเกิดจากนโยบายต่างประเทศแบบจักรวรรดินิยมของมหาอำนาจยุโรป ซึ่งได้แก่ จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี ชนวนสงครามเกิดจากเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุค ฟรานซ์ แฟร์ดินันด์ แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinand of Austria) ซึ่งเป็นรัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 ในซาราเยโว โดยฝีมือของกัฟรีโล ปรินซีป (Gavrilo Princip) ชาวยูโกสลาฟชาตินิยม สร้างความไม่พอใจให้กับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จึงทำการตอบโต้เซอร์เบีย โดยดึงเอาจักรวรรดิต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรเข้าร่วม
ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นมหาอำนาจทั้งหลายจึงตกอยู่ในภาวะสงคราม และความขัดแย้งลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วผ่านอาณานิคมต่างๆ