ปรัชญาการเลี้ยงดูเด็กได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้พวกเขาเติบใหญ่ขึ้นเป็นนายทหารและแนวร่วมได้นั้น รัฐบาลนาซีเรียกร้องบรรดาแม่ทั้งหลายให้เพิกเฉยต่อความต้องการ-เสียงรบเร้าของเด็ก ให้ลดทอนอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงความอาทรลง
“ประเด็นนี้มีการอภิปรายกันในกลุ่มนักวิเคราะห์และนักวิจัยมาตั้งนานแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมพากันเงียบ ไม่ยอมพูดถึง” เคลาส์ กรอสส์มันน์ (Klaus Grossmann) อดีตอาจารย์นักวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยเรเกนสบวร์ก เคยกล่าว ในช่วงทศวรรษ 1970s เขาเคยจัดทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแม่และเด็ก เคยเฝ้าสังเกตเหตุการณ์ในห้องทดลองบ่อยครั้ง พบว่า เมื่อเด็กทารกร้องไห้ ผู้เป็นแม่จะลุกเดินไปหาลูกน้อย แต่ก่อนจะถึงตัวเด็ก เธอจะหยุดยืน ปล่อยให้เด็กเปล่งเสียงร้องต่อไป โดยไม่เข้าไปกล่อมหรืออุ้มตัวขึ้นมา “เมื่อเราถามคนเป็นแม่ว่า ทำไมเธอทำอย่างนั้น เธอให้คำตอบว่า เธอไม่ควรตามใจลูก”
ซึ่งพ้องกันกับข้อเขียนในหนังสือ Die deutsche Mutter und ihr erstes Kind (แม่ชาวเยอรมันกับลูกคนแรกของเธอ) ของโยฮันนา ฮาแรร์ (Johanna Haarer) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอด ที่เขียนไว้เมื่อปี 1934 ว่า “ทางที่ดีแล้วควรแยกเด็กไว้ในห้องของเขาเอง ให้เขาเรียนรู้ที่จะอยู่ตามลำพังคนเดียว” เมื่อใดก็ตามที่เด็กเริ่มส่งเสียงหรือร้องไห้ เราควรจะนิ่งเฉย
“อย่าได้เริ่มเข้าไปอุ้มตัวเด็กขึ้นจากเตียง ไกวตัว วางลงบนตัก หรือแม้กระทั่งกล่อมให้เงียบ ไม่เช่นนั้นแล้วเด็กจะเข้าใจอย่างรวดเร็วและเหลือเชื่อว่า เขาแค่ส่งเสียงร้องเท่านั้น แล้วเขาจะได้รับการปลอบขวัญ ความเอาอกเอาใจ หลังจากนั้นแล้วเราจะหาความสงบไม่ได้เลย เพราะเขาจะเรียกร้องไม่หยุดหย่อน”
คนเป็นแม่ควรป้อนอาหารลูกให้อิ่ม อาบน้ำเช็ดตัวให้แห้ง และอื่นๆ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น โยฮันนา ฮาแรร์เคยแนะนำไว้เช่นนั้น เธอบรรยายลักษณะทางกายภาพอย่างละเอียด แต่ไม่สนใจทุกสิ่งที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจ ทั้งยังเตือนถึงความรักใคร่ฉันแม่ลูกอีกด้วย เธอแนะนำแม่ชาวเยอรมันหลังคลอดว่า ควรอยู่ห่างลูกสักยี่สิบสี่ชั่วโมง และแทนที่จะพูดคุยอ้อแอ้เป็นภาษาเด็กกับลูก ควรที่จะพูด “ภาษาเยอรมันเป็นเรื่องเป็นราว” กับเขา หากลูกร้อง ควรปล่อยให้เขาร้องไป มันจะช่วยทำให้ปอดของเขาแข็งแรง
คำแนะนำของฮาแรร์ฟังดูทันสมัยและเป็นวิชาการ ทว่าเป็นที่รับรู้กันตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วว่า มันผิดและอันตราย เด็กๆ ต้องการได้รับการสัมผัส แต่ฮาแรร์กลับแนะนำให้อุ้มเด็กให้น้อยที่สุด พร้อมภาพประกอบที่ดูผิดธรรมชาติ เป็นภาพแม่อุ้มลูกโดยใช้มือสัมผัสตัวเด็กน้อยที่สุด และใบหน้าที่จ้องมองกัน แต่สายตาไม่ประสานกัน
โยฮันนา ฮาแรร์-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอด แม้ไม่เคยผ่านการฝึกฝนด้านการสอนหรือมีความรู้ด้านกุมารแพทย์ แต่พลพรรคนาซีก็ยังเกณฑ์ตัวไว้รับใช้ คำแนะนำต่างๆ จากหนังสือ Die deutsche Mutter und ihr erstes Kind ของเธอถูกนำมาบรรจุไว้ในตำราเรียนสำหรับบรรดาแม่ชาวเยอรมัน ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด เฉพาะในเดือนเมษายนปี 1943 มีผู้หญิงอย่างต่ำสามล้านคนเข้าร่วมหลักสูตร
ก่อนหน้าจะมีการเผยแพร่คัมภีร์การเลี้ยงดูลูก ฮาแรร์เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการดูแลเด็กทารกลงในหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้นยังมีผลงานหนังสือของเธอตีพิมพ์ออกมาอีก ในจำนวนนั้นมี Mutter, erzähl von Adolf Hitler (แม่, เล่าเรื่องอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ให้ฟัง) ซึ่งเป็นคล้ายหนังสือนิทานเผยแผ่ลัทธิต่อต้านยิวและคอมมิวนิสต์ ภายหลังพรรคนาซีสิ้นอำนาจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดชาวมิวนิกถูกจับกุม และต้องขังอยู่นานปีครึ่ง ตามคำบอกเล่าของบุตรสาว แต่เธอยังคงนิยมชมชอบลัทธินาซีจวบถึงวันตายของเธอในปี 1988
ผลงานหนังสือ Die deutsche Mutter und ihr erstes Kind ของฮาแรร์ยังมีการเผยแผ่สืบต่อ กระทั่งถึงช่วงสิ้นสุดสงคราม ผลจากการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซี ทำให้มียอดพิมพ์สูงถึง 690,000 เล่ม นับถึงวันนี้มียอดขายหนังสือไปแล้วทั้งสิ้น 1.2 ล้านเล่ม
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนภาพความจริงได้ดีว่า ทัศนคติและวิสัยทัศน์แบบของฮาแรร์ยังคงมีอยู่แม้สงครามจะยุติไปแล้ว แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
นักจิตวิทยาวิเคราะห์เรื่องนี้และพบคำตอบว่า คำแนะนำของฮาแรร์มีอิทธิพลโดยตรงต่อคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือบรรดาพ่อแม่ ที่มีความชื่นชมและภักดีต่อรัฐบาลนาซีอย่างเหนียวแน่น และอีกกลุ่มคือ บรรดาสาวรุ่น ที่เคยผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาพร้อมกับสภาพครอบครัวที่แตกสลาย จึงไม่อาจรู้ได้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัวนั้นเป็นอย่างไร สามีของพวกเธอต้องไปสู้ศึกที่แนวหน้า ทิ้งพวกเธอไว้กับบ้าน อยู่กับงานหนัก ภาวะกดดัน และความรู้สึกไม่มั่นคง จึงพากันหลงเชื่อคำแนะนำของฮาแรร์ได้ง่าย
ประสบการณ์ลักษณะนั้นสามารถแปรสภาพเป็นฝันร้ายได้ – ระหว่างปี 2009 ถึง 2013 นักจิตวิทยาชื่อ อิลคา ควินโด (Ilka Quindeau) และเพื่อนร่วมงานจากสถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการให้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเด็กรุ่นสงครามโลก ความจริงแล้วจุดประสงค์เริ่มต้นเธอต้องการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการโจมตีด้วยระเบิดและการหนีภัย แต่เมื่อเริ่มทำการสัมภาษณ์ช่วงแรก เธอและเพื่อนร่วมทีมจำต้องเปลี่ยนประเด็น เนื่องจากเรื่องเล่าของผู้ประสบภัยเหล่านั้นอ้างอิงถึงประสบการณ์ในครอบครัวเสียเป็นส่วนใหญ่
“พวกเขาเผยรูปแบบความจงรักภักดีต่อพ่อแม่ออกมาอย่างเห็นได้ชัด และทุกเรื่องไม่ปรากฏความขัดแย้งเป็นคำพูด แต่นั่นคือสัญญาณของความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ” ยิ่งไปกว่านั้น ควินโดยังพบว่า ไม่มีที่ไหนในยุโรปที่มีการพูดคุยอย่างละเอียดกรณีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเหมือนในเยอรมนี ทั้งๆ ที่ในประเทศอื่นก็ได้รับผลกระทบจากระเบิดและการทำลายเช่นเดียวกัน
การตัดสินเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกว่าเป็นอย่างไรนั้น เคลาส์ กรอสส์มันน์ใช้วิธีเดียวกันกับนักวิจัยคนอื่นๆ นั่นคือการทดสอบสถานการณ์ร่วมกับคนแปลกหน้า ซึ่งเป็นผลงานของนักจิตวิทยาหญิงชาวอเมริกันชื่อ แมรี เอนสเวิร์ธ (Mary Ainsworth) ด้วยการให้แม่คนหนึ่งกับลูกเล็กของเธอเข้าไปอยู่ในห้องหนึ่ง ให้เด็กนั่งอยู่กับของเล่น 30 วินาทีต่อมาแม่ก็ทรุดนั่งลงบนเก้าอี้ และอ่านนิตยสาร เวลาผ่านไปราวสองนาทีเริ่มมีสัญญาณว่าคนเป็นแม่น่าจะนึกขึ้นได้ว่าเธอควรหันไปสนใจลูก ทิ้งระยะห่างไปอีกหนึ่งถึงสามนาทีฉากใหม่ก็เริ่มขึ้น คราวนี้มีผู้หญิงแปลกหน้าคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้อง บรรยากาศเงียบ จากนั้นผู้หญิงทั้งสองคนเริ่มพูดคุยกัน หญิงแปลกหน้าหันมาสนใจเล่นกับเด็ก ส่วนคนเป็นแม่วางกระเป๋าถือของเธอไว้บนเก้าอี้ และเดินออกจากห้องไป ไม่นานนักคนเป็นแม่เดินกลับเข้ามาในห้องอีกครั้ง ขณะที่หญิงแปลกหน้าเดินออกจากห้องไป สักพักต่อมาคนเป็นแม่ผละออกจากห้องไปด้วย ปล่อยให้ลูกนั่งอยู่ตามลำพังคนเดียว อีกไม่กี่นาทีถัดมา หญิงแปลกหน้าเดินกลับเข้ามาในห้องเป็นคนแรก และให้ความสนใจกับเด็ก ก่อนที่แม่ของเธอจะเข้ามา
นักวิจัยด้านความสัมพันธ์เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็ก หากระหว่างที่พลัดสายตาจากแม่แล้วเด็กสับสนและร้องไห้ แต่สักพักก็นิ่งเงียบไปเอง วิเคราะห์ได้ว่าค่าความสัมพันธ์ยังอยู่ในระดับปลอดภัย แต่หากเด็กชายหรือเด็กหญิงที่ไม่นิ่งเงียบเมื่อรู้สึกถูกทอดทิ้ง หรือไม่รู้สึกอะไรเลยกับการหายตัวไปของคนที่เขาผูกพัน ถือว่าค่าความสัมพันธ์อยู่ในระดับไม่ปลอดภัย
กรอสส์มันน์ใช้การทดสอบนี้กับผู้คนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม กระทั่งค้นพบว่า ในเยอรมนีมีความแตกต่างจากประเทศในกลุ่มตะวันตกอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อหรือแม่ ส่วนใหญ่แล้วจะมองในแง่บวกเมื่อลูกของตนไม่แสดงความรู้สึกอะไรเวลาที่ตนหายตัวไป พ่อแม่ชาวเยอรมันส่วนใหญ่เหล่านี้รับรู้ว่านั่นคือ ‘ความเป็นอิสระ’
และ ‘ความเป็นตัวของตัวเอง’ ที่ฝังรากลึกมายาวนาน
อ้างอิง:
- https://archive.org/details/JohannaHaarerDieDeutscheMutterUndIhrErstesKind1940/page/n1
- https://www.univie.ac.at/biografiA/daten/text/bio/haarer.htm
- https://www.zeit.de/2005/29/Kinder_komma__Kinder
- https://www.budrich-journals.de/index.php/bios/article/view/12052
- https://www.spektrum.de/lexikon/psychologie/fremde-situations-test/5307