เมื่อ 40 ปีที่แล้วคือจุดเริ่มต้นแห่งการล่มสลายทางอำนาจการปกครองของชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ภาพฝันที่จะสร้างอิหร่านให้เป็นมหาอำนาจโลกสมัยใหม่พลอยหยุดชะงักไปเหตุเพราะความไม่พอใจของประชาชน

“อีกเพียงยุคเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้ากล่าวได้เลยว่า อิหร่านจะเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่ก้าวหน้าและมีอำนาจที่สุดของโลก” โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Mohammad Reza Pahlavi) ชาห์แห่งเปอร์เซีย เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์ในปี 1974 “ประเทศของข้าพเจ้ากำลังก้าวสู่อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่”

หนึ่งปีถัดจากนั้น เขายังคงอยู่ ในขณะที่ประเทศตะวันตกพยากรณ์เกี่ยวกับ ‘ความขาดระเบียบวินัย’ ในการปกครอง และเชื่อว่าความล่มสลายของบัลลังก์และอำนาจกำลังเคลื่อนใกล้เข้ามา

ชาห์องค์สุดท้ายแห่งบัลลังก์นกยูงไม่คุ้นเคยกับสภาพความเป็นจริง เขาเป็นเสมือนนักฝันและนักอุดมการณ์ในเวลาเดียวกัน เขาวาดโลกขึ้นตามความคิดของตนเอง และมีความเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่า พลเมืองในความปกครองรู้สึกผูกพันกับเขาอย่างแนบแน่น

นักฝันและนักอุดมการณ์ ของจักรพรรดิในเงามืด

ปีนี้ ชาห์ผู้หลงใหลในรถยนต์และชีวิตที่หรูหราน่าจะมีอายุครบ 100 ปี แต่เมื่อ 40 ปีก่อนเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการล่มสลายของอำนาจที่เขาถือครองมานานถึง 38 ปี อะไรทำให้เขาต้องละทิ้งจากประเทศไปในตอนค่ำที่ฟ้าปกคลุมไปด้วยหมอกหนาเมื่อต้นปี 1979 และยุคสมัยของปาห์ลาวีเป็นอย่างไร?

สำหรับหนังสือพิมพ์หัวสีของยุโรป อาจจะเรียกการสมรสครั้งที่สองของชาห์แห่งอิหร่านว่าเป็น ‘งานวิวาห์ในฝัน’ กับโซรยา เอสฟานดียารี บักห์ทียารี (Soraya Esfandiary Bakhtiary) หญิงสาวผู้มีมารดาเชื้อสายเยอรมัน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1951 และหย่าร้างกันในปี 1958 เนื่องจากโซรายาไม่สามารถสืบทายาทให้ได้ หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะมือที่สาม ฟาราห์ ดีบา (Farah Diba) ที่เขาเข้าพิธีแต่งงานด้วยเป็นครั้งที่สามเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1959 ตราบถึงทุกวันนี้ทั้งฟาราห์และโซรายายังคงเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์และสไตล์ไอคอนสำหรับคนรุ่นหลังอยู่

โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และ โซรยา เอสฟานดียารี บักห์ทียารี

โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และ ฟาราห์ ดีบา

ทว่าโมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวีคงชอบที่ยุคสมัยของเขาจะถูกจดจำโดยลูกหลานในรูปแบบอื่น – วิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับอิหร่านสมัยใหม่ คือการเปลี่ยนประเทศให้เป็นอำนาจทางทหารและอุตสาหกรรมอันทรงเกียรติ ดังนั้นอดีตนักเรียนจากเลอ โรเซย์-ไฮสคูลสำหรับชนชั้นนำในสวิตเซอร์แลนด์-จึงได้เน้นย้ำอย่างซาบซึ้งหลายครั้งกับบรรดาราชวงศ์ในยุโรป ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ว่าเขาภูมิใจมากเพียงใดที่อิหร่านมีฝูงบินโบอิงทันสมัย และอิหร่านยังเป็นประเทศเดียวที่มีโอกาสได้ร่วมพัฒนาเครื่องบินคองคอร์ดกับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ที่อิหร่านไม่ได้รับการส่งมอบเครื่องบินนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ชาห์ไม่เคยละทิ้งความพยายามที่จะผลักดันตนเองจาก ‘จักรพรรดิในเงามืด’ ให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่า เขาคือผู้นำประเทศ ตราบจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต-เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 1980 สาเหตุเพราะโรคมะเร็ง ภายหลังเดินทางลี้ภัยจากสหรัฐอเมริกาไปอยู่ที่อียิปต์

ในชีวิตของชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวีเคยได้รับความอับอายถึงสองครั้ง ครั้งหลังสุดตอนสิ้นอำนาจ เมื่อปี 1979 เขากล่าวทิ้งท้ายให้ชาวอิหร่านรับรู้ว่า “ข้าพเจ้าเหนื่อยและต้องการพัก” ก่อนสละบัลลังก์และตำแหน่งผู้นำ หรือก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1941 ขณะอยู่ในวัย 21 ปี ตอนที่เขาได้รับการสถาปนาเป็นผู้ปกครองอิหร่านภายใต้เงื่อนไขที่ไม่พึงประสงค์ วันนั้นเขาสวมชุดกาลาเต็มยศ สวมสายสะพาย พร้อมดาบในมือเพื่อสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง แต่ความจริงแล้วเขาต้องแอบเข้าไปในอาคารรัฐสภาผ่านทางห้องส่งของ ถึงกระนั้นทุกคนก็ประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นของผู้นำวัยหนุ่มในการก่อร่างสร้างประเทศขึ้นใหม่ หลังจากอิหร่านตกอยู่ในสภาพบอบช้ำจากการคุกคามของฝ่ายพันธมิตร

ในปีเดียวกันนั้น กองทัพพันธมิตรยกกองทัพบุกอิหร่าน เหตุเพราะขณะนั้นอิหร่านมีความสัมพันธ์อันดีกับเยอรมนี โดยกองทัพอังกฤษได้บุกยึดภาคใต้ของอิหร่าน และกองทัพรัสเซียเข้ายึดทางตอนเหนือ เมื่อประเทศถูกยึดครอง ชาห์เรซา ชาห์องค์แรกของราชวงศ์ปาห์ลาวี ซึ่งเป็นบิดาของชาห์โมฮัมหมัด จึงถูกบีบบังคับให้สละบัลลังก์ หลังจากนั้นทั้งอังกฤษและรัสเซียก็เสนอให้ลูกชายคนโตของชาห์เรซาขึ้นครองตำแหน่งผู้นำประเทศแทน

โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวีเริ่มต้นปฏิรูปที่ดินที่ถูกทำลาย ไร้ประโยชน์ และภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีเขาก็สามารถเปลี่ยนอิหร่านเป็นรัฐที่มีอำนาจที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง อิหร่านค่อยๆ พัฒนาตนเองจนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่ใหญ่สุดอันดับสองของโลก กอปรกับมีอำนาจทางการทหาร และมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

หลังจากชาห์ปลดแอกประเทศเป็นเอกราชจากอังกฤษและรัสเซีย โดยความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาและองค์การสหประชาชาติ ในปี 1946 เขาก็ประสานความร่วมมือกับสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (ซีไอเอ) ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ชาห์ได้รับความช่วยเหลือคือ เมื่อปี 1953 ในการโค่นล้มรัฐบาลของโมฮัมหมัด มูซัดเดก (Mohammad Mossadegh) เพื่อยึดอำนาจการปกครองคืนมา

ปฏิวัติแห่งชาห์และประเทศชาติ

ภายใต้นโยบาย ‘ปฏิวัติแห่งชาห์และประเทศชาติ’ (หรือที่เรียกว่า ปฏิวัติขาว) โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวีได้เริ่มปรับโครงสร้างสังคมใหม่ มีการออกกฎหมายเลือกตั้งใหม่ที่ให้สิทธิสตรีในการออกเสียง ตั้งองค์กรเพื่อการอ่านออกเขียนได้ โดยเฉพาะเพื่อการสอนหนังสือในชนบท ปรับปรุงถนนหนทางให้ทันสมัย และพัฒนาการเกษตร รวมถึงสร้างประชานิยมโดยการปฏิรูปที่ดิน จัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร

แม้ว่านโยบายของชาห์จะได้รับการยอมรับในระยะแรก ที่ทำให้อิหร่านเจริญขึ้น แต่ก็ทำให้ประชาชนไม่พอใจ จนถึงขั้นลุกฮือขึ้นต่อต้านชาห์ เนื่องจากผลลัพธ์ของการปฏิวัติขาวคือ บรรดาบุคคลและข้าราชการระดับสูงต่างได้รับที่ดินมหาศาล และสร้างความร่ำรวยให้กับคนเพียงไม่กี่ตระกูล อีกทั้งการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายศาสนาไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง

ศัตรูทางการเมืองคนสำคัญของชาห์โมฮัมหมัดก็คือ อายะตุลลอฮ์ โคไมนี (Ruhollah Khomeini) ที่ปราศรัยโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 1963 จนต้องถูกจับกุมตัวไปขังคุกในเตหะราน และส่งผลให้ประชาชนที่เป็นแนวร่วมโกรธแค้น พากันออกมาเดินขบวนทั่วถนนทุกสาย เหตุการณ์ลุกลามรุนแรงถึงขั้นนองเลือด จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของอิหร่านที่สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันว่า ‘เหตุการณ์ลุกฮือ 15 กอร์ดัด 1342’ (15 Khordad 1342 Uprising) ซึ่งเป็นวันเดือนปีอิสลาม ข่าวหนังสือพิมพ์ต่างประเทศรายงานว่า ทหารของชาห์สาดกระสุนใส่ผู้ประท้วงครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 15,000 คน แรงกดดันจากประชาชนทำให้โคไมนีได้รับการปล่อยตัว แต่ต่อมารัฐบาลตัดสินใจเนรเทศเขาออกนอกประเทศไปอยู่ตุรกีในเดือนพฤศจิกายน 1964 ต่อมาย้ายไปอยู่เมืองนาจาฟในอิรัก รวมเวลา 13 ปี โดยหวังว่าจะทำให้ความนิยมในตัวโคไมนีจางหายไป

แต่การเนรเทศอยาตุลเลาะห์ โคไมนีออกนอกประเทศ ไม่อาจทำให้ประชาชนลืมชื่อและบทบาทของเขาได้ โคไมนีเองก็ยังติดต่อกับนักศึกษาและประชาชนอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังแสดงความคิดเห็นต่อต้านการทำงานของรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง การเมืองในอิหร่านในช่วงนั้นเองก็ยังไม่นิ่ง นักศึกษาและประชาชนยังชุมนุมระลึกถึงเหตุการณ์ ’15 กอร์ดัด 1342’ อยู่ทุกปี กระทั่งวันที่ 7 มกราคม 1978 หนังสือพิมพ์อิตติลาอัต ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของรัฐบาล ประณามโคไมนีว่าเป็นคนทรยศชาติ ข่าวนี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเมืองกุม ถิ่นกำเนิดของโคไมนี จึงรวมตัวกันออกมาประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง และมีการปราบปรามทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมากอีกครั้ง กลายเป็นแรงกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีเป้าหมายเพื่อขับไล่ชาห์ และเครือญาติให้พ้นบัลลังก์ แล้วสถาปนารัฐบาลอิสลามขึ้นแทน

ด้วยเหตุที่ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้าน ชาห์จึงจัดตั้งตำรวจลับ ‘ซาวัค’ ขึ้น โดยความร่วมมือของซีไอเอ และมอสซาด-หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล (กระทั่งชาห์ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘หุ่นเชิดของอเมริกันและอิสราเอลี’) ทำหน้าที่คล้ายตำรวจเกสตาโปของเยอรมนี คอยแทรกซึมเข้าไปในแวดวงต่างๆ เพื่อจับกุมฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์ หน่วยซาวัคขึ้นชื่อเรื่องการจับกุมและทรมานอย่างทารุณ เป็นที่หวาดกลัวของประชาชน แต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นการเดินขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาได้

ความไม่พอใจในตัวผู้นำถึงจุดระเบิด

ผลจากการเก็บรายได้จากน้ำมันลดลงตั้งแต่ปี 1976 และปัญหาการว่างงานของประชากร ความล่มสลายของชาห์เริ่มฉายแวว ในปี 1977 อัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวเลขในความเป็นจริงนั้นสูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนต้องนำเงินออมออกมาใช้สอย ความไม่พอใจผู้นำยิ่งทวีเพิ่มขึ้น ต้นปี 1978 จิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นกล่าวถึงอิหร่านอย่างชื่นชมว่าเป็น ‘เกาะแห่งความมั่นคง’ ทั้งที่ความจริงแล้วประเทศกำลังผุกร่อน และการปกครองของชาห์กำลังใกล้ถึงจุดอวสาน

ความไม่พอใจของประชาชนเริ่มถึงจุดระเบิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 1978 ซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอน ได้เกิดเหตุไฟไหม้รุนแรงขึ้นในโรงภาพยนตร์ที่เมืองอะบาดาน มีผู้เสียชีวิต 387 คน รัฐบาลโยนความผิดให้ฝ่ายนิยมศาสนาหัวรุนแรงว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ เมื่อตำรวจไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ก็ทำให้ประชาชนเคียดแค้น และเกิดการประท้วงตามเมืองต่างๆ

ส่วนศัตรูของชาห์ – อยาตุลเลาะห์ โคไมนี แม้จะถูกเนรเทศไปอยู่อิรัก 12 ปี และภายหลังถูกรัฐบาลอิรักขอร้องให้เดินทางออกนอกประเทศ โคไมนีจึงอพยพไปอยู่ฝรั่งเศส แต่ก็ยังบันทึกคำปราศรัยต่อต้านชาห์ลงเทปคาสเส็ตต์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง

หลังโศกนาฏกรรมที่เมืองอะบาดาน ประชาชนในเตหะรานได้รวมตัวกันประท้วงชาห์ ทำการเผาธงชาติ ถือแผ่นป้ายขับไล่ทั้งอเมริกันและชาห์ มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มประท้วงกับทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากเหตุการณ์นั้น ก็เกิดเหตุการณ์ประท้วงซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามหัวเมืองต่างๆ กรรมกรนับแสนคนนัดหยุดงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ครูบาอาจารย์ นักเรียนนักศึกษาต่างพากันเข้าร่วมขบวนประท้วง

การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 1978 ประชาชนนับล้านคนพากันออกมาชุมนุมกันบนท้องถนนและที่สาธารณะ มีการชูป้ายรูปภาพโคไมนี มีการตะโกนด่าทออเมริกา และเรียกร้องให้มีรัฐอิสลาม แต่การประท้วงที่นับว่ารุนแรงและส่งผลกระทบต่อบัลลังก์ของชาห์คือ การลุกฮือเผาบ้านของชาวอเมริกัน และกิจการร้านค้าของชาวตะวันตกในเมืองมาชาด ทำให้รัฐบาลอเมริกันและยุโรปต้องออกคำสั่งให้ข้าราชการและพลเรือนของตนเดินทางออกจากอิหร่าน

ความตึงเครียดของสถานการณ์กดดันให้ชาห์ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของอเมริกา นั่นคือ อพยพออกจากอิหร่านพร้อมสมาชิกครอบครัวในวันที่ 16 มกราคม 1979 โดยที่ฝ่ายรัฐบาลออกประกาศว่า ชาห์มิได้สละบัลลังก์แต่อย่างใด

วันที่ 1 กุมภาพันธ์-สองสัปดาห์ถัดมา อยาตุลเลาะห์ โคไมนีเดินทางออกจากฝรั่งเศสด้วยเที่ยวบินของแอร์ฟรานซ์ กลับสู่กรุงเตหะราน พร้อมชัยชนะ

(หมายเหตุ* ‘ชาฮันชาห์’ (Shahanshah) หมายถึง ราชันย์แห่งราชา เป็นการขนานนามของชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี)

 

อ้างอิง:

Tags: