“ผมไม่ไปเวียดนามเด็ดขาด” ในปี 1967 มูฮัมหมัด อาลี ยืนยันหนักแน่น จนทำให้เขาต้องเสียทั้งงาน เงิน รวมถึงอิสรภาพ และใน ‘การประชุมสุดยอดอาลี’ แม้สมาชิกบางคนไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของเขา แต่ทุกคนก็ต้องพ่ายเสน่ห์ของแชมเปียน
มูฮัมหมัด อาลี พบเจอ คารีม อับดุล-แจบบาร์ ครั้งแรกบนบูเลอวาร์ดของฮอลลีวูด ทั้งสองต่างรู้สึกชื่นชมซึ่งกันและกัน เพียงแต่ไม่แสดงออกด้วยถ้อยคำ จนกระทั่งพวกเขามีโอกาสเจอกันอีกครั้งในงานเลี้ยงนักกีฬา ทั้งคู่ถูกจับคู่ให้เล่นดนตรีด้วยกัน นักบาสเกตบอลความสูง 2.18 เมตรนั่งลงที่กลองชุด ส่วนนักมวยหยิบฉวยเอากีตาร์ ถึงตอนนั้น ทุกคนเชื่อสนิทใจว่าอาลีคือเอนเตอร์เทนเนอร์ตัวจริง
เดือนมิถุนายน 1967 อาลีชวนอับดุล-แจบบาร์ไปคลีฟแลนด์ เพื่อร่วมพูดคุยและหาข้อยุติกันในกลุ่มนักกีฬาผิวสี ซึ่งในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดการลุกฮือขึ้นทั่วอเมริกา ประเด็นอยู่ที่ว่า อาลีปฏิเสธการเข้าร่วมกองทัพ รวมถึงการไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม
สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ปี 1964 ช่วงเวลานั้นเกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นระหว่างเวียดนามเหนือกับใต้ คอมมิวนิสต์ฝ่ายเหนือที่ได้รับการหนุนหลังโดยจีนและสหภาพโซเวียต กับฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ทางใต้ที่ได้รับการหนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกา กระทั่งในปี 1973 กองทัพสหรัฐฯ จำต้องถอนกำลังกลับมาตุภูมิ ซึ่งสำหรับประเทศมหาอำนาจแล้ว มันคือความพ่ายแพ้แห่งประวัติศาสตร์ เวียดนามเหนือเข้ายึดครองเวียดนามใต้ ช่วงสงครามของกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ยาวนานร่วม 2 ทศวรรษ มีผู้คนล้มตายไปถึง 5 ล้านคน
มูฮัมหมัด อาลี เติบโตขึ้นท่ามกลางสังคมคนผิวขาว เขาหน้าตาดี มีเสน่ห์ มีบุคคลต้นแบบคือ แจ็ก จอห์นสัน แชมป์มวยผิวดำคนแรกของโลกในรุ่นเฮฟวีเวท และมีความมั่นใจคล้ายๆ กัน
อาลีเดินตามรอยเขา ขณะยังใช้ชื่อ แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ จูเนียร์ เขาคว้าเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกปี 1960 หลังจากนั้นเขาก็เข้าสู่การเป็นนักมวยอาชีพ และในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1964 ภายหลังเอาชนะซอนนี ลิสตัน เขาก็กลายเป็นแชมป์โลก
ไม่กี่วันต่อมา เคลย์-ในวัย 22 เริ่มพลิกเปลี่ยนตัวเอง เขารู้สึกเบื่อกับการทำตัวเป็นคนน่ารักหรือสุภาพบุรุษ เขารู้ดีว่าตนเองเป็นใครมาจากไหน ขณะเดียวกัน เขายังเลิกนับถือศาสนาคริสต์ เปลี่ยนความเชื่อเข้าสู่ศาสนาอิสลาม “พวกเขาบอกว่าพวกเราไม่ต่างอะไรกับคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่จริงเลย ผู้ศรัทธาในพระอัลเลาะฮ์เป็นคนมีไมตรีจิตที่สุดในโลกแล้ว” เขากล่าว
แคสเซียส เคลย์ ‘ชื่อแสดงความเป็นทาส’ เขาก็เปลี่ยนเสียใหม่เป็น ‘มูฮัมหมัด อาลี’ นับแต่นั้น
องค์กรศาสนาอิสลามที่อาลีเข้าร่วม ต้องการตั้งตัวเป็นประเทศเอกราชของประชากรผิวดำ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกสหรัฐอเมริกา มีการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ภายในองค์กร ทว่าอาลีไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เขาไม่เคยมีหมวดหมู่ ‘ทุนนิยม’ หรือ ‘สังคมนิยม’ อยู่ในความคิด เท่าที่เขาเรียกร้องต้องการก็เพียงเสรีภาพและอิสรภาพ โดยเฉพาะสำหรับคนผิวดำ
ปี 1960 กองทัพลงทะเบียนรายชื่อเขาในหมายเกณฑ์ทหาร ปี 1962 ชื่อของเขาอยู่ในลิสต์รอหมายเรียก ปี 1964 ผลการทดสอบไอคิวของเขาไม่ผ่าน แต่ 2 ปีถัดมา ชื่อของเขากลับเข้าไปอยู่ในลิสต์อีกครั้ง อาลีเคยพูดกับนักข่าว จนกลายเป็นประโยคดัง “ผมไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองอะไรกับเวียดกง” (เวียดกง = แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ) วันที่ 28 เมษายน 1967 เขาขัดขืนหมายเรียกทหาร และรู้ดีถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา “ไม่มีเวียดกงคนไหนเคยเรียกผมว่านิโกร” เขาบอกอย่างนั้น พร้อมกับคำชี้แจงในภายหลังว่า “ผมไม่ได้พยายามจะก่อความไม่สงบ ผมแค่ต้องการอิสรภาพเท่านั้น”
ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงในแวดวงกีฬามีคำสั่งยึดใบอนุญาตและตำแหน่งของเขา ทำให้เขาต้องพักงานในช่วงกำลังรุ่ง ปลายเดือนมิถุนายน ศาลมีคำพิพากษาจำคุกเขา 5 ปี และปรับเงิน 10,000 ดอลลาร์ อาลียอมเข้าค่ายฝึก และได้รับการประกันตัว
“คนผิวดำมักจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ประท้วง เพราะดูเหมือนว่าพวกเขานี่ละเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกหมายเรียก และถูกส่งไปรบ” คารีม อับดุล-แจบบาร์ แชมป์เอ็นบีเอ 6 สมัยกล่าว
ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ The Guardian ระบุว่าทหารซึ่งถูกเกณฑ์ไปรบที่เวียดนามระหว่างเดือนตุลาคม 1966 ถึงมิถุนายน 1969 ร้อยละ 41 เป็นคนผิวดำ แม้ว่าคนผิวดำในสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด สาเหตุเพราะนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว สามารถผ่อนผันเกณฑ์ได้ง่ายกว่าวัยรุ่นอเมริกันที่มีการศึกษาน้อย ด้วยเหตุนี้ ต่อมาจึงปรากฏ ‘Draft Lottery’ หรือการจับสลากโดยใช้วัน-เดือนและชื่อของชายที่เกิดระหว่างปี 1944-1950 เป็นการเสี่ยงดวงสำหรับความเป็น-ความตาย ซึ่งต้นแบบการจับสลากนี้เกิดขึ้นในช่วง ‘สงครามปี 1812’ อันเป็นวิธีคัดตัวทหารอาสาของประธานาธิบดีเจมส์ แมดิสัน
เหตุผลของการปฏิเสธเข้าร่วมเป็นทหาร อาลีอ้างความเชื่อทางศาสนา เขาถือว่าสงครามคือความผิดพลาด เขาไม่อยากได้ตั๋วเที่ยวเดียวไปเวียดนาม ในระหว่างนั้น เขาเข้าร่วมขบวนกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการกดขี่ข่มเหงคนผิวดำ เขาไม่ต้องการให้ใครมาบังคับ โดยเฉพาะรัฐที่ “ปฏิบัติต่อคนผิวสีราวกับสุนัข” ก่อนหน้านั้น ในปี 1963 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็เคยปลุกเร้าคนในชาติมาแล้วด้วยคำปราศรัย “I have a dream.” และถูกลอบยิงเสียชีวิตในปี 1968
กรณีขัดขืนการเข้าร่วมกองทัพของอาลีกลายเป็นข้อวิพากษ์อย่างกว้างขวางในสังคม เมื่อนักกีฬาและกรรมการสิทธิมนุษยชน 12 คนเข้าร่วมประชุม ‘Ali Summit’ กับเขาในคลีฟแลนด์ สถานที่จัดการประชุมไม่ได้ถูกเลือกจากความบังเอิญ หากที่นั่นคือสัญลักษณ์ทางการเมืองและสังคมยุคก้าวหน้าของกลุ่มแอฟโฟร-อเมริกัน มีนักอเมริกันฟุตบอลผิวดำที่มีชื่อเสียงจากทีมคลีฟแลนด์ บราวน์ส อย่าง บิลล์ วิลลิส และจิม บราวน์ ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นด้วย
นักอเมริกันฟุตบอลหลายคนไม่ได้เห็นด้วยกับการต่อต้านสงคราม ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งอยากจะเข้าใจแรงจูงใจของอาลี ก่อนจะลงมติเข้าข้าง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่เขายกศาสนามาเป็นข้ออ้าง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เขาจะโน้มน้าวให้ทุกคนเห็นคล้อยกับเหตุผลของเขา โดยเฉพาะคาร์ล สโตกส์ ที่ต่อมาได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีผิวดำคนแรกของคลีฟแลนด์ เขาเคยรับใช้ชาติด้วยการไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2
“อาลีนับเป็นเสรีชนคนแรกในอเมริกา” บิลล์ รัสเซลล์ นักบาสมืออาชีพของเอ็นบีเอให้ความเห็น ซึ่งเขาก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนั้น เขาเล่าถึงการลงมติว่า “อาลีเตรียมตัวมาดีกว่าที่ผมคิด จนเรื่องที่ผมว่าน่าเป็นกังวลกลายเป็นพวกเราที่เหลือมากกว่า”
สุดท้าย ที่ประชุมลงมติยอมรับการตัดสินใจของอาลี หลังจากฟังเขาพูดถึงชาติอิสลามและความภาคภูมิใจของเขากับการเป็นคนผิวดำ มันเป็นคำพูดที่เปลี่ยนความคิดของคนเห็นค้านได้สำเร็จ
“ผมมาตรองดูแล้ว ผมว่าเขาไม่ได้เป็นแค่พี่ชายคนโตของผม แต่ยังเป็นพี่ชายคนโตของแอฟโฟร-อเมริกันด้วย” อับดุล-แจบบาร์บอก
ภาพ: faena.com
อ้างอิง:
Muhammad Ali: His Life and Times, Thomas Hauser, Simon & Schuster
www.spiegel.de
Wikipedia
FACT BOX:
28 มิถุนายน 1971 ศาลสูงสุดยกฟ้องคดีขัดขืนการเป็นทหารของมูฮัมหมัด อาลี ด้วยเสียง 8:0 นับเป็นเวลากว่า 3 ปีที่เขาไม่ได้ขึ้นสังเวียน อาลีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2016 ที่โรงพยาบาลในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ด้วยโรคพาร์กินสันและระบบทางเดินหายใจ ขณะมีอายุ 74 ปี
Tags: แจ็ก จอห์นสัน, สงครามเวียดนาม, มูฮัมหมัด อาลี, แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ จูเนียร์, คารีม อับดุล-แจบบาร์, เวียดกง, บิลล์ รัสเซลล์, เจมส์ แมดิสัน, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง, Ali Summit