‘ตุ่น’ (Topo) เป็นชื่อเรียกผู้คนในสเปนที่ต้องกบดานลี้ภัย หลังจากนายพลฟรังโกได้รับชัยชนะจากสงครามกลางเมือง …นี่คือเรื่องราวของ 2 ผู้รอดชีวิตจากการหลบซ่อนด้วยความหวาดกลัวนายพลเผด็จการ
มานูเอล ปิโอซา โรซาโด (Manuel Piosa Rosado) ต้องใช้ชีวิตคล้ายหมู เขาทนฟังเสียงเรอของมัน และทนดมกลิ่นเหม็นของมัน แต่ก็รู้สึกได้ถึงบุญคุณ เพราะหมูคือผู้ช่วยชีวิตเขา ช่วยพรางตัวเขาไว้
โรซาโดใช้ชีวิตร่วม 32 ปีอยู่ในหลุมข้างเล้าหมู หรือที่เขาเรียกว่า ‘โลงศพ’ ความกว้าง 70 เซนติเมตร ความยาว 180 เซนติเมตร เขาปิดทางเข้าหลุมด้วยฟางแห้ง และขี้หมู ทนอยู่จนรอดพ้นจากเงื้อมมือของเผด็จการฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)
วันที่ 1 เมษายน 1939 หรือเมื่อ 80 ปีที่แล้ว นายพลฟรังโกได้รับชัยชนะจากสงครามกลางเมืองสเปน หลังจากนั้นอีกนับทศวรรษ เขายังสั่งตามล่าอดีตศัตรูทางการเมืองอย่างไม่ลดละ ฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นคนอย่างโรซาโดที่ยอมฝังร่างตัวเองทั้งเป็นดีกว่าถูกจับขังคุกให้ต้องถูกทรมาทรกรรม
ปี 1953 หลังจากใช้เวลาอยู่นานถึงสิบหกปีในที่ซ่อน ซึ่งปกติเขาจะผละออกมาเฉพาะช่วงค่ำเพื่อหาอาหารกิน โรซาโดเริ่มรู้สึกอยากอยู่ใกล้ชิดกับผู้คนมากกว่าหมูแล้ว พ่อของเขาเสียชีวิต พิธีศพจัดขึ้นที่บ้าน ห่างจากเล้าหมู ช่วงนั้นโรซาโดหลบออกมาซ่อนตัวอยู่ในซอกข้างรั้วบ้าน เหตุเพราะประตูข้างรั้วถูกปิด ดูผิดสังเกต แขกในพิธีศพเห็นท่าไม่ดีจึงแจ้งไปทางกวาร์เดีย ซิบิล (เจ้าหน้าที่รักษาการณ์) ในวันรุ่งขึ้นกองกำลังทหารของฟรังโกจึงเคลื่อนพลไปควานหาตัวศัตรูในโมแกวร์ เมืองชนบทเล็กๆ ของแคว้นอันดาลูเซีย แทบทุกตารางนิ้ว
โรซาโดจดจำความรู้สึกตื่นกลัวของตนเองในวันนั้นได้ดี “พวกเขาเข้ามาใกล้หลุมที่ผมซ่อนตัวอยู่ และเกือบจะจับตัวผมได้แล้ว โชคดีที่นายของพวกเขาเรียกตัวไปค้นที่อื่นต่อ” ปล่อยให้โรซาโดหายใจไม่เป็นจังหวะอยู่ข้างๆ หมู
ความกลัวนี้มาจากไหน และความโกรธเกลียดของผู้ไล่ล่าล่ะ
000
ทั้งหมดมาจาก ‘เนื้อร้ายของประชาธิปไตย’ ฟรานซิสโก ฟรังโกปรารถนาจะปลดแอกสเปนในปี 1936 เมื่อเขาร่วมกับนายพล ‘ฝ่ายชาตินิยม’ อีกสามคนทำการกบฏ ช่วงชิงอำนาจจากฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ
เขาทำให้เกิดสงครามกลางเมืองน่าสลดที่เต็มไปด้วยการสังหารหมู่ เฉพาะในคอร์โดบา ฝ่ายของฟรังโกซึ่งเป็นกลุ่มฟาสซิสต์ฟลังกิสต์ และกวาร์เดีย ซิบิล สังหารผู้คนไปร่วม 10,000 คน แนวร่วมชาตินิยมเจตนาฆ่าด้วยเหตุผลทางการเมือง อีกส่วนหนึ่งด้วยความเกลียดชังฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ ทำการเผาโบสถ์และทารุณกรรมพระซึ่งเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของระบบเก่า
รากเหง้าของความรุนแรงนี้ยังคงกัดกร่อนสเปนอยู่ลึกๆ – ชาวนาและกรรมกรต่างยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบ ในขณะที่ชนชั้นสูงเก่าแก่ เจ้าของที่ดิน ทหาร และคริสตจักร ต่างกลัวการขับเคลื่อนของระบอบสังคมนิยม การเวนคืน และอนาธิปไตย พวกเขาพากันโหยหาระบอบกษัตริย์และเผด็จการในยุคก่อนหน้าที่ประเทศจะเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ สงครามกลางเมืองจึงเป็นมากกว่าการต่อสู้ระหว่างฝ่ายขวาและซ้าย หากแต่เป็นการเปิดศึกของหลายฝ่าย ตั้งแต่ฝ่ายคาทอลิกหัวเก่ากับฝ่ายฆราวาสเสรีนิยม ฝ่ายราชาธิปไตยกับฝ่ายสาธารณรัฐ ไปจนถึงฝ่ายนิยมศูนย์รวมอำนาจกับฝ่ายนิยมการปกครองในรูปสมาพันธรัฐที่มุ่งมั่นเพื่อเอกราช
จนท้ายที่สุด สเปนก็แตกเป็นเสี่ยง นายพลฟรังโก ซึ่งฉลองชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 1939 พยายามจะกอบกู้สเปนให้เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง ด้วยการตั้งตนเป็น ‘ตัวแทนจิตวิญญาณแห่งการกอบกู้ชาติ’ ให้ผู้คนคล้อยตาม
แต่แทนที่จะปลูกฝังให้เป็นอุดมการณ์ที่แน่วแน่ เขากลับผสมผสานเอาฟาสซิสต์ อนุรักษ์นิยม และราชาธิปไตยเข้าไว้ในกระแสเดียวกัน อีกทั้งยังเอาความเกลียดชังในศัตรูทางการเมืองเข้ามาเชื่อมโยงด้วย
การไล่ล่า ‘ตุ่น’ จึงเริ่มต้นขึ้นนับแต่นั้น
000
มานูเอล คอร์เตส เกโร (Manuel Cortés Quero) เองก็มองไม่ออกในทีแรก เขาเคยเป็นนายกเทศมนตรีจากระบอบสาธารณรัฐในหมู่บ้านมิฮาส ใกล้เมืองมาละกา ก่อนถูกความวุ่นวายของสงครามผลักไสให้เขาหนีออกจากหมู่บ้าน วันที่ 17 เมษายน 1939 ราวสองสัปดาห์หลังสงครามกลางเมืองสงบ เขาเดินทางกลับไปที่มิฮาสอีกครั้ง เพื่อรายงานตัวกับทางราชการ ไม่มีทางอื่นให้เขาเลือก ทำไมเขาต้องหนีหัวซุกหัวซุน ในเมื่อเขาไม่ได้ทำอะไรผิด
คอร์เตสนึกคิดเอาเองว่า อย่างดีเขาคงถูกต้องโทษจำคุกไม่กี่ปี ไม่น่าจะรุนแรงเกินกว่านั้น แต่เขาคิดผิด
ตอนที่คอร์เตสเล่าให้ฮูเลียนา-ภรรยาของเขา และพ่อบุญธรรมของเขาฟังว่า เขาจะเข้ามอบตัว ทั้งสองพากันตระหนก ก่อนจะรายงานให้คอร์เตสฟังว่า นายกเทศมนตรีในพื้นที่ใกล้เคียงถูกสังหาร อีกทั้งเพื่อนๆ ร่วมพรรคของเขาในมิฮาสก็ไม่เหลือรอดชีวิต และตอนนี้พลพรรคของฟรังโกกำลังตามหาตัวเขาอยู่ ฮูเลียนาถามสามีด้วยอาการสั่นกลัว ว่าทำไมเขาถึงคิดย้อนกลับมาที่นี่
พวกเขาปรึกษากันหลายชั่วโมง คอร์เตสเริ่มเข้าใจสถานการณ์ว่าตนเองกำลังตกที่นั่งลำบาก แต่โชคดีอยู่บ้างตรงที่ไม่มีใครเห็นตอนที่เขาเดินทางกลับมาบ้าน ครั้นจะเดินทางออกจากหมู่บ้านตอนนี้คงยากแล้ว ถึงไปเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน เหลือทางเดียวคือต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในถ้ำสิงห์
และเขาก็หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านตลอด 29 ปีและ 352 วัน
ในช่วงปีแรกๆ คอร์เตสเร้นตัวอยู่ในโพรงผนังห้องภายในบ้านของพ่อบุญธรรม ซึ่งเคยเป็นตู้มีพื้นที่ขนาดวางเก้าอี้ตัวเล็กสำหรับเด็ก ให้เขานั่งและยืนได้เท่านั้น ในนั้นเขาจุดเทียนและอ่านหนังสือ ใช้เวลาที่เคลื่อนอย่างเชื่องช้า-หมดไปอย่างเหนื่อยหน่าย
ทางเข้าโพรงเป็นช่องแคบๆ ที่ถูกปิดทับไว้ด้วยภาพบูชา ช่วงกลางวันฮูเลียนาส่งอาหารให้เขาผ่านทางช่อง ตกกลางคืนเขาถึงออกมาด้านนอก บางครั้งเขาฝืนใจกล้าออกมาในตอนกลางวัน เข้าไปหลบอยู่ในห้องมืดๆ เดินยืดเส้นยืดสายไปมาอย่างเงียบเชียบ
เขาต้องใช้ชีวิตอยู่เฉกเช่นคนไม่มีตัวตน พึ่งพาใครที่ไหนไม่ได้ แม้ยามเจ็บป่วยก็ไม่มีหมอมารักษา คอร์เตสเคยต้องถอนฟันเก้าซี่ด้วยตัวเอง ไม่มียาชา และต้องกลั้นเสียงเจ็บปวดไว้ ทุกคนในหมู่บ้านพร้อมวิ่งโร่แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกเวลาที่เห็นบางอย่างผิดสังเกต ฮูเลียนาเองก็เคยถูกเจ้าหน้าที่คาดคั้นและขมขู่บ่อยครั้ง
เวลาผ่านไปสองปีครึ่ง คอร์เตสเริ่มออกจากโพรงในตอนกลางคืน โดยพรางตัวเป็นหญิงชรา หลังจากนั้นเขาก็แฝงตัวไปอยู่ในบ้านเช่าหลังใหม่ของฮูเลียนา ในห้องลับขนาดใหญ่ใต้ถุนบันไดที่เขาก่อกำแพงปิดทึบด้วยตนเอง
ในเดือนมีนาคม 1969 นายพลเผด็จการเริ่มประกาศนิรโทษกรรมทั่วราชอาณาจักร ‘ตุ่น’ หลายคนไม่รู้ข่าว บ้างก็ไม่เชื่อใจนายพลฟรังโก ‘ตุ่น’ คนสุดท้ายของสเปนผละออกจากที่ซ่อนตัวในปี 1977 …หลังจากกบดานอยู่นานถึง 38 ปี
จากคนวัยหนุ่มเมื่อตอนหนีไปหลบซ่อนตัว พวกเขาโผล่หน้ากลับมาบ้านอีกครั้งก็ตอนเป็นปู่เป็นตา ทุกคนจำสภาพแวดล้อมเดิมที่เคยคุ้นชินแทบไม่ได้ ท้องถนนเต็มไปด้วยรถรา นักท่องเที่ยว ตึกสูง เด็กสาวนุ่งกระโปรงสั้น…
“ผมรู้สึกเหมือนมีเข็มแทงที่หน้าอก และร้องไห้โฮเหมือนเด็กๆ นั่นคืออิสรภาพ!” มานูเอล โรซาโดเล่าความรู้สึกเมื่อตอนกลับคืนสู่ชีวิตปกติอีกครั้งในปี 1969 เหตุเพราะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายทำให้น้ำหนักตัวเขาเพิ่มขึ้นถึง 100 กิโลกรัม และนัยน์ตาทั้งสองข้างมีอาการแพ้แสง โรซาโดต้องพึ่งแว่นตากันแดด นอกจากพรางแสงจ้าแล้ว เขายังใช้พรางสายตาเวลาผู้คนจ้องมองราวกับเขาเป็นสัตว์ประหลาด
ส่วนมานูเอล คอร์เตสนั้น ผละออกจากที่ซ่อนตัวในเดือนเมษายน 1969 ด้วยชุดสูทและรองเท้าหนังใหม่เอี่ยมที่ฮูเลียนาซื้อให้เขาในวาระพิเศษ แต่ชายวัย 63 ปีก้าวเดินอย่างลำบาก เนื่องจากไม่ได้สวมรองเท้าเดินมานานจนหมดความคุ้นเคยกับมัน
โรซาโด อดีตแนวร่วมสังคมนิยม ให้การกับกวาร์เดีย ซิบิลเมื่อปี 1969 ว่า ฟรังโกเป็นผู้นำประเทศที่ยิ่งใหญ่ และเขาพร้อมที่จะก้าวข้ามความเลวร้ายในอดีต – ชัยชนะของผู้นำเผด็จการครั้งนั้นกลายเป็นอาชญากรรมที่ตราบถึงทุกวันนี้ก็ยังสะสางกันไม่จบ
ตรงกันข้ามกับคอร์เตส ที่ยังยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์เดิมของตนเอง ปี 1977 หนึ่งปีหลังจากนายพลฟรังโกเสียชีวิต เขามีโอกาสได้กลับไปที่หน่วยเลือกตั้งของมิฮาสอีกครั้ง ช่วงเวลานั้นในสเปนเริ่มมีหลายพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองที่ฟรังโกเคยเป็นผู้นำยุบหายไป
อดีตนายกเทศมนตรีกาบัตรลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยม ที่เขาเคยคลุกคลีและสังกัด ครั้งนี้พรรคของเขาชนะคะแนนเลือกตั้งทั้งหมู่บ้าน ชวนให้เขาคิดว่า อย่างน้อยก็เป็นการล้างแค้นฟรังโกได้ทางหนึ่ง
อ้างอิง:
- Jesús Torbado & Manuel Leguineche, The Moles: An Account of Courage and Tenacity During the Franco Years, Secker & Warburg (1981)
- https://www.zinemaetagizaeskubideak.eus/2012/index.php?option=com_content&view=article&id=46%3Asatorrak-errepresio-frankistatik-ezkutatuta&catid=11%3Agaiak&Itemid=27&lang=en
- https://www.graswurzel.net/gwr/2006/06/70-jahre-soziale-revolution-in-spanien/