เธอมีชื่อเสียงจากการขับรถจากัวร์ด้วยเท้าเปลือยเปล่า ใช้จ่ายเงินหนักมือตามคาเฟ่และไนต์คลับในแซงต์–โตรเปซ์ เธอคือดาวสุกสกาว พราวเสน่ห์ ในหมู่สังคมเจ็ตเส็ตแห่งยุค 1960s-1970s
เมื่อปี 1954 ที่เธอส่งต้นฉบับนิยายกึ่งอัตชีวประวัติเรื่อง Bonjour Tristesse (Hello Sadness) ให้เจ้าของสำนักพิมพ์ฌูยารฺด์ในกรุงปารีส และหลังจากตีพิมพ์ออกมาเธอก็กลายเป็นดาวเด่นดวงใหม่ของแวดวงวรรณกรรมไปในชั่วข้ามคืน
ฟรองซัวส์ ซากอง (Françoise Sagan / ซากองเป็นชื่อตัวละครในนิยายของมาร์เซล ปรูสต์ ที่เธอนำมาใช้เป็นนามปากกา) นามสกุลจริง คัวเรซ์ (Quoirez) เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1935 ในเมืองคาฌาร์ค เป็นลูกสาวของครอบครัวมีฐานะ ที่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เข้าเรียนวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในกรุงปารีส เขียนหนังสือและตีพิมพ์ออกมาตอนเธออายุ 18
Bonjour Tristesse เป็นเรื่องราวของเด็กสาววัย 17 ที่แทรกเข้าไปในชีวิตของหญิงคนรักสองคนของพ่อระหว่างไปใช้ชีวิตช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นับเป็นเรื่องอื้อฉาวสำหรับช่วงเวลานั้น กระทั่งทำให้ซากองมีชื่อเสียงขึ้นจากผลงานชิ้นนี้และได้รับรางวัล Prix des Critiques
หนังสือเบสต์เซลเลอร์เล่มนี้ เธอใช้เวลาเขียนเพียงเจ็ดสัปดาห์ แต่มันกลายเป็นหนังสือที่มียอดขายทั่วโลกถึงสี่ล้านเล่ม และได้รับการแปลถึง 22 ภาษา ภายในเวลา 5 ปี
หนังสือพิมพ์เลอ ฟิกาโร ตั้งฉายาเธอว่า ‘ปีศาจน้อยเจ้าเสน่ห์’ ซากองกลายเป็นไอคอนแห่งเสรีภาพของยุคสมัย คบหาเคียงบ่าเคียงไหล่กับฌอง–ปอล ซารฺตร์ (Jean-Paul Sartre) ออร์สัน เวลส์ (Orson Wells) ฌูเลียตต์ เกรโก (Juliette Gréco) นิยายหลายเรื่องของเธอกลายเป็นหนังสือขายดีแม้ในต่างแดน
ในปีที่ประสบความสำเร็จกับผลงานนิยายเล่มแรก ซากองได้รับมอบหมายจากนิตยสารแอลบ่อยครั้ง ให้เขียนบันทึกการเดินทางในเนเปิลส์ คาปรี เวนิส และอีกสองปีถัดมาที่นิวยอร์ก
“ตื่นขึ้นมาในสถานที่สวยงามที่สุดของโลก” เป็นคำโปรยในหนังสือรวมบันทึกการเดินทาง Bonjour New York ที่มีการตีพิมพ์ในภายหลัง เดนีส์ เวสต์โฮฟฟ์ (Denis Westhoff) ลูกชายของเธอเล่าย้อนความเกี่ยวกับแม่ในบทนำว่า
“แม้ว่าจะเติบโตขึ้นในชนบท แต่ฟรองซัวส์ ซากองก็รักความเป็นเมือง เธอชอบสุ้มเสียงของมัน แสงไฟ ความพลุกพล่าน ความแตกต่างของวันและคืน เธอชอบถนนที่โล่งร้างเมื่อความเงียบสงบหวนกลับมาในยามค่ำคืน บางครั้งเธอชอบขับรถตอนดึกดื่น ขับไปทั่วกรุงปารีสอย่างไม่มีจุดหมาย”
…
ปี 1957 ฟรองซัวส์ ซากองในวัย 22 เคยขับรถแอสตัน มาร์ตินประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ เหตุการณ์ครั้งนั้นนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะหลังจากนั้นยาเสพติดก็เริ่มเข้าสู่วงจรชีวิตของเธอ
ซากองแต่งงานกับกีย์ เชิลเลอร์ (Guy Schoeller) เจ้าของสำนักพิมพ์อายุมากกว่าเธอ 20 ปี ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันเพียงสองปีเศษก็หย่า
ปี 1962 ซากองแต่งงานครั้งใหม่กับโรเบิร์ต เวสต์โฮฟฟ์ (Robert Westhoff) นักประติมากรรม มีลูกชายกับเขาหนึ่งคน แล้วก็หย่าร้างอีกครั้งในปีถัดมา
หลังจากนั้นเธอคบหาอย่างยาวนานกับเพ็กกี โรช (Peggy Roche) สไตลิสต์ชื่อดัง จากนั้นมีสัมพันธ์รักกับแบร์นารฺด์ ฟรังก์ (Bernard Frank) นักข่าวชาย ก่อนกระโจนไปคบกับอันนิค เกลย์ (Annick Geille) นักเขียนและนักข่าวหญิง ซึ่งเสนอบทความให้กับนิตยสารเพลย์บอยที่ซากองทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการอยู่
ช่วงทศวรรษ 1990s เธอถูกดำเนินคดีบ่อยครั้ง ทั้งข้อหายาเสพติดและภาษีย้อนหลัง ส่วนใหญ่เธอถูกตัดสินโทษรอลงอาญาและเสียค่าปรับ
…
ฟรองซัวส์ ซากอง วัย 61 ปี เป็นหญิงชราโดดเดี่ยวที่นั่งอยู่ที่ริมหน้าต่าง ไม่คลาดจากสายตาของแม่บ้าน และเมื่อมีนักข่าวมากดกริ่งที่หน้าประตู แม่บ้านจะคอยตะโกนบอก “เธอไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว”
อดีตนักเขียนมีชื่อเสียงในสภาวะถูกลืม เป็นภาพเปิดเรื่องของ Sagan (2008) ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือชีวประวัติ เล่าจากชีวิตปัจจุบันของซากองที่ยากจน อมโรค ติดสุรา มอร์ฟีน และโคเคน หรือบางทีอาจจะติดเพื่อนกลุ่มสุดท้ายที่ยังเหลือชีวิตอยู่ มันเป็นโศกนาฏกรรมชีวิตที่ไดแอน คูรีส (Diane Kurys) ผู้กำกับฯ นำมาเล่าเป็นภาพเคลื่อนไหว คล้ายเรื่องราวของใครหลายคนที่อดีตเคยรุ่งโรจน์ แต่มีบทจบที่ความโดดเดี่ยวและถูกโลกลืม (อย่างมาร์เลเน ดีทริช เกรตา การ์โบ หรือแม้กระทั่งฌัน เซแบร์ก–ที่เคยเล่นบทนำเมื่อคราวที่ Bonjour Tristesse มีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์) และจากนั้นหนังจะพาย้อนกลับไปสู่อดีตของเธอ…
เท้าเปลือยเปล่าในรถจากัวร์ ชั่วโมงหรรษาระหว่างปาร์ตี้กับคาสิโน สัมพันธ์รักเร่าร้อนและรุงรัง ความฟุ้งเฟ้อเพ้อพก ทั้งหมดนั้นคือโลกของฟรองซัวส์ ซากอง
ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นจากผลงานหนังสือที่ประสบความสำเร็จ เข้าสู่ชีวิตเสรีของยุค 1950s ฟูฟ่อง เท้าไม่ติดพื้น ไล่ล่าหาความรัก จนชีวิตพลิกคว่ำไปกับรถยนต์ที่เธอมักจะขับด้วยความเร็ว ต้องเข้าคลินิกรักษาตัว พักฟื้น และติดมอร์ฟีนกลับออกมา
24 กันยายน 2004 ซากองเสียชีวิตในวัย 69 ปี พร้อมกับทิ้งหนี้สินมากมายให้เป็นภาระของลูกชาย แต่ในวันสุดท้าย เดนีส์ เวสต์โฮฟฟ์ก็เซ็นรับมรดก แม้ว่ามันจะมาพร้อมกับหนี้สิน เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่ได้ถือครองลิขสิทธิ์ผลงานของผู้เป็นแม่
ตลอดสามปีที่ต้องทำงานหนัก กอปรกับได้รับความช่วยเหลือจากนิโคลาส์ ซาร์โคซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเวลาต่อมา เขาถึงมีโอกาสนำผลงานเก่าของซากองกลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง เพื่อนำรายได้จากการขายหนังสือไปชำระหนี้ทั้งหมดของแม่
อ้างอิง:
https://www.welt.de/welt_print/article2953223/Das-schnelle-Leben-der-Francoise-Sagan.html
https://www.tagesspiegel.de/kultur/film-ueber-francoise-sagan-das-launische-entlein/1405822.html
http://schreib-lust.de/leselust/rezension.php?id=2443
Francoise Sagan, Bonjour New York, SchirmerGraf Verlag München (2008)
Tags: ฟรองซัวส์ ซากอง, Françoise Sagan