‘อันโทน’ เด็กชายวัยสิบขวบ อยากเข้าร่วมกลุ่ม ‘เยาวชนฮิตเลอร์’ ด้วยความคิดว่า ไม่มีสิ่งไหนจะวิเศษไปกว่าการได้สวมชุดเครื่องแบบ เข้าแคมป์ และร่วมขบวนพาเหรดร้องเพลงชาตินิยมของพรรคนาซี แม้ว่าพ่อของเขาจะไม่เห็นด้วยก็ตาม…

นั่นคือตัวละครสมมติตัวหนึ่งในซีรีส์ Der Krieg und ich (สงครามและฉัน) ที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์ SWR (Südwestrundfunk) ร่วมกับ LOOKsfilm สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ทางทีวีและสื่อโซเซียล เป็นซีรีส์ความยาวแปดตอน (ตอนละประมาณ 25 นาที) ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แก่เด็กอายุแปดขวบขึ้นไป

นับเป็นการจัดเรตติงกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้าง ‘ใจกล้า’ สำหรับสื่อในเยอรมนี เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนาซีหรือเผด็จการ ส่วนใหญ่แล้วจะยินยอมหรือแนะนำสำหรับเด็กตั้งแต่เกรด 9 หรืออายุอย่างต่ำ 14 ปี

ตามความเห็นของนักวิชาการเชื่อว่า จะเพิ่มพูนความรู้แก่เด็กๆ มากกว่า หากพวกเขาสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ‘เผด็จการ’ กับ ‘ประชาธิปไตย’ ได้ ก่อนที่จะดูสถานที่เกิดเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ อย่างเช่น ค่ายกักกันหรือห้องคุมขังนักโทษการเมือง แต่ดูเหมือนซีรีส์ Der Krieg und ich เรื่องนี้จะแหกกฎเกณฑ์ที่ผ่านมาเสียสิ้น

นอกจากนั้น เว็บไซต์ kindernetz.de ซึ่งเป็นสื่อโซเซียลสำหรับเด็กในเครือข่ายของสถานีวิทยุโทรทัศน์ SWR ยังจัดทำวิดีโอคลิปความยาวร่วมสามนาที สรุปย่อเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองแบบเข้าใจง่าย เป็นคำอธิบายประกอบซีรีส์ บอกเล่าจุดเริ่มต้นของสงครามโลกเมื่อเดือนกันยายน 1939 ที่กองทัพเยอรมันภายใต้คำสั่งของเผด็จการฮิตเลอร์เคลื่อนทัพเข้ารุกรานโปแลนด์ ก่อนจะรุกคืบเข้าไปในสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา จากนั้นยังบุกโจมตีนอร์เวย์เพื่อยึดครองน่านน้ำของทะเลเหนือ และเพื่อก่อสงครามกับอังกฤษ นอกจากนั้นฮิตเลอร์ยังมีคำสั่งให้รุกรานประเทศต่างๆ ในยุโรป

ปี 1940 เยอรมนีเข้ายึดครองฝรั่งเศสได้สำเร็จ ทหารนาซียึดอำนาจด้วยกำลังและความรุนแรง ปีถัดมา กองทัพนาซีเคลื่อนพลบุกโจมตีสหภาพโซเวียต สามารถเข้ายึดครองสตาลินกราด (เมืองวอลโกกราดในปัจจุบัน) ได้บางส่วน แต่ไม่สามารถยึดครองได้ทั้งหมด และแล้วฤดูหนาวก็มาถึง ตอนนั้นทหารเยอรมันไม่ได้เตรียมรับมือกับความเยือกหนาว ทำให้กำลังพลอ่อนแอ บ้างเสียชีวิตในความเหน็บหนาว บ้างก็ถูกจับตัวเป็นเชลย แต่ทหารเยอรมันได้รับคำสั่งให้ตรึงกำลัง สู้รบต่อไปจนนาทีสุดท้าย เพื่อนาซีเยอรมนี

ชัยชนะของกองทัพโซเวียตจากการยึดคืนสตาลินกราดเมื่อต้นปี 1943 นับเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามโลกครั้งที่สอง มันสะท้อนให้เห็นว่ากองทัพเยอรมันก็พ่ายแพ้ได้ ต่อจากนั้นกองทัพโซเวียตก็ตอบโต้คืน เคลื่อนกำลังพลเข้ายึดคืนพื้นที่จากฝ่ายเยอรมัน ทีละหมู่บ้าน ทีละเมือง

ความพ่ายแพ้ของกองทัพนาซีเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษและอเมริกันบุกโจมตีเมืองต่างๆ ของเยอรมนีทั้งวันและคืน เป็นคำตอบของสิ่งที่นาซีเยอรมนีได้เริ่มขึ้น กระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 เยอรมนีประกาศความพ่ายแพ้ สงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปจึงสิ้นสุดลง

Der Krieg und ich เดินเรื่องด้วยตัวละครสมมติ บอกเล่าชะตากรรมของผู้คนในช่วงก่อนและระหว่างสงคราม ผ่านมุมมองของเด็กๆ ที่ปะติดปะต่อจากบันทึกและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีตัวช่วยเป็นตุ๊กตาพลาสติก แผนที่สามมิติ และภาพเคลื่อนไหวขาว-ดำจากอดีต เพื่อเลี่ยงภาพความโหดร้ายหรือความรุนแรง ส่วนนักแสดง นอกเหนือจากนักแสดงมืออาชีพของเยอรมนีแล้ว ยังมีเหล่านักแสดงรุ่นเยาว์จากชาติต่างๆ ของยุโรปร่วมอยู่ด้วย

อย่างเช่นตัวละคร ‘ซองดรีน’ เด็กสาวฝรั่งเศสวัย 13 ปี ที่มีส่วนช่วยเหลือให้ที่หลบซ่อนแก่เด็กชาวยิวในเมืองทางตอนใต้ของฝรั่งเศส หรือ ‘ฟริตยอฟ’ เด็กชายลูกชาวประมงในนอร์เวย์ ที่พยายามหลบหนีทหารเยอรมันไปยังสวีเดน และอีกหลายเหตุการณ์ หลายเรื่องราว

หัวข้อ ‘การเลี้ยงดูเด็กหลังเหตุการณ์เอาชวิตซ์’ ซึ่งเทโอดอร์ เว. อดอร์โน (Theodor W. Adorno) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เคยบรรยายไว้เมื่อปี 1967 – สองปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต หวนกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งเมื่อปีกลาย หลังจากมีการเคลื่อนไหวอย่างออกนอกหน้าของบรรดากลุ่มขวาหัวรุนแรง และพรรคการเมืองทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) กลับมาได้รับความนิยม อดอร์โนเน้นย้ำออกสื่อในครั้งนั้นว่า สังคมชาวเยอรมันไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์อย่างที่เคยเกิดในเอาชวิตซ์ซ้ำรอย เขามีความกังวลเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเยาวชนคนรุ่นหลัง การตัดสินใจด้วยตนเอง และความยืดหยุ่นในการลดทอนความซับซ้อนของระบอบประชาธิปไตย ที่นอกเหนือไปจากการศึกษาข้อเท็จจริงจากสถานศึกษา

การบรรยายของนักปรัชญาในครั้งนั้นดูเหมือนจะยังไม่มีคำตอบที่เป็นทางออก อาจเพราะสังคมเยอรมันยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม และคนรุ่นใหม่กำลังเพรียกหาเสรีภาพของชีวิต กระทั่งถึงวันนี้ Der Krieg und ich ซีรีส์สำหรับเด็กๆ ดูเหมือนจะเป็นการตอบโจทย์ที่คาใจในยุคสมัยนั้นได้ดี

สิ่งซึ่งเด็กๆ วัยตั้งแต่แปดขวบเรียนรู้ได้จากซีรีส์ อย่างน้อยที่สุดคือความกล้าหาญในการตัดสินใจ การได้เรียนรู้ ซึมซับประวัติศาสตร์ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สามารถมองเห็นภาพความชั่วร้ายของนักปกครองเผด็จการอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้อย่างชัดเจนว่า หากคนในสังคมพากันคล้อยตามหรือนิ่งเฉยเสียแล้ว ผลร้ายจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ หรือสังคมรอบตัวอย่างไร

เหมือนเช่นในตอนหนึ่งของซีรีส์ ที่ ‘อันโทน’ ดื้อดึง ไม่เชื่อฟังคำของพ่อ และแอบเข้าร่วมเป็นสมาชิก ‘เยาวชนฮิตเลอร์’ ท้ายที่สุดก็ได้เรียนรู้และต้องเผชิญความจริงด้วยตัวเองว่า นั่นคือการหลงผิด

การได้สวมชุดเครื่องแบบหรือการไปใช้ชีวิตในแคมป์ไม่ใช่เรื่องสนุกอย่างที่เขาคิด ซ้ำร้ายเขายังกลายเป็นคนทรยศต่อพ่อ และเพื่อนที่เป็นชาวยิวอีกด้วย

 

อ้างอิง:  

Tags: , , , ,