ภาพทหารเยอรมันสวมกอดเพื่อนๆ ในชุดเครื่องแต่งกายผู้หญิง ภาพระหว่างลองสวมชุดชั้นในสตรี หรือภาพนุ่งกระโปรงและสวมเสื้อยกทรงที่ด้านหน้าตราสัญลักษณ์สวัสดิกะ …ทหารที่มีพฤติกรรม ‘เบี่ยงเบน’ ทางเพศทั้งหลายเหล่านี้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์สั่งการให้ไล่ล่า จับกุม ลงโทษ และสังหารหมดสิ้น

“แทบไม่มีกองทัพประเทศไหนในโลกที่หมกมุ่นกับเรื่องมลทินของความสัมพันธ์แบบผู้ชายเท่ากับกองทัพเยอรมันในอาณาจักรไรช์ที่สามอีกแล้ว” ฟรานซ์ ไซด์เลอร์ (Franz Seidler) นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันเคยกล่าว ยิ่งสงครามโลกครั้งที่สองคืบหน้า ยิ่งทำให้ผู้บัญชาการกองทัพต้องเข้าไปมีบทบาทแทรกแซง คัดกรอง ให้ได้นักรบที่เป็นชายชาติทหาร ส่วนชายที่รักเพศเดียวกันนั้น หากถูกกองทัพจับได้จะถูกลงโทษ สูงสุดถึงประหารชีวิต

แต่หากไม่มีภาพถ่ายปรากฏออกมา ก็คงไม่มีใครเชื่อว่ามีทหารรักเพศเดียวกันในกองทัพจริง มาร์ติน ดัมมันน์ (Martin Dammann) ศิลปินชาวเบอร์ลิน ใช้เวลาร่วมสองทศวรรษสืบค้นภาพถ่ายช่วงสงคราม ซึ่งถ่ายโดยช่างภาพสมัครเล่น รวบรวมทั้งภาพและเรื่องราวมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ Soldier Studies. Cross-Dressing in the Wehrmacht ทำให้โลกได้รับรู้ความจริงอีกด้านหนึ่งของกองทัพเยอรมันระหว่างสงคราม

มาร์ติน ดัมมันน์ได้รับอนุมัติจากหน่วยงาน Archive of Modern Conflict ในกรุงลอนดอน ในการเดินทางเพื่อติดตามสืบหาข้อมูลและภาพถ่ายจากคลังภาพส่วนตัวและนักสะสมทั่วโลก ปัจจุบันดูเหมือนว่าหน่วยงานนี้มีภาพถ่ายสงครามซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ภาพถ่ายส่วนใหญ่ที่ดัมมันน์พบเจอ มักเป็นภาพจากสงครามที่คล้ายจะคุ้นตา กระทั่งไม่ช้าต่อมาเขาก็ไปเจอภาพถ่ายทหารที่สวมเครื่องแต่งกายผู้หญิงเข้า หลังจากนั้น เขาก็เริ่มสะสมภาพถ่ายแนวนั้น จากเหตุการณ์ความขัดแย้งในสถานที่หรือประเทศต่างๆ 

ดัมมันน์เคยพบเจอเป็นภาพจากช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งจากแฟ้มภาพของชาวอเมริกัน อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่เมื่อเขารวบรวมมาคัดแยกดูแล้วก็พบว่า ภาพถ่ายทหารเยอรมันที่สวมเสื้อผ้าผู้หญิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

ภาพถ่ายขาว-ดำ บ่อยครั้งก็ชวนทึ่ง บางครั้งเหล่าทหารก็มีความคิดแผลงๆ ลองสวมเสื้อผ้าที่พวกเขาพบในตู้ตามหมู่บ้านที่พวกเขายึดครองได้สำเร็จ เช่นภาพหมู่ที่มีนายทหารคนหนึ่งสวมกระโปรงและเสื้อยกทรงทับชุดเครื่องแบบ หรืออีกหลายภาพที่มีทหารแต่งชุดผู้หญิงในอิริยาบถต่างๆ จนถึงนุ่งชุดบิกินีปักเลื่อมระยิบระยับ ยืนโพสท่าบนเวที ในมือถือขวดเบียร์ ทอดสายตาไปที่ผู้ชมที่เป็นทหารในชุดเครื่องแบบ 

 

มาร์ติน ดัมมันน์เองเชื่อว่า ภาพถ่ายเหล่านั้นเป็นภาพที่ถ่ายกันในกองทัพเยอรมัน เหมือนเช่นในกองทัพอื่นๆ และแม้ว่าทหารที่เป็นชายแท้จะมีจำนวนมากกว่าก็ตาม แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า คนรักเพศเดียวกันและและทรานส์เซ็กชวลเป็นเรื่องที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนเหมือนกัน

นโยบาย ‘เลี้ยงพล’ ช่วงเริ่มต้นสงครามที่มาจากกองบัญชาการทหารสูงสุดนั้น ยังคงนับ ‘กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน’ ว่าเป็นทหารที่ดีและมีประโยชน์ และการสู้รบในสงครามจะเป็นวิธีการ ‘ขัดเกลา’ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น กระทรวงโฆษณาการและองค์กร ‘ความแข็งแกร่งผ่านความรื่นเริง’ ยังเป็นฝ่ายต้นคิดให้มีโรงละครแนวหน้า เพื่อความบันเทิงและการผ่อนคลายสำหรับทหาร

ในโปรแกรมการแสดง บ่อยครั้งมีตัวละครผู้หญิงร่วมด้วย ซึ่งที่แนวหน้านั้นหาผู้หญิงตัวจริงเสียงจริงแทบไม่มี จึงได้นายทหารกลุ่มรักร่วมเพศนั่นละไปช่วยเติมเต็มความสำราญ และทหารบางคนก็มีความสามารถกับบทบาทการแสดงเป็นผู้หญิง

จากข้อมูลของมาร์ติน ดัมมันน์ ไม่พบว่าการแต่งกายหรือการแสดงเลียนแบบผู้หญิงเพื่อการแสดงนั้นจะมีบทลงโทษแต่อย่างใด ทหารระดับสูงในกองทัพเยอรมันเองก็มองว่า มันเป็นเพียงรูปแบบของความบันเทิง เพื่อให้บรรดาทหารที่ตั้งกองรบอยู่แนวหน้าได้รู้สึกผ่อนคลายระหว่างที่อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด แม้ว่าเบื้องหลังการแสดง ทหารบางคนที่สวมบทบาทและเครื่องแต่งกายผู้หญิงจะมีใจเอนเอียงเป็นคนรักเพศเดียวกันก็ตาม

แต่จะเป็นเรื่องตลกขบขัน ความรื่นเริงในหมู่ทหาร หรืออารมณ์สนุกช่วงเทศกาลแต่งกายก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว มาร์ติน ดัมมันน์มองว่า ภาพถ่ายชายแต่งหญิงเหล่านั้นนับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกองทัพเยอรมัน ภายใต้อุดมการณ์ของนาซี ที่ได้ชื่อว่าเกลียดชังโฮโมเซ็กชวลอย่างรุนแรง

เพียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานแต่อย่างใดว่า มีการนำหลักฐานภาพถ่ายเหล่านี้ไปจับกุมหรือนำตัวใครไปลงโทษ ท้ายที่สุดแล้ว ภาพถ่ายก็คือภาพถ่าย ที่ไม่ได้บอกเล่าอะไรเลยว่า ชาติชายนายทหารที่แต่งกายเลียนแบบผู้หญิงนั้นกำลังทำด้วยจุดประสงค์อะไร

จะคิดว่าเป็นกบฏเล็กๆ ต่อต้านอุดมคติของนาซีที่ถือมั่นในความเป็นชายชาตรี หรือเป็นแค่การแต่งกายเพื่อความรื่นเริงในช่วงเทศกาล นั่นก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน

 

อ้างอิง:

Tags: , , , ,