เธอตื่นบนเตียงตัวเองในตอนเช้า พลิกตัวไปมาสองสามครั้งก่อนจะลุกขึ้น เธอลงไปโยคะ ว่ายน้ำ อาบน้ำเป่าผมให้แห้ง แต่งตัว ทำมื้อเช้า ต้มกาแฟ คุยโทรศัพท์กับแม่ เป็นเช้าเชื่องช้าสามัญ เจ็ดโมงเช้าเธอออกจากห้อง ทันทีที่ไขประตู ชายหนุ่มคนหนึ่งบาดเจ็บร่วงหล่นลง เธอรีบโทรตามรปภ. หันมาอีกทีเขาก็เข้ามาอยู่ในห้องแล้ว นอนเหยียดยาวบนโซฟา ใบหน้ามีรอยถลอก มีรอยเลือดเปื้อนเสื้อสีขาวที่ท้อง “แค่แผลถลอกน่ะ” เขาร้องขอน้ำดื่มจากเธอ ถึงจะรีบไปทำงาน ถึงไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไรกับการที่มีผู้ชายแปลกหน้าถือวิสาสะเข้ามาในห้อง เธอก็ไปหาน้ำให้เขาดื่ม เขาชวนเธอพูดคุยเรื่องรูปวาดสวยๆ ที่เธอแขวนไว้ในห้อง เขารู้ว่ามันเป็นรูปชื่อ The Snake Charming รู้ว่ามันเป็นรูปของอองรี รูโซ (Henri Rossaeau) รู้ว่าคนวาดจินตนาการป่าดงดิบขึ้นจากการไปสวนสัตว์ทั้งยังไม่เคยออกจากฝรั่งเศส เขารู้ว่าตัวเองเป็นคนเอาภาพวาดนั้นมาแขวน และเริ่มกล่าวหาว่าเธอไม่รู้ หรือไม่ เธอมาทีหลัง นี่เป็นห้องของเขามาก่อน
จากเจ็ดโมงเช้าถึงเวลาเพลงชาติ การทุ่มเถียงยืดยาวออกไปเหมือนไม่มีเวลาดำรงคงอยู่ ห้องแปรเปลี่ยนเป็นป่าดงพงพีในจินตนาการ ชายหนุ่มแปลกหน้า และหญิงสาวในห้องกลายเป็นความคลุมเครือไร้ที่มาที่ไป เป็นเพียงทางผ่านของบทสนทนาที่ว่าด้วยความเป็นเจ้าของ เราอาจบอกได้ว่า หนังทั้งเรื่องคือบทสนทนามากกว่าเรื่องเล่าจำเพาะเจาะจง ห้องคือห้องที่ไหนก็ได้ อาจจะเป็นห้องเช่า ตึกร้าง สำนักงาน บ้านในสลัม ตึกแถว ไปจนถึงเรือกสวนไร่นา ที่รกร้างว่างเปล่าหรืออาจจะคือประเทศทั้งประเทศก็ได้ ในขณะที่ตัวละครอาจจะเป็นใครก็ได้ ผู้มาก่อนกับผู้มาที่หลัง ผู้ครอบครอง และผู้ถูกขับไล่ คนร่ำรวย คนยากจน เราสามารถแทนค่าทุกรูปแบบลงไปในบทสนทนาซึ่งเต็มไปด้วยข้อคลางแคลงใจ ความไม่คืบหน้าไปไหน การถามย้อนไปมา ถามด้วยคำถามแทนคำตอบ ความอึกอักกระอักกระอ่วน ที่ไม่อาจตัดจบบทสนทนานี้ได้ทั้งที่ทุกอย่างสามารถจบสิ้นลงได้ในสามนาที
ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของปราบดา หยุ่น ก็ยังคงชวนให้นึกถึงงานก่อนหน้าทั้งวรรณกรรมและภาพยนตร์ของเขา งานที่ทำให้นึกถึงห้องโล่งขาวสะอาดไม่ระบุพื้นที่ ตัวละครหญิงชายที่ไม่จำเพาะเจาะจง ไม่มีปูมหลัง ที่มาที่ไป หรือประวัติศาสตร์ส่วนตัวมากไปกว่าเป็นตัวละครตัวหนึ่ง ในฉากฉากหนึ่งซึ่งถูกกำหนดไว้อย่างละเอียดลออ ตัวละครและสถานการณ์ในหนังและหนังสือของเขา คือการทดลองวาทกรรมในห้องปิดที่ควบคุมทุกอย่างไว้หมดแล้ว มันจึงออกมาสะอาดสวยงามในขณะเดียวกันก็แห้งแล้ง ตัวละครจะพูดและเป็นเท่าที่คนทำต้องการ ไม่มากหรือน้อยไปกว่านั้น ไม่ได้มีมีชีวิตก่อนหน้าและหลังจากหนังจบล
ในทางหนึ่งมันอาจเป็นปัญหา เพราะหนังที่น้อยมากๆ หนังที่ควรจะมีความเป็นไปได้อื่นๆ มากๆ นั้น อันที่จริงเป็นความเป็นไปได้ที่กำหนดไว้แล้ว ในขณะที่ความเป็นไปได้อื่นๆ ในฐานะมนุษย์ที่ไม่จำนนต่อแบบแผนของเรื่องเล่ามักไม่ปรากฏในงานของเขา อาจจะบอกว่าตัวละครแข็งชืดของเขาไม่เป็นมนุษย์ก็ได้ แต่บางทีมันก็ไม่จำเป็นที่ตัวละครทุกชนิดจะต้องเป็นมนุษย์ ในเมื่อสิ่งที่ต้องการจะพูดนั้นมีจุดมุ่งหมายต่างกัน การดูหรืออ่านงานของปราบดา จึงคล้ายการเฝ้ามองจากระยะไกล ดูการทุ่มเถียงกันของปัญญาชนที่แบ่งตัวเองออกเป็นภาคต่างๆ มากกว่าการเฝ้าสังเกตน้ำเนื้อของชีวิตประจำวันของผู้คน
ในกรณีของ ‘มา ณ ที่นี้’ ดูเหมือนการที่ตัวละครเป็นเพียงช่องทางผ่านของบทสนทนากลับทำให้หนังน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง แรกทีเดียว เราอาจตีความบทสนทนาของหญิงสาวคนชั้นกลางเจ้าของห้องกับชายแปลกหน้าท่าทางไม่น่าไว้ใจที่บุกรุกเข้ามาทวงความเป็นเจ้าของได้ ผ่านมุมมองเรื่องชนชั้น ผ่านเรื่องการที่คนชั้นกลาง-ชั้นสูงเข้าครอบครอบครองผ่านระบบทุนและระบบอุปถัมภ์ เบียดขับคนชั้นล่างออกจากเมืองจากพื้นที่เดิมที่พวกเขาเป็นเจ้าของ ซึ่งอาจจะหมายรวมไปถึงพื้นที่ทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งด้วย ห้องจึงกลายเป็นพื้นที่ที่จะแทนอะไรเข้าไปก็ได้ เป็นห้องที่อยู่อาศัย ไปจนถึงเป็นป่าที่ถูกจินตนาการขึ้นแบบเดียวกับการจินตนาการในภาพเขียนของ อองรี รูโซ
หากในอีกทางหนึ่งดูเหมือนตัวละครหญิงชายในเรื่องนี้ไม่ได้มีความแตกต่างกันทางชนชั้นมากพอที่จะถูกทำให้เป็นเพียงเรื่องของชนชั้น นี่คือความเป็นไปได้แบบอื่นๆ ของหนังที่มาจากความสูญญากาศของมัน ซึ่งน่าสนใจ เราอาจมองมันในอีกแง่หนึ่งโดยเริ่มต้นจากเวลา
ในช่วงต้นของหนัง หนังให้เวลากับกิจวัตรประจำวันของหญิงสาว ตั้งแต่ลืมตาตื่น พลิกตัวไปมา ออกกำลังตอนเช้าทั้งโยคะและว่ายน้ำ ตามด้วยการอาบน้ำแต่งตัวทำอาหารเช้า โทรศัพท์คุยกับแม่ ช่วงเวลาที่ชวนให้คิดว่าเป็นวันหยุดมากกว่าเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนเจ็ดโมง เวลาในหนังถูกยืดขยายจนไม่เป็นจริง บทสนทนาทั้งหมดจึงอาจไม่เป็นจริงมากกว่าจะเป็น การถกเถียงภายในของตัวละครเอง ในโลกที่พื้นที่ไม่เป็นจริง เวลาไม่เป็นจริง ตัวละครที่ไม่เป็นจริง
เราจึงอาจมองได้ว่า นี่คือตัวละครภายในหัวของใครสักคน แตกออกเป็นสองในทุกเช้าที่เราตื่น ตื่นบนเตียงตัวเองที่เหมือนตื่นบนเตียงของคนอื่น ในแต่ละเช้าเราตื่นขึ้น พร้อมด้วยบทสนทนาในหัวว่าเราคือใคร นอกจากเพศสภาพแล้ว ตัวละครทั้งสองตัวในหนังสวมเสื้อผ้าสีเดียวกัน ห่มคลุมด้วยสีขาวและน้ำเงิน (ส่วนสีแดงจะตามมาในกาลข้างหน้า) สภาพของทั้งสองเป็นมนุษย์ออฟฟิศไม่ต่างกัน มีความสามารถจะครอบครองห้องนี้ได้มากพอๆ กัน ทั้งสองคนนี้ อันที่จริงแล้วเป็นเงากระจกของกันและกัน บทสนทนาในยามเช้าที่ยามไม่รับสาย ตำรวจมาไม่ถึงจึงเป็นการเถียงกับตัวเอง เหมือนดวงจิตที่แตกออกเป็นสองใน PERSONA ของอิงก์มาร์ เบิร์กแมน (Ingmar Bergman)
ตัวละครทั้งสองเป็นการเลือกที่เลือกไม่ได้ของเรา ระหว่างการเป็นหญิงสาวที่มีความสุขกับตัวเอง หญิงสาวที่เมินเฉยกับคนรอบข้าง ไม่ใส่ใจกับอะไรก็ตามที่อยู่ในห้อง มีแต่ชีวิตแสนสุขของตน เพื่อนจากเมืองนอกที่กำลังจะมาหา แม่ที่ต่างจังหวัด ยามเช้าที่บำรุงบำเรอตัวเองไม่สิ้นสุด คนชั้นกลางแบบที่ไม่รู้อะไรเกินขอบเขตของตนเอง ผู้คนในโลกของหญิงสาวเป็นเพียงคนไร้หน้าหรือสิ่งคุกคามความมั่นคง ในทางตรงกันข้าม ชายหนุ่มเป็นภาพแทนของเสรีชนที่ใส่ใจผู้คนรอบข้าง สนใจศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง ประวัติศาสตร์ ความเป็นไปอื่นๆ ในสังคม และแน่นอนการตระหนักรู้ทางการเมืองของตนเองย่อมนำพาความเจ็บปวดและการถูกเบียดขับติดมาด้วย การเป็นปัญญาชนที่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ทำให้เขาไม่สามารถอยู่ในพื้นที่อย่างสนิทใจได้อีก และกลายเป็นคนแปลกหน้าบนเตียงของตนเอง
มันจึงเป็นยามเช้าที่ยืดยาวไม่สิ้นสุด เราแต่ละคนที่เป็นถุงบรรจุเรือนร่างว่างเปล่า ตื่นขึ้นมาและใช้เวลาแต่ละเช้าในการถกเถียงกับตัวเอง เลือกว่าจะเป็นอนุรักษ์นิยมแสนสุข หรือปัญญาชนอันเต็มไปด้วยบาดแผล ในแต่ละเช้าเราฆ่าตัวเราเองในแบบหนึ่ง เพื่อเลือกจะเป็นอีกแบบ ใช้ชีวิตไปจนหมดวัน ตื่นมาแล้วเลือกใหม่ ฆ่าใหม่ สาดสีแดงลงในสีขาวและสีน้ำเงิน เราเลือกได้แค่นั้น เลือกที่จะฆ่าตัวตนของเราแบบใดแบบหนึ่งภายใต้การถูกกำหนด โดยสีของธงชาติและรองเท้า วนไปวนมาไม่สิ้นสุด
มา ณ ที่นี้จึงเป็น การมาถึง ณ ‘ที่’ ที่หมายถึงพื้นที่ในตัวเรา Someone ที่มาจาก nowhere หรือ now here มันคือการประกอบสร้างตัวตนของเราในแต่ละเช้าอย่างจำกัดจำเขี่ย อย่างโหดร้ายทารุณ เลือกในโลกที่เลือกไม่ได้ จะเป็นห้องหรูหราหมดจด หรือป่าดงพงพีมันก็มีจริงแค่ในจินตนาการเราเท่านั้น เพราะที่แท้เราล้วนมีชีวิตในตึกร้างที่ถูกตัดแทรกมาเป็นระยะ อยู่ในออฟฟิศร้างที่แทบจะเบียดร่างติดกับเพดานห้อง เตียงที่แท้คือเก้าอี้ออฟฟิศที่เรียงต่อกันทอดรับร่างบาดเจ็บของเราในทุกๆ วัน พาเรากลับไป ตื่นบนเตียงอื่นวันแล้ววันเล่า ในเสื้อผ้าสีขาวสีน้ำเงินและรองเท้าสีเหลืองที่ปรากฏอยู่ทุกแห่งหน
Tags: ภาพยนตร์, ปราบดา หยุ่น, Someone from Nowhere, มา ณ ที่นี้