7 ธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศจัดฉายหนังสารคดีเรื่อง The Disappearance of Sombath Somphone ซึ่งว่าด้วยชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ ‘สมบัด สมพอน’ นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวลาวที่หายตัวไปแล้วห้าปี โดยวันที่ 15 ธันวาคม คือวันครบรอบการหายตัวไปของเขา
ก่อนเริ่มงาน เราได้พบปะกับองค์กรร่วมจัดและมีโอกาสได้ถามไถ่พูดคุย แล้วก็พบว่ายังไม่มีใครเคยดูหนังเรื่องนี้มาก่อน นอกจากภรรยาของสมบัด ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในหนัง ส่วนคนทำหนังก็ไม่มีความกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยแม้แต่น้อย แม้จะเป็นหนังที่พูดถึงปัญหาซึ่งแม้แต่คนลาวก็ยังไม่กล้าพูดถึง
เส้นทางชีวิตก่อนที่โลกจะรู้จักผู้ชายชื่อ ‘สมบัด’
หนังเปิดด้วยภาพคลิปวิดีโอการสัมภาษณ์สมบัด ก่อนที่เขาจะหายตัวไป เขาแนะนำตัวเองสั้นๆ แต่เพียงว่าเขาเป็นลูกชาวนาคนหนึ่ง แต่มีโอกาสได้รับการศึกษา จึงกลายเป็นคนที่มีความคิดความอ่าน
หนังถูกขับเคลื่อนผ่านคำบอกเล่าของ Ng Shui Meng คู่ชีวิตชาวสิงคโปร์ของสมบัด ทั้งสองคนพบกันที่มหาวิทยาลัยฮาวาย เธอได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเวียดนามศึกษา ส่วนสมบัดกำลังศึกษาปริญญาโทด้านเกษตรกรรม เธอนิยามสามีของเธอว่าเป็น ‘นักชาตินิยม’ (Nationalist) ที่มีความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutral)
ทั้งคู่เติบโตในช่วงที่เกิดสงครามเวียดนาม (สหรัฐอเมริกาทำสงครามกับเวียดนาม) ในตอนนั้นลาวเกิด สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายรัฐบาลรอยัลลิสต์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ เเต่เมื่อสหรัฐอเมริกาพ่ายเเพ้ในสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาก็ถอนกำลังทหารออกจากภูมิภาค รวมถึงประเทศลาว ฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงได้รับชัยชนะและยึดกุมอำนาจการปกครองในลาว
ขณะที่คนมีการศึกษาในลาวอพยพออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก แต่สมบัดเลือกที่จะเดินทางกลับลาว
เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นผู้ปกครองประเทศ ก็มีการจัดการศึกษาทฤษฎีมาร์กซิสต์ทั่วทั้งประเทศ และสมบัดซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็ขอตั๋วเครื่องบินจากทางการลาวเพื่อกลับมาเข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้ด้วย
สมบัดเล่าให้ Ng Shui Meng ฟังว่า การศึกษาทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่รัฐจัดให้นั้นน่าเบื่อ และเจ้าหน้าที่ที่ทำการสอนก็เพียงแค่อ่านตามหนังสือ
เมื่อเรียนเสร็จ สมบัดก็ขอทางการลาวกลับไปศึกษาต่อให้จบ และเมื่อเขาเรียนจบ ขณะที่คนมีการศึกษาในลาวอพยพออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก แต่สมบัดเลือกที่จะเดินทางกลับลาว
ผู้ก่อตั้ง PADETC และฮีโร่ของคนหนุ่มสาว
สมบัดเคยให้สัมภาษณ์ว่าความยากจนมีความทุกข์สามแบบ คือทุกข์กาย ทุกข์ใจ และทุกข์ปัญญา หากขาดความสมบูรณ์พร้อมทั้งกาย ใจ และสติปัญญา เมื่อนั้นความยากจนจักเกิดขึ้นกับคนผู้นั้นอย่างแน่นอน
ด้วยความต้องการแก้ปัญหาความยากจน สมบัดตัดสินใจกลับประเทศลาว เขาตั้งใจจะเข้าทำงานในกระทรวงเกษตรของประเทศ เเต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะเขาจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นฝ่ายที่ขัดแย้งกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวมาก่อน) ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้เขาเป็นอย่างมาก เพราะตอนที่เขาศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาถูกมองว่าเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อกลับสู่บ้านเกิด เขากลับถูกมองว่าเป็นไส้ศึกและเป็นสายลับของพวกอเมริกัน
สุดท้าย สมบัดจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการทำงานในภาคประชาสังคม
ตอนที่เขาศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาถูกมองว่าเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อกลับสู่บ้านเกิด เขากลับถูกมองว่าเป็นไส้ศึกและเป็นสายลับของพวกอเมริกัน
การเบนเข็มออกจากการทำงานกับรัฐ ทำให้เขานำเทคนิคการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรมาสอนให้กับชาวบ้าน นำการถ่ายวิดีโอซึ่งในตอนนั้นถือว่าล้ำสมัยมากมาใช้ถ่ายทอดความรู้ และต่อมาเขาก็ก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อ PADETC เพื่อจัดอบรมอาสาสมัครเยาวชนหนุ่มสาว
ในปี 2548 สมบัด สมพอน ได้รับรางวัลแมกไซไซ จากการที่เขา “ตระหนักถึงความพยายามที่หวังจะส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศลาว โดยการฝึกอบรมและสร้างแรงจูงใจให้กับคนหนุ่มสาวที่จะกลายเป็นผู้นำในอนาคต”
คอร์รัปชันและการพัฒนาแบบไม่มีส่วนร่วม คือจุดแตกหัก
ตลอดการทำงานในภาคประชาสังคม สมบัดมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่รัฐและทางการลาว จนกระทั่งรัฐบาลลาวเดินหน้าก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้าน โดยมีคนถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตัวเอง อีกทั้งผลประโยชน์ก็ตกอยู่ในมือของนายทุนและเครือข่ายของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้กับสมบัดอย่างมาก แต่เขาก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาที่รุนเเรง เขาขอแต่เพียงว่าให้มีการปรึกษาหารือกัน มีการแจ้งข่าวให้ประชาชนรับทราบ และให้ประชาชนมีส่วนร่วม
จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2555 สมบัด สมพอน เข้าร่วมงาน Asia-Europe Peoples’s Forum ที่เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นการประชุมของภาคประชาสังคมจากหลายประเทศ รวมไปถึงการพูดถึงปัญหาภายในประเทศต่างๆ ซึ่งหลายคนเชื่อว่างานนี้เป็นชนวนให้เกิดการลักพาตัวสมบัด สมพอน ในอีกสองเดือนต่อมา
วันนี้โลกจดจำ ‘สมบัด’ ในฐานะ ‘ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย’
ช่วงเย็นของวันที่ 15 ธันวาคม 2555 ระหว่างที่สมบัดขับรถตามภรรยาเพื่อจะไปรับประทานอาหารเย็นด้วยกัน ภรรยาของสมบัดเล่าว่ามีช่วงหนึ่งที่เธอมองกระจกหลังแล้วไม่พบ
รถของสมบัด เมื่อกลับถึงบ้าน เธอก็ยังไม่คิดว่าสมบัดจะหายตัวไป แม้จะไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ แต่เธอคิดว่าสมบัดคงลืมชาร์จแบตเตอรีของโทรศัพท์ตามเคย จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงค่ำ เธอจึงเริ่มออกตามหาสมบัด และเห็นว่าถนนที่เธอขับรถผ่านนั้นมีกล้องวงจรปิดของตำรวจติดตั้งอยู่
Ng Shui Meng และเพื่อนไปที่สถานีตำรวจเพื่อขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด ตอนเเรกตำรวจให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และอนุญาตให้ถ่ายวิดีโอสิ่งที่เกิดขึ้นเก็บไว้ด้วย แต่เมื่อตำรวจที่มีตำแหน่งสูงกว่าเข้ามาเห็นก็ไล่พวกเธอออกไป และเมื่อพวกเธอกลับมาขอภาพจากกล้องวงจรปิดในวันต่อมา ห้องที่ใช้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดก็ถูกปิด
คดีการหายตัวไปของสมบัติไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่มีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานที่ระบุได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการหายตัวไป
ตลอดห้าปีที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาคมโลกต่างเคลื่อนไหวและมีท่าทีต่อกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาว เนื่องจากคดีการหายตัวไปของสมบัติไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่มีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานที่ระบุได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการหายตัวไป และไม่ใช่เรื่องยากหากคิดจะดำเนินคดีอย่างจริงจัง
ใน The Disappearance of Sombath Somphone มีการย้ำคำพูดของคนที่ใกล้ชิดกับสมบัดหลายครั้งว่า การหายตัวไปของสมบัดนั้นสร้างความกลัวขึ้นในหมู่คนลาว โดยไม่ค่อยมีคนกล้าพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะ สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่พยายามจะพูดเรื่องนี้ก็มักจะถูกห้ามปรามและบอกว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้ใหญ่
ความเงียบงันของเรื่องนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการปกปิดโดยรัฐ แต่การเซนเซอร์กันเองก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้คดีของสมบัดไปไม่ถึงไหน…
ที่มาภาพ:
http://www.abc.net.au/news/2015-12-14/family-of-missing-laos-activist-reveal-new-evidence/7027760