แม้โลกกำลังหมุนไปตามระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งทำให้ปลาใหญ่แข่งขันกันได้อย่างเสรี และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีได้จนเป็นที่พึงพอใจของตลาด เราก็ต้องไม่ลืมว่า ยังมีปลาตัวเล็กอีกมากที่เวียนว่ายอยู่ในระบบนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงาน ผู้ว่างงาน และผู้ป่วย ที่นับวันจะยิ่งถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
ทุนนิยมยังพ่วงตามมาด้วยปัญหาสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากพิษ ขยะอุตสาหกรรม และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ สภาวะแบบนี้ทำให้เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตขรุขระและยาวไกลเกินกว่าจะไปถึง ซึ่งก็มีกลุ่มต่างๆ พยายามสร้างแรงเคลื่อนไหวทางสังคม เห็นได้ผ่านกิจกรรมในรูปแบบมูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างๆ แต่องค์กรและกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ยังติดหล่ม เพราะเจอข้อจำกัดว่าต้องหาโมเดลการหาเงินจำนวนมากในการขับเคลื่อนกิจกรรมสำคัญ ซึ่งหลายๆ ครั้ง ลำพังการบริจาคหรือสมทบทุนทั่วไปก็มักไม่เพียงพอต่อการจัดการและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะยาว
แนวคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ โมเดลองค์กรในแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ อังกฤษ และฟินแลนด์ กำลังผลักดันให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมนี้ในวงกว้าง โดยในปี 2017-2018 อังกฤษสร้างเม็ดเงินจาก SE ได้สูงถึง 25,000 ล้านปอนด์ และสร้างอาชีพให้คนได้ถึง 1.99 ล้านคน ถือเป็นก้าวแรกแห่งหนทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก
ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีกลุ่มบุคคลที่ร่วมพัฒนา SE อยู่ไม่น้อย และผลลัพธ์ที่ได้ คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีจุดประสงค์หลักในการเปิดโอกาสให้ SE มีพื้นที่เติบโต ได้รับสิทธิประโยชน์และความช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมไปถึงภาคเอกชนและประชาชน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการอุดหนุนธุรกิจพร้อมผลักดันให้สังคมเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงไม่รู้จบ
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงร่วมกับ RoLD in Action จัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “Thailand Social Enterprise: The Way Forward” เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการเติบโตของ SE ว่า “วิสาหกิจสังคมเกิดขึ้นได้หากเราสร้างความรู้ความเข้าใจ และกฎหมายที่มีสภาพเอื้อ เราจะไม่พูดถึงแต่นิยามเท่านั้น แต่จะคำนึงถึงโครงสร้างของสิ่งที่เรียกว่า ระบบนิเวศทางสังคม ให้คนเห็นโอกาสในการทำธุรกิจที่คืนประโยชน์ให้สังคม โดยมีรัฐคอยผลักดัน รวมถึงผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ไม่ได้มองแค่ความคุ้มค่าของสินค้า แต่มองถึงขั้นตอนการผลิตที่รักษาโลกและพัฒนาสังคมไปด้วย
“ในภาพใหญ่นั้น บทบาทของแต่ละภาคส่วนในการพัฒนาสังคมที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ คือภาครัฐกับภาคเอกชน แต่ยังมีอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ และมีศักยภาพสูงในการร่วมพัฒนาสังคม นั่นคือภาค Non-profit หรือที่ประเทศอังกฤษเรียกว่า Third Sector ที่ยังสามารถมีบทบาทเชิงรุกได้อีกมากกับการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม ดังนั้น การมีกลไกหรือกระบวนการอย่างเช่น SE มาช่วยให้ภาค Non-profit สามารถทำหน้าที่ได้ ก็มีโอกาสที่จะไม่ต้องเลือกระหว่างอยู่รอดได้ หรือทำเพื่อสังคม ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญมากในการช่วยปลดล็อกพลังแห่งการพัฒนาอีกมหาศาล”
ตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม กำหนดเอาไว้ว่า ธุรกิจที่จะจดทะเบียนเป็น SE ได้ ต้องเป็นธุรกิจที่มีแผนการบริหารและการจัดการที่ดี มีเป้าหมายหลักในการแก้ไขหรือพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายได้ร้อยละ 50 ของบริษัทต้องมาจากการดำเนินธุรกิจ และต้องแบ่งกำไรอย่างน้อยร้อยละ 70 ให้กับการพัฒนาชุมชน
ธุรกิจที่จะจดทะเบียนเป็น SE ได้ ต้องเป็นธุรกิจที่มีแผนการบริหารและการจัดการที่ดี มีเป้าหมายหลักในการแก้ไขหรือพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายได้ร้อยละ 50 ของบริษัทต้องมาจากการดำเนินธุรกิจ และต้องแบ่งกำไรอย่างน้อยร้อยละ 70 ให้กับการพัฒนาชุมชน
วิสาหกิจเพื่อสังคมมีหน้าที่ส่งรายงานทางการเงินและรายงานจากการดำเนินกิจการเพื่อสังคมให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมตรวจสอบทุกปี นอกจากนี้ ยังต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับกู้ยืมและส่งเสริมด้านการเงินให้กิจการ SE ต่อไปในอนาคต
สำหรับบริษัทที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจสังคมแล้ว จะได้รับเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้ตามความเหมาะสมรายปี เงินอุดหนุนที่ภาคเอกชนและองค์กรอื่นๆ เข้ามาร่วมสมทบ และจะได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจะประกาศในภายหลัง การดำเนินงานต่างๆ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสำนักส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีลักษณะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ อยู่ภายใต้กำกับของนายกรัฐมนตรี
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า เราควรสร้าง SE ที่มีเป้าหมายและโมเดลการบริหารงานที่หลากหลายเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด มากกว่ายึดติดอยู่กับรูปแบบขององค์กร เพราะปัญหาสังคมมีหลายด้าน การจะมองว่าองค์กรนี้เป็น SE หรือไม่ ต้องมองที่เป้าหมายและผลลัพธ์ทางสังคมที่เป็นรูปธรรมเป็นหลัก
ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงษ์ ผู้อำนวยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม และหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันร่างกฎหมายนี้กล่าวว่า พันธกิจหลักของกฎหมายมีสามอย่าง คือ ทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นและอยู่รอดในระบบทุนนิยม ทำให้ประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสำคัญที่สุดคือ SE ต้องเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการที่ดีขึ้น
เขายกตัวอย่างเรื่องบริการด้านสาธารณสุขว่า เวลาที่เราป่วย คนอาจเห็นทางเลือกแค่ว่าจะไปโรงพยาบาลรัฐที่อาจเจอคนเยอะและใช้เวลานาน หรือจะยอมเสียเงินมากกว่าเพื่อเข้าโรงพยาบาลเอกชนเพราะคิดว่ามีบริการที่ดีและรวดเร็ว แต่ถ้ามีการสร้าง SE ขึ้นมาให้มีบริการที่รวดเร็วเหมือนเอกชน แต่เงินที่ได้ก็จะนำกลับมาหมุนเวียนพัฒนาสังคมได้อีกครั้ง
ทางด้าน ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติกล่าวว่า ผู้ประกอบการ SE ทุกคนต้องออกแบบแผนธุรกิจให้แหลมคมเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้คุณภาพ และนั่นจะเป็นแรงดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาช่วยกันอุดหนุน
“นอกจากคุณภาพ สิ่งที่ผู้บริโภคจะมองหาต่อไปก็คือความเป็นมิตรกับโลก สินค้าชนิดนี้ผลิตอย่างไร ได้ให้อะไรกับสังคมบ้าง ถ้าเราสร้างระบบนิเวศทางสังคมที่เหมาะสมได้ ประชาชนจะเกิดความมุ่งหวัง เพราะตัวเขาเองตระหนักว่า เขากำลังมีส่วนช่วยกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมโดยตรง”
ในการเสวนามีผู้ประกอบการทางสังคมที่อยู่ในตลาดจริงมาร่วมให้ความเห็นอย่าง ChangeFusion และบริษัทกรีน สไตล์ จำกัด ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ผู้ที่สนใจวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร ที่สร้างความเข้าใจด้านภาษีและสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายอย่างชัดเจนและลงลึก
หากร่างพ.ร.บ. วิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านการพิจารณา ก็คงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันให้ SE เติบโต เราอาจจะเห็นการเกิดขึ้นขององค์กรใหม่ๆ ที่ประกาศตัวว่าอยากทำงานทางสังคม ซึ่งน่าจะส่งผลเชิงโครงสร้างต่อไปในอีกหลายภาคส่วนด้วย แต่กฎหมายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ทุกภาคส่วนควรมีบทบาทร่วมกันในการเติมเต็มระบบนิเวศที่เอื้อให้ SE สามารถเกิดขึ้น เติบโต และสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
Tags: SE, วิสาหกิจเพื่อสังคม, Social Enterprise