มือว่างเมื่อไร หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาจ้องทุกที จะแก้นิสัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บทความหนึ่งในวอชิงตันโพสต์ เปรียบเทียบเรื่องนี้กับทฤษฎีของ บี.เอฟ.สกินเนอร์ (B.F. Skinner)

ราวทศวรรษ 1950 บี.เอฟ.สกินเนอร์ นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดใส่นกไว้ในกล่อง แล้วฝึกให้มันจิกพลาสติกชิ้นเล็กๆ ตอนที่มันหิว ถ้านกจิกก็จะได้รางวัลเป็นอาหาร จากนั้น เขาก็ขี้โกงนก ทำให้มันไม่ได้รับรางวัลเสมอไปทุกครั้งที่มันจิก โดยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากได้รางวัลเมื่อจิก 3 ครั้ง บางทีก็ 5 ครั้ง จากนั้น 2 ครั้ง กลายเป็นว่านกพิราบ เริ่มจิกติดต่อกันหลายชั่วโมงจนจบการทดลอง

60 ปีต่อมา เราต่างก็เหมือนกับนกพิราบที่กำลังจิกไอโฟน เลื่อนนิวส์ฟีด ปัดซ้ายขวาบนทินเดอร์เป็นเวลาหลายชั่วโมง แอปพลิเคชันต่างๆ ในสมาร์ตโฟนต่างก็ออกแบบมาให้เราหมกมุ่น

บริษัทไอทีต่างก็มีกองทัพนักวิจัยด้านพฤติกรรมที่ทำงานด้วยหลักการเดียวกับของสกินเนอร์ ให้รางวัลตอนที่เราจับอุปกรณ์ด้วยโนทิฟิเคชั่นที่ขึ้นเตือน แล้วดึงความสนใจของเราให้บ่อยและนานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

แต่ตอนนี้เริ่มมีการตอบโต้แล้ว นักพฤติกรรมศาสตร์กลุ่มเล็กๆ ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเคยเป็นนักพัฒนาในซิลิคอนวัลลีย์พยายามสร้างโปรแกรมตอบโต้บรรดาการแจ้งเตือนและการขอเพิ่มเป็นเพื่อน

‘กบฏนักพัฒนา’ (rebel developer)  เหล่านี้ใช้ไฟดับไฟ ด้วยการสร้างแอปพลิเคชั่นที่ทำให้ผู้ใช้กลับมาเป็นผู้ควบคุม พวกเขาเรียกการเคลื่อนไหวนี้ว่า ‘digital wellness’ หรืออาจแปลเป็นไทยได้ว่า ความเป็นอยู่ทางดิจิทัล หรือ สุขภาวะดิจิทัล ซึ่งสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาถือว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ เมื่อกูเกิลและแอปเปิลประกาศว่า มีแผนที่จะใช้แอป digital-wellness เช่น ยอมให้ผู้ใช้ติดตามปริมาณเวลาที่ตัวเองดูหน้าจอได้ ทั้งในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโฟน

“ยิ่งคุณใช้ผลิตภัณฑ์เช่นเฟซบุ๊กและกูเกิลมากเท่าไหร่ พวกเขายิ่งหาเงินได้มากขึ้น” นิค ฟิทซ์ (Nick Fitz) นักพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยดุ๊คกล่าว “มันเหมือนกับการเล่นหมากรุกกับบริษัทใหญ่ระดับพันล้านเหรียญ เราทุกคนพยายามแก้ปัญหา พวกเขามีนักวิจัย 20 คนที่ทำให้คุณติดมัน”

สองปีที่ผ่านมาฟิทซ์พยายามรบกับการแจ้งเตือนที่น่ารำคาญ เขาทดลองด้วยการติดตามผู้ใช้สมาร์ตโฟนมากกว่า 200 คน ส่วนใหญ่ได้รับการแจ้งเตือน 65-80 ครั้งต่อวัน เมื่อเขากำจัดการแจ้งเตือนเหล่านี้ ระดับความเครียดของผู้ใช้ลดลง สมาธิก็กลับมาพัฒนาดีขึ้น

แต่การตัดการแจ้งเตือนออกไปก็สร้างความกังวลแก่กลุ่มคนที่เขาศึกษา ซึ่งรู้สึกว่าอาจจะพลาดอะไรไปที่มิลเลนเนียลเรียกว่า FOMO (feeling fears of missing out) ดังนั้นฟิทซ์และทีมนักพัฒนาสร้างแอปเพื่อมัดรวมการแจ้งเตือนเหล่านี้ และส่งออกเป็น 3 เวลา เช้า บ่าย เย็น  คนที่ใช้แอปนี้เครียดน้อยลง มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และไม่วิตกกังวล

ชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยเช็กโทรศัพท์ทุก 12 นาที งานวิจัยทางการตลาดแสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้โดยเฉลี่ยสัมผัสโทรศัพท์ 2,617 ครั้งต่อวัน ผลสำรวจในปี 2014 พบว่า ผู้ใช้ 46% กล่าวว่าสมาร์ตโฟนของพวกเขามีอะไรสักอย่างที่ทำให้ขาดมันไม่ได้

เนียร์ เอยัล (Nir Eyal) นักพัฒนาที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบพฤติกรรมที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเขียนไว้ในหนังสือ “Hooked” ว่า มีองค์ประกอบ 4 อย่างที่เกี่ยวข้องคือ ตัวนำ (รายการข้อความที่ยังไม่ได้อ่าน) การกระทำ (การคลิกเปิดแอป) การลงทุนของผู้ใช้ (การกดไลก์หรือคอมเมนต์ในโพสต์ต่างๆ)  และการให้รางวัลหลายแบบ (สำคัญมาก แบบเดียวกับการทดลองของสกินเนอร์)

สิ่งสำคัญคือ ผู้ใช้เว็บเป็นเหมือนนกพิราบของสกินเนอร์ ไม่รู้ว่าตัวได้รับรางวัลจากความบังเอิญ ขณะที่พวกเขาอ่านนิวส์ฟีด โดปามีนในสมองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สารเคมีในสมองสัมพันธ์กับความรู้สึกของการคาดหวังและมีบทบาทสำคัญที่เชื่อมโยงกับรางวัลโดยเฉพาะ

เควิน โฮเลช (Kevin Holesh) ได้อ่านงานของเอยัลและนักออกแบบพฤติกรรมคนอื่นๆ ตอนที่เป็นนักพัฒนาเขาใช้หลักการแบบเดียวกัน เมื่อ 5 ปีก่อน เขาตกใจกับการใช้เวลาร่วมกันกับคู่หมั้น “เราทำงานตลอดวัน กลางคืนเรากินข้าวเย็นด้วยกัน คุยกันครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งดูโทรศัพท์ จากนั้นก็เปิดทีวี แล้วต่างคนก็มีโลกของตัวเองในเวลาที่เหลือ”

เขาตัดสินใจสร้างแอปที่ชื่อ Moment ขึ้นมาโดยใช้แนวคิดของเอยัล ทำให้ผู้ใช้ห่างไกลจากการโหยหาทางเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน Moment ทำงานเหมือนกับ Fitbit ติดตามเวลาที่ใช้โทรศัพท์และโปรแกรม ส่งการแจ้งเตือนหลังจากมีการใช้ติดต่อกันนานๆ เพื่อแนะนำให้พัก แอปนี้ทำงานเหมือนกับการเล่นเกม ท้าทายให้ผู้ใช้หยิบโทรศัพท์ให้น้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งพวกเขารู้สึกว่าควบคุมตัวเองได้

แอป Moment ตอนนี้มียอดดาวน์โหลด 5.9 ล้านครั้ง ถือว่าเป็นหนึ่งในโปรแกรม digital wellness ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

มีแอปอื่นๆ ทยอยออกมาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะหนึ่งในแอปยอดนิยมที่ชื่อว่า Forest ซึ่งเป็นการปลูกต้นไม้เสมือนบนโทรศัพท์ ทุกครั้งที่ผู้ใช้วางโทรศัพท์ลง เพื่อให้เราจดจ่อกับงานมากขึ้น วินาทีที่เราหยิบมันขึ้นมา ต้นไม้จะเน่าและตาย

“ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ผมถึงสนใจว่าต้นไม้จะตายด้วย” ผู้ใช้คนหนึ่งรีวิวบน iTunes

ยังมีแอปอื่นๆ อีก เช่น  Freedom, SelfControl, AppDetox หรือ StayFocusd ที่ช่วยให้ผู้ใช้บล็อคเว็บไซต์หรือแอปที่ทำให้ตัวเองเลิกใช้ยาก

ปัญหาพื้นฐานของนักพัฒนาแอปเหล่านี้คือจะหารายได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องอาศัยโฆษณา รวมทั้งการหารายได้จากการใช้ข้อมูลผู้ใช้ หรือผู้ใช้ต้องซื้อแอปแพงๆ การหาคนมาร่วมลงทุนก็ยาก

ท้ายที่สุด ทีมของเขาตัดสินใจให้ผู้ใช้จ่ายเท่าที่พวกเขาจ่ายได้

“นี่เป็นคำถามที่เรากำลังต่อสู้กับมัน ขบวนการเคลื่อนไหวเทคโนโลยีที่มีจริยธรรม (ethical tech movement)” ดันน์กล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก:

https://www.washingtonpost.com/national/health-science/rebel-developers-are-trying-to-cure-our-smartphone-addiction–with-an-app/2018/06/17/153e2282-6a81-11e8-bea7-c8eb28bc52b1_story.html

Tags: , , , , ,