คุณคิดว่าทาเมี่ยนของผู้หญิงซักรวมกับลองยีของผู้ชายได้ไหม?

เป็นหนึ่งในคำถามที่เทียน ลิน ศิลปินชาวพม่า นักเคลื่อนไหว และอดีตนักโทษการเมือง ตั้งคำถามไปยังผู้ชมนิทรรศการ ‘Skirting the Issue’ ของเขา และคำถามเดียวกันนี้ถูกถามไปยังสตรีชาวพม่าผู้มีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์ ซึ่งผู้หญิงเหล่านั้นมีภูมิหลังที่แตกต่างกันทั้งความเป็นคนชนบทและคนเมือง มีทั้งผู้บริหารในองค์กรธุรกิจ สาวโรงงาน ลูกจ้าง ไปจนถึงแม่บ้าน ระยะเวลาสั้นๆ เพียง 9 วันของการจัดนิทรรศการศิลปะชุดนี้ขึ้นที่ River Gallery หอศิลป์ในตึกฝรั่งใกล้ฝั่งแม่น้ำย่างกุ้ง คือบทสะท้อนความสั่นคลอนทางความเชื่อและความคิดตามขนบของชาวพม่าหลังยุคเปลี่ยนผ่าน

‘ลองยี’ (Longyi) หรือ โสร่งพม่า คือชุดแต่งกายประจำชาติที่นิยมใส่กันทั่วไป แม้ในปัจจุบันที่คนพม่ายุคใหม่อาจหันมานุ่งยีนส์กันบ้างแล้ว แต่ก็นับได้ว่าน้อยเต็มทีท่ามกลางชายหนุ่มหญิงสาวที่ยังสวมชุดประจำชาติอยู่ทั่วท้องถนน หรือแม้กระทั่งในห้างสรรพสินค้านำสมัยใจกลางย่านธุรกิจของย่างกุ้ง โดยความเข้าใจทั่วไป ลองยีนั้นมักถูกเรียกเหมารวมถึงโสร่งของผู้ชายที่สีสันและลวดลายค่อนข้างเรียบง่ายและผ้านุ่งของผู้หญิงที่มีลวดลายดอกไม้ เครือไม้ หรือลายขวาง ขณะที่ในพม่าเองนั้น มีคำเรียกผ้านุ่งของผู้หญิงอีกคำหนึ่งว่า ‘ทาเมี่ยน’ (Htamein)

ในเส้นสายลายทอของลองยีและทาเมี่ยน สิ่งที่ยึดร้อยอยู่ในผืนผ้าคือความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ส่งต่อกันมาแต่อดีต ทาเมี่ยนซึ่งใช้สวมท่อนล่างของผู้หญิงนั้นถูกตีตราว่าเป็นของ ‘ไม่สะอาด’ ห้ามนำไปซักร่วมกับลองยีของผู้ชาย ต้องเก็บแยกตะกร้า นอกเหนือไปกว่านั้น ทาเมี่ยนยังถูกห้ามนำไปตากไว้ที่หน้าบ้านให้คนผ่านไปใครมาได้เห็น  ห้ามตากในตำแหน่งที่สูงกว่าลองยี ขณะเดียวกันกับที่ฝ่ายชายเองก็ห้ามเดินลอดทาเมี่ยนที่ตากราวเอาไว้ ไม่อย่างนั้นแล้วจะอ่อนแอลงหรือพลังชีวิตจะเสื่อม หรือหากมองอีกนัยหนึ่ง คือสูญเสีย ‘อำนาจ’ ที่อยู่เหนือกว่านั่นเอง

เทียน ลิน มองความเชื่อนี้ด้วยสายตาที่ครุ่นคิดแม้เขาจะเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มอบความเหนือกว่าให้กับผู้ชาย วิ่งเล่นอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านที่ส่วนใหญ่ผู้หญิงทำหน้าที่เป็นแม่บ้านดูแลคนในครอบครัว  แต่การมีคู่สมรสเป็นสตรีชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษในพม่า อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามองเรื่องนี้ต่างไปจากชายพม่าโดยทั่วไป ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถาม ว่าในสังคมยุคใหม่ที่ผู้ชายและผู้หญิงต่างออกไปทำงานและมีความรับผิดชอบร่วมกัน ความเชื่อเหล่านี้จะยังทรงพลังอยู่อีกหรือ

เทียน ลิน ท้าทายความเชื่อนี้ด้วยการลุกขึ้นมาทำงานศิลปะ เขาออกตระเวนพูดคุยกับสตรีพม่าที่มีความแตกต่างกันทางสถานะและหน้าที่การงาน ถึงความคิดของพวกเธอที่มีต่อความเชื่อนี้ นำเสนอผ่านวิดีทัศน์ที่แสดงอยู่ภายในโดมรูปศีรษะผู้หญิงพม่า ซึ่งเป็นศิลปะจัดวางเพียงชิ้นเดียวที่อยู่ท่ามกลางภาพวาดสตรีเจ้าของเรื่องบนผืนผ้าใบและทาเมี่ยนของเธอ และแอบวางบททดสอบเอาไว้ในงานชิ้นนั้นว่า ผู้ชมงานจะกล้าเข้าไปไหม หากรู้ว่าผ้าที่ตัดเย็บขึ้นเป็นโดมหลังนั้น มาจากทาเมี่ยนที่ผ่านการใช้งานมาแล้วของผู้หญิงมากกว่าสิบคนที่เขาออกไปสัมภาษณ์มา

ทู ซา ทิน พนักงานบริษัทและสตรีในภาพวาดที่สวมทาเมี่ยนลายดอกเข้าชุดทั้งตัวบอกว่า สมัยที่ตาของเธอยังมีชีวิตอยู่เขาจะมีผ้าโพกศีรษะเวลาไปไหนมาไหนด้วย ทำให้แม้กระทั่งตอนรีดผ้าก็ยังต้องใช้เตารีดแยกกัน ถึงตอนนี้ตาของเธอจะไม่อยู่แล้ว แต่ครอบครัวของเธอก็ยังแยกลองยีออกซักต่างหาก กระนั้นก็มีบางข้อปฏิบัติที่เปลี่ยนไป “ที่เปลี่ยนไปก็คือเราใช้เตารีดอันเดียวกันได้แล้ว ส่วนเรื่องการเดินลอดราวตากผ้า เฉพาะในบ้านของเรา เราไม่เชื่อว่าจะทำให้ผู้ชายสูญเสียพลัง” ในขณะที่วิน วิน ทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแห่งหนึ่ง ให้ความเห็นส่วนตัวว่า “ฉันไม่เคยโต้แย้งอะไรกับใครถ้าเขาจะเชื่อว่าผู้ชายเดินลอดทาเมี่ยนแล้วจะสูญเสียพลัง เพราะฉันโตมาในครอบครัวที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย แต่พอฉันมีลูก ฉันก็สอนพวกเขาว่าเรื่องพวกนี้มันผิด”

เคียง หม่า บอกว่าปกติแล้วเธอซักลองยีรวมกับทาเมี่ยน เธอมองว่าผู้ชายที่เชื่อว่าการซักผ้าควรจะแยกกันและเสื้อผ้าเขาควรแขวนเอาไว้สูงกว่า ผู้ชายคนนั้นนั่นแหละที่กำลังมีปัญหากับพลังอำนาจของเขาเสียเอง “เรื่องพวกนี้จะเป็นจริงได้ยังไง ก็ในเมื่อแอร์โฮสเตสที่ไม่ว่าจะสวมกางเกงหรือกระโปรง พวกเธอต่างก็บินไปมาเหนือหัวเราอยู่ตลอดเวลา” ต่างจาก อเย อเย นิว แม่บ้านวัยกลางคน กล่าวผ่านกล้องที่กำลังจับใบหน้าเธออยู่ว่า “เราไม่ซักรวมกัน ฉันจะแยกเสื้อผ้าของผู้ชายเอาไว้ต่างหาก ในสายตาของฉัน ผู้ชายอยู่เหนือกว่าผู้หญิง ก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาเราเก็บลองยีเข้าตู้ ชั้นวางของลองยีถึงได้อยู่ชั้นบนสุด ส่วนของผู้หญิงก็อยู่ชั้นรองลงมา เวลาตากเราก็จะไม่ตากชุดของเราสูงกว่าของเขา”

ทน ทน เด็กสาวชนบทที่ดวงหน้าประพร้อยด้วยแป้งทานาคา บอกว่าพ่อแม่ของเธอสอนเธอมาตั้งแต่เด็กว่าเวลาซักผ้าอย่าเอาของผู้ชายและผู้หญิงมาซักรวมกันไม่ว่าของเด็กหรือของผู้ใหญ่ และชุดของผู้หญิงต้องเอาไปตากไว้ข้างหลังบ้าน ส่วนทิน ทิน สตรีในภาพวาดที่ชุดของเธอจัดจ้านด้วยสีสันต่างกันของท่อนบนและท่อนล่าง ย้ำกับกล้องว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัวของเธอ “ถ้าคุณทำดี พลังของคุณมันก็ยังมีอำนาจที่แข็งแรง ต่อให้คุณจะเดินลอดราวตากผ้า มันก็ไม่ทำให้พลังของคุณอ่อนแอลงไปได้หรอก”

“ผมเคารพในความคิดของผู้หญิงทุกคนที่มีส่วนร่วมกับงานศิลปะชิ้นนี้ ไม่ตัดสินว่าพวกเธอควรจะทำตามเดิมอย่างที่ทำกันมาหรือควรจะหยุด แต่สิ่งที่ผมต้องการคือให้สังคมได้หันมาคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับความเชื่อเหล่านี้” เทียน ลิน กล่าวกับสื่อจากสำนักสื่ออิระวดี

ทาเมี่ยนของสตรีเจ้าของภาพ ถูกนำมาวางเป็นแบ็กกราวนด์บนกรอบแคนวาส วาดตัวตนของพวกเธอทับลงไปด้วยอะครีลิกในท่วงท่าที่ต่างกันไปในแต่ละอิริยาบถซึ่งสะท้อนตัวตนของคนต้นเรื่องออกมา ส่วนโดมรูปศีรษะนั้น เทียน ลิน ส่งสารท้าทายไปยังผู้ชายโดยตรง ถึงจุดยืนที่ผู้ชายมีอยู่ต่อขนบความเชื่อนี้ ว่าพวกเขาจะกล้าเข้าไปยืนอยู่ภายในห้องกลวงใต้โดมนั้นหรือไม่ และหากเข้าไปแล้ว รู้สึกอย่างไรที่เหนือศีรษะของพวกเขาคือทาเมี่ยนที่ล้วนผ่านการใช้งานมาแล้วทั้งสิ้น

น่าเสียดายที่กว่าหนึ่งชั่วโมงที่เราเฝ้าชมนิทรรศการชุดนี้ เราไม่เห็นชายชาวพม่าก้าวเท้าเข้าไปยืนอยู่ภายในโดมแม้สักคนเดียว จึงไม่อาจมีคำตอบได้ว่า สำหรับพวกเขาแล้ว เขาคิดอย่างไรต่อความเชื่อเรื่องพลังอำนาจเหนือกว่าที่ได้มาเพราะเพศสภาพนี้ เราจึงไม่อาจตัดสินได้เช่นกันว่า ในยุคเปลี่ยนผ่านของพม่าที่ความเท่าเทียมทางเพศยังคงเป็นสิ่งที่ถูกทวงถามนั้น มีสักกี่มากน้อยคนที่ฉุกคิดถึงเรื่องนี้