ความกังวลเกี่ยวกับการกำหนดกฎหมายใหม่ในสิงคโปร์กำลังเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลกำลังจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถลบเนื้อหาที่ “ล้ำเส้น” หรือฝ่าฝืนกฎระเบียบของรัฐได้ ท่ามกลางความกลัวว่ากฎระเบียบดังกล่าวจะยิ่งกดทับเสรีภาพในการแสดงออก ในสภาวะที่สื่อถูกควบคุมอย่างหนักอยู่แล้วในสิงคโปร์

‘ลีเซียนหลุง’ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยจัดการกับปัญหาข่าวออนไลน์ปลอม ซึ่งรัฐสภาของสิงคโปร์เคยระบุว่ารัฐสิงคโปร์เป็น ‘เป้าหมายของการสร้างข่าวสารที่สร้างความเกลียดชัง ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้สื่อต้องแก้ไขเนื้อหาข่าวปลอม พร้อมทั้งแสดงการแก้ไขและคำเตือนเกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านออนไลน์ เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ชมรับรู้และตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้

“ในกรณีที่รุนแรงและเร่งด่วน กฎหมายกำหนดให้แหล่งข่าวต้องนำข่าวปลอมลงจากเว็บไซต์ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ทั้ง Facebook, Twitter และ Google ล้วนตั้งเอเชียเฮดควอเตอร์ที่สิงคโปร์ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวจะกดดันให้บริษัทเหล่านี้ช่วยเหลือรัฐบาลในการกำกับควบคุมข่าวสารมากขึ้น เช่นเดียวกับความกังวลของ ‘คริสเทน ฮัน’ นักกิจกรรมและนักหนังสือพิมพ์ชาวสิงคโปร์ ที่เกรงว่าคำนิยามกว้างๆ อย่าง ‘ข่าวปลอม’ จะเปิดช่องทางในการเซ็นเซอร์ข่าวสารให้รัฐบาลเผด็จการมากยิ่งขึ้น

ในปี 2018 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน จัดอันดับดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนให้สิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 151 จาก 180 หรือเรียกได้อยู่ต่ำกว่ารัสเซียลงมา 3 ลำดับ โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า สิงคโปร์มีการเซ็นเซอร์สื่อมหาศาล และการแจ้งข้อกล่าวหาถูกนำไปใช้กับปัญหาและบุคคลสาธารณะในวงกว้างมากขึ้น ดังนั้น แผนของรัฐบาลที่จะออกกฎหมายต่อต้าน ‘ข่าวปลอม’ อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

การออกกฎหมายในลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เวียดนามซึ่งดัชนีเสรีภาพสื่ออยู่ที่อันดับ 175 ได้เปิดตัวกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่กำหนดข้อหาให้กับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านทางอินเทอร์เน็ต ในฟิลิปปินส์ซึ่งดัชนีเสรีภาพสื่ออยู่ที่อันดับ 133 ‘มาเรีย เรสซา’ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว Rappler ถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง เช่นเดียวกับที่ มาเลเซีย ซึ่งดัชนีเสรีภาพสื่ออยู่ที่อันดับ 145 ได้ผ่านกฎหมาย  Anti-Fake News 2018 ในเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดหกปีสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน

ส่วนดัชนีเสรีภาพสื่อของไทยนั้นอยู่ที่อันดับ 140 อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นจากปีที่แล้วที่อันดับ 142 โดยทางองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเผยว่า ไทยถูกปิดปากด้วย ‘สันติภาพและระเบียบ’ โดย ‘นักล่าเสรีภาพสื่อ’ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการสอดส่องและสอบสวนนักข่าวและนักข่าวพลเมืองตลอดเวลา

นอกจากนั้น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอาจนำไปสู่การโต้ตอบอย่างรุนแรงจากฝ่ายนิติบัญญัติและระบบยุติธรรมที่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลทหาร พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 หรือ พรบ.คอมพิวเตอร์ถูกปรับให้รัฐมีอำนาจในการสอดส่องและเซ็นเซอร์มากขึ้น และการผลัดเปลี่ยนรัชกาลไม่ได้ทำให้การใช้ข้อกล่าวหาที่ว่าด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ลดลง

ที่มา

https://www.theguardian.com/world/2019/apr/01/singapore-to-introduce-anti-fake-news-law-allowing-removal-of-articles

https://prachatai.com/journal/2018/05/76746

Tags: , ,