ไม่ว่ากี่ครั้งที่ผู้เขียนได้ไปเยือนสิงคโปร์ ก็ต้องประทับใจทุกครั้งกับต้นไม้ใหญ่ริมทางและความเขียวของเมืองที่เป็นลายเซ็นของสิงคโปร์ เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ต้นไม้ใหญ่ แม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวก็ยังคงไว้ซึ่งหัวใจสีเขียว ทั้งต้นไม้ประดิษฐ์ที่อวดโอ่การผสมผสานระหว่างนวัตกรรมและธรรมชาติเช่นที่ Gardens by the Bay หรือเรือนกระจกทันสมัยที่ไม่มีใครเหมือนอย่าง Flower Dome และ Cloud Forest
ล่าสุด สิงคโปร์ก็ทำให้โลกตะลึงอีกครั้งเมื่อยกป่ามาอยู่กลางห้าง Jewel Changi เชื่อมต่อกับสนามบินนานาชาติที่นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะมาเปลี่ยนเครื่องบิน หรือต้องการพักผ่อนในสิงคโปร์ต้องหยุดแวะชม
ย้อนกลับไปเมื่อราว 50 ปีก่อน สิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่ไร้ทรัพยากร อดีตหัวเมืองอาณานิคมและเมืองท่าสำคัญทางตะวันออกไกลของสหราชอาณาจักร สิงคโปร์ได้รับอิสรภาพและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ก่อนจะแยกตัวอย่างไม่เต็มใจนัก และกลายเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. 2508
ประวัติศาสตร์ความเขียวของสิงคโปร์เริ่มต้นจากติดลบ ป่าทั่วประเทศถูกถางเพื่อรองรับเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ชาวสิงคโปร์ต้องการลืมตาอ้าปาก เร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจให้รวดเร็วที่สุด ประเทศสิงคโปร์ในขณะนั้นจึงไม่ต่างจากสวนสวรรค์ของมลภาวะ น้ำในแม่น้ำขุ่นโสโครก และการพัฒนาเมืองที่มุ่งสู่การเป็นป่าคอนกรีตโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรก และผู้ออกแบบคนสำคัญของสิงคโปร์ซึ่งครองอำนาจร่วม 3 ทศวรรษ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งพร้อมกับวิสัยทัศน์ว่าสิงคโปร์จะต้องเป็น ‘เมืองในสวน (Garden City)’ ส่วนหนึ่งของบันทึกความทรงจำของลีให้ภาพอย่างชัดเจนถึงวิสัยทัศน์ของเขาว่า
“หลังจากได้รับอิสรภาพ ผมพยายามค้นหาแนวทางที่จะทำให้เราแตกต่างจากประเทศโลกที่สามแห่งอื่นๆ แล้วผมก็ได้ข้อสรุปที่การทำให้สิงคโปร์เขียวและสะอาด”
จากแนวคิดข้างต้น ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ลี กวนยู จะได้รับอีกหนึ่งฉายาคือ ‘หัวหน้าคนสวน (Chief Gardener)’ ของสิงคโปร์
ก่อร่างสร้างสีเขียวในเมืองคอนกรีต
ลี กวนยูเผยแพร่วิสัยทัศน์ ‘เมืองในสวน’ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 เพื่อเปลี่ยนสิงคโปร์ให้เป็นเมืองสีเขียว สิ่งแวดล้อมสะอาด และทำให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภาพสิงคโปร์ที่เขียวและสะอาดนั้น ย่อมดึงดูดนักท่องเที่ยวและเงินจากต่างชาติ ในฐานะเมืองที่มีการจัดการอย่างยอดเยี่ยม
วิสัยทัศน์ดังกล่าวขัดกับสภาพที่อยู่ตรงหน้า ช่วงเวลานั้น สิงคโปร์คือประเทศที่มีชุมชนแออัดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณภาพชีวิตย่ำแย่ รายได้เฉลี่ยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ตามแนวทางต้นแบบของการพัฒนาจากโลกตะวันตก รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องและที่อยู่อาศัย ส่วนสภาพแวดล้อมนั้น อาทิ สวนสาธารณะหรือพื้นที่พักผ่อนหย่อนใหญ่ เป็นสิทธิที่มาพร้อมกับความร่ำรวยในภายหลัง
แต่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ยอมให้ประเทศกลายเป็นป่าคอนกรีต โดยมีบันทึกตอนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า
“ถึงแม้รัฐบาลจะต้องพัลวันกับการตอบสนองความต้องการหลายด้าน (อุตสาหกรรม การพัฒนาเมือง และที่อยู่อาศัย) เพื่อการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ แต่เราไม่สามารถรื่นเริงใจได้กับภาพภูมิทัศน์โครงสร้างคอนกรีตที่ไร้สีเขียว”
ช่วงแรกของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์ คือการจัดระเบียบเมืองครั้งใหญ่และสร้างกฎเกณฑ์ที่เข้มข้นเพื่อเมืองที่สะอาด ในขณะที่สวนสาธารณะและพื้นที่ส่วนกลางยังนับว่าเป็นของหรูหราราคาแพง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจึงเน้นไปที่การปลูกต้นไม้ริมสองข้างทาง รวมถึงการเพิ่มสีเขียวให้กับอาคารบ้านเรือน อาทิ ไม้เลื้อยต่างๆ เพื่อส่งเสริมความรื่นรมย์ให้กับป่าคอนกรีต
จากวิสัยทัศน์นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเริ่มจากโครงการปลูกต้นไม้อย่างเข้มข้น นำโดยหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านสวนสาธารณะและต้นไม้ รวมถึงการประกาศวันปลูกต้นไม้แห่งชาติใน พ.ศ. 2514 ที่เชิญชวนให้นักเรียน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ทั้งในพื้นที่สาธารณะและที่อยู่อาศัย
เรื่องไม้เลื้อยนี่อินเทรนด์ถึงขนาดที่ชาวสิงคโปร์ตั้งชื่อเล่นชนิดพันธุ์ซึ่งรัฐบาลนิยมปลูกอย่าง ‘ตานหม่อน (Vernonia elliptica)’ ไม้เถาใบรีกลมจากประเทศพม่าว่า ‘ลีกวนยู’ เพราะนิยมนำมาปลูกปิดบังโครงสร้างคอนกรีตของทางด่วนและสะพาน
การดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปอย่างเข้มข้นโดยมีหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันคือคณะกรรมการเมืองในสวนภาคปฏิบัติ (Garden City Action Committee) ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลนั่งอยู่ ใน พ.ศ. 2518 ได้มีการออกกฎหมายสวนสาธารณะและต้นไม้ (Parks and Tree Act) สำหรับผลักดันการก่อสร้างสวนสาธารณะ การกำกับดูแล และการบำรุงรักษา รวมถึงกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคต เช่น บังคับให้การก่อสร้างถนนจะต้องมีพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้
ปีเดียวกันนั้นเอง สิงคโปร์ได้จัดตั้งกรมสวนสาธารณะและนันทนาการ (Parks and Recreation Department) ขึ้นอยู่ภายใต้กระทรวงการพัฒนา (Ministry of Development) โดยมีหน้าที่ดูแลจัดการต้นไม้ทั้งหมดในเมือง กำกับดูแลกฎหมายเกี่ยวกับสวนสาธารณะและต้นไม้ รวมถึงผลักดันและให้คำปรึกษาในการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ในสิงคโปร์
การดูแลต้นไม้ไม่ใช่งานง่าย รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนกับการสร้างและจ้างกองทัพรุกขกรเพื่อตัดแต่งต้นไม้ ให้บ้านเมืองดูสะอาดเรียบร้อยไม่รกหูรกตา ดูแลไม่ให้การเติบโตของต้นไม้ไปเบียดบังโครงสร้าง เช่น ไฟจราจร ไฟถนน แม้แต่พุ่มไม้ก็ต้องดูแลให้ไม่ขัดขวางทางคนเดินถนน
ภายหลัง พ.ศ. 2525 ชาวสิงคโปร์เริ่มลงหลักปักฐานโดยประชากรส่วนใหญ่อาศัยในบ้านของรัฐ สวนสาธารณะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองที่สมดุล เช่นเดียวกับโรงเรียน ระบบขนส่งสาธารณะ ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า และแหล่งอุตสาหกรรม สิ่งที่สะท้อนได้ดีที่สุดคือแผนผังเมืองใหม่ ที่มีการกำหนดพื้นที่สวนสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมืองใหม่ พร้อมกับนำเสนอวิถีชีวิตใหม่ให้กับชาวชุมชนที่ต้องเปลี่ยนจากการดำรงชีวิตในแนวราบ สู่การใช้ชีวิตแนวดิ่งบนคอนโดมิเนียม โดยมีสารพัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เข้าถึงได้เป็นของส่วนกลาง
ชาวสิงคโปร์ที่ร่ำรวยขึ้นก็ต้องการสาธารณูปโภคที่มากกว่าสิ่งจำเป็นนั่นคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สวนสาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่เปิดและพื้นที่นันทนาการจึงกลายเป็นหัวใจสำคัญในการตอบโจทย์ดังกล่าว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่รัฐบาลเดินหน้าก่อสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ทั้งทางชายฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพื่อเป็นศูนย์รวมกิจกรรมนันทนาการเพื่อการพักผ่อน ตั้งแต่การว่ายน้ำ พายเรือ ปั่นจักรยาน ตั้งแคมป์ ตีกอล์ฟ ตกปลา ปาร์ตี้บาร์บีคิว ฯลฯ
แม้สิงคโปร์จะบรรลุเป้าหมายการเป็นเมืองในสวนได้ก่อนศตวรรษที่ 21 แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ยังไม่หยุดพัฒนา มีการกำหนดแผนสิงคโปร์เขียว (Singapore Green Plan) ในพ.ศ. 2535 โดยวางเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมกว่าพื้นที่สีเขียว อาทิ ระดับมลภาวะทางอากาศ การจัดการน้ำ การจัดการขยะ มาตรฐานด้านสาธารณสุข
เป้าหมายต่อไปของสิงคโปร์คือการผสาน ‘ความเขียว’ ให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวสิงคโปร์
พิมพ์เขียวสิงคโปร์ยั่งยืน ทิศทางในศตวรรษที่ 21
ดัชนีภูมิทัศน์เขียว (Green View Index) ซึ่งประมวลหาต้นไม้จากภาพถ่ายริมถนนของ Google เพื่อคำนวณความเขียวริมทางของเมืองใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว 23 เมือง ผลปรากฏว่าสิงคโปร์ถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 29.3 เรียกว่าเขียวแบบค่อนเมืองเลยทีเดียว
การก้าวต่อไปของสิงคโปร์จึงไม่จำเป็นต้องโฟกัสที่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกต่อไป ดังที่พิมพ์เขียวสิงคโปร์ยั่งยืน ซึ่งประกาศเมื่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเปรียบเสมือนยุทธศาสตร์การพัฒนาความเขียวที่เพิ่มดัชนีชี้วัดอื่นๆ ของสิงคโปร์ที่ไปไกลกว่าพื้นที่สีเขียวในเมือง
พิมพ์เขียวดังกล่าวนำเสนอไอเดียล้ำๆ ที่รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ทั้งการลดปริมาณการใช้รถใช้ถนน และเปลี่ยนรถยนต์จากน้ำมันสู่เครื่องยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้บริการแบ่งปันรถยนต์เพื่อเดินทางอีกด้วย สิงคโปร์ยังมุ่งหน้าสู่ประเทศขยะเป็นศูนย์ตามแนวคิดเศรษฐกิจปิดวงจร (Circular Economy) ผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน การมีส่วนร่วมภาคประชาชน และหลากหลายโครงการเพื่อสร้างสิงคโปร์ให้ยั่งยืน โดยมีตัวชี้วัดและรายงานความก้าวหน้าเป็นประจำทุกปี
เว็บไซต์แสดงรายละเอียดและความก้าวหน้าของดัชนีชี้วัดตามพิมพ์เขียวสิงคโปร์ยั่งยืน (Sustainable Singapore Blueprint) ภาพจาก mewr.gov.sg
หันกลับมามองกรุงเทพแล้วน่าละเหี่ยใจไม่น้อย แม้ผู้เขียนจะอายุไม่ถึง 30 ดี และมีโอกาสใกล้ชิดกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน แต่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมนั้นน่าหนักใจ น้ำในคลองที่เน่ายังไงก็ยังเน่าอยู่อย่างนั้น ปัญหาน้ำรอระบายเป็นแบบไหนก็เป็นแบบนั้น ยังไม่นับปัญหาการจราจร การขนส่งสาธารณะ และอีกสารพัดปัญหาที่ทำให้ ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ ดูจะอยู่ไกลแสนไกล
ปัจจุบัน พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ อยู่ที่ราว 6 ตารางเมตรต่อคน และเมื่อสิ้นแผนพัฒนาระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มเป็น 9 ตารางเมตรต่อคน แม้ตัวเลขจะแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 แต่หากเทียบกับเมืองในสวนอย่างสิงคโปร์ที่ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อคนก็นับว่าห่างกันชนิดมองไม่เห็นฝุ่น
สิ่งที่ประวัติศาสตร์สิงคโปร์บอกเราก็คือ ไม่จำเป็นต้องรวยแล้วค่อยเขียว เพราะการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้ หากทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงจริงๆ
เอกสารประกอบการเขียน
Creating the Garden City: The Singapore Experience
History of the Urban Forest: Why is Singapore so green?
‘A city in a garden’: Singapore’s journey to becoming a biodiversity model
Sustainable Singapore Blueprint
Tags: สิงคโปร์, ต้นไม้, พื้นที่สีเขียว, ลีกวนยู