“เด็กๆ เรียกคุณว่าอะไร”
โนะบุโยะ ชิบะตะ (ซะกุระ อันโด) นิ่งเงียบ แววตาสับสนจ้องประสานกับดวงตาของเรา
ไม่กี่วินาทีต่อมา สองมือของเธอก็ลูบไล้เส้นผมและใบหน้าของตัวเอง ปัดป่ายเปะปะราวกับพยายามปิดป้องความทรงจำและความรู้สึกที่กำลังเอ่อท้นทับถม
เธอหลับตาขณะที่สองมือป่ายปัด แล้วหยดน้ำตาของเธอก็ไหลริน
สำหรับผม นี่เป็นหนึ่งในฉากที่น่าจดจำที่สุดของ Shoplifters ซะกุระ อันโด ใช้เวลาไม่กี่วินาทีสำหรับการเปิดเปลือยชีวิตและความรู้สึกของหญิงสาวคนหนึ่งที่เก็บงำประสบการณ์อันไม่น่าจดจำ ขณะที่ในห้วงเวลาปัจจุบันก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนโดยไร้ซึ่งหลักประกันใดๆ ในชีวิต
เธอไม่ได้คิดฝันว่าชีวิตจะก้าวเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น เธอคาดหวังเพียงแค่ขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ดำเนินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง
0 0 0
แม้ Shoplifters จะเป็นเรื่องราวของหกชีวิตในบ้านหลังเล็กๆ กลางกรุงโตเกียว แต่สำหรับผม โนะบุโยะ ชิบะตะ คือแก่นแกนของภาพยนตร์เรื่องนี้
แววตาที่มองมายังสาวน้อยยูริ (มิยุ ซะซะกิ) ในค่ำคืนแรกของการพบกัน – มันบอกผมอย่างนั้น
ไม่แตกต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆ ฮิโระคะสุ โคะริเอะดะ ยังคงบอกกล่าวข้อมูลของตัวละครทั้งหกเท่าที่จำเป็นในเบื้องแรก แล้วค่อยๆ นำพาผู้ชมไปสัมผัสกับเรื่องราวของแต่ละคนทีละเล็กทีละน้อย โดยมีฉากหลังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สังคมญี่ปุ่นกำลังพบเผชิญ
โคะริเอะดะให้สัมภาษณ์ไว้ว่า Shoplifters คือเรื่องราวที่ต่อเนื่องมาจากภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของเขา (Like Father, Like Son, 2013) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของสองครอบครัวที่รับลูกไปเลี้ยงสลับตัวกัน สำหรับ Shoplifters เขาจึงพยายามตอบคำถามที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นทิ้งเอาไว้ นั่นก็คือ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘ครอบครัว’ คืออะไร
ก่อนจะได้พบกับสาวน้อยยูริ ห้าชีวิต-สามช่วงวัยในครอบครับชิบะตะมีเงินบำนาญของคุณย่าฮะสึเอะ (คิริน กิกิ) เป็นเสาหลักของบ้าน โอะซะมุ (ลิลี แฟรงกี) ลูกชายวัยกลางคนของคุณย่าและสามีของโนะบุโยะ มีอาชีพเป็นคนงานก่อสร้าง โนะบุโยะทำงานในร้านซักรีด อะกิ (มายุ มัตซึโอะกะ) สาวน้อยวัยแรกรุ่นทำงานประเภทโชว์เรือนร่าง (แบบไม่มีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า) และหนุ่มน้อยโชตะ (โจ ไคริ) ที่อ่านหนังสือด้วยตัวเองแทนการไปโรงเรียน
ทั้งห้าชีวิตอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ กลางกรุงโตเกียว โดยมีความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวดองกันในลักษณะใด และดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่สีเทาบริเวณชายขอบของสังคม
Shoplifters เปิดเรื่องด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างโอะซะมุกับโชตะในซูเปอร์มาร์เก็ตกลางเมือง ทั้งสองคนทำงานสอดประสานกันอย่างรู้ใจ โดยมีข้าวของเครื่องใช้และของกินเล็กๆ น้อยๆ ที่ขโมยมาได้เป็นรางวัลตอบแทน
โคะริเอะดะไม่ได้บอกเราอย่างชัดเจนว่าเพราะเหตุใดโอะซะมุและโชตะจึงต้องทำแบบนี้ แต่เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินต่อไป เราก็พอจะอนุมานได้ว่านี่คงเป็นวิธีแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัววิธีหนึ่ง ขณะเดียวกัน การลักขโมยก็อาจเป็น ‘ความรู้’ เพียงไม่กี่อย่างที่โอะซะมุถ่ายทอดให้กับหนุ่มน้อยโชตะได้ และมันอาจทำให้โชตะภาคภูมิใจในตัวเขาได้บ้าง
ในทำนองเดียวกัน โนะบุโยะก็ไม่ลังเลที่จะหยิบฉวยที่หนีบเนกไทซึ่งติดมากับเสื้อผ้าของลูกค้า แล้วส่งต่อให้กับโชตะเมื่อกลับมาถึงบ้าน
สายสัมพันธ์ระหว่างโอะซะมุ โนะบุโยะ และโชตะ เป็นอีกหนึ่งเส้นเรื่องของ Shoplifters และผมคิดว่าโคะริเอะดะให้ความสำคัญกับมันมากพอๆ กับความผูกพันระหว่างสาวน้อยยูริกับครอบครัวชิบะตะ กระทั่งความสัมพันธ์อันคลุมเครือของทั้งสามคนอาจเป็นความพยายามของโคะริเอะดะในการตอบคำถามว่าด้วยคำว่า ‘ครอบครัว’ ก็เป็นได้
ครอบครัวชิบะตะไม่ใช่ ‘ครอบครัว’ ในความหมายที่คนทั่วไปคุ้นเคย อย่างน้อยก็ไม่ใช่ครอบครัวที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางสายโลหิต กระทั่งแต่ละคนก็อาจมีความลับปกปิดหลบซ่อน
นี่ไม่ใช่ครอบครัวชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา ไม่มีห้วงเวลาได้ลึกซึ้งผูกพันกับผลงานทางศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งพวกเขาคงไม่มีโอกาสได้กู่ร้องถึงความอัตคัดขัดสนหรือความเป็นจริงอันโหดร้ายของชีวิต ในประเทศที่ได้ชื่อว่ามั่งคั่งรุ่งเรืองที่สุดประเทศหนึ่งในโลกทุนนิยม
แต่โคะริเอะดะเลือกใช้ครอบครัวชิบะตะเป็นภาพแทนของรอยแหว่งเว้าที่ดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่น โดยมีสาวน้อยยูริช่วยขับเน้นแรงปรารถนา ความใฝ่ฝัน และบาดแผลในชีวิตของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน โดยเฉพาะโนะบุโยะ ซึ่งสำหรับผม เธอคือหัวหน้าตัวจริงของครอบครัวชิบะตะ
บาดแผลในชีวิต บุคลิกภาพ และความอ่อนโยนเจือความเข้มแข็งแบบลูกผู้หญิง ทำให้ผมรู้สึกว่าโนะบุโยะคือศูนย์กลางของครอบครัวชิบะตะและภาพยนตร์เรื่องนี้ สายตาที่เธอมองมายังสาวน้อยยูริหลังจากโอะซะมุกับโชตะพาเธอมาที่บ้าน มันบ่งบอกว่าเธอคือบุคคลสำคัญของเรื่อง มันก้ำกึ่งระหว่างการผลักไสและการโอบกอด และเธอก็กล่าวย้ำให้โอะซะมุพายูริกลับไปส่งที่บ้าน
ทว่าในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อสาวน้อยยูริแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเธอต้องการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ โนะบุโยะก็โอบกอดสาวน้อยทั้งด้วยแววตา ความรู้สึก และอ้อมแขนของเธอเอง
“คนที่รักกันต้องทำแบบนี้” เธอกระซิบบอกยูริซึ่งอยู่ในอ้อมแขน แล้วน้ำตาของเธอก็ไหลออกมา
นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นน้ำตาของโนะบุโยะ มันซาบซึ้งตรึงใจ แต่ผมก็ตะขิดตะขวงใจอยู่ลึกๆ สำหรับความสัมพันธ์ของผู้หญิงสองวัยที่เพิ่งรู้จักพบเจอกัน
กระทั่งเมื่อได้เห็นน้ำตาของเธออีกครั้งตอนท้ายเรื่อง ความตะขิดตะขวงใจจึงมลายหายไป
0 0 0
“ฉันเป็นคนพบเด็กนะ คุณควรจะไปเอาผิดกับคนที่ทิ้งขว้างเธอ”
โนะบุโยะตั้งคำถามกลับไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมๆ กับเราในฐานะคนดูก็ตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกันว่าอะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังคำว่า ‘ครอบครัว’
Tags: Shoplifters, ฮิโระคะสุ โคะริเอะดะ, Movie, Japan, ญี่ปุ่น, ความยากจน, ครอบครัว