‘ชอ–นยอควีชิน’ (처녀귀신) ผีสาวโสด หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘ซนกักชี’ (손각시) เป็นผีที่ชาวเกาหลีรู้จักกันดี ผีสาวโสดได้ชื่อว่ามีความเศร้าโศกและความแค้นอย่างเปี่ยมล้น เนื่องจากตายโดยไม่ได้แต่งงาน หรือตายอย่างไม่ยุติธรรม เป็นผีที่ไม่ได้ตัวตน ไม่เป็นปัจเจก เป็นผีสามานยนาม ไม่ระบุว่าชื่ออะไร เป็นใครมาจากไหน แต่เพียงผู้หญิงทุกคนสามารถเป็นผีสาวโสดได้หากไม่ได้แต่งงานก่อนตาย ชอ–นยอควีชินใส่ชุดโซบก (ฮันบกสีขาวไว้ทุกข์) ผมดำยาวตรงปล่อยผม เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงอาฆาตและความโศกเศร้า
เรื่องราวของผีสาวโสดถูกถ่ายทอดด้วยมุขปาฐะจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งถูกผลิตซ้ำผ่านวรรณกรรมตั้งแต่ยุคโชซ็อนจนถึงปัจจุบัน รวมถึงยังปรากฏในละครซีรี่ส์หรือภาพยนตร์มาหลายยุค เช่น ‘ชังฮวาฮงรย็อนจ็อน (장화홍련전)’ ที่ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1956/1972 และ 2003 (เวอร์ชั่นล่าสุดนี้มีชื่อว่า The Tale of Two Sister หรือชื่อฉบับภาษาไทยคือ ตู้ซ่อนผี) ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องดังของเกาหลี รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เป็นการส่งต่อภาพของผีสาวโสดให้ยังคงเป็นผีประจำสังคมได้เสมอมา
ความเชื่อเรื่อง ‘ชอ–นยอควีชิน’ ผีสาวโสด ได้สะท้อนลักษณะเฉพาะทางสังคมและวัฒนธรรมเกาหลีว่าระบบความคิดแบบนามธรรมที่สะท้อนว่าสังคมคาดหวังและวิตกกังวลเกี่ยวกับอะไร บทความนี้จะอธิบายความเชื่อเรื่องผีสาวโสด ภายใต้การมองว่าเป็นดังเครื่องมือควบคุมสังคมให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียม จารีตของสังคมนั้นๆ และเรื่องผีที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป ได้กลับกลายเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับความเชื่อเดิม โดยอาศัยเงื่อนไขทางบริบทสังคมในปัจจุบันของเกาหลี (ใต้) อย่างไรบ้าง
ถ้ามองแบบมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ เรื่องผีไม่เพียงแต่เป็นตำนานไว้เล่าถึง ในทางกลับกัน เรื่องผีเป็นหนึ่งในบทควบคุมทางสังคมที่ใช้ความเชื่อเป็นกลไกขัดเกลาหรือชี้นำลู่ทางในการดำเนินชีวิต ภายใต้กรอบวัฒนธรรมและจารีตของวัฒนธรรมนั้นๆ ผ่านความกลัว อย่างที่ ธีระพงศ์ มีไธสง (2560) กล่าวว่าความเชื่อที่แตกต่างและหลากหลาย ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคม เป็นบรรทัดฐาน และเป็นเครื่องมือขัดเกลาสังคม
อีกหนึ่งคำอธิบายที่น่าสนใจคือ พีรพล ภัทรนุธาพร (2562) อธิบายว่าผีเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดในทุกปัญหาที่มนุษย์ยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะผีไม่ต้องการกระบวนการพิสูจน์ ขอแค่เชื่อ มันก็มีอยู่จริง การสถาปนาผีขึ้นมาจึงเชื่อมโยงกับความต้องการของสังคมในขณะนั้น ผีมีหลายลักษณะ หลายรูปแบบ หลายสาขา เนื่องจากรับใช้ในหน้าที่ที่แตกต่างกันไป
สังคมไทยเองก็มีความเชื่อเกี่ยวกับผีมาอย่างยาวนานและผีนั้นก็รับใช้สังคมพุทธศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นความเชื่อเรื่อง เปรต การก่อกรรมชั่วในรูปแบบต่างๆ จะทำให้กลายเป็นเปรตหลังเสียชีวิต เปรตมีรูปร่างที่แตกต่างและหลากหลายแล้วแต่ชนิดของกรรมชั่วที่ส่งผลต่อการเป็นเปรต แน่นอนเมื่อคนกลัวเปรต ไม่อยากเป็นเปรต ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงกรรมเหล่านั้น
กลับมาที่ผีสาวโสด ชอ-นยอควีชิน ผีชนิดนี้ก็ได้ถูกประกอบสร้างขึ้นจากความคาดหวังบางอย่างของสังคม สังคมเกาหลีมีความเชื่อเรื่องผีมาอย่างยาวนานไม่ต่างจากสังคมไทย และที่ทางของเรื่องผีในเกาหลีสามารถสืบย้อนไปได้เนิ่นนานทีเดียว
ตั้งแต่ยุคโบราณ เกาหลีได้รับอิทธิพลทางความเชื่อในศาสนาพุทธและหลักจริยธรรมขงจื้อจากจีน ซึ่งทั้งสองความเชื่อนี้ได้มีอิทธิพลต่อรากฐานความคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเกาหลีจนถึงปัจจุบัน ศาสนาพุทธได้สอนเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้ผู้คนพอใจกับสิ่งที่ตนเองได้มาเพื่อชีวิตหน้าจะได้รับสิ่งที่ดีที่สะสมตั้งแต่ชาตินี้ ส่วนหลักจริยธรรมขงจื้อได้สอนเกี่ยวกับหลักปฏิบัติตนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความกตัญญู การจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ลูกเคารพพ่อ ภรรยาเคารพสามี เป็นต้น
ทั้งสองความเชื่อนี้ไม่ได้ปฎิเสธการมีตัวตนของผีเลย อีกทั้งยังเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการกำหนดก่อร่างสร้างตัวตนของผีอีกด้วย และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเรื่องเล่านี้ถูกผลิตซ้ำมาเรื่อยๆ ผีสาวโสด ชอ–นยอควีชิน จึงยังคงยึดพื้นที่ของความกลัวในสังคมเกาหลีอยู่ และนับว่าเป็นผีที่ปรากฏตัวออกสื่อบ่อยครั้ง แม้สังคมเกาหลีจะเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปไกลขนาดไหนก็ตาม
ด้วยอิทธิพลของลัทธิขงจื้อ ชาวเกาหลีเชื่อว่าการแต่งงานสำหรับผู้หญิงเป็นเหมือนการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่และเป็นหน้าที่ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งผีสาวโสดเป็นสัญลักษณ์ของผู้ล้มเหลวไม่สามารถที่จะเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ได้ ความเศร้าของผีที่ไม่สามารถมีชีวิตต่อไปในฐานะคนได้เปลี่ยนเป็น ‘ฮัน’ หรือความเศร้าโศกที่อัดแน่น ภายใต้การไม่มีใครอยากลงเอยเป็นผีสาวโสด เรื่องเล่านี้จึงกล่อมให้คนในสังคมกลัวการไร้คู่ การไม่มีทายาท และการอยู่คนเดียว
ขยายความต่อเรื่องที่สังคมเกาหลีคาดหวังให้ผู้หญิงเติบโตเป็นผู้ใหญ่แต่งงานและมีบุตร (ชาย) ก็เพื่อป้อนแรงงานให้กับสังคม ผู้หญิงถูกคาดหวังให้มีหน้าที่อบรมเลี้ยงดูบุตรให้ดี เป็นภรรยาที่ดี และเป็นลูกสะใภ้ที่ดี จากตำราสอนหญิง ‘คเยนยอซอ (계녀서)’ และ หนังสือสอนหญิงที่มีการบันทึกในสมัยโชซ็อน (ค.ศ. 1392-1910) แสดงออกถึงอำนาจของวิถีประชาที่ทำงานในเชิงสัญลักษณ์เพื่อควบคุมพฤติกรรมและการกระทำของผู้หญิง สิ่งเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อสร้างระบบความคิดประกอบสร้างคุณลักษณะของผู้หญิงที่พึงประสงค์ของสังคมชายเป็นใหญ่
ในเกาหลีใต้ คนอายุเข้าวัยกลางคนจึงมักถูกถามเรื่องครอบครัวว่าแต่งงานหรือยัง มีลูกหรือยัง หรือสำหรับบางบ้านหากลูกสาวหรือลูกชายอายุยี่สิบปลายหรือสามสิบต้นๆ (วัยรุ่นตอนปลาย) พ่อแม่หรือญาติพี่น้องจะแนะนำคนให้ หรือที่เรียกว่าซ็อนโบดา (นัดบอด) เพื่อสร้างพื้นที่ให้หนุ่มสาวโสดได้เจอกันและศึกษาเรียนรู้เพื่อมองไปถึงการแต่งงานสร้างครอบครัว ทั้งนี้ยังมีบริษัทรับจัดหาคู่ยังเป็นที่นิยมเพื่อตอบสนองบทควบคุมที่เป็นค่านิยมทางสังคม โดยบริษัทจัดหาคู่จะทำหน้าที่เฟ้นหาคนที่เราต้องการตามที่เราได้ระบุไป หรือมีการเลือกคู่แต่งงานที่เป็นชาวต่างชาติ
แต่ในปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นประเทศสังคมสูงวัยเต็มตัว มีแนวโน้มที่ประชากรสูงวัยจะเพิ่มมากขึ้น และอัตราการเกิดต่ำ เฉลี่ยได้ประมาณ 1.11 คนต่อผู้หญิง 1 คน ประเทศจึงขาดแรงงานในภาคเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางประชากร เนื่องจากภาระทางสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์หลังพัฒนาเศรษฐกิจ ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าชาวเกาหลีเริ่มกลัวความจริงมากกว่าเรื่องผีที่สังคมเคยหลอกหลอนให้กลัว
ในปัจจุบันความสำคัญของการแต่งงานเริ่มลดน้อยลงเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนนิยมที่จะครองโสดและไม่มีครอบครัว และความตึงแน่นของทัศนคติต่อการหย่าก็ได้คลายลง จึงได้เกิดวาทกรรมใหม่แห่งยุคศตวรรษที่ 21 ของเกาหลีใต้ เรียกว่า ‘ซัมโพเซแด’ หรือการยอมแพ้ 3 อย่าง นั่นคือ การเดท การแต่งงาน และการให้กำเนิดบุตร (แต่ถึงอย่างนั้นความเชื่อเกี่ยวกับการเป็นภรรยาที่ดีตามแบบฉบับเกาหลียังคงเป็นค่านิยมหลักทางสังคมถึงแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยน ผู้หญิงก้าวเข้าพื้นที่ใหม่ และมีบทบาทในภาคเศรษฐกิจแล้วก็ตาม แต่ความคาดหวังเรื่องการให้กำเนิดบุตรยังคงมีให้เห็น)
หากผีสาวโสดเป็นภาพสะท้อนค่านิยมเกี่ยวกับการมีครอบครัว ดูเหมือนว่าตอนนี้ชาวเกาหลีใต้อาจจะกลัวอดตายในชาตินี้มากกว่าการกลายเป็นผีสาวโสดในชีวิตหลังความตายกันเสียแล้ว การเสื่อมความน่ากลัวของผีชนิดหนึ่งจึงนับว่าน่าสนใจ และหากเมื่อมองย้อนกลับมาที่ไทย เราเห็นผีตนไหนที่เริ่มเสื่อมความน่ากลัวลงแล้วบ้าง?
เอกสารอ้างอิง
ธีระพงษ์ มีไธสง. (2560). ผีกับพุทธการผสมผสานทางความเชื่อ. กรุงเทพฯ: อินทนิล.
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ.(2560). แนวคิดมานุษยวิทยากับการศึกษาความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 25(47) มกราคม – เมษายน. 173-197.
พีรพล ภัทรนุธาพร. (2562). โลกหมุนรอบกลัว. กรุงเทพฯ: Geek book.
고성배. (2019). 한국 요괴 도감. 서울: 위즈덤하우스.
최기숙. (2010). 처녀귀신. 서울: 문학동네.
Fact Box
อันที่จริงการยัดเยียดให้ผู้หญิงที่เสียชีวิตโดยที่ไม่ได้แต่งงานให้ต้องกลายเป็นผีสาวโสดที่น่ากลัวไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดแค่กับผู้หญิง ยังมีผีชายโสดอีกด้วย เพียงแต่ผีสาวโสดเป็นที่เล่าขานมากกว่า ผีชายโสด หรือ มลดัลควีชิน คือชายหนุ่มที่ยังเป็นโสดแล้วเสียชีวิต มีความแค้น เศร้าที่ไม่ได้แต่งงาน จัดเป็นอีกหนึ่งผีระดับสตาร์ในสังคมเกาหลี มักจะไปหลอกหลอนสาวโสดที่ยังไม่แต่งงาน ถ้าต้องการปลดปล่อยความเศร้าของผีหนุ่มโสด ต้องจัดงานแต่งงานปลอมให้ โดยเอาชุดชั้นในของชุดฮันบกวางบนหลุมศพ
เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีหนุ่มโสดที่เป็นที่รู้จักกันคือ อออูยาดัม (어우야담) ที่บันทึกเกี่ยวกับผีหนุ่มโสด และ บันทึกเกี่ยวกับฮวังจินอีผู้เป็นคีแซ็ง (เกอิชาเกาหลี) ผู้โด่งดัง มีหนุ่มโสดคนหนึ่งหลงรักฮวังจินฮีข้างเดียว เมื่อหนุ่มโสดคนนั้นตายไป ระหว่างทางนำศพไปฝังขบวนศพของหนุ่มโสดผู้นี้ได้เคลื่อนผ่านหน้าบ้านของฮวังจินอีแต่เกวียนที่ใช้ลากกลับไม่เลื่อนและหยุดหน้าบ้านฮวังจินอี นางจึงนำซกอดหรือเสื้อชั้นในของชุดฮันบกวางบนหีบศพจากนั้นล้อก็เคลื่อนได้ปกติ